xs
xsm
sm
md
lg

เภสัชฯ เตือนอย่าใช้ "ยาคุม" แทน "ฮอร์โมน" หวังข้ามเพศ ชี้โดสยาต่ำมาก แถมเสี่ยงโรคหัวใจ-หลอดเลือดสมอง ย้ำปรึกษาแพทย์ อย่าซื้อกินเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เภสัชฯ เตือนสาวข้ามเพศอย่าใช้ "ยาคุม" แทน "ยาฮอร์โมน" ชี้ขนาดยาต่ำกว่าหลายสิบเท่า ระดับฮอร์โมนไม่ถึง แถมเสี่ยงโรคหัวใจ-หลอดเลือดสมอง พบในไทยยังใช้ยาคุมแทนถึง 40% ต้องให้ความรู้เพิ่ม แนะปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ อย่าซื้อกินเอง ชี้มีผลข้างเคียง ต้องตรวจติดตามระดับฮอร์โมน ตรวจระดับโพแทสเซียม น้ำตาล ไขมัน ความดัน มวลกระดูก และมะเร็ง

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่อาคารมหิตลาธิเบศร กระทรวงสาธารณสุข สภาเภสัชกรรม จัดงานเปิดบ้านสภาเภสัชฯ คุยข่าวเล่าเรื่อง ครั้งที่ 2 เรื่อง "สาวข้ามเพศ ใช้ฮอร์โมนอย่างไรให้เป๊ะปัง" โดย ผศ.ภก.ณัฐวุฒิ ลีลากนก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ฮอร์โมนที่จะใช้ในการข้ามเพศมี 2 กลุ่ม คือ 1.การเริ่มใช้ฮอร์โมนก่อนที่จะเป็นวัยรุ่น ไม่มีการกำหนดว่าอายุเท่าไร เนื่องจากร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งช่วงนี้เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายจะมีลักษณะคล้ายกัน กลุ่มนี้หากจะข้ามเพศจะต้องมีผ่านพ่อแม่ผู้ปกครอง มีการปรึกษาแพทย์และจิตแพทย์ เพื่อประเมินให้แน่ใจจริงๆ กลุ่มวัยนี้จะมีฮอร์โมนยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชายเลย เด็กคนนั้นไม่พัฒนาไปเป็นวัยรุ่นเพศชาย ก็จะพัฒนาเป็นวัยรุ่นเพศหญิง โดยฮอร์โมนนี้เป็นยาฉีดจึงต้องดำเนินการโดยแพทย์ และ 2.หากเลยช่วงนี้ไปแล้วหรทอบรรลุนิติภาวะแล้ว คือ มีความเป็นผู้ชายมาแล้ว ซึ่งจะดูจากลักษณะทางเพศ คือ เริ่มมีขนที่อวัยวะเพศ อัณฑะเริ่มมีปริมาตรเยอะแล้ว จะต้องใช้ฮอร์โมนอีก 2 กลุ่ม ซึ่งจะเป็นฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน และตัวยับยั้งฮอร์โมนเพศชาย พวกไซโปรเตอโรน เป็นต้น จะเป็นฮอร์โมนหลักๆ 2 ตัวในการกดฮอร์โมนเพศ


"ที่น่ากังวลคือ ความเข้าใจผิดของสาวประเภทสองที่อยากเทคฮอร์โมน โดยไปซื้อยาคุมกำเนิดกินแทนยาฮอร์โมน ซึ่งทั้งสองตัวนี้ไม่เหมือนกัน โดยยาคุมขนาดยาต่ำกว่าเยอะมากหลายสิบเท่า อย่างตัวเอสโตรเจน ขนาดที่แนะนำคือประมาณ 2-6 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ยาคุมกำเนิดเม็ดนึงประมาณ 20 ไมโครกรัม ซึ่งเป็น 10 เม็ด ก็ไม่สามารถเทียบเท่าเอสโตรเจนที่จำเป็นต้องใช้ กินยาคุมระดับฮอร์โมนขึ้นไม่ถึง ทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคหลอดเลือดสมอง สูงกว่าเยอะมาก จึงไม่ควรใช้ยาคุมเพื่อข้ามเพศ" ผศ.ภก.ณัฐวุฒิกล่าว

ผศ.ภก.ณัฐวุฒิกล่าวว่า สถานการณ์การใช้ยาฮอร์โมนและยาคุมกำเนิด เพื่อข้ามเพศในประเทศไทยนั้น หากไปถามสาวประเภทสองที่ใช้ พบว่า ในปี 2013 อัตราอยู่ที่ครึ่งต่อครึ่ง แต่ตอนนี้ดีขึ้นอยู่ที่ประมาณใช้ยาฮอร์โมน 60% ยาคุม 40% แต่ถ้าต่างประเทศทางออสเตรเลียหรือยุโรปการใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อช่วยข้ามเพศแทนยาฮอร์โมนจะน้อยมาก อยู่ที่ต่ำกว่า 5% เพราะฉะนั้น ส่วนตัวมองว่าความรู้เรื่องพวกนี้ในเมืองไทยต้องโปรโมตอีกเยอะ ทั้งนี้ ย้ำว่าไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวัยไหยถ้าจะเริ่มฮอร์โมนควรจะปรึกษาแพทย์ เพราะต้องมีการติดตามระดับฮอร์โมน ว่าจะเพิ่มขนาดฮอร์โมนถึงเท่าไรจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการ เช่น มีหน้าอก ขนน้อยลง หรือไขมันเปลี่ยนที่ เริ่มมีสะโพกผาย รวมถึงติดตามอาการข้างเคียง เช่น มวลกระดูก ค่าน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก


"อาการข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมน กรณีที่ไม่รุนแรง เช่น คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ ของผู้หญิงที่กินยาคุม หากทนไม่ได้ อาจต้องหยุดยาแล้วไปพบแพทย์ แต่อาการข้างเคียงแบบอื่นๆ เช่น ตัวเหลือตาเหลือง ปวดท้อง จากตับอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที แต่อาการหลายๆ อย่างไม่มีอาการ เช่น กระดูกพรุน ไม่มีอาการอะไร รู้ตัวอีกทีก็คือกระดูกหักไป รพ. หรือไปตรวจร่างกายพบว่า กระดูกบาง หรือมะเร็งบางทีไม่มีอาการ ก็ต้องเน้นไปตรวจคัดกรองเป็นประจำ" ผศ.ภก.ณัฐวุฒิกล่าว

รศ.ภญ.ศรีสมบัติ นวนพรัตน์สกุล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า แนวทางการให้ฮอร์โมนขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการรักษาว่า อยากให้ภาพลักษณ์เป็นอย่างไรเช่น ลดความเป็นเพศชาย เพิ่มความเป็นเพศหญิง นอกจากนี้ แต่ละคนมีการตอบสนองต่อฮอร์โมนแตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาเป็นรายๆ จึงอยากให้ปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษา อย่าซื้อยาฮอร์โมนกินเองหรือตามคำบอกเล่าว่า มีสูตรนั้นสูตรนี้ในอินเทอร์เน็ต และเน้นย้ำว่าการใช้ฮอร์โมนขนาดสูงๆ ไม่ได้จะเห็นผลเต็มที่ แต่อาจจะเกิดอาการข้างเคียงมากกว่า โดยหลักการให้ฮอร์โมนจะให้เริ่มขนาดต่ำๆ ก่อน เพื่อดูผลว่าได้รูปร่างตามที่ต้องการหรือไม่ แล้วปรับฮอร์โมนทุก 3-6 เดือน ส่วนใหญ่จะเริ่มใช้ฮอร์โมนเพศหญิงที่ใช้ในสตรีวัยทองทั่วไป อาจเริ่มต้น 1 เม็ดก่อน แล้วคอยดูอาการ


"การให้ฮอร์โมนต้องใจเย็น ต้องใช้เวลา อย่างที่บอกว่าผลแต่ละคนแตกต่างกัน จึงอยากให้ดูการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย สังเกตอาการข้างเคียง ย้ำว่าหากมีอาการข้างเคียงไม่ต้องทน ซึ่งคนมักบอกว่าจะทน เพราะว่าฮอร์โมนกำลังออกฤทธิ์ ซึ่งจริงๆ อาการข้างเคียงไม่ควรเกิดขึ้น ขอให้ปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ว่าจะทำอย่างไรต่อไป" รศ.ภญ.ศรีสมบัติกล่าว

รศ.ภญ.ศรีสมบัติกล่าวว่า ผลการเปลี่ยนแปลงจากฮอร์โมนขึ้นกับแต่ละบุคคล อาจมีเรื่องอายุ พันธุกรรม ขนาดวิธีการใช้ยา การดำรงชีวิต พฤติกรรมแต่ละวัน และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ของโรคร่วมที่เป็น ต้องเอาข้อมูลมาดู อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่เริ่มแสดงผลของฮอร์โมน อย่างผิวนุ่ม/ความมันและหยาบลดลง เริ่มต้นอยู่ที่ 3-6 เดือน การกระจายตัวของชั้นไขมันอยู่ที่ 3-6 เดือน ผลสูงสุดที่คาดหวัง 1-2 ปี มวล/ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง อยู่ที่ 3-6 เดือน ผลสูงสุดที่คาดหวัง 1-2 ปี ขนลดลง 6-12 เดือน ผลสูงสุดที่คาดหวังมากกว่า 3 ปี เต้านมโตขึ้น 3-6 เดือน ผลสูงสุดที่คาดหวัง 1-2 ปี ขนาดอัณฑะลดลง 3-6 เดือน ผลสูงสุดที่คาดหวัง 2-3 ปี ความต้องการทางเพศลดลง 1-3 เดือน อวัยวะเพศแข็งตัวลดลง 1-3 เดือน เป็นต้น แต่บางอย่างอาจเปลี่ยนไม่ได้ เช่น เสียง หรือโครงหน้าที่เป็นเพศชายอยู่แล้ว ขนตามลำตัว หนวดเครา หรือลูกกระเดือก ต้องหาตัวช่วยอื่น


"หากซื้อจะยารับประทานเองให้ปรึกษาเภสัชกร แต่ช่วงระยะเวลาแรกๆ ควรไปตรวจติดตามระดับฮอร์โมนทุก 3 เดือนว่า เป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่ เมื่อระดับฮอร์โมนคงที่แล้วอาจค่อยตรวจทุกปี นอกจากนี้ ฮอร์โมนต้านเพศชายยังส่งผลต่อโพแทสเซียม จึงควรตรวจวัดระดับโพแทสเซียมทุกปีด้วย เพราะอาจเกิดผลเสียต่อร่างกายได้ รวมถึงฮอร์โมนอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งจึงต้องอาจตรวจติดตามด้วยและตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก" รศ.ภญ.ศรีสมบัติกล่าว

ด้าน ภก.กฤษฎิ์ วัฒนธรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ผลข้างเคียงของการใช้ฮอร์โมนระยะยาวหรือเทคฮอร์โมนนาน จะกระตุ้นมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม ซึ่งแม้ในเพศชายจะเกิดน้อยกว่าเพศหญิงอยู่แล้ว แต่สตรีข้ามเพศมีการศึกษาของสหรัฐฯ พบว่า มีโอกาสที่หญิงข้ามเพศใช้ฮอร์โมนเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่าเพศชายปกติ 33 เท่า , มะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ทางทฤษฎีคาดว่า การใช้ฮอร์โมนเพศหญิงนานๆ น่าจะกดต่อมลูกหมากจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ การผ่าตัดแปลงเพศทำช่องคลอดใหม่ การเสียดสีนานๆ 20 ปี อาจจะต้องระวังเรื่องมะเร็งทวารหนักและช่องคลอดใหม่ ซึ่งสามารถคัดกรองได้ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้เป็นผลระยะยาว แต่ผลกระทบที่รอไม่นาน คือ ไขมัน น้ำตาล และความดันอาจเพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มีการศึกษาว่าจะพัฒนาจนเกิดโรคหรือไม่ เช่น ระดับน้ำตาลอาจเพิ่มขึ้น ดื้ออินซูลิน แต่ยังไม่มีการศึกษาว่าทำให้พัฒนาเป็นเบาหวาน


"การคัดกรองมะเร็งเต้านมในสาวข้ามเพศ เราดูจากระยะเวลาการใช้ฮอร์โมน คือ ยิ่งนานยิ่งเสี่ยง และพันธุกรรม ดังนั้น หากใช้ฮอร์โมนน้อยกว่า 5 ปี และไม่มีความเสี่ยงพันธุกรรม อาจยังไม่ต้องคัดกรอง หากใช้ฮอร์โมนไม่นาน มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม เช่น มีแม่เป็น หากอายุเกิน 35 ปี ต้องคัดกรองทุกปี ส่วนเทคฮอร์โมนนานเกิน 5 ปี ไม่มีเสี่ยงพันธุกรรม อายุเกิน 50 ปีต้องคัดกรอง แต่ถ้าใช้เกิน 5 ปี และมีครอบครัวเป็น อายุ 30 ปีต้องคัดกรองทุกปี ส่วนคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถคัดกรองเหมือนผู้ชายปกติ มะเร็งทวารหนักและช่องคลอดใหม่ อาจคัดกรองทุกปีได้" ภก.กฤษฎิ์กล่าวและว่า ขอให้ผู้ที่ใช้ฮอร์โมนติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามนัด คัดกรองโรคเมื่อถึงเวลานัด สิ่งที่ทำให้สุขภาพดี คือ เลิกบุหรี่ที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ งดแอลกอฮอล์ ออกกำลังกาย ทานอาหารมีประโยชน์ กินอาหารแคลเซียมสูง ดูแลตัวเองเหมือนคนจะมีสุขภาพดีคนหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น