xs
xsm
sm
md
lg

อ.เจษฎ์ แนะวิธีคุมกำเนิดลิง ด้วยสมุนไพรกวาวเครือขาว แก้ปัญหาลิงล้นเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์แนะวิธีคุมกำเนิดลิง ด้วยสมุนไพรกวาวเครือขาว เพื่อลดประชากรของ "ลิง" ในพื้นที่

จากกรณี ปัญหา ‘ลิง’ ล้นเมืองลพบุรี และได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยหากถูกลิงคุกคาม เราสามารถขู่ไล่ได้ แต่อย่าทำร้าย เสี่ยงมีความผิดทารุณกรรมสัตว์ทันที

ต่อมา เมื่อวันที่ 8 ก.พ. เฟซบุ๊ก "Jessada Denduangboripant" หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกโพสต์แนะแนวทางการแก้ไขปัญหาลิงล้นเมือง คุมกำเนิดลิง ด้วยสมุนไพรกวาวเครือขาว โดยระบุว่า "ลองหาแนวทางในการช่วยแก้ปัญหา เรื่องจำนวนประชากรของ "ลิง" ที่ลพบุรี ล้นเมืองจนเกิดวิกฤตตอนนี้ .. ก็มาเจอผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทำเอาไว้ น่าสนใจมากครับ คือนำเอาสมุนไพร "กวาวเครือขาว" มาใช้เป็นยาคุมกำเนิด ให้กับสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะลิง กินเป็นอาหาร

.ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความยากลำบาก ในการไล่จับลิงมาทำหมัน ทีละตัว ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย กว่าจะทำหมดทุกตัว
ลองอ่านวิธีการด้านล่างนี้ครับ หวังว่าผู้ที่รับผิดชอบในพื้นที่จะสนใจเอาไปใช้นะครับ

- นำ "กวาวเครือขาว" ที่ขุดได้มาล้างให้สะอาด ปอกเปลือกออก หั่นเป็นแผ่นบางๆ ตากแดดหรืออบให้แห้ง โม่หรือตำจนเป็นผงละเอียด

- นำผงป่นแห้ง จากหัวกวาวเครือขาว ผสมกับเมล็ดถั่วลิสง หรือข้าวโพด

- แล้วใส่น้ำมันพืช หรือ แป้งผสมน้ำตาล เพื่อให้ผงกวาว จับกับเมล็ดถั่วหรือข้าวโพด

- ให้ลิงกิน ในช่วงที่ลิงหิวจัดๆ

- นอกจากนี้ อาจนำผงกวาวเครือขาวป่นแห้ง ผสม "น้ำ" ในที่ๆ จัดให้ลิงมากินน้ำด้วย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลิงให้ดียิ่งขึ้น

ข้อมูล จาก "โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี กวาวเครือขาวสู่ชุมชน" มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

เพิ่มเติมข้อมูล ชื่อเครื่องยา: กวาวเครือขาว
องค์ประกอบทางเคมี : สารที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน คือ สารกลุ่ม chromene ได้แก่ miroestrol deoxymiroestrol สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น peurarin kwakhurin coumestrol mirificoumestan daidzin daidzein mirificin genistein genistin
การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
ฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์: กวาวเครือขาวมีผลยับยั้งการเกี้ยวพาราสี การผสมพันธุ์และการเจริญของอัณฑะในนกพิราบเพศผู้ และยับยั้งการออกไข่โดยยับยั้งการเจริญของฟอลลิเคิลในนกพิราบตัวเมีย
ส่วนการทดลองในหนูเพศเมียที่กินกวาวเครือขาวพบว่า มีผลยับยั้งการให้นมของหนูที่กำลังให้นม โดยไปยับยั้งการเจริญของต่อมน้ำนม และการสร้างน้ำนม มีผลป้องกันการตั้งครรภ์ เมื่อให้หนูกินในช่วงตั้งท้องวันที่ 1-10 ติดต่อกัน หรือให้กินในช่วงที่มีการเคลื่อนย้ายของตัวอ่อน โดยทำให้เกิดการแท้ง
และเมื่อให้ในหนูที่ตัดรังไข่ออก กินกวาวเครือพบว่าน้ำหนักของมดลูกและปริมาณของเหลวในมดลูกเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับที่พบในหนูที่ได้รับ ethinyl estradiol และมีรายงานว่ากวาวเครือขาวมีฤทธิ์คุมกำเนิดที่ดีในหนูขาวเมื่อให้ในขนาด 1 กรัม/ตัว/สัปดาห์

ส่วนผลของกวาวเครือขาวต่อหนูเพศผู้พบว่า สัตว์มีพฤติกรรมการสืบพันธุ์ลดลง และมีขนาด และน้ำหนักของอัณฑะ epididymis ต่อมลูกหมาก และ seminal vesicles ลดลง รวมทั้งมีจำนวนตัวอสุจิ และเปอร์เซ็นต์การเคลื่อนไหวของตัวอสุจิลดลง

เอกสารอ้างอิง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 2. โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร , จาก ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี "




กำลังโหลดความคิดเห็น