xs
xsm
sm
md
lg

รถเมล์ NGV สีฟ้ามีน้อยลง ขสมก.ตัดจอดเกินกว่าครึ่งสาย เหตุไม่มีอะไหล่-หายาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบรถประจำทางปรับอากาศ ขสมก. NGV สีฟ้าประสบปัญหาตัดจอดเพราะรถเสียจำนวนมาก ส่งผลให้ต้องจัดหารถปรับอากาศยูโรทู สีส้ม และรถธรรมดาครีมแดงมาช่วยวิ่ง บางเส้นทางตัดจอดเกินกว่าครึ่งหนึ่ง สาเหตุหลักไม่มีอะไหล่-หายาก และช่างเพิ่งสไตรก์หยุดงานเพราะผู้รับจ้างไม่จ่ายค่าแรงก่อนหน้านี้

วันนี้ (12 ม.ค.) รายงานข่าวจากกลุ่มบัสแฟนต่างๆ ระบุว่า เขตการเดินรถต่างๆ ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้มีการสลับสับเปลี่ยนรถโดยสารประจำทาง โดยนำรถโดยสารธรรมดา (ครีมแดง) และรถปรับอากาศยูโรทูสีส้มมาให้บริการในบางเส้นทาง แทนรถโดยสารปรับอากาศสีฟ้า (NGV) ชุด 489 คัน ที่ประสบปัญหาจอดเสียเนื่องจากไม่มีอะไหล่ และไม่มีช่างซ่อมบำรุง หลังช่างซ่อมบำรุงต่างพากันประท้วงเนื่องจากบริษัทผู้รับจ้างไม่จ่ายค่าแรงก่อนหน้านี้

โดยพบว่าเขตการเดินรถที่ 5 อู่แสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ได้มีการนำรถโดยสารปรับอากาศสีส้ม (ยูโรทู) สาย 68 สมุทรสาคร-บางลำพู จำนวน 5 คัน ไปให้บริการสาย 141 อู่แสมดำ-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งผลทำให้รถประจำทางสาย 68 ช่วงสมุทรสาคร-บางลำพู มีจำนวนน้อยลงไปอีก ขณะเดียวกัน ยังจัดสรรรถโดยสารธรรมดา (ครีมแดง) ให้บริการสาย 76 อู่แสมดำ-ประตูน้ำ และสาย 141 อู่แสมดำ-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เส้นทางละ 10 คัน ค่าโดยสารจอดป้ายไม่ขึ้นทางด่วน 8 บาท หากขึ้นทางด่วนก่อน เพิ่มเป็น 10 บาท

ส่วนที่กลุ่มปฏิบัติการเดินรถที่ 1 อู่ราชประชา อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ พบว่าสาย 138 ท่าน้ำพระประแดง-หมอชิตใหม่ (ทางด่วน) มีการนำรถโดยสารปรับอากาศสีส้ม (ยูโรทู) จากสาย 15 มาช่วยวิ่งจำนวน 10 คัน ทดรถโดยสารปรับอากาศสีฟ้า (NGV) ที่เสียและตัดจอดจำนวนมาก ส่วนสาย 138 ช่วงอู่ราชประชา-หมอชิตใหม่ ยังคงใช้รถโดยสารปรับอากาศสีฟ้า (NGV) ที่ยังไม่ตัดจอดและใช้การได้ นอกจากนี้ยังได้นำรถโดยสารธรรมดา (ครีมแดง) ช่วยวิ่งเพิ่มเติมกับสาย 21E วัดคู่สร้าง-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 5 คันอีกด้วย

ด้านกลุ่มปฏิบัติการเดินรถที่ 2 เขตการเดินรถที่ 1 อู่รังสิต จ.ปทุมธานี พบว่าสาย 510 (สาย 1-19) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้นำรถโดยสารปรับอากาศสีส้ม (ยูโรทู) จากสาย 59, สาย 95ก และสาย 503 มาช่วยวิ่งผสมกับรถโดยสารปรับอากาศสีฟ้า (NGV) ที่ยังไม่ตัดจอดและใช้การได้ ซึ่งเหลือเพียงแค่ 21 คัน จากทั้งหมด 60 คัน นอกจากนี้ยังพบว่าสาย 522 (1-22E) รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ทางด่วน) ยังมีการนำรถโดยสารปรับอากาศสีส้ม (ยูโรทู) จากสาย 503 และ 555 บางส่วน มาช่วยวิ่งทดแทนรถโดยสารปรับอากาศสีฟ้า (NGV)

ส่วนที่เขตการเดินรถที่ 1 อู่บางเขน กรุงเทพฯ พบว่ารถประจำทางสายสนามบินดอนเมือง มีการนำรถโดยสารปรับอากาศสีฟ้า (NGV) ที่ยังไม่ตัดจอดและใช้การได้ จากสาย A1 สนามบินดอนเมือง-จตุจักร-หมอชิตใหม่ และสาย A2 สนามบินดอนเมือง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มาช่วยวิ่งสาย A3 สนามบินดอนเมือง-สวนลุมพินี และสาย A4 สนามบินดอนเมือง-ถนนข้าวสาร-สนามหลวง ซึ่งรถโดยสารปรับอากาศสีฟ้า (NGV) ถูกตัดจอดทั้งหมด ก่อนที่จะนำรถประจำทางปรับอากาศจากเส้นทางอื่นมาช่วยวิ่ง เช่น รถโดยสารปรับอากาศสีส้ม (ยูโรทู) จากสาย 129 มาช่วยวิ่งสาย A4 เป็นต้น

สำหรับสาเหตุที่นำรถโดยสารปรับอากาศสีส้ม (ยูโรทู) และรถโดยสารธรรมดา (ครีมแดง) มาช่วยวิ่งในสายที่มีรถโดยสารปรับอากาศสีฟ้า (NGV) ก่อนหน้านี้ เนื่องจากรถโดยสารปรับอากาศสีฟ้า (NGV) ยี่ห้อบอนลัค รุ่น JXK6120L ของ ขสมก. ที่จัดซื้อจัดจ้าง 489 คัน อายุการใช้งาน 7 ปี จอดเสียหรือตัดจอดจำนวนมาก บางเส้นทางรถหายไปจากระบบเกินครึ่งหนึ่งของเส้นทางเดินรถ เนื่องจากประสบปัญหาอะไหล่ไม่มีหรือหายาก ทำให้ไม่สามารถซ่อมรถที่ถูกตัดจอดได้ในขณะนี้

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2566 ขสมก. ตัดสินใจหยุดการใช้งานรถโดยสารปรับอากาศสีฟ้า (NGV) ที่มีอยู่ทั้งหมด 486 คัน ใน 25 เส้นทางเป็นการชั่วคราว เนื่องจากช่างของบริษัทเหมาซ่อมรถรุ่นดังกล่าวมีการนัดหยุดงานประท้วง จากเหตุบริษัทผู้รับจ้างจ่ายค่าแรงล่าช้า ส่งผลทำให้ต้องย้ายรถโดยสารบางเส้นทางไปช่วยวิ่งในสายที่มีปัญหา เพราะหากนำรถออกวิ่งให้บริการเกรงว่าเมื่อรถเสียหรือเกิดอุบัติเหตุ จะทำให้เกิดปัญหาในเส้นทาง เนื่องจากไม่มีช่างออกไปดูแล และซ่อมแซมรถที่เสียในเส้นทาง กระทั่งมีการเจรจาและกลับมาให้บริการตามปกติอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา แต่ก็ประสบปัญหารถเสียตัดจอดอีก

ขณะที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเคยยื่นหนังสือเรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการเหมาซ่อม บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) โดยเห็นสมควรให้ ขสมก.ทบทวนยกเลิกสัญญากับบริษัท ช ทวี และเร่งรัดจัดหาบริษัทใหม่เพื่อซ่อมบำรุงรถโดยสารปรับอากาศสีฟ้า (BONLUCK) เพื่อรักษาผลประโยชน์ของ ขสมก. เพราะปัญหาดังกล่าวทำให้ ขสมก.เกิดความเสียหายทั้งภาพลักษณ์ในเส้นทางเดินรถการให้บริการ และการที่ ขสมก.จัดหารถโดยสารตามกองเดินรถต่างๆ ส่งผลกระทบด้านบริการ ทำให้ขาดรายได้มากขึ้น ซึ่งประเมินความเสียหายมิได้กับเหตุการณ์ในครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น