พบอาณาจักรขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทุนจีน ใช้พื้นที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ตั้งโรงงาน มีโรงเรือนกว่า 30 หลัง แต่ใช้ใบอนุญาตบดย่อยพลาสติก
รายงานพิเศษ
“สกปรกมากและมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นแหล่งทำให้เกิดการปนเปื้อนของมลพิษ” คือ คำนิยามที่ ดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโสและที่ปรึกษาชุมชน มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงพื้นที่โรงเรือนกว่า 30 หลัง ที่ถูกเข้าใจว่ามีสถานะเป็น “โรงงาน” ที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
โรงงานแห่งนี้เคยมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการไปแล้ว แต่ยังคงถูกร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ว่า ส่งกลิ่นเหม็นและสร้างผลกระทบต่อดินและแหล่งน้ำ คล้ายยังมีความพยายามดำเนินกิจการอยู่ตามปกติ จึงเชิญอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ผู้สั่งให้หยุดประกอบกิจการ เข้ามาร่วมตรวจสอบ และเมื่อเข้าไปในพื้นที่โรงงาน ทีมงานของมูลนิธิบูรณนิเวศและอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี พบแรงงานชาวต่างด้าว ยังคงทำงานอยู่ในโรงงานตามปกติ
ส่วนการตรวจสอบสภาพพื้นที่ เจ้าหน้าที่อาวุโส มูลนิธิบูรณนิเวศ เปิดเผยว่า สถานที่นี้มีสภาพเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ มีโรงเรือนมากถึงกว่า 30 หลัง ทุกอาคารมีกองขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากหลายชนิดมากองไว้รวมกันทั้งที่อยู่ภายในโรงเรือน และถูกกองใส่ถุงบิ๊กแบ็กไว้กลางแจ้งอีกเป็นเป็นจำนวนมากเช่นกัน ที่สำคัญคือเกือบทั่วทุกพื้นที่มีน้ำเสียจากการประกอบกิจการไหลปนเปื้อนทั้งในดินและแหล่งน้ำทั่วทุกจุด เป็นสภาพที่สกปรกและเสี่ยงต่อการปนเปื้อนไปในสิ่งแวดล้อมโดยรอบเป็นอย่างมาก
“เมื่อเราเห็นสภาพที่สกปรกมากของโรงงาน ทำให้รู้ว่าที่นี่แทบไม่เคยถูกตรวจสอบมาก่อนเลย ทั้งที่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่จนสามารถเรียกว่าอาณาจักรได้เลย และนั่นทำให้เรามีคำถามตามมาว่า โรงงานแห่งนี้เป็นของใคร มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานหรือไม่ กี่ใบ ประเภทใดบ้าง ออกใบอนุญาตตั้งแต่เมื่อไหร่ ... และนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มาจากไหน”
จากคำถามที่ตั้งไว้ ... เจ้าหน้าที่อาวุโส มูลนิธิบูรณนิเวศ มีคำตอบที่ค้นหามาได้สำเร็จ เราจะไล่กันไปทีละข้อ
คำถาม 1 ... โรงงงานแห่งนี้เป็นของใคร ??
คำตอบ ... มีข้อมูลอย่างเป็นทางการยืนยันว่า ในพื้นที่อาคารรวมประมาณ 30 หลังนี้ เป็นที่ตั้งของกิจการ 3 บริษัท ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวจีน แต่ทั่วทั้งพื้นที่บริเวณโรงงานไม่มีป้ายชื่อบริษัทใดๆติดอยู่เลย และไม่สามารถบอกได้ว่า
คำถาม 2 ... มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานหรือไม่ กี่ใบ ประเภทใดบ้าง ออกใบอนุญาตตั้งแต่เมื่อไหร่ ??
คำตอบ ... มีใบอนุญาต มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ในโรงงาน แต่ไม่ได้แจ้งขออนุญาตประกอบการ และใบอนุญาตที่มี ไม่ตรงกับวัสดุที่พบในโรงงาน ไล่เรียงได้ดังนี้
- หากใช้วิธีการทั่วไป คือ การเข้าไปค้นหาในระบบฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ... ด้วยการใส่คำข้อหาจากตำแหน่งที่ตั้ง คือ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จะไม่พบว่ามีโรงงานแห่งนี้อยู่ในระบบ
- แต่เมื่อตรวจสอบจากข้อมูลการออกมบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) จะพบว่า ในพื้นที่บริเวณที่เป็นที่ตั้งของโรงเรือนทั้ง 30 หลังนี้ มีใบอนุญาตทั้งหมด 7 ใบ
- อธิบายได้ว่า พื้นที่โรงเรือนของทั้ง 3 บริษัททุนจีนนี้ มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 7 ใบจริง แต่ยังไม่เคยแจ้งประกอบการ (ก่อนเริ่มดำเนินการจริง โรงงานจะต้องติดตั้งเครื่องจักร และแจ้งขอประกอบการกับอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบศักยภาพและประสิทธิภาพต่างๆของโรงงานให้ถูกต้องอีกครั้ง ก่อนจะอนุญาตให้เดินเครื่อง) ... จึงไม่มีชื่ออยู่ในระบบฐานข้อมูลของกรมโรงงานฯ
- ปี 2563 ได้ใบอนุญาตลำดับที่ 53 (หล่อหลอม บดอัดพลาสติก) 1 ใบ ,ปี 2564 ได้ใบอนุญาตลำดับที่ 105 (คัดแยก ฝังกลบขยะที่ไม่เป็นอันตราย) 1 ใบ ,ปี 2566 ได้ใบอนุญาตลำดับที่ 53 เพิ่มอีก 5 ใบ
- รวม มีใบอนุญาตลำดับที่ 53 – 6 ใบ และมีใบอนุญาตลำดับที่ 105 – 1 ใบ
คำถาม 3 ... ขยะอิเล็กทรอนิกส์ มาจากไหน ??
คำตอบ ... ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่พบในโรงงานมีหลายประเภทมาก ตั้งแต่ ... แผงจรอิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ สายไฟ ลวดทองแดง แบตเตอรี่ จอโทรทัศน์ ซึ่งถ้าต้องระบุอย่างเป็นทางการก็จะยังไม่สามารถระบุแหล่งที่มาที่แน่ชัดได้ ... แต่มีข้อสังเกตว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ถูกจัดเก็บมาในรูปแบบบดอัดเป็นก้อนซึ่งเป็นรูปแบบที่คล้ายกับที่เคยพบจากการตรวจตู้คอนเทนเนอร์ที่ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มาจากต่างประเทศเมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อนหน้านี้
***************
ก่อนหน้านี้ เคยมีกระบวนการตรวจสอบการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ครั้งใหญ่ในช่วงประมาณปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นจากสาเหตุที่ประเทศจีนมีนโยบายยกเลิกการรับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศไทยมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้ยกเลิกผังเมืองรวม ทำให้โรงงานรีไซเคิลจากกลุ่มทุนจีนย้ายมาเปิดกิจการที่แถบภาคตะวันออกของไทยเป็นจำนวนมาก เพราะอยู่ใกล้กับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง
จากข้อมูลที่เคยมีขบวนการเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ทำให้ มูลนิธิบูรณะนิเวศ ตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังไปถึงตั้งแต่ปี 2552 และพบว่าพื้นที่บริเวณนี้ เริ่มถูกเปลี่ยนแปลงเป็นโรงเรือนในช่วงปี 2563 จึงไม่ใช่โรงงานกลุ่มเดิมที่เคยถูกตรวจสอบในช่วงปี 2561 แต่เป็นโรงงานที่เกิดขึ้นใหม่ และภาพถ่ายยังทำให้พบว่ามีจำนวนโรงเรือนขึ้นเรื่อยๆมาสอดรับกับการได้ใบอนุญาตเพิ่มอีก 5 ใบ ในปี 2566
“เราต้องการคำอธิบายจากอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีเป็นอย่างมาก ว่าทำไมจึงออกใบอนุญาตเพิ่มอีก 5 ใบ ให้กับโรงงานกลุ่มนี้ในปี 2566 ทั้งที่ประชาชนในพื้นที่เริ่มร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2565”
“แม้จะได้คำตอบจากทั้ง 3 คำถามไปแล้ว แต่คำตอบเหล่านั้น ก็ทำให้เรายังมีคำถามอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย โดยคำถามใหญ่ที่สุด ก็คือ มีขบวนการที่ได้ผลประโยชน์จากการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศไทยเกิดขึ้นอีกกลุ่มหรือไม่ ขบวนการนี้เป็นกลุ่มใหม่หรือเป็นผู้เล่นหน้าเดิมๆ” ดาวัลย์ ตั้งคำถามใหม่ ที่ยังอยู่ระหว่างการหาคำตอบ
สิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว และน่าเป็นห่วงว่าอาจจะซ้ำรอยเดิมหรือไม่ ก็คือ เคยมีขบวนการที่นำขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลกมาสกัดเอาบางส่วนที่ยังใช้ได้ออกไปขาย เพื่อสร้างรายได้ให้กลุ่มทุนจีนและคนไทยที่ร่วมขบวนการบางกลุ่ม ...
ส่วนผืนแผ่นดินไทย ก็ถูกใช้เป็น “ถังขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทิ้งมลพิษไว้เป็นมรดกให้กับคนรุ่นต่อไป”