1.ตร. ตั้งข้อหา "สมรักษ์" 4 ข้อหา "พรากผู้เยาว์-อนาจาร-พยายามข่มขืน" สาว 17 ด้านเพื่อนสาว 17 ยัน เจ้าตัวตั้งใจไปกับสมรักษ์เอง เพื่อนจะไปส่ง ก็ไม่พอใจ!
จากกรณี น.ส.เอ (นามสมมติ) อายุ 17 ปี ได้เข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองขอนแก่นว่า ถูกสมรักษ์ คำสิงห์ อดีตนักมวยชื่อดัง พาเข้าโรงแรมแล้วกระทำอนาจาร หลังรู้จักกันในผับแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น เมื่อคืนวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น พร้อมทีมสหวิชาชีพ ที่ประกอบด้วยอัยการ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และพนักงานอัยการ ได้เข้าสอบปากคำ น.ส.เอ ที่สำนักงานอัยการภาค 4 โดยมีรายงานว่า น.ส.เอ อยู่ในอาการเครียด และร้องไห้บางช่วงของการสอบปากคำ พร้อมให้การว่า ได้ถูกนายสมรักษ์ กระทำอนาจารบนห้องพักในแรมแห่งหนึ่งจริง
ส่วนในประเด็นที่ว่า เหตุใด น.ส.เอ จึงไม่มีท่าทีขัดขืนตั้งแต่ช่วงที่ออกจากสถานบริการ น.ส.เอ ให้การว่า ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น และที่ไม่ขัดขืนก็เพราะเห็นว่านายสมรักษ์ เป็นนักมวย จึงไม่กล้าขัดขืน
ด้านสมรักษ์ ยืนยันว่า ไม่ได้ข่มขืน ด้วยเกียรติของลูกผู้ชายและนักชกเหรียญทองโอลิมปิก ตนไม่มีทางทำเช่นนั้นอย่างแน่นอน แต่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และตนก็ไม่ทราบมาก่อนว่า เด็กคนดังกล่าวอายุ 17 ปี และว่า เหตุการณ์ดังกล่าว มีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพเอาไว้เป็นหลักฐานหลายมุม ส่วนตัวไม่อยากพูดอะไรมาก ทุกอย่างให้ว่ากันไปตามกระบวนการของกฎหมาย แต่ยืนยันว่า ตนไม่ได้ข่มขืนอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ นายสมรักษ์ ได้เดินทางเข้าพบคณะพนักงานสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ปากคำและเจ้าหน้าที่ตำรวจศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 4 ได้เข้าเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ เพื่อใช้ประกอบสำนวนการสอบสวนทางคดี โดยคณะพนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อหา 4 ข้อกล่าวหา คือ 1.ร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากผู้ปกครอง 2.ร่วมกันพาบุคคลอายุต่ำกว่า 15 แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อการอนาจาร 3.กระทำอนาจารกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยใช้กำลังประทุษร้าย 4.พยายามข่มขืนผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย
นายสมรักษ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในเวลาต่อมา โดยได้ยกมือไหว้ขอโทษพี่น้องชาวไทย และชาวจังหวัดขอนแก่น ที่ทำให้เกิดเรื่องเดือดร้อนขึ้นมา ปัญหาที่เกิดก็คือ ตนเองไม่ทราบจริงๆ ว่า ผู้เสียหายนั้นอายุ 17 ปี ถ้าหากตนเองทราบ คงไม่มีเรื่องเกิดขึ้น แต่เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว ต้องตั้งสติหาทางแก้ไข และต้องขอโทษครอบครัวตนเอง รวมทั้งครอบครัวของน้องเขาด้วย ตนเองเข้าใจความรู้สึกของทุกคน ไม่อยากให้เรื่องมันเกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นแล้วตนเองก็พร้อมที่จะแก้ไข และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ด้าน "เบสท์" รักษ์วนีย์ คำสิงห์ ลูกสาวสมรักษ์ กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นกับพ่อว่า "เราก็รักพ่อแม่เราปกติ เขาเป็นพ่อแม่เราค่ะ มันเกิดขึ้นแล้ว เบสท์เป็นคนที่ถ้าผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก เพราะฉะนั้นเบสท์ให้กำลังใจพ่อนะคะ แต่ถ้าพ่อทำผิดจริงๆก็ต้องรับผิด ซึ่งตอนนี้เราไม่รู้หรอกว่ามันเป็นยังไงเพราะเหตุการณ์ตรงนี้ เราไม่มีทางรู้ได้ ก็ต้องให้กระบวนการทางกฎหมายพิสูจน์ หนูก็รักพ่อแม่หนู ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง หนูก็จะซัพพอร์ตพ่อแม่หนูเท่าที่ทำได้อยู่แล้ว"
ด้าน พ.ต.ท.ศุภฤกษ์ สุวรรณราช รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองขอนแก่น เผยว่า นายสมรักษ์ ผู้ต้องหาที่ 1 ได้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา โดยได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา หลังจากนี้พนักงานสอบสวนได้ให้เวลา 15 วัน เพื่อไปเขียนคำให้การเพื่อแก้ข้อกล่าวหา
พ.ต.ท.ศุภฤกษ์ เผยด้วยว่า ตลอดเวลาที่สอบปากนายสมรักษ์ ไม่มีอาการเครียดแต่อย่างใด แต่ก็มีความกังวลถึงเรื่องที่เกิดขึ้นที่เกิดจากความผิดพลาด พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัว เพราะนายสมรักษ์เข้ามาพบพนักงานสอบสวนและไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี และเตรียมจะไปปรึกษาทนายความ เพราะที่มาเข้ามอบตัว ไม่มีทนายความมาร่วมด้วย ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ที่เป็นคนขับรถจักรยานยนต์พานายสมรักษ์และผู้เสียหายไปโรงแรมในวันเกิดเหตุ จะมีการออกหมายเรียกต่อไป
ขณะที่ น.ส.บี และ น.ส.ซี (นามสมมติ) เพื่อนของ น.ส.เอ คู่กรณีสมรักษ์ ซึ่งเป็นเพื่อนที่ไปเที่ยวกับ น.ส.เอ วันเกิดเหตุ และปรากฏในภาพกล้องวงจรปิด ช่วงที่ยืนรออยู่ข้างสถานบันเทิง ก่อนที่ น.ส.เอ จะเดินไปขึ้นรถ จักรยานยนต์ของสมรักษ์ แล้วขับซ้อนสามออกจากร้านไป ได้ออกมายืนยันผ่านไลฟ์สดว่า ตอนนี้ถูกสังคมด่าว่าทอดทิ้งเพื่อน ไม่ช่วยเพื่อน ไม่รักเพื่อน ไม่ห้ามเพื่อน ซึ่งตนเองขออธิบายให้ฟังว่า ในวันเกิดเหตุนั้น เพิ่งรู้จักกับ น.ส.เอ เป็นวันแรก โดยเป็นเพื่อนของเพื่อนในกลุ่ม และเป็นคนบ้านเดียวกันกับ น.ส.เอ ได้ชักชวนมาเที่ยวด้วย
ในช่วงที่กินกันภายในร้านอยู่โต๊ะเที่ยวกัน 4 คน ซึ่งทุกคนก็สังสรรค์ ดื่มกินกันตามปกติ ก่อนที่พวกตนจะไปเข้าห้องน้ำ แล้วเดินกลับมา ก็พบว่า น.ส.เอ อยู่ที่โต๊ะของสมรักษ์แล้ว จึงเข้าไปสอบถามว่าทำไมถึงได้มาอยู่ที่นี่ แต่ น.ส.เอไม่ตอบ ตนเองจึงพากันกลับไปที่โต๊ะ กระทั่งร้านปิด พากันไปยืนอยู่ที่หน้าร้าน
ซึ่งตนเองเป็นคนที่เดินไปถาม น.ส.เอว่าจะไปกับเขาจริงๆ เหรอ และยังมีเพื่อนผู้ชายที่อาสาจะไปส่ง น.ส.เอกลับห้องพัก โดยพาซ้อนกลับไปกับเพื่อนคนอื่นๆ ด้วย แต่ น.ส.เอชักสีหน้าไม่พอใจ เพราะต้องการจะไปกับสมรักษ์ จากนั้น เจ้าตัวเดินไปหาสมรักษ์แล้วขับรถจักรยานยนต์ซ้อนสามออกไปด้วยกัน ซึ่งทุกคนก็งงกันหมด และทุกคนก็เมา ก่อนจะพากันแยกย้ายกลับ ก่อนที่เพื่อนผู้ชายที่รู้จักกับ น.ส.เอ จะส่งข้อความแชทมาถามตนเองว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไม น.ส.เอให้พาเข้าแจ้งความ ซึ่งตนเองก็ยืนยันว่าไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร หรือเกิดอะไรขึ้น โดยทุกคนก็งงกันหมดเช่นกัน
ด้านแม่ของ น.ส.เอ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว โดยขอโทษที่ดูแลลูกตัวไม่เองดีพอ จนทำให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น และว่า เด็กไม่สมควรเข้าสถานบันเทิงและแม่จะนำไปแก้ไข ทั้งนี้ แม่ยืนยันว่า จะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด พร้อมย้ำว่า ครอบครัวไม่ได้ต้องการเงินและไม่ได้คิดแบล็คเมล์ หลังจากนี้จะไม่มีการเจรจา และจะดำเนินการให้ถึงที่สุด
ทั้งนี้ นอกจากสมรักษ์จะถูกแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ยังได้แจ้งข้อกล่าวหากับนายปรเมษฐ์ อรรคยาต ผู้แสดงตนเป็นผู้ดูแลร้านสุขสันต์ขอนแก่น สถานบริการที่สมรักษ์และคู่กรณีเข้าไปเที่ยวว่า เป็นผู้สนับสนุนให้ผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้งสถานบริการ ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้บุคคลอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการ และเปิดทำการเกินกว่าเวลาตามที่มีกฎหมายบัญญัติ ซึ่งนายปรเมษฐ์ รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
ขณะที่ทางจังหวัดขอนแก่นได้ให้โอกาสทางสถานบริการสุขสันต์ขอนแก่นทำหนังสือโต้แย้งแสดงข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของตนโดยให้ ยื่นต่อจังหวัดขอนแก่น ภายในกำหนด 7 วัน หากไม่ยื่นหนังสือโต้แย้งแสดงข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานของตนภายในกำหนด จะถือว่าไม่ประสงค์ที่จะโต้แย้งหรือแสดงพยานหลักฐาน ซึ่งจังหวัดขอนแก่นจะได้พิจารณาดำเนินการกับสถานบริการดังกล่าวต่อไป
นายชาญชัย ศรีศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงการเอาผิดสถานบริการดังกล่าวว่า “ทุกอย่างต้องชัดเจน และต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เพราะไม่ใช่ว่าจะปิดได้ทันที ซึ่งโทษอาจจะแค่สั่งปิดชั่วคราวหรือสั่งปิด 5 วัน ซึ่งกรณีนี้ต้องได้สั่งปิด เพราะจากหลักฐานร้านต้องโดนลงโทษ เด็กสาวเองก็ยืนยันในตอนแจ้งความ สมรักษ์เองก็ยืนยัน ว่าเจอกันในร้าน มันคือหลักฐานที่มัดแน่น จึงต้องถูกดำเนินการปิด แต่จังหวัดต้องตรวจสอบตามขั้นตอนให้ชัดเจนก่อน”
2.ศาลพิพากษาจำคุก "ไอซ์ รักชนก" 6 ปี ไม่รอลงอาญา คดีโพสต์หมิ่นเบื้องสูง ก่อนให้ประกันตัว พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามทำผิดซ้ำ!
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ศาลอาญา ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.รักชนก ศรีนอก หรือไอซ์ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล เป็นจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14
คดีนี้ อัยการโจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ถึงวันที่ 9 ส.ค. 64 จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน จำเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 โดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา โดยจำเลยใช้บัญชีทวีตเตอร์ "ไอซ์ หรือ @nanaicez" ของจำเลยโพสต์ (tweet) ข้อความทำนองว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองที่ใช้อำนาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง ทำให้เข้าใจความหมายได้ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีพยานเบิกความว่า พยานเป็นสมาชิกแอปพลิเคชันไลน์แบบกลุ่ม ได้รับภาพที่ส่งเข้ามาในกลุ่มไลน์ ซึ่งจำเลยเป็นผู้ทวีตภาพและข้อความ และรีทวีต (RETWEET) ซึ่งพยานเห็นว่า การทวีตของจำเลยเป็นการใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ส่วนการรีทวีตของจำเลยมีการระบุชื่อของรัชกาลที่ 10 และมีเนื้อหาที่เป็นการเหยียดหยาม ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เนื่องจากมีรูปโพรไฟล์และชื่อของจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความ พยานจึงนำภาพและข้อความดังกล่าวไปแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับจำเลยที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)
ส่วนที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า ภาพและข้อความตามฟ้องเป็นการใส่ร้ายตนจากบุคคลที่เห็นต่างทางการเมือง ...เพราะมีบุคคลที่จ้องจะเล่นงานตนอยู่แล้ว ตนจึงไม่มีทางที่จะโพสต์ภาพและข้อความตามฟ้อง และตนมีความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ศาลเห็นว่า พยานโจทก์ ไม่เคยรู้จักกับจำเลย หรือมีสาเหตุบาดหมางกับจำเลยมาก่อน ...การที่จำเลยมาแจ้งความกล่าวหาให้ดำเนินคดีกับผู้ที่โพสต์ นับว่าเป็นการทำหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีเจตนากลั่นแกล้งจำเลยแต่อย่างใด
หากจำเลยมีความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแล้ว ย่อมไม่อาจมีการโพสต์ข้อความใดๆ ในทางลบ ให้พยานหรือประชาชนทั่วไปได้พบเห็น ข้ออ้างของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่น่าเชื่อถือ ประกอบกับในชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ โดยไม่ได้ให้การในรายละเอียดแต่ประการใด ซึ่งจำเลยให้การเพียงว่า "ขอไม่ให้การ"
และเมื่อพนักงานสอบสวนถามถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยจำเลยก็ให้การว่า "ไม่ได้เอามา" โดยจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งว่าเป็นภาพตัดต่อหรือโต้แย้งว่าตนถูกใส่ร้ายทางการเมือง รวมทั้งมิได้ขวนขวายที่จะขอส่งมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนให้พนักงานสอบสวนทำการตรวจสอบข้อมูล ทั้งที่เป็นการไม่ยากที่จะกลับไปเอาหรือส่งมอบให้ภายหลังในระยะเวลาอันสมควร ทั้งที่จำเลยถูกแจ้งข้อหาในความผิดร้ายแรงที่กระทำต่อพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการผิดวิสัยของประชาชนคนไทยทั่วไปที่สืบสานวัฒนธรรมและทัศนคติในการเคารพองค์พระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน...
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานดูหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้ลงโทษตาม มาตรา 112 อันเป็นบท หนักสุด รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา
หลังฟังคำพิพากษา น.ส. รักชนก ยังมีสีหน้ายิ้มเเย้ม ขณะที่นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จะใช้ตำเเหน่งและหลักทรัพย์เงินสดจำนวน 300,000 บาท ยื่นประกันตัว น.ส.รักชนก ส่วนหลังจากนี้จะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ต้องรอฟังผลการขอยื่นประกันตัวก่อน
ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว น.ส.รักชนก ระหว่างอุทธรณ์คดีโดยตีราคาประกัน 500,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการหรือร่วมกิจกรรมลักษณะเดียวกันกับข้อหาตามคำฟ้องและหรือมีพฤติการณ์ใดๆ ในลักษณะและข้อหาเดียวกัน
ด้าน น.ส.รักชนก กล่าวหลังศาลให้ประกันตัวว่า ไม่ได้กังวลอะไรตั้งแต่แรก ย้ำว่า สิทธิการประกันตัว ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ อยากเรียกร้องให้นักโทษและผู้ต้องหาคดีความผิดมาตรา 112 ได้รับการประกันตัว ไม่ใช่เรื่องที่มากเกินไป แต่เป็นสิทธิที่ถูกรองรับไว้ตามรัฐธรรมนูญ อยากให้ศาลปฏิบัติกับผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 เหมือนกับคดีอื่น หลังจากนี้ จะมีการยื่นอุทธรณ์ โดยหลักฐานที่จะนำไปยื่นต้องพูดคุยกับทนายความเพิ่มเติม เนื่องจากทนายความในคดีนี้ คือ นายอานนท์ นำภา ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ
“ไม่ว่าจะได้เป็น สส.หรือไม่ได้เป็น สส.ไม่ได้สำคัญขนาดนั้น เรามาเป็น สส. เพราะอยากทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันทางกฎหมาย มีโอกาสทางการศึกษาที่ดีมีโอกาสทางเศรษฐกิจ อนาคตจะเป็นอย่างไร อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ไม่ว่าใครจะดำรงตำแหน่งไปพรรคก้าวไกล ทุกคนมีอุดมการณ์เดียวกัน”
ส่วนกรณีที่คำพิพากษาระบุว่า นางสาวรักชนก ไม่ขวนขวายที่จะแสดงหลักฐานเพื่อแสดงความบริสุทธิ์นั้น น.ส.รัชนก ไม่ได้ตอบคำถาม ก่อนที่นายชัยธวัช จะกล่าวว่า ขอให้ น.ส.รักชนกไปพูดคุยกับทนายความก่อน
3. ราชทัณฑ์ ออกระเบียบใหม่จำคุกนอกเรือนจำ ยัน ไม่ได้เอื้อ "ทักษิณ" ด้าน "วัชระ" จี้ กมธ.ตร.ตรวจสอบ "ยิ่งลักษณ์" แอบเข้าไทยพร้อมทักษิณจริงหรือไม่!
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบใหม่ กำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ โดยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ส่งระเบียบดังกล่าวถึงผู้ว่าราชการจังหวัด โดยระบุว่า ด้วยกรมราชทัณฑ์ ได้ประกาศใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 โดยสาระสำคัญของระเบียบนี้เป็นการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังแต่ละประเภทและการอื่นตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และขอได้แจ้งเรือนจำทราบและถือปฏิบัติต่อไป
อย่างไรก็ตาม ระเบียบดังกล่าวถูกหลายฝ่ายจับตามองว่า ออกมาเพื่อเอื้อบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือไม่ โดยเฉพาะนายทักษิณ ชินวัตร นักโทษที่เดินทางกลับเข้าไทย แต่อยู่เรือนจำยังไม่ทันข้ามคืน ก็ออกมารักษาตัวอยู่ รพ.ตำรวจ จนเกือบจะครบ 4 เดือนในวันที่ 22 ธ.ค.แล้ว
ด้าน นพ.สมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงระเบียบคุมขังนอกเรือนจำเอื้อประโยชน์ต่อนายทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ว่า สำหรับระเบียบขั้นตอนการพิจารณาคุมขังนอกเรือนจำนั้น ยังไม่มีกำหนดบังคับใช้ เพราะเพิ่งประกาศเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา ต้องมีหลักปฏิบัติและผ่านอีกหลายขั้นตอน เช่น คำสั่งจากศาล เรือนจำทั่วประเทศส่งรายชื่อผู้ต้องขังที่อยู่ในเกณฑ์ หรือต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณาว่าออกมาแล้วจะต้องไปอยู่สถานที่ใด ซึ่งไม่ใช่ว่าประกาศแล้วสามารถใช้ได้ทันที ยืนยันไม่ใช่ทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง
โดยเจตนารมณ์ระเบียบราชทัณฑ์ฉบับนี้ออกมาเพื่อผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำและไม่เกิดผลดี อาทิ ผู้ต้องขังป่วย ผู้ต้องขังอายุมาก ผู้ต้องขังตั้งครรภ์ หรือผู้ต้องขังที่ฝึกวิชาชีพภายนอกเรือนจำ เป็นต้น ส่วนกำหนดระยะเวลาที่จะเห็นผู้ต้องขังชุดแรกได้ใช้ระเบียบตัวนี้ยังระบุไม่ได้ แต่คาดว่าในปี 2567 อย่างไรก็ตาม ในกรณีนายทักษิณจะได้ใช้ระเบียบราชทัณฑ์คุมขังนอกเรือนจำหรือไม่ ยังไม่สามารถบอกได้
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ นอนพักรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ จะครบ 120 วัน ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ว่า ภายใต้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุว่าเป็นอำนาจของอธิบดี รายงานเป็นลายลักษณ์อักษรให้รัฐมนตรี (รมว.) ยุติธรรมรับทราบ แต่ไม่อนุญาตให้ รมว. ยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงการทำงานของกรมราชทัณฑ์
ด้านเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดยนายพิชิต ไชยมงคล พร้อมด้วย นายนัสเซอร์ ยีหมะ และตัวแทนมวลชนประมาล 20 คน เดินทางเข้ายื่นเอกสารต่อนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอให้นำตัวนายทักษิณ ผู้ต้องขังเด็ดขาดกลับเรือนจำ
นายพิชิต กล่าวว่า หลังจากที่นายทักษิณ ได้อ้างสิทธิในการเป็นผู้ป่วยแล้วย้ายมารักษาตัวนอกเรือนจำ เมื่อคืนวันที่ 22 ส.ค. 66 และกรมราชทัณฑ์ได้อนุญาตให้มีการรักษาตัวต่อหลังจากที่ผ่านไป 60 วัน โดยอ้างความเห็นของคณะแพทย์ว่ามีการผ่าตัดใหญ่ จนปัจจุบันผ่านมากว่า 114 วัน และใกล้จะครบ 120 วัน ที่ระเบียบกรมราชทัณฑ์ต้องให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้อนุญาตการรักษาตัวนอกเรือนจำต่อไปหรือไม่นั้น ปรากฏข้อเท็จริงว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บุตรสาวของนายทักษิณ ออกมาสัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า อาการของ นายทักษิณ อยู่ระหว่างการพักฟื้นร่างกาย
นายพิชิต กล่าวอีกว่า การนอนพักฟื้นร่างกายหลังอ้างการผ่าตัดนั้น ระเบียบกรมราชทัณฑ์ให้รีบนำกลับมานอนพักฟื้นได้ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งมีศักยภาพในการรับผู้ต้องขังเด็ดขาดมานอนรักษาตัวในระยะพักฟื้นได้ และการจะอนุญาตให้มีการนอนพักฟื้นตัวต่อที่โรงพยาบาลตำรวจต่อหลังจากครบ 120 วัน อาจเข้าข่ายการกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา 157 การใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการเลือกปฏิบัติอันเป็นคุณเป็นโทษแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ
ด้านนายนัสเซอร์ ยีหมะ เผยว่า กรมราชทัณฑ์ได้เร่งรีบประกาศระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับใหม่ที่ประกาศให้มีการกำหนดพื้นที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ คปท.เห็นว่า เป็นการวางแผนใช้ระเบียบพาตัวผู้ต้องขังเพียง 1 คน ไม่ให้ติดเรือนจำจริงแม้แต่วันเดียว เนื่องจากหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาที่คุมขังใหม่นั้น เป็นที่เข้าใจว่านายทักษิณจะได้ใช้สิทธิระเบียบใหม่เป็นคนแรก ซึ่งเท่ากับว่าผู้ต้องขังคดีทุจริต คอร์รัปชัน จะไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว คือ วันแรกก็เบิกตัวมานอนโรงพยาบาลตำรวจ เมื่อครบ 120 วันก็อ้างระเบียบกำหนดให้บ้านจันทร์ส่องหล้า เป็นที่คุมขังอื่นตามระเบียบ และเมื่อเข้าหลักเกณฑ์พักโทษ ในวันที่ 22 ก.พ. 67 ก็ได้รับการพักโทษตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ อีกทั้ง การกระทำโดยร่วมกันอ้างระเบียบเช่นนี้เท่ากับเป็นการทำลายคำพิพากษาของศาล ด้วยระเบียบของกรมราชทัณฑ์เอง
นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และนักโทษชายรักษาอยู่ที่ รพ.ตำรวจจริงหรือไม่ ขอให้ส่งรายชื่อผู้คุมที่ไปควบคุมตัวนายทักษิณให้แก่คณะ กมธ.ตำรวจ และอยากถามว่าระเบียบกรมราชทัณฑ์ที่ออกมาให้จำคุกนอกเรือนจำ ใหญ่กว่าคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และใหญ่กว่าพระบรมราชโองการอภัยโทษหรือไม่
ทั้งนี้ นอกจากนายวัชระจะยื่นเรื่องต่อ กมธ.ตำรวจกรณีนายทักษิณแล้ว ยังได้ยื่นให้ กมธ.ตำรวจตรวจสอบกรณีมีข่าวปรากฏตามสื่อต่างๆ ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แอบลักลอบเดินทางเข้าประเทศพร้อมนายทักษิณ เป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพราะเป็นที่น่าสังเกตว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ฯ ไม่เคยโพสต์ข่าวความเคลื่อนไหวในต่างประเทศผ่านโซเชียลมีเดียตั้งแต่เดือน ส.ค. 2566 ที่นายทักษิณ กลับเข้าประเทศ ถึงปัจจุบันแต่อย่างใด ซึ่งผิดปกติวิสัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์อย่างยิ่ง
4. ศาลพิพากษาจำคุก "ไบรท์ ชินวัตร" แกนนำกลุ่มราษฎร 6 ปี ไม่รอลงอาญา คดีปราศรัยยุยงปลุกปั่นไล่นายกฯ ตู่-หมิ่นสถาบัน เจ้าตัวสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 3 ปี!
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ศาลอาญาได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้องนายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์, นายชินวัตร หรือไบรท์ จันทร์กระจ่าง, นายภาณุพงศ์ หรือไมค์ จาดนอก, น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล, น.ส.จิรฐิตา ธรรมรักษ์ และนายคริษฐ์ อร่ามพิบูลกิจ (หลบหนี) แกนนำคณะราษฎร ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานหมิ่นสถาบันตามกฎหมายอาญา มาตรา112 ฐานร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ จนเป็นอุปสรรคต่อความสะดวกในการจราจร มาตรา 116
จากกรณีเมื่อระหว่างวันที่ 1-3 ธ.ค.2563 ต่อเนื่องกัน พวกจำเลยได้จัดกิจกรรม #ม็อบ 2 ธันวา ไล่จันทร์โอชาออกไป โดยชุมนุมปราศรัย ยุยง ปลุกปั่น พาดพิงให้ร้ายสถาบันด้วยถ้อยคำหยาบคาย มีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 3,000 คน บริเวณห้าแยกลาดพร้าว หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ถ.พหลโยธิน กทม. เกี่ยวพันกัน ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ
ทั้งนี้ ศาลได้อ่านคำพิพากษาเฉพาะในส่วนเฉพาะของนายชินวัตร ที่กลับคำให้การเป็นรับสารภาพเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา
โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว พิพากษาว่า การกระทำของนายชินวัตร จำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานร่วมกันหมิ่นประมาทดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุก 4 ปี ความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 116 (2)(3) มาตรา 215, 216 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อาญามาตรา 116 (2)(3) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักสุด จำคุก 2 ปี
ฐานร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.บ.การจราจรมาตรา 108, 114 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ร.บ.ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 19 และความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 385 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา 385 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ปรับ 2,000 บาท ฐานร่วมกันโฆษณา ใช้เครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 200 บาท ฐานร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34, 35 และฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ตาม ป.อาญา มาตรา 90 ปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 6 ปี และปรับ 22,200 บาท
อย่างไรก็ตาม นายชินวัตร จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกนายชินวัตร 3 ปี ปรับ 11,100 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ด้านนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ กล่าวว่า คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีทุกคน ยกเว้นนายชินวัตร ซึ่งมากลับคำให้การในช่วงเดือน พ.ย. ส่วนรายละเอียดที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุกนายชินวัตรวันนี้ ตนไม่ทราบ เนื่องจากมีการเปลี่ยนทนายความ ในส่วนนายอานนท์กับพวกที่เเยกออกเป็นอีกสำนวนให้การปฏิเสธ ศาลนัดสืบพยานอีกครั้งเดือนมีนาคมปีหน้า
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังฟังคำพิพากษา ไม่มีญาติของนายชินวัตร จำเลย มายื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดีแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำตัวนายชินวัตรไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามคำพิพากษาต่อไป
5. ศาลยกฟ้อง “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” ไม่ผิดคดีพรากผู้เยาว์ นศ.ฝึกงาน วัย 17 ส่วนคดีอนาจาร ผู้เสียหายแจ้งความช้า หมดอายุความ!
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ศาลอาญา ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีพรากผู้เยาว์ ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ฟ้องนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดา และพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อการอนาจาร
คดีนี้ อัยการโจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2561 จำเลยได้พรากหญิงสาวรายหนึ่ง อายุ 17 ปีเศษ ไปจากบิดา มารดา หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร โดยหญิงนั้นเต็มใจ ด้วยการที่จำเลยใช้มือขวาจับมือซ้ายลักษณะกุมมือและใช้มือซ้ายจับที่ต้นขาของผู้เสียหาย โดยอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ซึ่งการกระทำอนาจารดังกล่าวเป็นลักษณะเปิดเผยที่เกิดต่อหน้าธารกำนัล เหตุเกิดที่แขวง และเขตดินแดง กทม. ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี และได้รับการประกันตัว
ทั้งนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุ หญิงสาวผู้เสียหายอายุ 17 ปี สนใจโครงการฝึกอบรมอาชีพ จึงสมัครและเข้าไปฝึกงานกับบริษัทของจำเลย ซึ่งสถานที่ฝึกงานของจำเลย ได้จัดตรียมโต๊ะให้ผู้เสียหายนั่งตรงหน้าห้องทำงานของจำเลย และมีการเรียกผู้เสียหายเข้าไปในห้องทำงานเพื่อพูดคุย ระหว่างนั้น มีการจับมือโอบไหล่หลายครั้ง แต่ผู้เสียหายคิดว่าเป็นการกระทำลักษณะผู้ใหญ่เอ็นดูเด็ก
หลังจากนั้นในวันเกิดเหตุ มีการจัดงานเลี้ยง หลังจากเสร็จงานเลี้ยงแล้ว จำเลยอาสาจะพาผู้เสียหายไปส่งที่คอนโดมีเนียม โดยนั่งรถตู้ส่วนตัวที่มีการกั้นผ้าม่านทึบไว้ ระหว่างคนขับกับที่นั่งผู้โดยสาร และรถตู้ติดฟิล์มสีดำ ขณะนั่งไปในรถตู้ จำเลยได้สนทนาเชิงชู้สาวกับผู้เสียหายเป็นภาษาอังกฤษ แล้วมีการจับมือ ลูบแขน ต้นขา ถลกกระโปรงผู้เสียหายด้วย ซึ่งผู้เสียหายขัดขืนและขอลงที่สถานีรถไฟฟ้าระหว่างทาง ก่อนจะถึงคอนโดมิเนียม จากนั้นจำเลยกำชับไม่ให้ผู้เสียหายนำเรื่องนี้ไปบอกใคร ผู้เสียหายจึงไม่กล้าเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ผู้อื่นทราบ แต่ก็ไม่ฝึกงานต่อ และขอลาออก
ต่อมา เมื่อเดือน พ.ค. 2565 ผู้เสียหายทราบข่าวจากสื่อว่า จำเลยไปกระทำอนาจารกับหญิงสาวอื่นหลายราย จึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้มารดาฟัง และได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้แม้เป็นคดีอนาจารกระทำต่อบุคคลอายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี เมื่อไม่ได้ทำต่อหน้าธารกำนัล จึงเป็นการอนาจาร ซึ่งเป็นความผิดที่ยอมความกันได้ และเมื่อผู้เสียหายมิได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 3 เดือน นับแต่วันเกิดเหตุ จึงเป็นอันสิ้นอายุความ เหตุดำเนินคดีจึงระงับไปตาม ป.วิอาญา มาตรา 39(6)
ส่วนคดีพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปจากบิดามารดา เพื่อการอนาจาร ข้อเท็จรับฟังได้ว่าจำเลยอาสาจะไปส่งผู้เสียหายจากบริษัทของจำเลยไปยังคอนโดมิเนียมที่พักของผู้เสียหาย ซึ่งระหว่างที่เดินทางนั่งรถตู้ ไม่มีการออกนอกเส้นทาง แต่เมื่อเกิดพฤติการณ์ที่จำเลยจับมือ ลูบแขน ต้นขา ผู้เสียหายระหว่างทางภายในรถตู้ส่วนตัว ผู้เสียหายได้กล่าวว่าจะขอลงระหว่างทาง เพื่อจะไปนั่งรถไฟฟ้ากลับคอนโดมีเนียมที่พักด้วยตนเอง ซึ่งจำเลยยินยอมให้ผู้เสียหายลงจากรถตู้คนดังกล่าว จึงไม่เข้าลักษณะพรากผู้เยาว์ไปจากบิดามารดา พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง
หลังฟังคำพิพากษา นายปริญญ์มีสีหน้าเรียบเฉย และรีบเดินทางกลับทันที โดยไม่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้พิพากษาจำคุกนายปริญญ์ 4 ปี ฐานล่วงละเมิดทางเพศ “แอ นนา” อดีตภรรยา “ไฮโซลูกนัท” ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย และให้จ่ายค่าชดเชย 2 ล้านบาท รวมทั้ง ศาลอาญากรุงเทพใต้ ยังได้จำคุกนายปริญญ์ อีก 2 คดี คือ 2 ปี และ 2 ปี 8 เดือน ตามลำดับ และพิพากษายกฟ้อง 1 คดี นอกจากนี้ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ยังได้พิพากษายกฟ้องนายปริญญ์ 1 คดี