xs
xsm
sm
md
lg

“ศึกรัฐฉาน” ล้างจีนเทา พม่าเสี่ยงแตก จับตาสหรัฐฯ เข้าแทรก ปั่นสงคราม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พม่าส่อแตกเป็นเสี่ยง เมื่อง 3 กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ในนามพันธมิตรภาคเหนือ เปิดฉากโจมตีกองทัพรัฐบาลพม่า ยึดเมืองยุทธศาสตร์สำคัญในรัฐฉานได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว โดยเชื่อกันว่ามีรัฐบาลจีนหนุนหลัง เพื่อสั่งสอนที่รัฐบาลทหารพม่าไม่ให้ความร่วมมือปราบจีนเทา อาจเป็นจุดเริ่มต้นการล่มสลายของรัฐบาลทหารพม่า จับตาสหรัฐฯ ฉวยโอกาสเข้าแทรกแซง ดึงชนกลุ่มน้อยกลับไปเป็นพวก ปั่นความขัดแย้งในเอเชีย-แปซิฟิก หลังจากปั่นยูเครน-อิสราเอล นำไปสู่สงครามโลกเหมือนในอดีต



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึง“สงครามในพม่า” ซึ่งเกี่ยวพันกับคนไทยในทุกระดับ และมีนัยสำคัญอย่างมาก ทั้ง ในประเทศไทยเอง ในระดับภูมิภาคอาเซียน-อินโดจีน รวมไปถึงสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในระดับโลก


ปฏิบัติการ 1027 กับ การกวาดล้างจีนเทาชายแดนรัฐฉาน

การสู้รบที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในพม่า เริ่มขึ้นในตอนเช้ามืด วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2566 เมื่อ “กองกำลังกลุ่มพันธมิตรพี่น้องชาติพันธุ์ (Brotherhood Alliance)” ประกอบไปด้วยกองกำลัง 3 กลุ่มคือ 1.กองทัพโกก้าง (MNDAA; Myanmar National Democratic Alliance Army) 2.กองทัพตะอั้ง (TNLA; Ta'ang National Liberation Army) 3.กองทัพอาระกัน (AA; Arakan Army) ซึ่งรวมตัวกันในนาม “พันธมิตรภาคเหนือ” ได้เปิด ปฏิบัติการ 102 7หรือ Operation 1027 บุกโจมตี ยึดฐานที่มั่นของทหาร ตำรวจพม่า หลายจุด หลายเมือง ในภาคเหนือของรัฐฉาน


ในเวลาต่อมาก็ได้ขยายไปเป็นเพื่อสู้รบกับกองกำลังของรัฐบาล พลเอกอาวุโส มิน อ่องหล่าย นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า ที่ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่นำโดย นางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งในเวลาต่อมาเครือข่ายของพรรค NLD ได้ตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา หรือ รัฐบาลเงา (National Unity Government: NUG)ขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลของมินอ่องหล่าย พร้อมกับจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF (People's Defense Force) ขึ้นมาต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ


ทั้งนี้ ในพม่ามีกลุ่มชาติพันธุ์แตกแยกย่อยออกไปนับร้อยกลุ่ม แต่ในร้อยกลุ่มนี้ถูกแบ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลัก 8 กลุ่ม ได้แก่ชาวพุทธพม่า คะฉิ่น ไทใหญ่ ชิน ยะไข่ กะยา กะเหรี่ยงและมอญ

พื้นที่สีเหลืองคือ คือ พื้นที่เขตปกครองของชาวพุทธพม่า ส่วนพื้นที่สีอื่น ๆ คือ ชาติพันธุ์อื่น (ภาพจากเพจ Histofun Deluxe)


อย่างไรก็ตาม ไม่มีตัวเลขชัดเจนว่ากำลังพลของกลุ่มพันธมิตรพี่น้องชาติพันธุ์ ทั้ง 3 กลุ่มนั้น เมื่อรวมกันแล้วมีเท่าใด แต่ตัวเลขที่สื่อตะวันตกนำเสนอ หลังเริ่มมีปฏิบัติการ 1027 บอกว่ามีประมาณ 15,000 นาย

แต่ประเด็นที่สำคัญไปกว่าจำนวนกองกำลังพล ก็คือ เป็นที่ทราบกันว่า “ปฏิบัติการ 1027” นั้นมี “รัฐบาลจีนแดง” หนุนหลัง“กลุ่มพันธมิตรพี่น้องชาติพันธุ์” นี้อยู่ เพื่อให้ช่วยดำเนินการกวาดล้าง “ทุนจีนสีเทา” ในเขตรัฐฉานตอนเหนือติดชายแดนจีน


ส่งผลให้แผ่นดินพม่า ณ เวลานี้ตกอยู่ในความวุ่นวายยิ่งกว่าช่วงการรัฐประหาร วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นสถานะไร้เสถียรภาพที่สุดในรอบหลายสิบปี จนทำให้เกิดความหวั่นเกรงกันว่า “พม่า” อาจจะแตกเป็นเสี่ยง หรือ หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จีนโบราณก็คือใน ยุคสงครามระหว่างรัฐ หรือ จ้านกั๋ว ในช่วงก่อนการก่อตั้งราชวงศ์ฉินของ จิ๋นซีฮ่องเต้

หรือ หากเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์จีนในยุคถัด ๆ มาก็คล้ายคลึงกับ“ยุคสามก๊ก (ค.ศ.220-280)” อันเป็นการตั้งยันกันระหว่าง 3 ฝ่ายคือรัฐเว่ยนำโดยโจโฉ,รัฐสู่นำโดยเล่าปี่ และรัฐอู๋นำโดยซุนกวน

ขณะที่ 3 ก๊กในพม่ายุคปัจจุบัน แบ่งเป็น ก๊กที่ 1 กองทัพของรัฐบาลทหาร ก๊กที่ 2 กองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และ ก๊กที่ 3 คือ กองกำลังพิทักษ์ประชาชนหรือPDF (People's Defense Force) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า


ปฏิบัติการ 1027 เริ่มขึ้นตั้งแต่เช้ามืดในเวลา 04.00 น. ของ วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2566 มีการแบ่งกำลังเป็นชุด ๆ ประกอบด้วย

หนึ่ง ทหารโกก้างเข้าบุกโจมตีและยึดฐานทหารพม่าในรัฐฉานประกอบไปด้วยเมืองเล่าก์ก่าย เมืองชิงส่วยเหอ เมืองกุ๋นโหลงซึ่งอยู่ใน เขตปกครองตนเองโกก้าง และยึดฐานที่อยู่ตามแนวทางหลวงหมายเลข 34 ตั้งแต่ชายแดนชิงส่วยเหอมาถึงรอบ ๆ ตัวเมืองแสนหวี จังหวัดล่าเสี้ยว

สอง ทหารโกก้างอีกส่วนหนึ่งบุกโจมตีและยึดฐานทหารพม่ารอบเมืองโกกับเมืองป่างซายชายแดนรัฐฉาน-จีน ใน จังหวัดหมู่เจ้ รวมถึงโจมตีหน่วยทหารพม่าอีกบางจุดในเมืองหมู่เจ้

สาม ทหารตะอั้งบุกโจมตีฐานทหารพม่าในเมืองน้ำคำกับอีกบางจุดในเมืองหมู่เจ้ และฐานทหารพม่าที่ตั้งอยู่ตามแนวทางหลวงหมายเลข 3 ตั้งแต่ชายแดนหมู่เจ้เมืองน้ำผักกา เมืองก๊ตขายลงมาถึงเมืองแสนหวี


สี่ ทหารตะอั้ง กับ ทหารอาระกัน ร่วมกันบุกโจมตีฐานทหารพม่าที่ตั้งอยู่รอบ ๆเมืองล่าเสี้ยว เมืองจ๊อกแม และเมืองหนองเขียว ในจังหวัดจ๊อกแมรวมถึงเข้ายึดสะพานก๊กตวินด้านล่างสุดของหุบเขาก๊กเต๊ก ที่ลึกประมาณ 600 เมตร ซึ่งเป็นจุดเชื่อมเมืองปินอูลวิน ภาคมัณฑะเลย์ กับเมืองหนองเขียว จังหวัดจ๊อกแม รัฐฉานและเป็นคอขวดที่มีความสำคัญมากของทางหลวงหมายเลข 3


ปฏิบัติการ 1027 ทำให้เกิดภาวะสงครามที่ขยายวงกว้างไปทั่วภาคเหนือของรัฐฉาน ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2566 จนถึงขณะนี้เข้าเดือนธันวาคม 2566 เป็นเวลา 1 เดือนกว่าแล้ว ในหลายจุดยังมีการรบกันอยู่อย่างดุเดือด

สายสัมพันธ์ 3 พันธมิตรภาคเหนือ กับ พี่ใหญ่จีน

ทางตอนเหนือของพม่าทั้งรัฐฉาน และคะฉิ่นนั้นมีพรมแดนติดกับจีนยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร


ย้อนอดีตไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว“พันธมิตรภาคเหนือ”ภาษาจีนกลางเรียกว่า“เป่ยฟังเหลียนเหมิง (北方联盟)” นั้นจัดตั้งขึ้นเมื่อกลางปี 2559 เป็นการรวมตัวกันของกองกำลังติดอาวุธ 4 กลุ่ม โดยนอกจาก 3 กองทัพชาติพันธุ์กองทัพโกก้าง, กองทัพตะอั้งและกองทัพอาระกัน ที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมีกองทัพเอกราชคะฉิ่นหรือKIA (Kachin Independence Army)ร่วมด้วยอีก 1 กลุ่ม


ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของ“พันธมิตรภาคเหนือ” คือการสนธิกำลังบุกโจมตีฐานของทหารพม่าที่ตั้งอยู่ในเมืองหมู่เจ้ ช่วง เดือนกันยายน-ธันวาคม 2559

ซึ่งหากดูจากแผนที่แล้วเมืองหมู่เจ้ (Muse) นั้นตั้งอยู่ตรงข้ามเมืองรุ่ยลี่ (Ruili) เขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง มณฑลยูนนานโดย จุดนี้เป็นประตูการค้าที่สำคัญที่สุดในการค้าขายข้ามพรมแดนระหว่าง ประเทศพม่า กับ ประเทศจีน

แผนที่เมืองรุ่ยลี่ของจีน กับ หมู่เจ้ของพม่า
มูลค่าทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ที่ผ่านด่านชายแดนแห่งนี้ ในแต่ละปีนั้น สูงกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ คิดเป็นเงินไทยก็กว่า 175,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

นอกจาก ปัจจัยด้าน ความสำคัญทางการค้า แล้วรัฐฉานและ จุดผ่านแดนรุ่ยลี่-หมู่เจ้ ยังมีความสำคัญต่อจีนอย่างยิ่งใน เชิงยุทธศาสตร์ กล่าวคือ พื้นที่นี้ถือเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ที่สำคัญ ตามข้อริเริ่ม 1 แถบ 1 เส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) เพราะเป็นทางเชื่อมแผ่นดินใหญ่จีน ออกสู่มหาสมุทรอินเดียที่สั้นที่สุด


กล่าวคือ
  • ทางรถไฟจากเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน หรือ เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เข้าสู่พม่าที่ชิงส่วยเหอ ชายแดนรัฐฉาน-จีน ในเขตปกครองตนเองโกก้าง ระยะทางยาวประมาณ 150 กิโลเมตร

  • ทางรถไฟจากหลินชาง เมื่อเข้าสู่พม่าที่ชิงส่วยเหอแล้ว จะวิ่งผ่านเมืองกุ๋นโหลง แสนหวี ไปบรรจบกับทางรถไฟอีกเส้นหนึ่งที่จีนกำลังเตรียมสร้างมาจาก ชายแดนหมู่เจ้-รุ่ยลี่ ที่จังหวัดล่าเสี้ยว

  • จากนั้นทางรถไฟจะวิ่งจาก ล่าเสี้ยว ผ่านจ๊อกแม หนองเขียว มัณฑะเลย์ มุ่งสู่ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย โดยมีปลายทางอยู่ที่ท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ซึ่งเป็นต้นทางของท่อก๊าซและน้ำมัน พม่า-จีน ยาว 770 กิโลเมตร อีกด้วย


แผนที่เส้นทางท่อก๊าซและน้ำมันจากอ่าวเบงกอลของพม่าไปสู่พื้นที่ตอนใต้ของประเทศจีน
ทั้งนี้ มีการวางเป้าหมายไว้ว่าหลินชางจะเป็นเมืองศูนย์กลางของจีนสำหรับเชื่อมกับมหาสมุทรอินเดีย ผ่านรูปแบบการคมนาคมที่หลากหลาย ทั้งทางเรือ ถนน และรถไฟ โดยมีปลายทางในจีนอยู่ที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน

ส่วนระยะทางจากท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ ถึงเมืองเฉิงตูยาว 1,170 กิโลเมตร โดยหากเส้นทางคมนาคมสายนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ เมื่อสินค้าจากมหาสมุทรอินเดียมาขึ้นฝั่งที่เจ้าก์ผิ่ว จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 วัน ไปถึงเฉิงตู ลดเวลาเดินทางของสินค้าลงจากเดิมได้มากถึง 25 วันโดยประมาณ จากนั้นสินค้าจะกระจายจากเมืองเฉิงตูออกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน


นอกเหนือจากรวมตัวกันของ 3 กองทัพ ในนาม “พันธมิตรภาคเหนือ”แล้ว ทั้งกองทัพเอกราชคะฉิ่น กองทัพโกก้าง กองทัพตะอั้ง และกองทัพอาระกัน ยังเป็นสมาชิกในองค์กรของกองกำลังชาติพันธุ์ 7 กลุ่ม ที่รวมตัวกันในนาม คณะกรรมการเจรจาทางการเมือง หรือ Federal Political Negotiation and Consultative Committee (FPNCC) โดยสมาชิก FPNCC ที่เหลืออีก 3 กลุ่ม ได้แก่
- กองทัพสหรัฐว้า หรือ UWSA (United Wa State Army)
- กองทัพเมืองลา หรือ NDAA (National Democratic Alliance Army)
- กองทัพพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน หรือ SSPP/SSA (Shan State Progress Party/Shan State Army) หรือที่รู้จักกันในนามกองทัพรัฐฉานเหนือ


คณะกรรมการเจรจาทางการเมือง (FPNCC)มีการจัดตั้งขึ้นในเดือนเมษายน 2560 จากการผลักดันของ “รัฐบาลจีน” โดยมี“กองทัพสหรัฐว้า”เป็นแกนนำ เป็นการรวมกลุ่มกันของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ไม่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่า เพื่อใช้เป็นองค์กรกลางในการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลพม่า เพื่อให้ไม่ต้องมีการแยกเจรจาเป็นรายกลุ่ม

พูดง่าย ๆ ก็คือ จีนผลักดันให้มีการจัดตั้ง FPNCC เพราะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองกำลังชาติพันธุ์ที่เป็นสมาชิกทั้ง 7 กลุ่ม

ด้วยเหตุนี้ ฐานบัญชาการใหญ่ของกองทัพเอกราชคะฉิ่น กองทัพโกก้าง กองทัพสหรัฐว้าและกองทัพเมืองลาอยู่ติดกับชายแดนมณฑลยูนนานของจีน คนส่วนใหญ่ในกองทัพทั้ง 4 ล้วนมีความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติกับคนที่อยู่ในฝั่งจีน เพราะเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน


โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพโกก้างซึ่งก็คือชาวจีนฮั่นที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อน แต่หลังจากอังกฤษ และจีนตกลงปักปันเขตแดนกันแล้ว เมืองเล่าก์ก่ายซึ่งเป็นถิ่นฐานหลักของชาวโกก้าง ถูกขีดเส้นกำหนดให้อยู่ฝั่งรัฐฉาน ทุกวันนี้ ชาวโกก้างยังสื่อสารกันด้วยภาษาจีน ทั้งการพูดและเขียนขณะที่ ดินแดนจีนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเมืองเล่าก์ก่าย คือเขตปกครองตนเองชนชาติไตและว้า จังหวัดหลินชาง มณฑลยูนนาน<

“โกก้าง” ชาวพม่าเชื้อสายจีนฮั่น

ในเชิงภูมิศาสตร์ “เขตปกครองตนเองโกก้าง” อยู่บริเวณชายแดนพม่า-จีน ในภาคเหนือของรัฐฉาน ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองชนชาติไตและกึ่งม้า จังหวัดหลินซาง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน มี เมืองเล่าก์ก่ายเป็นเมืองหลวง และ เมืองชิงส่วยเหอ เป็นช่องทางเข้า-ออก ของสินค้าที่ซื้อขายกันระหว่างพม่า-จีน โดยเป็นช่องทางสำคัญอันดับ 2 ของรัฐฉาน รองจากช่องทางหมู่เจ้-รุ่ยลี่ ที่อยู่เหนือขึ้นไป

ชาวจีนโกก้างหรือชาวโกก้าง(ภาษาจีนอ่านว่า กั่วก่าน ; 果敢族)เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศพม่า โดยเป็นชาวจีนที่พูดภาษาจีนกลาง ซึ่งจริง ๆ แล้ว ชาวโกก้างคือชาวจีนฮั่น ที่อพยพลงมาจากตอนกลางของประเทศ ในยุคปลายราชวงศ์หมิง ต้นราชวงศ์ชิง เมื่อราว 300 ปีก่อน โดยคนตระกูลหยาง ซึ่งทั้งหมดเป็นนักรบ ได้อพยพหนีภัยจากเมืองนานกิงลงมาอยู่ในมณฑลยูนนาน พร้อมกับกลุ่มคนที่จงรักภักดีกับราชวงศ์หมิงอีกจำนวนหนึ่ง พอ พ.ศ.2383 (ค.ศ.1840) กลุ่มคนเหล่านี้ ก็ได้อพยพต่อลงมาตั้งหลักปักฐานในดินแดนที่เป็นรัฐฉานปัจจุบัน เมื่อได้อาณาเขตที่ชัดเจน ผู้อพยพกลุ่มนี้ได้สร้างเมืองของตนขึ้น เรียกว่า “เมืองโกก้าง” และได้รับการรับรองจากฮ่องเต้จีนมอบตราตั้งให้คน “ตระกูลหยาง” ขึ้นเป็นเจ้าเมือง

เผิง เจียเซิง อดีตผู้นำโกก้างอ่านหนังสือภาษาจีน
ในยุคตะวันตกล่าอาณานิยม ค.ศ.1890 (พ.ศ.2433) เมื่ออังกฤษได้เข้ามาครอบครองหัวเมืองทั้งหมดของชาวไทใหญ่ กำหนดให้เป็นดินแดนภายใต้อารักขาของอังกฤษ จีนและอังกฤษได้แบ่งเขตแดนระหว่างกันให้ชัดเจนเมืองไทใหญ่หลายเมือง ถูกผนวกเข้าไปอยู่ในดินแดนของจีนแต่เมืองโกก้าง กลับถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐฉานของพม่า

ทุกวันนี้ เนื้อหาในเพจข่าวโกก้าง ใช้ภาษาจีนเกือบทั้งหมด
ต่อมา ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2“เมืองโกก้าง” ได้จัดตั้งกองทัพของตนเองขึ้น ภายใต้การสนับสนุนจากกองทัพก๊กมินตั๋ง ที่พ่ายแพ้ต่อกองทัพพรรคคอมมิวนิสต์จีน จนต้องถอยร่นเข้ามาในรัฐฉาน

กองทัพโกก้างมีทายาทเป็นสตรีตระกูลหยาง นาม หยาง เจินซิว หรือ นางโอลีฟ หยาง เป็นผู้นำ(เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2560 ในวัย 91 ปี) และมีแม่ทัพคนสำคัญได้แก่ เผิง เจียเซิง(彭家声) และ หลอ ซิงฮั่น (罗星汉)

หยาง เจินซิว หรือ นางโอลีฟ หยาง
ปี 2505 (ค.ศ.1962) เมื่อนายพลเนวินยึดอำนาจ ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลเผด็จทหารปกครองพม่า ได้ส่งทหารมาจับกุมเจ้าฟ้าไทใหญ่ เจ้าฟ้าโกก้าง รวมถึงนางโอลีฟ หยาง ผู้นำกองทัพโกก้างไปกักขังไว้ เจ้าฟ้าหลายรายเสียชีวิตภายหลัง

เผิง เจียเซิง แม่ทัพคนสำคัญของกองทัพโกก้าง ข้ามหนีไปอยู่ในจีน ส่วน หลอ ซิงฮั่น ยังอยู่ในเมืองโกก้าง และต่อมาได้กลายเป็นราชายาเสพติดที่ทางการสหรัฐอเมริกาต้องการตัว โดยเป็นจุดเริ่มต้นของชาวโกก้างและกองทัพโกก้าง ในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า

เผิง เจียเซิง(???) และ หลอ ซิงฮั่น (???)
ในช่วงปี 2503-2532 พื้นที่ของกลุ่มโกก้างถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์พม่า(Communist Party of Burma) ซึ่งเคลื่อนไหวภายใต้การสนับสนุนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจากแผ่นดินใหญ่ แม้ผู้นำพรรคเป็นชาวพม่า แต่ก็ใช้กองกำลังกลุ่มโกก้างและว้าเป็นปีกทหารคอยควบคุมอิทธิพลของพรรคในดินแดนแถบนี้

ต่อมา ปี 2532 หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์พม่าสลายตัวลง กองกำลังโกก้างก็ได้ผันตัวเป็น“กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA)โดยมี เผิง เจียเซิง เป็นผู้นำ

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ “โกก้าง” มีความแนบชิดกับจีนทั้ง ประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ และวิถีชีวิต โดยระบบการเงินในโกก้างก็นิยมใช้เงินหยวนเป็นสกุลเงินหลักของพื้นที่ รวมถึงใช้สถาบันการเงินของจีนมากกว่าของพม่า


หากจะสรุป สั้น ๆก็คือ ในความเป็นจริงในทางประวัติศาสตร์ และข้อเท็จจริงแล้ว “เขตปกครองตัวเองโกก้าง” ก็เปรียบเสมือน “รัฐกันชน (Buffer State)” ของจีน กับ พม่า ซึ่งจีนยังต้องการมีอิทธิพลเหนือพื้นที่ชายแดนแห่งนี้อยู่ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ไม่ว่าจะในเชิงความมั่นคง เชิงเศรษฐกิจ-การค้า หรือ ผลประโยชน์ต่าง ๆ ในการเป็นพื้นที่ทางผ่านในการคมนาคม และการลำเลียงพลังงาน

“เล่าก์ก่าย” เมืองหลวงแก๊งจีนเทา

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาพื้นที่โกก้างก็เหมือนกับพื้นที่สีเทา ตามบริเวณชายแดนต่าง ๆ ก็ คือเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทา สีดำ โดยเฉพาะยาเสพติด อย่างฝิ่น-เฮโรอีน


อย่างไรก็ตามตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน ในปี 2545 โกก้างได้ประกาศเป็นพื้นที่ปกครองปลอดยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง โดยมีการปราบปรามและลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับ ยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง

โดยกองทัพโกก้างที่นำโดย เผิง เจียเซิง ประกาศใช้นโยบายพื้นที่ปลอดฝิ่น รัฐบาลทหารพม่าก็เห็นดีเห็นงามด้วย จึงอนุญาตให้มีการเปิดบ่อนคาสิโนในเมืองเล่าก์ก่ายได้ เพื่อทดแทนรายได้ที่หายไปจากยาเสพติด


ในปี 2546 สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เขียนรายงานการมาเยือนเมืองเล่าก์ก่าย พบว่าการบริหารของรัฐบาลท้องถิ่นโกกั้งภายใต้การนำของ เผิง เจียเซิง มีนโยบายให้คาสิโนและผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆ เปิดให้บริการอาหารจีน เพื่อเอาใจนักเล่นพนันจากฝั่งจีน โดยเปิดขายอาหารจีนตั้งแต่จุดตรวจด่านชายแดนจีน-พม่านั้นเลย ถึง ปี 2563 เมืองเล่าก์ก่ายมีบ่อนคาสิโนมากมายถึงกว่า 30 แห่งแล้ว โดยให้บริการ 24 ชั่วโมงตลอดทั้งปี

ผลตอบแทนจากคาสิโน โรงแรม และสถานบันเทิงต่าง ๆ ที่สูงลิบลิ่ว ส่งผลให้มีการดึงดูดแรงงานไทย และสาวไทยบางส่วน ทั้งแบบสมัครใจ และถูกหลอกไปค้าประเวณีที่เขตโกก้างนี้ โดยหญิงสาวที่ไปค้าประเวณีที่เล่าก์ก่าย รัฐฉาน นั้นเคยเล่าว่าสามารถทำรายได้มากมายถึง 1-2 แสนบาทต่อเดือนเลยทีเดียว


ธุรกิจที่เฟื่องฟูอย่างมากที่ “เล่าก์ก่าย” ยังดึงดูด บรรดา “จีนเทา” หรือกลุ่มผู้ที่ทำผิดกฎหมาย หรือ อาชญากรชาวจีนที่หลบลี้หนีรอดการจับกุมจากในประเทศจีน เข้ามาแสวงหาพื้นที่ทำมาหากินที่เมืองชายแดนในประเทศพม่าแห่งนี้ด้วย

โดย “ชายแดนรัฐฉาน-จีน” ถือเป็นแหล่งใหญ่ที่มีจีนเทานับพันคนมาปักหลักอาศัย ใช้เป็นแหล่งประกอบอาชญากรรม เริ่มจากการเป็นเจ้าของโรงแรม ร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ ตามมาด้วยการเปิดบ่อนการพนัน

ต่อมา เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน ปี 2563 บ่อนการพนันที่มีการเปิดไว้ ก็ถูกแปรสภาพเป็นบ่อนการพนันออนไลน์ และต่อยอดด้วยธุรกรรมฉ้อโกงผ่านระบบออนไลน์ โดยเฉพาะ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”


การลงทุนเหล่าจีนเทาตามแนวชายแดน ทำให้เกิดอาชญากรรมต่อเนื่องตามมาอีกหลายประเภท ทั้งเรื่องการค้ามนุษย์ ยาเสพติด ไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย ทรมาน และฆาตกรรม มีการหลอกลวงหญิงสาวหน้าตาดีจากหลายประเทศโดยเฉพาะหญิงไทยหลายร้อยคน ให้ลักลอบเดินทางออกไปทำงานกับธุรกิจสีเทาในพื้นที่เหล่านี้ โดยใช้ตัวเลขผลตอบแทนสูงลิ่วเป็นสิ่งล่อตาล่อใจ

โดย เมืองหลักที่ถูกใช้เป็นแหล่งทำมาหากินของ “แก๊งจีนเทา” ได้แก่เมืองหมู่เจ้ เมืองเล่าก์ก่าย เมืองชิงส่วยเหอ เมืองป๋างซาง เมืองป๊อก เมืองลาตามแนวชายแดนรัฐฉาน-จีน รวมถึงเมืองท่าขี้เหล็กในสามเหลี่ยมทองคำเมืองสาตร ชายแดนรัฐฉาน-จังหวัดเชียงใหม่ และเมืองเมียวดีชายแดนรัฐกะเหรี่ยง-อำเภอแม่สอด จังหวัดตากด้วย

โดยมีเมืองเล่าก์ก่าย เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองโกก้าง เป็นเหมือนศูนย์กลางใหญ่ของแก๊งจีนเทาเหล่านี้


ปฏิบัติการล้าง “จีนเทา” กับการแข็งข้อของ “4 บ้านใหญ่” แห่งโกก้าง

ปี 2565 ภายหลังจากที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เป็นต้นมา รัฐบาลปักกิ่ง ก็มีนโยบายในการกวาดล้างจีนเทาที่ทำมาหากินอยู่ตามตะเข็บชายแดนอย่างเด็ดขาด มีการขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ในทุกประเทศจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชาได้ทำข้อตกลงเพื่อร่วมมือกันปราบปรามอาชญากรรมที่จีนเทาทำเอาไว้ในพื้นที่ให้ราบคาบ

ทางการจีน ถึงกับมีการออกคำสั่งให้ประชากรชาวจีนที่อาศัยอยู่ในโกก้างเดินทางกลับมารายงานตัวในประเทศภายในปีนี้ มิฉะนั้นจะถูก ยึดบัญชีธนาคาร, ตัดซิมโทรศัพท์มือถือ หรือแม้กระทั่งยกเลิกทะเบียนบ้าน !

อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่ สหายสนิทผู้มากบารมีใน “เขตโกก้าง” ที่จีนไว้ใจอย่าง “เผิง เจียเซิง” กลับเสียชีวิตลงก่อนหน้า โดยการเสียชีวิตของ “เผิง” วัย 94 ปี ถูกประกาศออกมาเมื่อ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565


ขณะที่พิธีศพของเขาก็ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เป็นเวลา 3 วันระหว่าง วันที่ 29-31 มีนาคม 2566 ณ สนามกีฬากลาง ภายในเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 3,000 คน แม้แต่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และนายกรัฐมนตรีพม่า ยังได้ส่งพวงหรีดดอกไม้สีขาวขนาดใหญ่ ไปร่วมแสดงความเสียใจ พร้อมกับมอบหมายให้ พล.ต.มินทุน ผู้บัญชาการกองทัพภาคสามเหลี่ยม จังหวัดเชียงตุง ได้เดินทางไปร่วมงานด้วยตนเอง

เผิง ต้าซุน หรือ เผิง เต๋อเหริน ผบ.กองทัพโกก้าง บุตรชายคนโตของเผิง เจียเซิง กล่าวไว้อาลัยให้บิดา
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “ผู้อยู่เบื้องหลัง” แก๊งอาชญากรรมจีนเทา ในเขตโกก้าง ก็คือบรรดาผู้มีอิทธิพลอยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย โดยกลุ่มที่สำคัญที่สุดก็คือ คนใน 4 ตระกูลดัง คือ แซ่ไป๋ แซ่หลิว แซ่เว่ย และ แซ่หลิว (แซ่ซ้ำกัน)

คนใน 4 ตระกูล ซึ่งต่างก็เป็นลูกน้องของเผิง เจียเซิง ซึ่งได้เสียชีวิตเมื่อปี 2565 และส่งต่ออำนาจให้กับบุตรชาย โดยทั้ง 4 ตระกูลไม่เห็นด้วยกับนโยบายการเปลี่ยนธุรกิจในเขตโกก้างไปเป็นธุรกิจสีขาว ถูกกฎหมาย จึงสมคบกับผู้บริหาร นักการเมือง ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ชายแดน และที่สำคัญมีกองทัพพม่าให้การสนับสนุน เนื่องจากนายทหารพม่าหลายนาย ได้รับผลประโยชน์จากอาชญากรรมเหล่านี้ ที่แต่ละปีสามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนมหาศาล บุกเข้ายึดอำนาจจากลูกชายของเผิง เจียเซิง ได้ในที่สุด

ซึ่งคนใน 4 ตระกูลดังกล่าวยังเป็นพันธมิตรกับ “คนตระกูลหมิง” ที่ประกอบธุรกิจสีเทาในเขตโกก้างด้วย

สมาชิก 4 คนของ ตระกูลหมิง ผู้มีอิทธิพลและคุมแก๊งจีนเทาที่ขยายเครือข่ายอาชญากรรมไปในหลายเมืองตามชายแดนรัฐฉาน-จีน
เมื่อ 4 ตระกูลดังร่วมกับทหารพม่าร่วมกันยึดอำนาจได้ทำให้ลูกชายของเผิง เจียเซิง นำกองกำลังไปตั้งฐานอยู่ในเขตป่าเขาแทน

เมื่อรัฐบาลปักกิ่ง ขอความร่วมมือมายัง ไทย พม่า สปป.ลาว และกัมพูชา ปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพราะส่งผลกระทบต่อชาวจีนที่ถูกหลอกไปทำงาน ทางรัฐบาลทหารพม่าให้ความร่วมมือกับทางการจีนกวาดล้างอาชญากรรม คอลเซ็นเตอร์ ธุรกิจผิดกฎหมาย ในพื้นที่ท่าขี้เหล็กและเมียวดี ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่สามารถช่วยชาวจีนที่ถูกหลอกกลับประเทศได้ถึง 3,000-4,000 คน


แต่ปรากฏว่าใน เขตปกครองตนเองโกก้าง ที่ปกครองโดย 4 ตระกูลดังและมีความสัมพันธ์กับคนในตระกูลหมิงกลับไม่ให้ความร่วมมือ ทางการจีนจึงส่งสายลับตำรวจเข้าไปในเขตดังกล่าว 4 คน และเมื่อพบการเคลื่อนย้ายเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สายลับที่แฝงตัวในกลุ่มเหยื่อจึงแสดงตัวว่ามาจากทางการจีนและขอให้ยุติการเคลื่อนย้ายสุดท้ายสายลับทั้ง 4 คน กลับถูกฆ่า และกลบฝังทั้งเป็น

ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็น “จุดแตกหัก” ที่รัฐบาลปักกิ่งตัดสินใจใช้ไม้แข็งสั่งสอนรัฐบาลทหารพม่า ที่อยู่เบื้องหลัง“5 ตระกูลดังแห่งโกก้าง” เพื่อกวาดล้างปัญหาจีนเทา แก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด !


“ปักกิ่ง” ไฟเขียวเปิดสงครามสั่งสอนรัฐบาลทหารพม่า ฐานปล่อยเกียร์ว่างปราบจีนเทา

ด้วยเหตุนี้ “สงครามทางภาคเหนือของรัฐฉาน” ณ ขณะนี้ จึงเปรียบได้กับการสั่งสอนของทางการจีนต่อ “รัฐบาลทหารพม่า” ที่ใส่เกียร์ว่างเพิกเฉยต่อคำขอของฝ่ายจีน ไม่ยอมจัดการกับขบวนการหลอกลวง และก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจีนที่มีมหาศาลในพม่า

จำนวนสมาชิกขบวนการหลอกลวงออนไลน์มากกว่า 31,000 คน ที่ถูกส่งตัวให้กับจีน หลังจากกองกำลังพันธมิตร 3 ฝ่ายบุกยึดพื้นที่ให้ตอนเหนือของรัฐฉานได้ สร้างความตกตะลึงให้กับผู้คนจำนวนมาก และเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าขบวนการหลอกลวงที่มีฐานในพม่ามีขนาดใหญ่โตมโหฬาร โดยฝ่ายจีนประเมินว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับแก็งคอลเซนเตอร์เหล่านี้มีมากกว่า 1 แสนคน !


โดยเพียงแค่ระยะเวลาเพียงแค่ 3-4 สัปดาห์ ภายหลังจากที่ 3 กองกำลัง“พันธมิตรภาคเหนือ” เปิดปฏิบัติการ 1027 เมื่อ วันที่ 27 ตุลาคม 2566 ก็สามารถยึดพื้นที่ภาคเหนือของพม่าได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยอาวุธที่จัดเต็ม ทั้งโดรน, เครื่องยิงระเบิด, ปืนสงครามและยังมีโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมด้วย

อาวุธและอุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัย ที่“พันธมิตรภาคเหนือ” ใช้นั้นมีจำนวนมาก และไม่ได้ระบุว่า “ผลิตที่ใด ?”

ภาพทหารพันธมิตรภาคเหนือพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์แบบเต็มพิกัด เข้ายึดฐานของฝ่ายกองทัพพม่า
แต่ก็น่าจะคาดเดาได้ไม่ยากว่าน่าจะเขียนว่า made in China เพราะว่าโฆษกกองกำลัง “พันธมิตรภาคเหนือ” ได้ยอมรับว่า จีนได้ร้องขอความร่วมมือให้ช่วยปราบจีนเทา เพราะกองทัพพม่าไม่ยอมให้ความร่วมมือตามที่จีนต้องการ

ขณะเดียวกัน “โฆษกของกองทัพพม่า” ได้แถลงผ่านสื่อของของทางการว่า สงครามครั้งนี้มีการแทรกแซงจากต่างชาติ ให้การสนับสนุนเงินทุนและอาวุธ แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงประเทศไหนโดยตรง


นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า ไปประท้วงที่ด้านหน้าสถานทูตจีน ประจำเมืองย่างกุ้ง อ้างว่ารัฐบาลจีนแทรกแซงกิจการภายใน สนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ให้เปิดฉากการสู้รบในพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐฉานด้วย


คำถามที่น่าสนใจต่อมาก็คือ ทำไมจีนถึงขั้นต้องสนับสนุนกองกำลังพันธมิตร 3 ฝ่ายเปิดศึกในรัฐฉานเลยหรือ ?

คำตอบก็คือ เพราะ จีนอดรนทนไม่ไหวที่รัฐบาลทหารพม่าเพิกเฉยต่อคำขอของจีน ที่ให้จัดการกับขบวนการหลอกลวง ที่มีคนจีน คนไทย และประชาชนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของขบวนการนี้ จีนจึงต้องสินใจที่จะ“ถอนรากถอนโคน”ขบวนการหลอกลวงให้สิ้นซาก ด้วยการสนับสนุนการเปลี่ยนตัวผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์โกก้าง ที่ปกครองพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน ที่เป็นฐานปฏิบัติการใหญ่ของขบวนการนี้

ยิ่งเมื่อย้อนไปดูเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ก็จะพบว่า ทางการจีนได้ใช้ความพยายามหลายต่อหลายครั้ง ส่งผู้บริหารไปทุกระดับไปเจรจากับ รัฐบาลทหารพม่าที่กรุงเนปิดอว์ เพื่อให้จัดการเรื่องนี้


เริ่มต้นจากวันที่ 4 เมษายน 2566 ส่งตัวแทนระดับมณฑล คือ นายหวัง หนิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลยูนนาน หรือ ผู้ใหญ่สูงสุดของมณฑลยูนนาน ไปพบกับ พลเอกอาวุโสมิน อ่องลาย

หลังจากนั้น เมื่อ วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ก็ส่งผู้บริหารระดับสูงคือรัฐมนตรีต่างประเทศ และมนตรีแห่งรัฐ อย่าง นายฉิน กัง ซึ่งในเวลานั้นยังไม่ถูกปลดจากตำแหน่ง ก็เดินทางไปพบพลเอกอาวุโส มิน อ่องลาย อีกรอบ

เมื่อวิธีการทางการทูตไม่เป็นผล เมื่อ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ทางการจีนจึงเริ่มใช้ “ไม้แข็ง” โดยส่ง นายหวัง เสี่ยวหง รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ ไปพบกับพลเอกอาวุโสมินอ่องลาย ซึ่งเป็นเรื่องไม่ปกตินัก ที่รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน จะไปพบกับผู้นำสูงสุดของประเทศอื่น


ฆ่าสายลับตำรวจจีน จุดแตกหักล้าง 4 ตระกูลใหญ่โกก้าง

4 ตระกูลใหญ่โกก้าง ซึ่งยอมสวามิภักดิ์กับรัฐบาลทหารพม่า มีผลประโยชน์ร่วมกับขบวนการหลอกลวง ทั้งให้ใช้พื้นที่เป็นฐานของคอลเซนเตอร์ และให้การคุ้มครองการกระทำผิดกฎหมายต่าง ๆ

รัฐบาลจีนได้หารือกับรัฐบาลทหารพม่าหลายครั้งให้จัดการกับแก็งค์คอลเซนเตอร์ แต่ว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่ได้จัดการอย่างจริงจัง และยังปล่อยให้กลุ่ม 4 ตระกูลใหญ่โกก้างเหิมเกริม ทารุณ และฆาตกรรมตัวประกันที่ถูกบังคับไปทำงานกับขบวนการหลอกลวง โดยเมื่อ วันที่ 20 ตุลาคม 2566(ก่อนเกิดปฏิบัติการ 1027 ได้ 7 วัน)ในระหว่างที่มีการเคลื่อนย้ายตัวประกัน กลุ่ม 4 ตระกูลใหญ่โกก้างได้ฆ่าสายลับตำรวจจีน 4 คน ทำให้ฝ่ายจีนยอมไม่ได้อีกต่อไป


วันที่ 21 ตุลาคม 2566 ทางการเมืองหลินชัง มณฑลยูนนาน ได้ส่งหนังสือทางการไปถึงทางการเขตปกครองตนเองโกก้าง เพื่อถามถึงเรื่องที่พลเมืองจีนเสียชีวิต พร้อมกำชับให้ทางโกก้างมีคำชี้แจงที่ชัดเจน และหาตัวผู้กระทำมาผิดมาลงโทษ

แต่ว่าฝ่าย 4 ตระกูลใหญ่ที่เป็นผู้ปกครองเขตโกกั้งในขณะนั้นกลับทำนิ่งเฉย มณฑลยูนนานจึงตัดสินใจส่งเรื่องไปยังปักกิ่ง

ต่อมา วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน ได้ออกหมายจับสมาชิก 4 คน ของ“ตระกูลหมิง”ซึ่งเป็นมือทำงานให้กับ 4 ตระกูลใหญ่โกก้าง โดยระบุว่า “สมาชิกตระกูลหมิง” เป็นแกนนำขบวนการหลอกลวง และยังเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม ทำร้าย จับตัวประกัน โดยตั้งรางวัลนำจับ 100,000 หยวน ถึง 500,000 หยวน หรือคิดเป็นเงินไทย คือ 5 แสนบาท ถึง 2 ล้าน 5 แสนบาท

หมายจับ 4 สมาชิกตระกูลหมิง
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ตำรวจจีนและกองกำลังในพม่าได้จับตัวสมาชิก 4 คน ของ “ตระกูลหมิง” ได้ โดย นายหมิง เสวียชาง ผู้นำกลุ่ม ฆ่าตัวตายหนีความผิดระหว่างถูกจับกุม

จีนประกาศซ้อมรบชายแดนพม่า


ขณะนี้ “กองกำลังพันธมิตรภาคเหนือ” 3 ฝ่ายสามารถควบคุมพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉานได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่รัฐบาลทหารพม่าของ มิน อ่องหล่าย ที่เนปิดอว์ก็ยังทำตัวเป็น “ทองไม่รู้ร้อน” เหมือนว่ามีผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มอำนาจเก่าในรัฐโกก้างที่หนุนหลังขบวนการหลอกลวง ทำให้จีนไม่พอใจอย่างยิ่ง

เมื่อ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ขบวนรถบรรทุกสินค้าของจีนกว่า 120 คันถูกโจมตีด้วยโดรน จนย่อยนับที่ชายแดนพม่า-จีน โดยรัฐบาลทหารพม่าอ้างว่าเป็นฝีมือของกลุ่มต่อต้าน แต่ฝ่ายจีนไม่เชื่อ


เพียง 1 วันต่อมา หน่วยบัญชาการภาคใต้ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ก็ประกาศซ้อมรบด้วยกระสุนจริงที่ชายแดนจีน-พม่า บริเวณมณฑลยูนนาน ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 โดยจะมีการฝึกซ้อมยุทธการฉับพลัน, การควบคุมพรมแดน และการใช้อาวุธ โดยมีเป้าหมายเพื่อพิทักษ์อธิปไตย, เสริมสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดน, คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวจีน

ทั้งนี้ จากการเจรจาที่ผ่านมา และเป้าหมายที่กองทัพจีนประกาศออกมา ก็ชัดแจ้งอยู่แล้วว่า การติดต่อระหว่างจีนกับพม่า ได้ถูกยกระดับขึ้นจากระดับมณฑลสู่ระดับกระทรวงการต่างประเทศ สู่ระดับกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ และในขณะนี้ จากการซ้อมรบบริเวณชายแดนก็เท่ากับว่ากองทัพจีนได้เคลื่อนพลประชิดชายแดนพม่าแล้ว

“โกลบอล ไทม์” สื่อของทางการจีน ระบุว่า การซ้อมรบครั้งนี้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า เมื่อชายแดนเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอก กองทัพจีนมีภารกิจที่จะพิทักษ์พรมแดนและสันติภาพ แต่สื่อของทางการจีนก็ออกตัวด้วยว่า จีนจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น

จีนมีผลประโยชน์มหาศาลในพม่า นอกจากมุ่งเป้ากวาดล้างขบวนการหลอกลวงที่ใช้พม่าเป็นฐานปฏิบัติการแล้ว ทางการจีนยังต้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเองในพม่า ที่มีอยู่มหาศาลอีกด้วย

พื้นที่สู้รบทางภาคเหนือของรัฐฉาน เป็นด่านการค้าชายแดนที่สำคัญ การค้าชายแดนระหว่างจีน-พม่า ราว 1 ใน 4 ผ่านพื้นที่นี้ โดยมูลค่าการค้าในห้วงเวลา 6 เดือน ระหว่าง เดือนเมษายน-กันยายน 2566 ก่อนจะมีการสู้รบสูงถึง 1,800 ล้านดอลลาร์หรือราว 63,000 ล้านบาท

โครงการของจีนที่ใหญ่ที่สุดในพม่า คือ ท่อส่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติที่เชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกเจาะพยูในอ่าวเบงกอล ประเทศพม่า กับ เมืองคุนหมิงในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน

แผนที่เส้นทางท่อก๊าซและน้ำมันจากอ่าวเบงกอลของพม่าไปสู่พื้นที่ตอนใต้ของประเทศจีน
ท่อก๊าซและน้ำมันพม่า-จีนมีความยาวมากกว่า 2,500 กิโลเมตร เปิดใช้เต็มรูปแบบเมื่อเดือนตุลาคม 2556 ลำเลียงก๊าซได้ปีละ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนท่อส่งน้ำมันลำเลียงได้ปีละ 22 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ จีนยังสร้างท่าเทียบเรือและคลังน้ำมันที่สามารถเก็บกักได้ 300,000 ตัน

มูลค่าโครงการนี้สูงกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหลังเกิดรัฐประหารในพม่า มีข่าวว่าจีนส่งกองกำลังนอกเครื่องแบบไปคุ้มครองท่อก๊าซและน้ำมันในพม่าด้วย

นอกจากนี้ จีนยังต้องการทำโครงการอีกมากมายในพม่า เช่น เขื่อนผลิตไฟฟ้า และโครงการอื่น ๆ ตามยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

แน่นอนว่า ความวุ่นวายในรัฐฉานย่อมส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของจีน โรงเรียนที่ชายแดนในมณฑลยูนนานต้องปิดตัว, กระทรวงการต่างประเทศจีนประกาศขอให้พลเมืองจีนออกอพยพออกจากเขตปกครองตนเองโกก้าง และถ้าสถานการณ์ลุกลาม จีนจะต้องเผชิญกับคลื่นผู้อพยพจำนวนมหาศาล ที่สหประชาชาติประเมินว่าอาจมากถึง 2 ล้านคน

จีนพร้อมสำหรับการปกครองแบบ “สหภาพพม่า”

อย่างไรก็ตาม จีนไม่เคยถือไพ่ใบเดียว ก่อนหน้านี้จีนได้ผูกสัมพันธ์กับนางอองซาน ซูจี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และก็ไปมาหาสู่กับผู้นำกองทัพอย่างสม่ำเสมอ

หลังรัฐประหารปี 2564 จีนประเมินสถานการณ์อย่างระมัดระวัง ไม่ประณามคณะรัฐประหารเหมือนกับบรรดาชาติตะวันตก ทำให้กลุ่มผู้ต่อต้านรัฐประหารอ้างว่า รัฐบาลจีน “รู้เห็นเป็นใจ” กับการก่อรัฐประหารของกองทัพพม่า กระแสต่อต้านจีนแพร่สะพัด มีการประท้วงต่อต้านจีน ไม่พอใจที่จีนนิ่งเงียบ และยังมีการเผาทำลายโรงงานของชาวจีนกว่า 30 แห่ง
จนรัฐบาลจีนต้องออกมาเรียกร้องให้คณะรัฐประหารรับประกันความปลอดภัยในชีวิตและคุ้มครองทรัพย์สินของชาวจีนในพม่า และเอกอัครราชทูตจีนประจำพม่ากล่าวว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นในพม่าวันนี้ มิใช่สิ่งที่จีนอยากจะเห็น"

ในขณะนี้ ภารกิจเฉพาะหน้าที่จีนต้องจัดการคือ กวาดล้างจีนเทา ที่มีสมาชิกเป็นแสน ๆ คน และมีผู้ตกเป็นเหยื่อเป็นล้าน ๆ คน จีนจึงตัดสินใจตัดรากถอนโคนกลุ่ม 4 ตระกูลใหญ่แห่งโกก้าง ที่เป็นผู้คุ้มครองให้กับขบวนการหลอกลวง โดยหันไปสนับสนุนกองกำลังกองกำลังพันธมิตร 3 ฝ่ายให้ล้ม 4 ตระกูลใหญ่


แต่ขณะเดียวกันที่กรุงปักกิ่งเมื่อ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 นายหลิว จิ้นซง อธิบดีกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีน ก็ได้พบกับ เอกอัครราชทูตพม่า ประจำประเทศจีน เพื่อแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือจะเรียกได้ว่าเป็นยุทธการในการจัดการที่ใช้ทั้งไม้อ่อน-ไม้แข็งไปพร้อม ๆ กันก็ว่าได้

“จีน” เป็นผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุด และเป็นผู้ที่ขายอาวุธให้แก่กองทัพพม่า แต่ขณะเดียวกันปักกิ่งก็มีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยตามแนวตะเข็บชายแดน ซึ่งจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพพม่ามานานหลายทศวรรษ เพราะจีนเองก็ไม่มั่นใจว่ากองทัพพม่าจะนำประเทศกลับสู่ความมีเสถียรภาพได้ และยิ่งจีนผูกสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารมากขึ้นเท่าไหร่ ก็เท่ากับผลักไสประชาชนชาวพม่าออกไปไกลขึ้นเท่านั้น

“จีน” รู้ดีว่า พม่าเป็นประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์มากมาย เป็นไปไม่ได้ที่จะมีกลุ่มอำนาจเดียวปกครองพม่าได้ เพราะแต่ดั้งแต่เดิมพม่าก็ปกครองแบบ “สหภาพ” อยู่แล้ว

จีนไม่ค่อยแคร์ว่าใครจะเป็นผู้นำพื้นที่ต่าง ๆ ขอเพียงให้พม่ามี “เสถียรภาพ” และรักษาผลประโยชน์ของจีนไว้ได้ และถ้าใครเพิกเฉย ทำให้จีนเสียประโยชน์ ประชาชนจีนต้องเดือดร้อน ก็ต้องถูก “สั่งสอน” เหมือนกับกลุ่มอำนาจเก่าในรัฐฉาน และรัฐบาลทหารพม่าในตอนนี้ !

จับตา “สามเหลี่ยมสงคราม”




นักวิเคราะห์หลายฝ่ายประเมินว่าสถานการณ์การสู้รบในพม่าขณะนี้ อาจเป็นสัญญาณจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของ “รัฐบาลทหารพม่า” นำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย ดำเนินการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ อองซาน ซูจี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

วิกฤตครั้งนี้ถือว่ารัฐบาลทหารเมียนมากำลังเผชิญกับภัยคุกคามครั้งใหญ่ที่สุดต่ออำนาจการปกครอง โดย “รัฐบาลทหารเมียนมา” ขณะนี้ สูญเสียเมืองยุทธศาสตร์ชายแดนบางแห่ง เสียตำแหน่งทางการทหารที่สำคัญ และเส้นทางการค้าที่สำคัญ ในระดับที่ไม่เคยพบเห็น ในรอบหลายสิบปี

ในรัฐฉาน พื้นที่ชายแดนทางตอนเหนือ รัฐบาลทหารพม่า ได้สูญเสียการควบคุมเมืองอย่างน้อย 6 เมือง ถนนสายหลัก และด่านหน้าและค่ายทหารมากกว่า 100 แห่ง

ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตก กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ กองทัพอาระกัน (AA) กลับมาสู้รบอีกครั้ง หลังจากการหยุดยิงชั่วคราวนานหนึ่งปีสิ้นสุดลง และเปิดแนวรบใหม่ การปะทะกับกองกำลังรัฐบาลทหารยังคงดำเนินต่อไปในหลายเมือง นอกจากนี้ยังมีรายงานการแปรพักตร์ของทหาร ในกองทัพและทหารหลายนายยอมจำนน

ในรัฐชิน ทางตะวันตก ผู้คนหลายพันคนได้หลบหนีการสู้รบ และข้ามชายแดนไปอินเดีย ในจำนวนนี้มีทหารเมียนมา 43 นายที่หลบหนีหลังจากค่ายทหารของพวกเขาถูกกลุ่มต่อต้านยึด มีหลายสิบคนถูกส่งกลับมายังเมียนมา


จากข้อมูลของสำนักงานกิจการด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ระบุว่าการปะทะกันด้วยอาวุธในพม่าขณะนี้ ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุด และขยายเป็นวงกว้างที่สุดนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร

จากสถานการณ์ดังกล่าว คาดว่ากลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อื่นๆ ที่เคยรอความหวังจากสหรัฐฯ เมื่อได้เห็นความสำเร็จของกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือ ก็อาจจะถือโอกาสนี้ในการลุกฮือขึ้นบ้าง และอาจจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนในการต่อสู้ทางการเมือง จนมีอิทธิพลมากพอในการเจรจาข้อตกลงระดับชาติในกระบวนการเปลี่ยนผ่านปกครองตนเองแบบสหพันธรัฐกับรัฐบาลพม่าในอนาคตอันใกล้

ดังนั้น รัฐบาลพลัดถิ่น NUG ของนางอองซาน ซูจีน ถ้ายังหวังเกาะชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ เพื่อโค่นล้มรัฐบาลทหารของมิน อ่องหล่าย ก็อาจถูกกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ โดดขึ้นรถไฟจีนเอาตัวรอดไปก่อน จน NUG ตกขบวนรถไฟสถาปนาอำนาจ“สหพันธรัฐเมียนมา”แบ่งปันอำนาจปกครองภายใต้อิทธิพลจีน แต่ถ้ากองกำลังใดแตกแถวไม่เชื่อฟัง ก็จะโดนจีนเช็คบิลเล่นงานแบบว้า, โกก้างใหม่ หรือแม้กระทั่ง รัฐบาลทหารพม่าของ มิน อ่องหล่าย ก็อาจจะหนีไม่รอด

ดังนั้นอิทธิพลด้านความมั่นคงของจีนที่เพิ่มขึ้นในพม่า ใจกลางภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ประชาคมระหว่างประเทศอาเซียนจะต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเตรียมการรับมือสงครามการปะทะกันด้วยอาวุธที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แน่นอนว่าสหรัฐฯ จะมายุยงปั่นหัวหลอกใช้อาเซียน

อ้างเรื่องความเสียหายต่อเศรษฐกิจจากอาชญากรรมฉ้อโกงการเงินในพม่า ปั่นหัว “ไทยและอาเซียน” ให้จัดการต่อต้านการแผ่อิทธิพลของจีน และปั่นให้แทรกแซงเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลทหารพม่า ไปด้วย เพื่อหวังจะดึงกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ จากอ้อมอกร่มเงาจีน กลับมาเป็นเครื่องมือสหรัฐฯ ดังเดิมในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ปั่นให้เกิดสงครามกับจีนเหมือนที่เคยปั่นสงครามยูเครน และอิสราเอล มาแล้ว

สงครามโลก 2 ครั้งที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นแล้วว่า การจุดไฟสงครามโลกนั้น ต้องดำเนินการใน 3 ภูมิภาค คือ ยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออก ตอนนี้เกิดไป 2 ภูมิภาคแล้ว ขาดภูมิภาคที่ 3 เท่านั้น ก็จะครบองค์ประกอบลากเส้นมุม "สามเหลี่ยมสงคราม"


ความเคลื่อนไหวในช่วงเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะกรณีที่ กองทัพเรือรัสเซียส่งผู้บัญชาการกองทัพเรือ มาควบคุมการจัดซ้อมรบ "เรือดำน้ำขนาดใหญ่" หลายลำที่ติดตั้งขีปนาวุธ Hypersonic และขีปนาวุธร่อน ร่วมกับเรือดำน้ำ กองทัพเรือพม่าเป็นครั้งแรกในทะเลอันดามัน

หรือ การที่จีนดำเนินการซ้อมรบบริเวณพรมแดนจีน-พม่า ในมณฑลยูนนาน หรือ การส่งกองเรือรบ 3 ลำ ประกอบด้วย เรือพิฆาต เรือฟริเกต และเรือจัดส่งกำลังพร้อมด้วยลูกเรือกว่า 700 นาย เดินทางถึงท่าเรือติลาวา (Thilawa) ในนครย่างกุ้ง เมื่อวันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยระบุว่าเป็นการซ้อมรบด้านความความปลอดภัยทางทะเลระหว่างพม่าและจีน


เหล่านี้เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ชัดว่า แต่ละฝ่ายได้จัดวางกำลัง เพื่อเตรียมรับมือภัยสงครามที่กำลังจะแผ่ขยาย ลุกลามจากยูเครน อิสราเอลมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งในพม่าเดินมาถึงจุดนี้ จึงมีบางคนถึง “บางอ้อ” แล้วว่า ทำไมสหรัฐอเมริกาถึงทุ่มเงินกว่า 10,000 ล้านบาท พร้อมกับเร่งมือในก่อสร้างสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ เสียใหญ่โต และมีกำหนดสร้างเสร็จภายในปลายปี 2566 นี้ หรือ อย่างช้า ๆ ก็ปีหน้า

สำหรับประเทศไทย เพื่อนบ้านใกล้ชิด พรมแดนติดกับพม่า ถ้าไม่อยากให้ไทย กลายเป็นสมรภูมิรบทางบก และทางทะเล ก็จำต้องสร้างสมดุลทางความสัมพันธ์ และจัดวางตำแหน่งของตนเองให้ถูกต้อง

การสร้างสมดุลในเบื้องต้น คือ เราต้องไม่ยอมให้สหรัฐฯ และบรรดาชาติตะวันตก ปั่นกระแสความขัดแย้งกับ จีน-รัสเซีย ได้เด็ดขาด เหมือนที่ทำกับฟิลิปปินส์ สำเร็จมาแล้ว และตอนนี้กำลังเดินหน้าปั่นความขัดแย้งระหว่างเวียดนามกับจีนต่อ ตามแผนแม่บท “ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก” ของสหรัฐฯ ซึ่งมีการเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ !


กำลังโหลดความคิดเห็น