รายงานพิเศษ
ความร่วมมือระหว่างผู้ได้รับผลกระทบและมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในการประสานงานให้สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี เข้าตรวจสอบและพบซากอิเล็กทรอนิกส์ปริมาณหลายร้อยตันในอาคารหลังหนึ่ง จากทั้งหมดราว 30 หลังซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 88 ไร่ ที่มีสภาพคล้ายโรงงานรีไซเคิลที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ทำให้เกิดคำถามตามมาอีกหลายประเด็น
ก่อนจะไปที่ข้อสงสัย มีข้อมูลจากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ทำให้ได้ข้อสรุปที่เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะของโรงงานเบื้องต้นมามาแล้วว่า
- ในพื้นที่ 88 ไร่ ที่มีอาคารรวมประมาณ 30 หลัง มีเพียงส่วนหนึ่ง ที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) รวม 7 ใบอนุญาต จาก 3 บริษัท
- แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีทั้งอาคาร เครื่องจักร โรงงาน และวัตถุดิบ รวมถึงของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมจำนวนมาก ไม่มีใบอนุญาต
- ทั้ง 3 บริษัท เป็นของชาวจีน มีชื่อว่า ชุนฟุงฮง ,ไทฟุง 2020 และอิฟง มีกรรมการผู้จัดการชื่อ หม่า ย่า เผิง
- บริษัท ชุนฟุงฮง จำกัด มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 5 ใบ ออกเมื่อปี 2563 จำนวน 1 ใบ ,ปี 2564 จำนวน 1 ใบ และปี 2566 (เดือน ตุลาคม- พฤศจิกายน) จำนวน 3 ใบ ... ในจำนวนนี้มี 4 ใบ เป็นโรงงานลำดับที่ 53 (บด ย่อย หล่อหลอมพลาสติก) อีก 1 ใบ เป็นโรงงานลำดับที่ 105 (คัดแยกของเสียที่ไม่อันตราย)
- บริษัท ไทยฟุง 2020 จำกัด มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 1 ใบ ออกเมื่อ 14 กย. 2566 (ลำดับที่ 53)
- บริษัท อิฟง จำกัด มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 1 ใบ ออกเมื่อ 20 ตค. 2566 (ลำดับที่ 53)
- หากไล่เรียงทั้งหมด จะเห็นว่าในปี 2563 และ 2564 มีเพียง บริษัท ชุนฟุงฮง ที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการเกี่ยวกับพลาสติกเพียง 2 ใบ และในปี 2566 ช่วงเดือน กันยายน ถึง พฤศจิกายน จึงได้รับใบอนุญาตของทั้ง 3 โรงงานรวมกันเพิ่มอีกถึง 5 ใบ ... ซึ่งย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงที่ประชาชนในพื้นที่ เริ่มร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2565
ถาม ... อาคารประมาณ 30 หลัง ในพื้นที่ 88 ไร่ มีสถานะเป็นโรงงานตามกฎหมายหรือไม่
ตอบ ... ข้อเท็จจริงที่สำคัญมากๆ คือ ใบอนุญาตทั้ง 7 ใบ เป็นเพียงใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน แต่ยังไม่เคยมีการแจ้งขออนุญาตประกอบการเลยแม้แต่ครั้งเดียว หมายความว่า ผู้ประกอบการยังไม่เคยแจ้งให้เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรรมจังหวัดเข้ามาตรวจดูเครื่องจักร ความพร้อมต่างๆก่อนเดินเครื่อง ... ดังนั้น แม้แต่โรงงานทั้งหมดในส่วนที่มีใบอนุญาต จึงยังไม่สามารถดำเนินการใดๆได้เลยตามกฎหมาย
ส่วนในพื้นที่อื่นๆที่ไม่มีใบอนุญาต แต่มีทั้งอาคาร เครื่องจักร คนงาน และมีกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ ถือเป็น ความผิดฐานประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต
ถาม ... ซากอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกตรวจพบ สามารถมาอยู่ในโรงงานได้หรือไม่ ด้วยวิธีการใด
ตอบ ... ซากอิเล็กทรอนิกส์ที่พบถือเป็น “ของเสียอันตราย” ซึ่งหากจะมีไว้ในครองครอง จะต้องมีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย ดังนั้นการครอบครองซากอิเล็กทรอนิกส์ปริมาณมากที่ถูกตรวจพบ จึงมีความผิดฐานครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต
อาคาร A6 จุดที่พบซากอิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีใบอนุญาตใดๆเลย เป็นการประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาต
การนำซากอิเล็กทรอนิกส์มาเก็บหรือมารีไซเคิล ต้องมีการแจ้งขอเคลื่อนย้ายของเสียอันตราย มีการแจ้งที่มาจากการขอนำเข้า หรือแจ้งทีมาของโรงงานต้นทาง มีใบอนุญาตขนส่ง มีการชั่งน้ำหนักของเสียอันตรายก่อนนำออกจากต้นทาง มีการติดตามรถขนส่งด้วยระบบ GPS
และที่สำคัญซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นที่โรงงานใน ต.คลองกิ่วนี้ได้เลย คือ โรงงานปลายทาง ต้องเป็นโรงงานที่มีใบอนุญาตรับกำจัดหรือบำบัดของเสียอันตราย หรือมีใบอนุญาตเป็นโรงงานรีไซเคิล ซึ่งไม่อยู่ในใบอนุญาตทั้ง 7 ใบ ของทั้ง 3 บริษัท
ดังนั้น ... แม้ผู้ที่อ้างเป็นล่ามของเจ้าของโรงงาน จะพยายามอธิบายว่า ไปรับซื้อซากอิเล็กทรอนิกส์มาจากโรงงานอีก 2 แห่งในภาคตะวันออกที่ประมูลซากมาได้ ก็เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะบริษัทจีนทั้ง 3 แห่งนี้ ย่อมไม่มีสถานะและไม่มีสิทธิซื้อซากอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ต้น
ถาม ... รูปแบบที่พบว่าโรงงานแห่งนี้ ดำเนินกิจกรรมภายในโรงงานคล้ายเป็นการรีไซเคิล สามารถทำได้หรือไม่
ตอบ ... การจัดตั้งหรือขออนุญาตประกอบกิจการเป็นโรงงานนไซเคิลของเสียอันตราย (ลำดับที่ 106) จะต้องผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนในท้องถิ่นที่อาจได้รับผลกระทบด้วย
ในพื้นที่ทั้ง 88 ไร่ ไม่มีและไม่เคยมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิลของเสียอันตราย ดังนั้นเครื่องจักที่พบว่า ถูกใช้เพื่อบดอัดและแยกซากอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกระบวนการอื่นๆ จึงไม่สามารถทำได้ทั้งหมด
ถาม ... ในเมื่อผู้ประกอบการกระทำความผิดมากมายถึงขนาดนี้ ตั้งแต่ไม่แจ้งขอประกอบการ ประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนคำสั่งให้หยุดทำงาน มีซากอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นของเสียอันตรายไว้ในครอบครอง ขนย้ายซากอิเล็กทรอนิกส์มาไว้ในโรงงานทั้งที่ไม่มีสิทธิขนย้ายและไม่มีสิทธิรับซื้อ จัดเก็บของเสียอันตรายไว้กลางแจ้ง แอบประกอบกิจการรีไซเคิล ปล่อยน้ำเสียไปปะปนในสิ่งแวดล้อม ... ทำไมจึงยังไม่ถูกสั่งให้หยุด ปิดกิจการ ลงโทษ ดำเนินคดีโดยเด็ดขาด ... ทำไมเมื่อเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดให้สั่งให้หยุดทำงานแล้ว ประชาชนในพื้นที่กลับยังต้องไปร้องเรียนอีกบ่อยๆ
ตอบ ... ทุกครั้งที่ลงมาตรวจ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ซึ่งเป็นเพียง “ตัวแทน” ของสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ได้ทำบันทึกส่งไปยังสำนักงานว่าโรงงานกระทำความผิดใดบ้าง และได้ออกคำสั่งในนาม “อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี” ให้หยุดดำเนินการทุกอย่างในโรงงานไปหลายต่อครั้งแล้ว แต่ดูเหมือนทางโรงงานจะไม่ได้เกรงกลัวมากนัก ทั้งที่เป็นคำสั่งที่ออกมาจากผู้ที่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทั้ง 7 ใบ
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ค่อนข้างชัดเจนว่า การดำเนินการกับผู้ประกอบการในพื้นที่ 88 ไร่นี้ น่าจะเกินไปกว่าความสามารถของเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมที่มีเพียงตำแหน่งวิศวกรชำนาญการพิเศษ ... และอาจต้องรอให้ อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีตัวจริง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวง หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาแสดงความสามารถในการปกป้องทรัพยากรของชาติ ในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐ ... ด้วยตัวเอง
หากผ่านเข้าไปในบริเวณนั้น จะพบว่ามีพื้นที่อีก 80 ไร่ กำลังถูกปรับหน้าดิน และชาวบ้านดกรงว่าจะเป็นส่วนต่อขยายของโรงงานจีนกลุ่มนี้หรือไม่?
อ่านประกอบ : “รัฐอิสระคลองกิ่ว” บ้านบึง-ชลบุรี ซากอิเล็กทรอนิกส์ใต้เงาทุนจีน
อาณาจักรขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุนจีน แถวบ้านบึง-ชลบุรี แต่ใช้ใบอนุญาตบดย่อยพลาสติก