ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ณ เวลานี้ เรื่องที่คนไทยและสังคมไทยให้ความสนใจ พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เห็นจะทีจะหนีไม่พ้นกรณีของ “พ่อใหญ่บาส-สมรักษ์ คำสิงห์” กับ “สาว 17” ที่ไปพบเจอกันในสถานบันเทิงเมืองขอนแก่น และจบลงที่ “โรงแรม” กระทั่งในเวลาต่อมา “สาว 17” รายนั้นก็เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนักกีฬาไทยคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้สำเร็จจากการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น ที่เมืองแอตแลนตา สหรัฐฯ เมื่อปี 2539 จนต้องหน้าดำคร่ำเครียดอยู่ในเวลานี้
เรื่องนี้มีประเด็นให้ถกเถียงกว้างขวาง บางคนก็เห็นใจพ่อใหญ่บาสด้วยใครจะไปรู้อายุอานามที่แท้จริงก่อนการมี “เพศสัมพันธ์” ได้ เว้นแต่จะขอดู “บัตรประชาชน”ก่อนมี “เซ็กซ์” ซึ่งก็คงไม่มีใครทำกันในอารมณ์ ณ ขณะนั้น แถมยังสามารถเข้าไปเที่ยวในสถานบันเทิงที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี บ้างก็ว่า “เด็กมันยั่ว”บ้างก็ว่าเป็น “แผน” ที่มีการจัดเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า บ้างก็เชื่อว่า “สาว 17” คือเหยื่อ คือผู้ถูกกระทำ เพราะเด็กเข้าแจ้งความทันทีทันใดหลังจากเกิดเหตุและให้เพื่อนมารับ หากจะเป็นการแบล็คเมล์ น่าจะมีการต่อรองกันมากกว่านี้
และสุดท้ายหัวข้อที่ถกกันมากที่สุดก็คือ แล้ว “สมรักษ์ คำสิงห์” จะรอดจากคดีความนี้ได้หรือไม่ จะรอดแบบมีเงื่อนไข หรือโดนแบบเต็มๆ ชนิดที่ต้องจดจำไปจนวันตาย
เหตุการณ์นี้ “สาว 17” ให้การกับตำรวจว่า ไปเที่ยวกับเพื่อนรวม 4 คน และเห็น “สมรักษ์ คำสิงห์” ยืนอยู่กับพนักงานรักษาความปลอดภัย 1 คนภายในร้านจึงเดินเข้าไปขอถ่ายรูป จากนั้น “พ่อใหญ่บาส” ได้จับมือและชวนให้อยู่ที่โต๊ะ ซึ่งเธอและเพื่อนอีกคน “อยู่ต่อ” ส่วนเพื่อนอีก 2 คน เดินกลับไปที่โต๊ะ ต่อมาวงดนตรีเลิก เธอเดินกลับไปหาเพื่อนที่โต๊ะของตัวเอง บอกว่า จะกลับห้องพักและเดินไปรอที่ลานจอดรถ จากนั้น “สมรักษ์” เดินเข้ามาหา โดยมีคนอาสาขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ไปส่งที่โรงแรมที่เธอพักอยู่ โดยบอกให้ “นั่งกลาง” และ “สมรักษ์” นั่งซ้อนท้ายไปด้วย
ทว่า กลับพาไปส่งที่โรงแรมอีกแห่งที่ “สมรักษ์” พัก และ “สมรักษ์” ได้เดินจูงมือเธอเข้าไปในโรงแรม โดยเธอบอกว่าถูกนายสมรักษ์ลวนลาม เธอพยายามขัดขืน และส่งข้อความให้เพื่อนมารับ ก่อนจะไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ
ขณะที่ “สมรักษ์” ให้การว่า ระหว่างกินดื่มอยู่ที่โต๊ะ “สาว 17” เข้ามาทักทายและตีสนิท บอกว่า อายุ 17 ปี แต่ตนเอง “ไม่เชื่อ” เพราะคิดว่าผู้ที่เข้ามาเที่ยวได้ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป พอถามว่า อายุ 17 ปี เข้าได้จริงหรือเปล่า “สาว 17” อ้างว่า “มีวิธี” แต่ตนเองไม่ได้สนใจจนร้านปิดจึงพากันไปโรงแรม โดยยืนยันว่า ไม่ได้ฉุดกระชาก หรือบังคับขู่เข็ญ เมื่อขึ้นมาบนห้อง ยอมรับว่า มีการกอด จูบ ถอดเสื้อผ้า แต่เมื่อรู้ว่า ผู้หญิงอายุ 17 ปี จึงบอกให้นอน
“สมรักษ์” บอกว่า จากนั้นตัวเองนอนหลับ ส่วนผู้หญิงให้เพื่อนมารับกลับไป
แน่นอน เรื่องราวที่เกิดขึ้นมีผู้ “เห็นใจ” สมรักษ์ คำสิงห์ เป็นจำนวนไม่น้อย กระนั้นก็ดี สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธความจริงก็คือ “สมรักษ์” หนีไม่พ้นที่จะต้องเจอคดีความ ไม่ว่าจะ “จิ้ม” หรือ “ไม่จิ้ม” จะ “เต็มใจ” หรือ “ไม่เต็มใจ” จะ “จัดฉาก” หรือ “ไม่จัดฉาก” หรือจะ “โตเกินวัย” หรือไม่ เพราะนี่เป็น “คดีพรากผู้เยาว์” ที่ไม่สามารถยกอะไรมาอ้างได้ ด้วยผู้เสียหายเป็นพ่อแม่ หรือผู้ปกครองของเด็ก แถมสิ่งที่ “พ่อใหญ่บาส” ให้สัมภาษณ์ในช่วงที่ผ่านมานั้นก็มัดตัวเองเอาไว้จนดิ้นไม่หลุด แถมยังตรงกับสิ่งที่ “สาว 17” ให้การกับตำรวจเมื่อแจ้งความดำเนินคดีอีกต่างหาก
สรุปก็คือ ใน “คดีพรากผู้เยาว์” ต่อให้ไม่ได้พาไปทำอะไร เพียงแค่การพาเด็กไปเฉยๆ ก็มีความผิดทางกฎหมาย แม้มีการอ้างว่าถูกแบล็กเมล์ แต่พฤติกรรมที่ปรากฏ ถ้าไม่พาเด็กไปในที่ลับ ถึงอ้างว่าถูกแบล็กเมล์ก็ยังมีความผิด ไม่ต้องพูดถึงวา ถ้าหากได้ทำอะไรๆ ลงไปว่าจะมีโทษแค่ไหน
ในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ออกหมายเรียก “สมรักษ์” มารับทราบ 4 ข้อหาคือ
หนึ่ง - ข้อหาร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปีไปเสียจากบิดามารดา หรือผู้ปกครองตาม ป.อาญามาตรา 318
สอง - ข้อหาร่วมกันพาบุคคลอายุเกิน 15 ปีแต่ยังไม่เกิน 18 ปีไปเพื่อการอนาจาร ตาม ป. อาญา มาตรา 283
สาม - ข้อหากระทำอนาจารแก่คนอายุเกิน 15 ปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อาญามาตรา 278
และสี่ - ข้อหาพยายามข่มขืนผู้อื่นใช้กำลังประทุษร้าย ตาม ป.อาญามาตรา 76 และมาตรา 80
โทษสูงสุดของคดีที่ “สมรักษ์” ต้องเจอนั้น เรียกว่าหนักหนาสาหัสอยู่ไม่น้อยเพราะมีโทษจำคุกนับสิบปีเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยังแจ้งข้อหา “พ่อหนุ่มบิ๊กไบค์” ที่พาทั้งสองคนไปส่งโรงแรมอีกด้วยใน 2 ข้อหาคือข้อหา ร่วมกันพรากผู้เยาว์ และข้อหา ร่วมกันพาบุคคลอื่นไปทำอนาจาร ซึ่งทราบในเวลาต่อมาว่า คนขับจักรยานยนต์ก็คือ “นายพิเชษฐ ชิเนหันทา” หรือ“แป๊กโก้” เพื่อนของนายสมรักษ์ โดยจากการตรวจสอบประวัติพบว่าคนายแป๊กโก้ เคยถูกตำรวจ สภ. บ้านเป็ดดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 9 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดให้เพื่อบุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี แม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม และไม่ว่าการกระทำต่างๆ อันประกอบด้วยความผิดนั้นจะได้กระทำภายในหรือนอกราชอาณาจักร ต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปีและปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท โดยคดีดังกล่าว ทางพนักงานสอบสวน สภ. บ้านเป็ดได้ส่งฟ้องศาลจังหวัดขอนแก่นไปแล้วเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา
ขณะที่ “บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้คำแนะนำสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “ควรรับสารภาพ เพราะอาจเป็นเหตุบรรเทาโทษ จากหนักเป็นเบาได้ เนื่องจากเป็นบุคคลมีชื่อเสียงและเคยทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ประกอบกับข้อหาดังกล่าวมีอัตราโทษสูง อีกทั้งพยานหลักฐาน ควรให้การรับสารภาพ ทั้งกล้องวงจรปิด และหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น สารคัดหลั่งต่างๆ ที่บ่งชี้ชัดเจนว่า เกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง พบดีเอ็นเอของเด็กบนตัวนายสมรักษ์ และดีเอ็นเอของนายสมรักษ์บนตัวเด็ก ขณะเดียวกันเด็กยังยืนยันว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศจริง ทั้งที่ตนได้ขัดขืนแล้ว”
ส่วนจะ “จบ” ลงอย่างไรนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามใหญ่ซึ่งสังคมวิพากษ์วิจารณ์ไม่แพ้กัน โดยหนึ่งในมุมมองสำคัญอยู่ตรงที่แม้จะถือเป็นคดีที่ไม่สามารถยอมความได้ แต่ก็มีนักกฎหมายหลายคนมีความเห็นโดยยก“ฎีกา” เรื่อง “สำคัญผิด” ว่าออกจะเป็น “ทางออก” สุดท้าย หรือทางออกเดียว จากนั้นก็ไปเจรจาพูดคุยกับ “พ่อแม่หรือครอบครัวสาว 17” เพื่อเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และต้องลุ้นกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว “ศาลจะพิจารณารอลงอาญา” หรือไม่
ตัวอย่างของ “ฏีกา” ที่พอจะเทียบเคียงได้ก็อย่างเช่น
ฎีกาที่ 6419/2537 : ผู้เสียหายมีรูปร่างสูงใหญ่กว่าเด็กวัยเดียวกัน จึงเชื่อว่าทำให้ำจเลยสำคัญผิดได้
ฎีกาที่ 9285/2556 ผู้เสียหายทำงานอยู่ในร้านอาหาร โดยร้านอาหารดังกล่าวมีป้ายแสดงไว้ว่า ห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปใช้บริการ เมื่อประกอบกับผู้เสียหายไม่ใช่ผู้เข้าไปใช้บริการ แต่เป็นพนักงานอยู่ในร้านเลย จึงเชื่อว่าทำให้จำเลยสำคัญผิดในอายุได้
ฎีกาที่ 6419/2537 : ผู้เสียหาย มีรูปร่างที่สมบูรณ์กว่าเด็กทั่วไป ทำให้จำเลยสำคัญผิดในอายุได้
อย่างไรก็ดี แนวฎีกาที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของคดีเท่านั้น จะนำมาเทียบเคียงกับคดีนี้ได้หรือไม่ ก็ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงทั้งหมดทั้งปวง ซึ่งก็ไม่มีอะไรรับประกันทั้งสิ้นว่า ข้ออ้างต่างๆ ของจำเลยนั้นจะได้ผลหรือไม่ได้ผล
ส่องธุรกิจกลางคืน ผับไร้สำนึก
อายุต่ำกว่า 20 ปี (ไม่) ห้ามเข้า
นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าวแล้ว คดีของ “สมรักษ์ คำสิงห์” ฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกคนดังยังมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจไม่แพ้กันเกี่ยวกับเรื่อง “อายุ” ของผู้เข้าใช้บริการในสถานบันเทิง และนำไปสู่การทบทวนมาตรการคุมเข้มของผู้ประกอบการผับ เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีนักเที่ยววัยว้าวุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีขึ้นไป หลุดรอดเข้ามาใช้บริการให้เห็นอยู่เสมอๆ ดังที่ “สาว 17” บอก “สมรักษ์” ว่า “มีวิธี”
คำถามที่ต้องหาคำตอบคือเด็กอายุ 17 ปี เข้าผับได้อย่างไร?
เจ้าของสถานบริการดังกล่าว ตั้งโต๊ะแถลงความว่า หญิงสาวรายนั้นเข้ามาเที่ยวพร้อมเพื่อนรวม 4 คน เพื่อน 3 คน ถือบัตรประชาชนตัวจริงมาแสดงก่อนเข้าไปในร้าน ซึ่งหญิงสาวที่เกิดปัญหาไม่มีบัตรประชาชนตัวจริงแสดง แต่มีภาพถ่ายบัตรในโทรศัพท์มือถือ จึงแสดงบัตรประชาชนผ่านโทรศัพท์มือถือ การ์ดเห็นว่า อายุเกิน 20 ปี จึงปล่อยให้เข้าไปเที่ยวตามปกติ
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2546 ระบุกำหนดอายุผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หากสถานบริการละเลยฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมายพักใบอนุญาตประกอบการหรือปิดกิจการ ซึ่งในประเด็นนี้ทางผู้ประกอบการสถานบันเทิงยืนยันว่าประกอบธุรกิจเปิดสถานบริการเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยว แต่หลังถูกแจ้งข้อหาทางกฎหมายมีความกังวล เพราะลงทุนเปิดร้านหลายสิบล้านบาทและมีการตรวจสอบผู้เข้าใช้บริการ ไม่ได้ละเลย เป็นบทเรียนว่าต้องตรวจบัตรประชาชนตัวจริงของนักท่องเที่ยวทุกคนก่อนเข้าในร้านเท่านั้น
ขณะที่ฝ่าย “สาว 17” ยืนยันว่า ไม่ได้ปลอม โดย นายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ กัน จอมพลัง ที่ได้พา “ญาติสาว 17” ไปร้องเรียนที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาลให้ข้อมูลว่า ในวันดังกล่าว “สาว 17” เดินทางไปที่สถานบันเทิงกับเพื่อนทั้งหมด 4 คน โดย 3 คนในกลุ่ม นำรูปบัตรประชาชนในโทรศัพท์ยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ส่วนของน้องอีกคนได้นำบัตรประชาชนของตัวเองยื่นให้เจ้าหน้าที่ดู และอายุน้อยกว่าเด็กอายุ 17 ปีอีก ก็ยังสามารถเข้าไปได้”
ดังนั้น กรณีที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นใหญ่ที่ตำรวจและฝ่ายปกครองในท้องที่ต้องให้คำอธิบายต่อสังคมอย่างละเอียด โดยเฉพาะเรื่องการคุมเข้มให้สถานประกอบการดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายเพียงใด ทำไมปล่อยปละละเลยให้เด็กอายุ 17 ปี ถึงเข้าไปเที่ยวในสถานบันเทิง จนเกิดเหตุบานปลายเป็นคดีทางเพศเกี่ยวข้องกับนักมวยคนดังได้ ขณะที่ผู้ประกอบการผับก็ต้องมีการตรวจอย่างเข้มงวด เพราะในความในความเป็นจริงผับหลายแห่งละเลยให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีใช้บริการอย่างโจ๋งครึ่ม เช่น ใช้วิธีอย่างที่ “สาว 17” ทำ หรือมีการหยิบยืมบัตรประชาชนของคนอื่นมาใช้ ซึ่งทางสถานบริการจำนวนมากก็มิได้เข้มงวด หรือเห็นแล้วว่าไม่ใช่ใช้เจ้าของตัวจริง แต่ก็ให้ผ่านเข้าไปได้ ด้วยต้องการเงินจากผู้เข้ามาใช้บริการเป็นที่ตั้ง
ไม่ใช่แค่ที่ “ขอนแก่น” แต่เกิดขึ้น “ทั่วประเทศ”
ที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คือ พอมีคำสั่งหรือเกิดเรื่อง ก็เข้มงวดกันที จากนั้นก็กลับคืนสู่ภาวะปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิด
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่สถานบันเทิงใน จ. ขอนแก่น ปล่อยให้เด็กอายุ 17 ปีเข้าไปใช้บริการจนเกิดคดีฉาว ว่า ได้เน้นย้ำมาตรการสถานบันเทิง 3 เรื่องหลักคือ อายุไม่ถึง อาวุธปืน และยาเสพติด ทั้งนี้ เพื่อสร้างมาตรฐานรองรับขยายเวลาการเปิดให้บริการของสถานบันเทิงในเขตโซนนิ่ง ถึงเวลา 04.00 น. ซึ่งต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายที่กำหนด โดยอายุผู้เข้ามาใช้บริการก็ยังคงเท่าเดิมคือต่ำกว่า 20 ปีห้ามเข้าสถานบริการ หรือสถานบันเทิงต่างๆ จะต้องตรวจสอบให้เข้มข้น ซึ่งการเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ในมุมนักท่องเที่ยว ผู้ที่ดื่มสุรา จำเป็นต้องรับผิดชอบตัวเองด้วย “เมาไม่ขับ” หากถูกจับจะดำเนินคดีตามกฎหมายสูงสุด
สำหรับกำหนดการเปิดปิดสถานบริการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา และเริ่มในวันที่ 15 ธันวาคท 2566
สาระสำคัญจะเป็นการขยายเวลาให้สถานบริการใน 5 จังหวัด/พื้นที่ ดังต่อไปนี้ เปิดให้บริการได้ถึงเวลา 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ได้แก่ สถานบริการในท้องที่กรุงเทพมหานคร, จ.ภูเก็ต, จ.ชลบุรี,จ. เชียงใหม่ และท้องที่อำเภอเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ สถานบริการที่ตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมทั่วประเทศ ก็สามารถเปิดบริการได้ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้นได้เช่นกัน
ทั้งนี้ รมว.มหาดไทย ได้ให้นโยบายและกำชับหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งท้องถิ่นและฝ่ายความมั่นคง เพื่อวางแนวทางการดูแลพื้นที่ท่องเที่ยว สนับสนุนภาคการท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล ควบคู่ไปกับการดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม และประชาชนได้รับความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่เน้นย้ำให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือการกวดขันไม่ให้มีการเมาแล้วขับ เพื่อลดโอกาสเกิดความเสียหาย หรือสูญเสียต่อประชาชนและสังคม
ด้าน สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการขยายเวลาเปิดสถานบริการ ผับบาร์ ถึงตี 4 ที่ตั้งอยู่ในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม (ทั่วประเทศ) และสถานบริการที่ตั้งอยู่ในท้องที่ กทม. ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะ พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เข้มงวดในมาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลดังต่อไปนี้ (1) บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์ (2) บุคคลที่มีอาการมึนเมาสุราจนครองสติไม่ได้
ประเด็นที่ต้องจับตามีแนวทางออกมาว่า “ผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกราย ให้สถานบริการตรวจวัดแอลกอฮอล์ทางลมหายใจก่อนอนุญาตให้ขับขี่ออกจากสถานบริการ” กล่าวคือเป็นการขอความร่วมมือจากสถานบริการไม่ใช่กฎหมายบังคับ โดยกรณีที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะหากได้รับการวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดทางลมหายใจแล้วพบว่า มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 50 mg% ให้สถานบริการจัดหาที่พักคอย และอำนวยความสะดวกเพื่อรอให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดทางลมหายใจลดลงต่ำกว่า 50 mg% จึงอนุญาตให้ขับขี่ออกจากสถานบริการ
กรณีไม่ยินยอมพักคอย ให้สถานบริการประสานให้เพื่อน/ญาติ ของผู้ใช้บริการขับขี่แทน หรือจัดบริการยานพาหนะเพื่อส่งลูกค้าเดินทางกลับโดยคิดค่าบริการจากผู้ใช้บริการ โดยมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลและประเมินผลกระทบจากการขยายเวลาเปิดสถานบริการ
ยอมรับว่าเป็นแนวคิดที่ดีแต่ในทางปฏิบัติคงต้องติดตามจะบังคับใช้ได้มากน้อยเพียงใด เพราะที่ผ่านมาแม้มีมาตรการคุมเข้มการให้บริการสถานบันเทิง แต่ก็ยังมีการกระทำฝ่าฝืนอยู่บ่อยครั้ง ทั้งเรื่องอายุผู้ใช้บริการต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หรือสถานการณ์ดื่มแล้วขับที่เป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
สุดท้าย นอกจากความเข้มกวดขันของเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครอง ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการสถานบันเทิงอย่างจริงจัง ที่สำคัญที่สุดคงต้องย้อนกลับไปที่นักท่องเที่ยวเองต้องเคารพกติกาสังคมด้วยเช่นกัน