xs
xsm
sm
md
lg

โลกตาลปัตร APEC 2023 จีนคอมมิวนิสต์มุ่งเปิดกว้าง-ร่วมมือ อเมริกาผู้นำโลกเสรีเน้นคว่ำบาตร-ปิดกั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



APEC 2023 เผยตัวตน 2 ชาติมหาอำนาจ จีนใช้ภาพเชิงบวกสร้างบรรยากาศที่ดี เสนอแผนพัฒนาเอเชียแปซิฟิก ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ยึดมั่นแนวทางเปิดกว้าง แบ่งปันและมีผลประโยชน์ร่วมกัน แต่อเมริกันผู้นำโลกเสรีกลับยังใช้นโยบายแยกตัว-แบ่งขั้ว และปิดล้อม อ้างเพื่อลดความเสี่ยง ใช้เวทีประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจมาเล่นการเมืองด้อยค่าจีน



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี 2023 หรือ APEC 2023 ที่นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง วันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งได้เผยให้เห็นตัวตนของผู้นำ 2 ชาติมหาอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกาและจีน โดยฝั่งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ได้เน้นย้ำการแสวงหาการพัฒนาร่วมกัน ขณะที่ นายโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ กลับตอกย้ำซ้ำทวนว่าจีนเป็นชาติที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ


เรื่องดังกล่าวถือเป็นความย้อนแย้งอย่างยิ่งเมื่อในเวลานี้ ผู้นำชาติคอมมิวนิสต์อย่างจีนกลับเป็นฝ่ายที่เน้นย้ำถึงความร่วมมือที่เปิดกว้าง ส่วนผู้นำโลกเสรีอย่างสหรัฐฯ กลับวนเวียนอยู่กับการคว่ำบาตรและการกระพือความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะในทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย จนเหมือนว่าโลกวันนี้ได้กลับตาลปัตรสลับขั้ว จนไม่รู้ว่า ใครเป็นประชาธิปไตย หรือ ใครเป็นเผด็จการกันแน่?


ในภาพจำที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในโลก มุมมองต่อจีนและสหรัฐฯ มักจะถูกตีความในลักษณะว่าฝ่ายหนึ่งเป็น “สีขาว” ฝ่ายหนึ่งเป็น “สีดำ” ซึ่งเป็นภาพที่ถูกย้อมโดยชาติมหาอำนาจตะวันตกตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น โดยสร้างภาพให้จีนที่ปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์เป็นเผด็จการก้าวร้าว ขณะเดียวกันก็สร้างภาพของอเมริกาผู้นำโลกเสรีว่าเป็นสุภาพบุรุษมาโดยตลอด

แต่พฤติกรรมและการแสดงออกในช่วงการประชุมเอเปคที่ผ่านมา ชาวโลกเริ่มตระหนักว่า ภาพที่สร้างออกมานั้น ถ้าพูดตามประสาวัยรุ่นยุคใหม่ก็ต้องบอกว่า “ไม่ตรงปก” เรียกว่าพฤติกรรมที่ปฏิบัติกันมาต่อเนื่องยาวนาน กับพฤติกรรมที่พยายามสร้างภาพโดยกระบอกเสียงกลายเป็นคนละเรื่องอย่างสิ้นเชิง

“ไบเดน” เลอะหนัก บอกสหรัฐฯ สามารถช่วยให้คนจีนพ้นจากความยากลำบากได้


ก่อนการประชุมเอเปคจะเริ่มในวันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2565 นายไบเดนตอบคำถามกับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับประเด็นการแบ่งขั้ว (De-coupling) ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในงาน Fifth National Climate Assessment ว่า

“เราไม่ได้พยายามจะแบ่งขั้วกับจีน แต่เราพยายามจะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ไปในทางที่ดีขึ้น จากมุมมองของผม ความจริงแล้วหากชาวจีนที่ประสบกับภาวะความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ถ้ารายได้เฉลี่ยครัวเรือนของพวกเขา หรือ ประชากรจีนสามารถมีงานที่มีระดับรายได้ที่ดี มันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา และประโยชน์กับทุกคน”

นักข่าวต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นบลูมเบิร์ก หรือสำนักอื่น ๆ ได้ฟังก็คงขำกันหมด เพราะ คำพูดของไบเดนนั้นเป็นคำพูดที่ล้าสมัย และตกยุคอย่างมาก เรียกได้ว่า ล้าหลังไปอย่างน้อย ๆ 20 กว่าปีเลยทีเดียว

สหรัฐฯ ณ วันนี้ ยังคงหลงอยู่ในภาพลักษณ์เก่า ๆ มองว่าประเทศตัวเองเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ คนอเมริกันร่ำรวย มีชีวิตที่สุขสบาย ใช้ชีวิตแบบ American Dream มีบ้าน มีรถ มีการศึกษา ส่วน ประเทศจีนกับคนจีนนั้นเป็นประเทศล้าหลัง ยากจนข้นแค้น หาเช้ากินค่ำ

ภาพ คนไร้บ้านนอนพิงจิตรกรรมฝาผนังของสะพานโกลเดนเกตใกล้กับสำนักงานใหญ่ APEC Summit เมื่อ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566ในเมืองซานฟรานซิสโก ก่อนการประชุมเอเปค
ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง ณ วันนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกามีปัญหาทั้งภาวะการเงิน-การคลัง หนี้สาธารณะท่วม ต้องกู้ประเทศอื่นไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน มาอุดภาระหนี้ที่ภาครัฐสร้างขึ้น, ภาวะเงินเฟ้อ-ข้าวของแพงหูฉี่ ส่งผลให้เกิดภาวะคนไร้บ้านเต็มไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในซานฟรานซิสโก ซึ่งเคยเป็นเมืองสวรรค์ ณ วันนี้เต็มไปด้วยคนไร้บ้าน คนติดยา

ในทางกลับกัน ในเวทีเดียวกันพอ สี จิ้นผิง มาถึงซานฟรานซิสโก เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค


ระหว่างการหารือระหว่างผู้นำสหรัฐและจีน เมื่อ วันที่ 15 พฤศจิกายน ที่คฤหาสน์ฟิโลรี ในซานฟรานซิสโก ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า “จีนและสหรัฐอเมริกามี 2 ทางเลือก”

หนึ่ง เสริมสร้างความสามัคคีและความร่วมมือ ทำงานร่วมกันเพื่อจัดการกับความท้าทายระดับโลก สร้างความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน หรือ


สอง ใช้แนวคิด “ฟาดฟันให้มอดม้วยมรนาไปข้างหนึ่ง” หรือ Zero Sum Game ซึ่งจะนำโลกไปสู่ความวุ่นวายและการแบ่งแยก


ผู้นำจีนบอกว่า ทางเลือกทั้งสองนี้จะกำหนดอนาคตของมนุษยชาติ และอนาคตของโลก โดย สี จิ้นผิง ยังกล่าวกับ โจ ไบเดน ด้วยว่า
  • ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ มีความสำคัญต่อทั่วทั้งโลก
  • จีน-สหรัฐอเมริกาไม่ควรหันหลังให้กัน
  • การพยายามเปลี่ยนแปลงอีกฝ่ายหนึ่ง มิอาจเป็นจริงได้
  • ความขัดแย้งและการเผชิญหน้า จะสร้างผลร้ายแรงแก่ทั้งสองฝ่าย
  • การแข่งขันของมหาอำนาจไม่สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน และไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่จีนและสหรัฐฯ หรือโลกเผชิญอยู่ได้
  • โลกใบนี้กว้างใหญ่เพียงพอที่สองประเทศสามารถประสบความสำเร็จร่วมกันได้ และความสำเร็จของจีนและสหรัฐอเมริกาจะเป็นโอกาสของกันและกัน


“สำหรับผมที่ติดตามข่าวต่างประเทศมานาน 50 กว่าปี นี่ถ้าไม่บอกว่า นี่เป็นคำพูดของผู้นำประเทศสังคมนิยมอย่างจีนแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่คงต้องคิดว่า เป็นคำพูดของผู้นำของโลกทุนนิยมอย่างสหรัฐฯ เป็นแน่แท้” นายสนธิกล่าว


ทั้งนี้ ถ้าหากถอดความจากคำกล่าวของผู้นำจีนจะพบนัยสำคัญที่ซ่อนอยู่อย่างน้อย 5-6 ประการก็คือ

1.ปัจจุบัน จีนมองว่าตัวเองมีสถานะเป็น “ประเทศใหญ่” ซึ่งสามารถนั่งลงเจรจากับสหรัฐฯ ได้อย่างเท่าเทียม

2.ส่วนฝ่ายสหรัฐฯ ยังคงติดหล่มอยู่กับแนวคิดสมัย “สงครามเย็น” ว่า จีนเป็นคอมมิวนิสต์ แตกต่างจากเรา อยู่ร่วมกันไม่ได้

3.สหรัฐฯ ต้องการจะเปลี่ยนแปลงจีน เหมือนที่อดีตผู้นำสหรัฐฯ หลายคนเคยบอกว่า สหรัฐสนับสนุนให้จีนเข้าร่วมในองค์การการค้าโลก หรือ WTO ด้วยความหวังว่า จีนจะเปลี่ยนมาเป็นทุนนิยมเสรี แต่ สี จิ้นผิง ก็ได้พูดชัดเจนแล้วว่า.... เป็นไปไม่ได้

4.แนวทางการพัฒนาของจีน ไม่ใช่แบบเดียวกับสหรัฐฯ แต่ว่าสหรัฐฯ สามารถได้ประโยชน์จากการพัฒนาของจีน

5.จีนไม่กลัวการแข่งขัน แต่ก็ไม่เห็นด้วยว่าความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ควรถูกกำหนดโดยการแข่งขันเพียงอย่างเดียว

6.จีน และสหรัฐฯ สามารถอยู่ร่วมกันได้ ภายใต้หลักการ 3 ประการ ได้แก่ การเคารพซึ่งกันและกัน, การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และ การสร้างความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือ win-win


นับตั้งแต่ยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มาจนถึงยุคของนายโจ ไบเดน สหรัฐฯ ได้เปิดสงครามการค้ากับจีน ใช้มาตรการกีดกันคว่ำบาตรจีนสารพัด ทั้งด้านการค้าและเทคโนโลยี ด้วยความหวาดผวาว่า จีนจะแซงหน้าขึ้นมาท้าทาย “เจ้าโลก” อย่างสหรัฐฯ

แต่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ย้ำอีกครั้งในการพบกันครั้งล่าสุดว่า “จีนไม่มีแผนที่จะก้าวข้าม หรือแทนที่สหรัฐ” ดังนั้น สหรัฐจึงไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคว่ำบาตรและกีดกันจีน

ความจริงแล้วที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงก็คือ จีน กับ สหรัฐฯ ได้ตกลงกันในการประชุม G-20 ที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย เมื่อปีที่แล้ว โดยสหรัฐฯ ได้ยอมรับหลักการจำนวน 5 ข้อที่ว่า

1.สหรัฐฯ จะไม่พยายามเปลี่ยนแปลงระบบของจีน
2.สหรัฐฯ ไม่แสวงหา สงครามเย็นครั้งใหม่
3.สหรัฐฯ จะไม่สร้างกลุ่มพันธมิตรเพื่อต่อต้านจีน
4.สหรัฐฯ ไม่สนับสนุน เอกราชของไต้หวัน และ
5.สหรัฐฯ ไม่มีเจตนาที่จะขัดแย้งกับจีน

แต่เมื่อไล่เรียง 4-5 ข้อนี้มา ก้พอจะเห็นว่าสหรัฐฯ ทำตามคำมั่นสัญญาหรือไม่? ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกลุ่ม QUAD, กลุ่ม AUKUS, อนุมัติขายอาวุธให้ไต้หวันล็อตแล้วล็อตเล่า

เวลาผ่านไป 1 ปี เมื่อคุณคุยกันแล้ว ตกลงกันแล้ว แต่กลับไม่ทำตามสักข้อ จนในที่สุด ผู้นำจีนต้อง “มาทวงสัญญา” ในการประชุมเอเปคครั้งนี้

สี จิ้นผิง-สื่อจีน ใช้ Soft Power-น้ำเย็นเข้าลูบ ลดดีกรีความขัดแย้ง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ก่อนการประชุมเอเปคที่ซานฟรานซิสโกจะเปิดฉากขึ้น สื่อของทางการจีนทั้งหมดได้รายงานข่าวความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ในเชิงบวก เช่น เรื่องของเมืองซานฟรานซิสโกที่เคยเป็นจุดหมายแรกในการเยือนสหรัฐฯ ครั้งแรกของสีจิ้นผิงเมื่อ 38 ปีก่อน


โดยในปี 2528 สีจิ้นผิง ซึ่งเวลานั้นเป็นนายอำเภอเจิ้งติ้ง มณฑลเหอเป่ย ได้เดินทางเยือนนครซานฟรานซิสโก และมีสัมพันธภาพที่ดีกับชาวอเมริกัน

นางฮว่า ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้โพสต์ภาพ นายโจ ไบเดน แสดงรูปในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นรูปของนายสีจิ้นผิงถ่ายคู่กับสะพานโกลเด้นเกต สัญลักษณ์ของซานฟรานซิสโกเมื่อ 38 ปีก่อน


สื่อมวลชนของทางการจีนพยายามสร้างบรรยากาศที่ดี เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ตรงกันข้ามกับสื่อสหรัฐฯ ที่ทำตัวเป็น“สื่อเสี้ยม”โดยถามนายโจ ไบเดน ใน วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ว่า ยังคงคิดว่าผู้นำจีนเป็นเผด็จการไหม ซึ่งนายไบเดนก็อึ้งไปชั่วครู่ ก่อนจะตอบว่า“ใช่ ในฐานะที่เขาเป็นผู้นำประเทศคอมมิวนิสต์”

ทั้งนี้ คำพูดของนายไบเดนที่ว่าผู้นำจีนเป็นเผด็จการ มีขึ้นเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากทั้งสองคนได้พบกัน และยังไม่ทันทีเวทีประชุมใหญ่ของเอเปคจะเริ่มต้นขึ้นด้วยซ้ำ ...แล้วอย่างนี้จะให้ฝ่ายจีนคิดอย่างไรกับ “ความจริงใจ” และ “มารยาทของเจ้าภาพ” ?

สีหน้ากระอักกระอ่วนของ นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ได้ฟังการคำตอบและความเลอะเทอะของนายไบเดน กรณีตอบคำถามผู้สื่อข่าว ยืนยันว่าสี จิ้นผิงเป็นเผด็จการ
“หมัดต่อหมัด” กรณีโลกแบ่งขั้ว

กรณีต่อมาคือเรื่องที่ผู้นำสหรัฐฯ พูดถึงบทบาทของจีนว่า ทำไมถึงไปสนับสนุนรัสเซียและเกาหลีเหนือซึ่งจะทำให้โลกแบ่งเป็นสองขั้ว?

ซึ่งผู้นำจีนก็ตั้งคำถามกลับไปว่า อะไรคือคำว่าสนับสนุน?

ถ้าการแสดงมิตรภาพคือการแบ่งขั้ว ก็ต้องถามอเมริกากลับไปว่า แล้วทำไม่คุณไม่เลิกขายอาวุธสักที ในขณะที่คุณบอกว่าอยากเห็นสันติภาพ อยากเห็นความปรองดอง แต่คุณกลับขายอาวุธให้เขาไปประหัตประหารกัน แล้วที่คุณบอกว่าเราสนับสนุนอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ต้องถามว่า การแสดงความมีมิตรภาพต่อกัน เป็นการสนับสนุนให้ก่อสงครามหรืออย่างไร?


ต่อมาในเรื่องของไต้หวันประธานาธิบดีไบเดน ชี้ว่า กิจกรรมทางทหารของจีนรอบไต้หวันกำลังเพิ่มความตึงเครียดและความกังวล และได้แนะจีนให้ทบทวนยุทธศาสตร์ของตัวเอง


ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวตอบโดยย้ำว่า สหรัฐควรหยุดติดอาวุธให้ไต้หวันและสนับสนุนการรวมเป็นหนึ่งเดียวกับจีนอย่างสันติ

ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมเอเปค ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ ยังได้ทำข้อตกลงความร่วมมือด้านนิวเคลียร์กับฟิลิปปินส์ ภายใต้ข้อตกลงนี้ ฟิลิปปินส์จะซื้อวัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์จากบริษัทของสหรัฐฯ เพื่อนำไปใช้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในปี 2575

ภาพแผนที่ ฐานทัพต่าง ๆ ทั้งฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศในฟิลิปปินส์ที่ กองทัพสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงและใช้งานได้หากเกิดกรณีฉุกเฉิน สงครามช่องแคบไต้หวันปะทุขึ้นจริง ๆ
ถึงแม้ข้อตกลงนี้จะมีฉากหน้าเป็นเรื่องของพลังงานไฟฟ้า แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า สหรัฐฯ ได้วางหมากตัวแรกที่ให้ฟิลิปปินส์เป็นชาติที่มีศักยภาพด้านนิวเคลียร์ ซึ่งเชื่อมโยงกับที่ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้บอกว่า จะช่วยปกป้องฟิลิปปินส์จากการคุกคามของจีนในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้

ในเรื่องนี้ นางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้แถลงก่อนที่ผู้นำจีนจะเดินทางไปร่วมการประชุมที่สหรัฐว่า“จีนจะไม่ยึดครองดินแดนใดๆ ที่ไม่ใช่ของเรา และไม่สละดินแดนใดๆ ที่เป็นของเรา”

ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก VS แผนสร้าง “30ปี ทองคำ” ของเอเชียแปซิฟิก

ในความเป็นจริงแล้ว เอเปค หรือชื่อเต็มคือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) ตั้งขึ้นโดยต้องการก้าวข้ามข้อจำกัดทางการเมือง จึงรับสมาชิกโดยใช้สถานะ “เขตเศรษฐกิจ” ไม่ใช่ “ประเทศ” ทำให้ฮ่องกงและไต้หวัน สามารถเป็นสมาชิกเอเปคได้ ปัจจุบันเอเปคมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ


ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เอเปคมีเป้าหมายหลักคือ การส่งเสริมการเปิดเสรีการค้า การลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านสังคมและการพัฒนา ทำให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีเติบโตในระยะยาวและต่อเนื่อง ยอดการค้าคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของโลก ระดับภาษีโดยเฉลี่ยลดลงจาก 17% เหลือ 5% สร้างคุณูปการต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกให้สูงถึง 70%

แต่ในช่วงหลังสหรัฐฯ กลับใช้เวทีเอเปคเพื่อ “เล่นการเมือง” สร้างยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกเพื่อปิดล้อมจีน

ส่วนในทางเศรษฐกิจ สหรัฐฯ ก็ใช้มาตรการคว่ำบาตรเทคโนโลยี ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งสวนทางกับเจตนารมณ์ของเอเปค อย่างสิ้นเชิง

ขณะที่จีนที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม กลับเสนอความร่วมมือที่เปิดกว้างและแสวงหาการพัฒนาร่วมกัน

ในการประชุมครั้งล่าสุด ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้เสนอแผน สร้าง “30 ปีทองคำ” ของการพัฒนาเอเชียแปซิฟิกในอนาคต โดยมีข้อเสนอแนะ 4 ประการ คือ
1.ยึดมั่นในการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
2.ยึดมั่นในแนวทางที่เปิดกว้าง
3.ยึดมั่นในการพัฒนาสีเขียว และ
4.ยึดมั่นในการแบ่งปัน และมีผลประโยชน์ร่วมกัน


ผู้นำจีนระบุว่า การพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่ได้เกิดขึ้นจากการใช้นโยบาย “ผลักเพื่อนบ้านให้เป็นยาจก” หรือ “สร้างรั้วสูงล้อมรอบสนามหญ้าเล็ก” (หมายถึง การรวมกลุ่มของประเทศไม่กี่ประเทศ และตั้งเงื่อนไขไม่ให้ประเทศอื่นเข้าร่วมกลุ่ม เช่น กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ซึ่งเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ภายใต้ร่มธงของยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก)

สหรัฐฯ ที่เป็นเจ้าแห่งทุนนิยมเสรี แต่วันนี้กลับใช้นโยบายแยกตัว-แบ่งขั้ว และปิดล้อมโดยประดิษฐ์คำอ้างเท่ ๆ ว่าเป็นการ ลดความเสี่ยง แต่ผู้นำประเทศสังคมนิยมอย่าง สี จิ้นผิง กลับประกาศบนเวทีเอเปคว่า การขาดความร่วมมือต่างหาก คือความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด


“เท่าที่ผมทราบมา หลังจากที่สี จิ้นผิง ได้กล่าวสุนทรพจน์ในเวทีเอเปค ปรากฏว่าคนในเอเปค ผู้นำทั้งหลาย ปรบมือกันอย่างกึกก้อง ทุกคนยอมรับวิสัยทัศน์สี จิ้นผิง ทุกคนยอมรับว่าประเทศจีนเป็นผู้นำของโลกนี้อย่างไม่เป็นทางการ ทิ้งให้โจ ไบเดน และประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่กำลังจะค่อยๆ ล่มสลายไปทีละนิด เนื่องจากว่ามองทุกอย่างให้เป็นเรื่องของภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ เพราะว่าทุกคนจะต้องเดินตามรอยเท้าสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ต้องการยืนยันความเป็นผู้นำของโลกอยู่อย่างเหมือนเดิม” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น