xs
xsm
sm
md
lg

“รัฐอิสระคลองกิ่ว” บ้านบึง-ชลบุรี ซากอิเล็กทรอนิกส์ใต้เงาทุนจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชิญชม!! .... ซากอิเล็กทรอนิกส์ใต้เงาทุนจีน ที่ “รัฐอิสระคลองกิ่ว” บ้านบึง-ชลบุรี ดินแดนที่อำนาจรัฐไร้น้ำยา


รายงานพิเศษ

“จุดเริ่มต้นของความสงสัยเกิดขึ้นเมื่อประมาณเดือนเมษายนปี 2565 เพราะทั้งควายและสุนัขที่ผมเลี้ยงไว้ไม่ยอมกินน้ำในบ่อน้ำหลังบ้านที่มันเคยกินประจำ และพอเรานำน้ำมาใช้ก็พบว่ามันมีความเค็มเพิ่มขึ้นมาก”

ประดิษฐ์ แซ่ตั๊น ชาวบ้าน หมู่ที่ 4 ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เล่าถึงช่วงเวลาที่ทำให้ตัวเขาเองพบว่า อาจจะกำลังมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นกับแหล่งน้ำในชุมชน โดยเฉพาะเมื่อสระน้ำใช้หลังบ้านของเขา อยู่ในเส้นทางน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่ด้านบนซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารจำนวนมากที่กำลังดำเนินกิจการคล้าย “โรงงาน”

ประดิษฐ์ แซ่ตั๊น
“ก่อนหน้านี้ ที่บ้านผมทำฟาร์มไก่เนื้อ มีรายได้จากไก่ ปีละประมาณ 3 ล้านบาท แต่พอเราไม่มีน้ำไปให้ไก่กิน ก็ต้องเลิกทำไปเลย เพราะหากจะต้องไปซื้อน้ำมาจากที่อื่นก็แบกรับต้นทุนไม่ไหวครับ ตอนนี้ก็เหลือแต่สวนมะพร้าว สวนปาล์ม และไร่มันสำปะหลัง ซึ่งก็หวังว่าจะไม่ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะปลูกอยู่บนที่ดินที่สูงกว่าทางน้ำที่ไหลมาจากโรงงาน แต่ก็ต้องรอน้ำฝนเท่านั้น” ... ประดิษฐ์ พูดถึงผลกระทบต่อรายได้ในครอบครัวของเขาซึ่งเกิดจากคุณภาพน้ำที่เปลี่ยนไป ซึ่งเขาสงสัยว่าอาจมีความเชื่อมโยงกับการเกิดขึ้นของโรงงานที่ตั้งอยู่ทางต้นน้ำ

เมื่อเข้าไปสำรวจในบริเวณที่ถูกเรียกว่า “โรงงาน” ตามที่ประดิษฐ์ อ้างอิงถึง ก็พบว่า มีกลุ่มอาคารที่มีลักษณะเป็นโรงเรือนประมาณ 30 หลัง ตั้งอยู่บนเนื้อที่ขนาด 88 ไร่ หากผ่านเข้าไปตามเส้นทางที่ประชาชนในพื้นที่ใช้สัญจรผ่านกันตามปกติ ก็จะสังเกตเห็นแต่ละอาคารมีรูปแบบทั้งที่ถูกใช้เป็นโกดังเก็บของ และบางส่วนมีปล่องควันพร้อมเครื่องจักรอยู่ด้านนอกอาคารคล้ายเป็นเครื่องหลอมวัตถุ เกือบทุกอาคารจะมีประตูเลื่อนขนาดใหญ่ปิดทางเข้าที่เขียนชื่ออาคารเป็นตัวอักษร A B C D พร้อมตัวเลข เช่น A5 A6 B1 B2 … โดยเกือบทุกพื้นที่ว่างทั้งด้านนอกอาคารจะมีกองถุงบิ๊กแบ็กจำนวนนับไม่ถ้วนวางกองอยู่กลางแจ้ง ในถุงมีทั้งลักษณะที่เป็นวัตถุของแข็งและมีทั้งลักษณะเป็นผง ในพื้นที่บริเวณนี้ยังมีคนงานที่เป็นแรงงานต่างด้าวอยู่จำนวนมาก มีร้านค้า มีบ้านพักคนงานที่ยังมีคนอาศัยอยู่ และมีบางส่วนกำลังทำงานอยู่อย่างชัดเจน

ภาพจาก มูลนิธิบูรณะนิเวศ

ภาพจาก มูลนิธิบูรณะนิเวศ

ภาพจาก มูลนิธิบูรณะนิเวศ
“ปี 2561 คือช่วงที่เริ่มก่อสร้างอาคารกลุ่มนี้ ... แรกเริ่มมีแค่ประมาณ 4-5 หลัง”

นี่เป็นคำบอกเล่าของประชาชนหลายคนในพื้นที่ ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ประดิษฐ์ แซ่ตั๊น ให้ไว้ และข้อมูลนี้ก็สอดคล้องกับการตรวจสอบด้วยการเปรียบเทียบภาพมุมสูงจาก Google Map ซึ่งจัดทำขึ้นโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ หลังองค์กรพัฒนาเอกชนรายนี้ ได้รับข้อร้องเรียนจากคนในพื้นที่และสงมาตรวจสอบโรงงานพร้อมประสานให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี เข้าร่วมตรวจสอบ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อดูจากภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังจะพบว่า เริ่มมีอาคารไม่กี่หลังก่อสร้างขึ้นในปี 2561 และขยายตัวไปอีกมากกว่า 10-15 หลังในปี 2562 จนในปี 2566 ก็มีอาคารประมาณ 30 หลัง และมีโรงงานเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีหลังคาสีต่างกัน

พื้นที่จุดที่น้ำไหลออกไปปนเปื้อน
วันที่ 1 มีนาคม 2567 มูลนิธิบูรณะนิเวศ ลงพื้นที่ ต.คลองกิ่ว อีกครั้ง เพื่อนำทีมนักวิชาการเข้ามาเก็บตัวอย่างทั้งน้ำในพื้นที่ ทั้งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน บ่อบาดาลที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ประโยชน์ โดยเบื้องต้นพบว่า แหล่งน้ำที่อยู่ใกล้บริเวณโรงงานมีค่าความเค็มสูงกว่าแหล่งน้ำที่อยู่ไกลออกไปจากโรงงาน จึงจะน้ำตัวอย่างทั้งหมดส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อดูค่าโลหะหนักในน้ำต่อไป

แต่ระหว่างการตรวจน้ำ ยังพบจุดสำคัญบริเวณด้านหลังอาคารที่เขียนว่า A6 ซึ่งมีร่องรอยการไหลของน้ำที่มาจากอาคาร ลงมาที่บ่อพักน้ำ และมีร่องน้ำต่อออกมาจากบ่อไหลเซาะเป็นทางยาวลงไปปะปนกับพื้นดินและลงไปสู่แหล่งน้ำสาธารณะด้วย จึงทำให้ประชาชนในพื้นที่ที่เข้าร่วมตรวจสอบ ประสานไปยังสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี เพื่อให้เข้ามาหยุดยังการดำเนินงานของโรงงาน

พื้นที่จุดที่น้ำไหลออกไปปนเปื้อน

พื้นที่จุดที่น้ำไหลออกไปปนเปื้อน

พื้นที่จุดที่น้ำไหลออกไปปนเปื้อน
ตลอดการลงพื้นที่ของมูลนิธิบูรณะนิเวศ ตั้งแต่ประมาณ 9.30 น. ไปจนถึงช่วงประมาณ 14.00 น. มีสื่อมวลชนจากหลายสำนักร่วมบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆในบริเวณที่มีลักษณะเป็นโรงงานแห่งนี้ไว้ตลอด และทุกจุดที่มีการบันทึกภาพไว้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีคนงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติกำลังทำงานอยู่เกือบทุกจุด ทั้งๆที่มีข้อมูลยืนยันจากสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรีว่า พื้นที่ทั้งหมดในบริเวณนี้ อยู่ระหว่างการถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการทุกอย่างลง ซึ่งมีคำสั่งในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้งต่อเนื่อง

และกิจกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดทั้งในอาคารที่เขียนว่า A5 และบริเวณโดยรอบก็ยุติลงทันที ฝุ่นจากกองเศษซากกากอุตสาหกรรมที่ฟุ้งมาตลอดเพราะมีรถแบคโฮทำงานอยู่ก็หยุดลง คนงานโดยรอบบริเวณนั้นหายตัวออกไปทั้งหมด เมื่อเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรม และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 จ.ชลบุรี เข้ามาถึงจุดที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ และคณะสื่อมวลชนกำลังบันทึกภาพอยู่










นายถนอม วงศ์พุทธรักษา วิศวกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ซึ่งถูกส่งลงพื้นที่มาตรวจสอบอีกครั้ง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่สำคัญมาก ด้วยการยืนยันว่า ในพื้นที่ 88 ไร่ที่มีกลุ่มอาคารคล้ายโรงงานนี้ มีเพียงส่วนเดียวในบริเวณโซน B ที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) โดยมีใบอนุญาตทั้งหมด 7 ใบ ในนามของบริษัทจากประเทศจีนทั้งหมด 3 บริษัท คือ ...

- บริษัท อิฟง จำกัด มี 1 ใบอนุญาต เป็นโรงงานลำดับที่ 53 (บดอัด หล่อหลอมพลาสติก)

- บริษัท ไทยฟุง 2020 จำกัด มี 1 ใบอนุญาต เป็นโรงงานลำดับที่ 53 เช่นกัน

- บริษัท ชุนฟุงฮง จำกัด มี 5 ใบอนุญาต เป็นโรงงานลำดับที่ 53 รวม 4 ใบ และเป็นโรงงานลำดับที่ 105 (คัดแยกของสียที่ไม่เป็นอันตราย) อีก 1 ใบ

- ทั้ง 3 บริษัท มีกรรมการผู้จัดการ ชื่อ หม่า ย่า เผิง เป็นชาวจีน

- ใบอนุญาตทั้งหมดนี้ ออกในปี 2563 – 1 ใบ ,ออกในปี 2564 - ใบ, ออกในปี 2566 – 5 ใบ ทั้งที่การร้องเรียนของประดิษฐ์ แซ่ตั๊น และชาวบ้านคนอื่นๆ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2565











ทันทีที่มาถึงพื้นที่ ตัวแทนจากสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ชี้แจงยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาตรวจสอบพื้นที่นี้อย่างต่อเนื่อง และมีคำสั่งให้หยุดการดำเนินกิจกรรมต่างๆทั้งหมดมาโดยตลอด ทั้งในพื้นที่ที่ไม่เคยขออนุญาตประกอบกิจการ รวมถึงในพื้นที่อาคารส่วนที่มีใบอนุญาตทั้ง 7 ใบ ก็ต้องหยุดเช่นกัน เพราะยังไม่เคยแจ้งขอประกอบการเพื่อเดินเครื่องจักรเลย (ก่อนเดินเครื่องจักร โรงงานจะต้องมีเครื่องจักร และแจ้งขอประกอบการอีกครั้ง เพื่อให้อุตสากรรให้อุตสาหกรรมจังหวัดเข้ามาตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักรก่อน) แต่ก็ยอมรับว่า โรงงานในบิเวณนี้ ยังคงทำงานโดยฝ่าฝืนคำสั่งมาโดยตลอดเช่นกัน พร้อมระบุว่า พื้นที่ด้านหลังอาคาร A6 ที่มีร่องรอยการปนเปื้อนของน้ำจากโรงงาน เป็นจุดที่ไม่มีใบอนุญาตใดๆเลย และถูกแจ้งข้อหาประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตไปแล้ว จึงไม่สามารถดำเนินกิจกรรมใดๆได้ตามกฎหมาย

“ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ก็ลงมาทำงานในพื้นที่มาตลอด มาตรวจหลายรอบแล้ว มีคำสั่งให้หยุดดำเนินการใดๆในโรงงานมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ฝ่าฝืนคำสั่งมาตลอดเช่นกัน ส่วนกรณีที่สื่อมวลชนและมูลนิธิเห็นว่ากำลังมีการก่อสร้างเพิ่มเติม ปรับที่ดิน กำลังขุดบ่อขนาดใหญ่ เป็นส่วนที่อยู่ในอำนาจดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครับ ไม่ใช่อำนาจของอุตสาหกรรม” นายถนอม อธิบายเพิ่ม

เพื่อความโปร่งใสในการทำงาน ตัวแทนสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี จึงตอบรับคำขอของชาวบ้านในการนำคณะของมูลนิธิบูรณะนิเวศและสื่อมวลชน เข้าไปร่วมตรวจสอบภายในพื้นที่อาคาร A6 ซึ่งเป็นที่มาของน้ำที่ไหลซึมออกไป ... และเมื่อเข้าไปตรวจสอบ ก็พบว่า ทุกพื้นที่ภายในอาคาร A6 เป็นการดำเนินกิจกรรม “รีไซเคิลซากอิเล็กทรอนิกส์” แบบครบวงจร

- จุดด้านหน้าอาคารส่วนที่ยังอยู่ใต้หลังคา ยังพบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่ถูกนำไปคัดแยกอยู่ในถุงบิ๊กแบ็กจำนวนมาก

- พื้นที่ริมบนสุดภายในอาคาร มีโต๊ะประมาณ 6-8 ตัว บนโต๊ะเต็มไปด้วยเศษซากอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกคัดไว้แล้วในภาชนะหลายใบ แต่ละใบจะแยกออกเป็นชิ้นส่วนประเภทต่างๆที่เป็นประเภทเดียวกันไว้แล้ววางทิ้งไว้ รอบโต๊ะแต่ละตัวจะมีเก้าอี้ประมาณ 8 ตัววางล้อมโต๊ะไว้คล้ายเป็นที่นั่งทำงานคัดแยกสิ่งของ

- ถัดเข้าไปด้านใน เป็นเครื่องจักรซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่า เป็นเครื่องบดอัดซากอิเล็กทรอนิกส์ เพราะในระหว่างการเข้าตรวจยังพบเศษซากอิเล็กทรอนิกส์มากมายคาอยู่ในเครื่อง เมื่อไปดูที่ด้านหลังของเครื่องจักรนี้ ยังพบสายพานที่จะเป็นอุปกรณ์ช่วยแยกวัตถุออกจากกันตามความหนักของวัตถุ บนสายพานของเครื่องจักรทุกตัวมีร่องรอยเปียกน้ำ แสดงให้เห็นว่าเพิ่งถูกใช้งานไปในเวลาไม่นานนัก และยังพบรถเข็นที่มีทั้งซากอิเล็กทรอนิกส์และมีน้ำอยู่ในรถถูกวางทิ้งไว้ที่ข้างสายพานด้วย

- ส่วนพื้นที่โล่งกลางแจ้ง ด้านหน้าอาคาร มีซากอิเล็กทรอนิกส์ที่เหลือจากการถูกคัดแยกนำส่วนที่ยังใช้ได้ออกไปแล้ว เหลือส่วนที่เป็น “กากสุดท้าย” ไม่สามารถนำทำประโยชน์ได้แล้ว วางกองอยู่เต็มพื้นที่ มีทั้งในถุงบิ๊กแบ็กและมีทั้งที่กองเป็นผงฝุ่นละเอียด

เมื่อนำภาพที่เห็นมาเชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงทางกฎหมาย สามารถสรุปต่อไปได้ว่า ...

- รูปแบบการจัดการกับซากอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้น เป็นรูปแบบการคัดแยกและรีไซเคิล ซึ่งหากจะทำเช่นนี้ได้ จะต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิล (ลำดับที่ 106)

- ในพื้นที่ทั้งหมด 88 ไร่ รวมอาคารทุกหลัง ไม่มีพื้นที่ส่วนไหนเลยที่สามารถดำเนินการรีไซเคิลซากอิเล็กทรอนิกส์ได้ตามกฎหมาย

- และไม่มีพื้นที่ส่วนไหนเลย ที่สามารถครอบครองซากอิเล็กทรอนิกส์ได้ตามกฎหมาย

- รถขนส่งทุกคันที่ขนซากอิเล็กทรอนิกส์มาที่นี่ ก็ไม่สามารถนำมาได้ตามกฎหมาย


เมื่อตรวจสอบภายในอาคาร A6 แล้ว เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ยืนยันว่า วัตถุที่พบในอาคารนี้เกือบทั้งหมดถูกจัดเป็น “ซากอิเล็กทรอนิกส์” (e-waste) ซึ่งถือเป็นวัตถุอันตราย จึงจัดทำบันทึกการตรวจ พร้อมแจ้งให้ผู้ดูแลอาคารหลังนี้ทราบว่า จะต้องถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมฐาน “ครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต” ในปริมาณประมาณ 300 ตัน โดยจะไปแจ้งวความกับตำรวจในวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2567

“พื้นที่นี้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ไม่ได้ออกใบอนุญาตให้ครับ และไม่เคยมีการขอใบอนุญาตมาด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้แจ้งให้หยุดกิจกรรมทั้งหมดของโรงงานมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีการฝ่าฝืนทุกครั้ง และเมื่อเข้ามาตรวจสอบในวันนี้ พบหลักฐานที่ชี้ชัดได้แล้วว่า มีการนำซากอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นวัตถุอันตรายเข้ามาครอบครอง จึงจะไปแข้งคสวามดำเนินคดีเพิ่มต่อไป และต้องหยุดกิจกรรมทุกอย่างทันทีครับ” ตัวแทนสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ยืนยันว่า ซากอิเล็กทรอนิกส์ที่พบถือเป็นหลักฐานใหม่ที่ต้องเอาผิดโรงงานแห่งนี้เพิ่มเติม










ในระหว่างการตรวจสอบอาคาร A6 มีชายคนหนึ่งที่เจ้าหน้าที่เคยพูดคุยด้วยก่อนหน้านี้ และคาดว่าจะเป็น “นายหม่า ย่า เผิง” ผู้ที่มีชื่อเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัททั้ง 3 แห่ง เข้ามาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ด้วย โดยชายคนนี้ไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาไทยได้ดีนัก จึงต่อสายโทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่ได้พูดคุยกับล่ามซึ่งอ้างว่าชื่อ “นายจิว”

โดยตลอดการพูดคุย เสียงของชายในสายโทรศัพท์ที่ชื่อนายจิว ไม่ได้สอบถามหรือแปลภาษากับชายที่คาดว่าจะเป็นนายหม่าแม้แต่ครั้งเดียว

โดยนายจิว ซึ่งตอบทุกคำถามได้ด้วยตัวเองทั้งหมด อ้างว่า มีคำสั่งให้คนงานหยุดการทำกิจกรรมทั้งหมดในอาคาร A6 มาตลอด แต่ถ้าคณะที่ลงมาตรวจสอบมีหลักฐานยืนยันว่ายังมีการทำงานอยู่ ก็จะประสานให้มีคำสั่งอีกครั้งให้หยุดทำงานทันที ส่วนแหล่งที่มาของซากอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่พบในโรงงาน นายจิว ยืนยัน เคยให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้วว่า ไม่ได้เป็นผู้นำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มาจากต่างประเทศเอง แต่ไปซื้อต่อมาจากบริษัทอีก 2 แห่ง ที่ จ.ระยอง ซึ่งเป็นผู้ที่ประมูลซากอิเล็กทรอนิกส์พวกนี้มาได้






“ระหว่างที่เรากำลังาตรวจสอบคุณภาพน้ำ เราเห็นน้ำจากโรงงานกำลังไหลไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมต่อหน้าต่อตา แต่เจ้าหน้าที่รัฐ กลับไม่พยายามหยุดยั้งความเสียหายนี้”

นี่เป็นใจความสำคัญที่ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เข้ามาพูดคุยกับตัวแทนสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ระหว่างยืนอยู่ตรงบริเวณเกิดการรั่วไหลของน้ำจากโรงงานไปสู่พื้นที่ภายนอก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามอธิบายกับสื่อมวลชนว่า ได้พยายามสั่งการให้โรงงานหยุดกิจกรรมต่างๆไปหลายต่อครั้งแล้ว แต่ก็ถูกร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่องว่ามีการฝ่าฝืน

“หน่วยงานของรัฐไม่มีความสามารถดำเนินการกับเอกชนได้เลย แม้แต่แค่จะระงับยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเนื่องก็ยังทำไม่ได้ เพราะในขณะที่เราทุกคนเห็นเหมือนกันว่า น้ำจากอาคารที่เต็มไปด้วยซากอิเล็กทรอนิกส์ในโรงงานกำลังไหลไปปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งความเสียหายนี้ได้ และที่สำคัญ คือ ความเสียหายทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่โรงงานไม่มีใบอนุญาตใดๆให้สามารถทำได้เลย เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐในพื้นที่นี้อย่างสิ้นเชิง”
เพ็ญโฉม กล่าวย้ำ












... จากสภาพปัญหาการปนเปื้อนทั้งฝุ่นควันและแหล่งน้ำที่มาจากภายในกลุ่มอาคารที่ถูกเรียกว่า โรงงาน

... จากข้อเท็จจริงทางกฎหมายที่ชัดเจนว่า ในพื้นที่ทั้ง 88 ไร่นี้ ยังไม่ควรดำเนินกิจการโรงงานใดๆได้เลย

... จากการตรวจพบซากอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลที่ไม่ควรจะถูกขนส่งมาถึงที่นี่ได้ด้วยซ้ำ

... ทั้งหมดนี้ คือ พื้นที่ขนาด 88 ไร่ ที่มีอาคารประมาณ 30 หลัง ตั้งโรงงานได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ส่วนที่ขอไปแล้วก็เดินเครื่องจักรได้โดยไม่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ สามารถครอบครองของซากอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นเสียอันตรายได้โดยไม่มีใครรู้ว่าเอามาจากไหนและไม่รู้ถูกขนมาโดยไม่ถูกจับกุมระหว่างทางได้ยังไง และยังสามารถประกอบการต่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่สน ไม่เกรงกลัว ไม่เกรงใจ แม้จะมีคำสั่งจากอุตสาหกรรมจังหวัดให้หยุดประกอบการไปหลายครั้งแล้วตาม ...

แม้จะเป็นแค่นักลงทุนต่างชาติไม่กี่บริษัท แต่ราวกับมีดินแดนสนธยาอันลึกลับซ่อนตัวอยู่มนพื้นที่ 88 ไร่นี้ ... ราวเป็นกับเป็นดินแดนที่กฎหมายเอื้อมไม่ถึง ... เป็น “รัฐอิสระคลองกิ่ว” ดินแดนที่อำนาจรัฐ ไม่มีความหมายแม้แต่น้อย











กำลังโหลดความคิดเห็น