นอกจากศาลพิพากษาคดี 112 จำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปีแล้ว อีกด้านของชีวิต อดีตแกนนำม็อบราษฎร "ชินวัตร จันทร์กระจ่าง" โดนคดีไม่มีใครช่วย ต้องแปะบัญชีขอรับบริจาค วันนี้กลับตัวกลับใจอยู่ข้างกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ชีวิตดีขึ้นด้วยความช่วยเหลือเปิดร้านส้มตำให้ หวังยืนหยัดอยู่ได้ด้วยสัมมาอาชีวะ
วันนี้ (7 ธ.ค.) ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง อายุ 31 ปี อดีตแนวร่วมม็อบราษฎร ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ความผิดตามมาตรา 14 (3) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีปราศรัยเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง และ น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 ซึ่งนายอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา และได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2565 วางหลักทรัพย์เป็นจำนวน 150,000 บาท
โดยศาลเห็นว่าในคดีนี้เป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายมาตรา 112 ที่มีโทษหนักสุด พิพากษาจำคุก 3 ปี และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 200 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 100 บาท แต่เนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน อีกทั้งในคำประกอบคำให้การรับสารภาพจำเลยระบุว่าตนกลับใจแล้ว อยู่ในวิสัยที่จะกลับตัวเป็นคนดีได้ รวมถึงจำเลยยังได้เข้าร่วมกิจกรรมบริการทางสังคมต่างๆ หากคุมประพฤติจะเป็นผลดีต่อจำเลยมากกว่า โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี คุมประพฤติจำเลย 2 ปี และให้จำเลยไปรายงานต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง บำเพ็ญประโยชน์ 24 ชั่วโมง ให้จำเลยงดเว้นกิจกรรมที่มีลักษณะเดียวกับการกระทำผิดนี้อีก ในส่วนเรื่องอัยการขอนับโทษต่อ ศาลยกคำร้อง เนื่องจากจำเลยยังไม่เคยถูกพิพากษาในคดีใดมาก่อน
รายงานข่าวเพิ่มเติมจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกที่นายชินวัตรถูกกล่าวหาและศาลได้มีคำพิพากษาออกมา โดยในชั้นสอบสวนหลังถูกจับกุม นายชินวัตรเคยถูกคุมขังเป็นระยะเวลาทั้งหมด 26 วัน ก่อนศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้ประกันตัว แต่หลังอัยการสั่งฟ้องคดีและถึงนัดสืบพยานนัดแรก นายชินวัตรตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพตามฟ้อง และได้จัดทำคำแถลงประกอบคำรับสารภาพยื่นประกอบ ศาลจึงได้สั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาด้วย ก่อนนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันนี้ อย่างไรก็ตาม นายชินวัตรถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 7 คดี ขณะนี้อยู่ในชั้นศาลแล้ว 6 คดี โดยมีคดีจากการปราศรัยในการชุมนุม "2 ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว" เมื่อปี 2563 ที่นายชินวัตรขอถอนคำให้การเดิม และให้การรับสารภาพตามฟ้องเช่นกัน ทำให้ศาลอาญากำหนดนัดฟังคำพิพากษาเฉพาะกรณีของนายชินวัตร ในวันที่ 13 ธ.ค. 2566
ด้านเฟซบุ๊ก "ชินวัตร จันทร์กระจ่าง" โพสต์ข้อความระบุว่า "ศาลตัดสินจำคุก 3 ปี ไม่เคยต้องโทษลดเหลือ 1 ปี 6 เดือนในคดี 112 แต่ศาลแจ้งว่าผมได้กลับตัวกลับใจ และได้ทำงานบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม จึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปีและอยู่ในการดูแลของคุมประพฤติ ส่วนคดี พ.ร.บ.ฉุกเฉินให้ปรับ 200 บาท ลดเหลือ 100 บาทครับ อามีนได้มีโอกาสทำความดีแท้ๆ เป็นคนแผ่นดินต่อไปครับ" ข้อความต่อมาระบุว่า "ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ ให้โอกาสคนที่เคยหลงผิดอย่างผมกลับมาทำความดีเพื่อสังคมและแผ่นดินต่อไป ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานตลอดกาลตลอดไป" และอีกข้อความหนึ่งระบุว่า "ขอขอบคุณคุณลุงทนายอาสาที่มาทำคดีให้ผมโดยไม่เคยคิดค่าใช้จ่ายเลยแม้แต่บาทเดียว แต่คุณลุงเคยขอผมไว้อย่างหนึ่งว่าขอให้ผมประพฤติตนเป็นคนดีและทำเพื่อสังคม และที่สำคัญจะต้องมีความจงรักภักดีในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ คุณลุงทนาย สุวิจักขณ์ เพิ่มทรัพย์"
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุอีกว่า นายชินวัตรเคยเป็นแนวร่วมม็อบราษฎรมาก่อน แต่เวลาถูกดำเนินคดี ระยะหลังไม่มีใครให้ความช่วยเหลือใดๆ ต้องโพสต์ข้อความขอรับบริจาคเงินบ่อยครั้ง ตอนหลังนายชินวัตรไปช่วย น.ส.วิภาวัลย์ วรวรรณปรีชา ผู้สมัคร ส.ส.นนทบุรี เขต 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยระบุว่า สนับสนุนคนทำงานในพื้นที่บ้านผม ส่วนใครจะด่าผมว่าเป็นอย่างไรแล้วแต่ท่าน ใครจะอยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อ สำหรับผมไม่ได้สำคัญ สำคัญที่ว่าคนในพื้นที่นนทบุรี เขต 1 จะอยู่กันอย่างไร ถ้าผู้แทนฯ ไม่เอาใจใส่พี่น้องคนในพื้นที่หลังจากเข้าสภาฯ ไปแล้วเท่านั้นเอง และในช่วงการระบาดของโรคโควิด มีนักการเมืองไม่กี่คนที่ช่วยเหลือพี่น้องในพื้นที่นนทบุรีบ้านผม ผมคนนนท์ สนับสนุนให้คนนนท์ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนประชาชนในพื้นที่ และใครที่บอกว่าผมมาเพราะเงิน ดูถูกผมมากเกินไป ผมบอกแล้วผมสนับสนุน ดร.วิภาวรรณ ทำงานเป็นตัวแทนประชาชนในพื้นที่
ขณะที่ นายนพดล พรหมภาสิต หรือรอยตุ๊ อดีตประธานศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคม หรือ ศชอ. และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ให้ความช่วยเหลือนายชินวัตร ด้วยการเปิดร้านอาหารที่ชื่อว่า แซ่บไบร์ท ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลบางกร่าง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เมื่อเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยนายนพดลเคยเล่าที่มาที่ไปว่า นายชินวัตรได้บรรลุดวงตาเห็นธรรมว่าการต่อสู้ที่ผ่านมาในแนวทางของอีกฝ่ายนั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติและสถาบันฯ ยิ่งต่อสู้ในแนวทางที่ผิด ชีวิตไบร์ทก็ยิ่งตกต่ำ มีแต่คดีความติดตัวเป็นหางว่าว ไปสมัครงานที่ไหนใครเขาก็ไม่รับ ปากกัดตีนถีบทำงานรับจ้างทุกอย่างชีวิตก็ไม่ดีขึ้น เมียก็ต้องเลี้ยงลูกที่ยังเล็ก วิธีที่จะให้มีชีวิตอยู่รอดไปวันๆ คือการแปะบัญชีเปิดรับบริจาค จึงตัดสินใจยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้โอกาสคนหมดที่พึ่งสามารถยืนได้ด้วยสัมมาอาชีวะของตัวเอง และสัมมาทิฏฐิที่ถูกต้อง ซึ่งภรรยานายชินวัตรมีฝีมือในการทำอาหารอีสาน จึงก่อตั้งร้านขึ้นมา