เผยเบื้องหลัง “ลิซ่า” ถูกระงับบัญชี “เวยป๋อ” ในจีน เพราะผิดกฎ “ค่านิยมที่พึงประสงค์” หลังร่วมแสดง crazy horse ที่ฝรั่งเศส ไม่ใช่การแบน ไม่มีมาตรการลงโทษจากทางการจีน และบัญชีที่ถูกบล็อกก็เป็นของ YG ต้นสังกัดทำขึ้น เมื่อลิซ่าไม่ต่อสัญญาก็จะระงับบัญชีอยู่แล้ว เชื่อในไม่ช้าลิซ่าจะหวนคืนสู่แดนมังกรได้ศักยภาพของตัวเอง
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณี “ลิซ่า” ลลิษา มโนบาล ศิลปิน K-Pop ชาวไทย ถูกบล็อกบัญชีเวยป๋อ โซเชียลมีเดียจีนแบน คาดว่าเป็นเพราะลิซ่าไปร่วมแสดงบนเวที Crazy Horse ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเรื่องนี้มีหลากหลายมุมมองที่น่าสนใจ
เหตุดังกล่าวเกิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย“เวยป๋อ”ในประเทศจีนต่างพบว่า ไม่สามารถเข้าถึงบัญชีของลิซ่าได้ โดยปรากฏข้อความว่า “ไม่สามารถเข้าถึงบัญชีนี้ได้ เนื่องจากมีรายงานการละเมิดกฎหมาย ข้อบังคับ และข้อตกลงชุมชน”
ถึงแม้ทางเจ้าของแพลตฟอร์ม “เวยป๋อ” จะไม่มีคำชี้แจงถึงเหตุผลในการแบนบัญชีของลิซ่า แต่คาดว่าเป็นเพราะการแสดงโชว์บนเวที Crazy Horse ที่ชาวจีนมองว่าเป็นการแสดงที่ไม่เหมาะสม เพราะมีการโชว์เรือนร่างแบบเปิดเผย ซื่งรัฐบาลจีนได้เคร่งครัดกับการแสดงในลักษณะนี้ มีการห้ามอย่างเคร่งครัดไม่ให้ส่งเสริมการแสดงที่เปิดเผยร่างกายเกินสมควร ตามข้อบังคับของสมาคมศิลปะการแสดงแห่งประเทศจีน
ถึงแม้ทางเจ้าของแพลตฟอร์ม “เวยป๋อ” จะไม่มีคำชี้แจงถึงเหตุผลในการแบนบัญชีของลิซ่า แต่คาดว่าเป็นเพราะการแสดงโชว์บนเวที Crazy Horse ที่ชาวจีนมองว่าเป็นการแสดงที่ไม่เหมาะสม เพราะมีการโชว์เรือนร่างแบบเปิดเผย ซื่งรัฐบาลจีนได้เคร่งครัดกับการแสดงในลักษณะนี้ มีการห้ามอย่างเคร่งครัดไม่ให้ส่งเสริมการแสดงที่เปิดเผยร่างกายเกินสมควร ตามข้อบังคับของสมาคมศิลปะการแสดงแห่งประเทศจีน
ทั้งนี้ ไม่เพียงแค่ “ลิซ่า” แต่นักแสดงสาวชาวจีนเองอย่าง “แองเจล่า เบบี้” และ “เจนนี่ จาง” ที่ไปร่วมชมโชว์ก็โดนบล็อคบัญชีเช่นกัน แต่ขณะนี้บัญชีของทั้ง 2 คนกลับมาใช้งานได้ตามปกติแล้ว
อนึ่ง“ลิซ่า”มีชื่อเสียงในเมืองจีนมากพอสมควร บัญชีเวยป๋อของเธอมีผู้ติดตามมากกว่า 8 ล้านคน นอกจากนี้ เธอยังเคยเป็นเมนเทอร์ หรือ กรรมการ ในรายการ“วัยรุ่นวัยฝัน” (ชิงชุนโหยวหนี่)รายการเรียลลิตี้ชื่อดังในประเทศจีนที่คัดเลือกวัยรุ่นที่จะมาเป็นไอดอล
แต่ว่าความมีชื่อเสียงของลิซ่ากลับมาเป็น “ดาบสองคม” เมื่อทางการจีนมองว่า การแสดง Crazy Horse ขัดต่อ “ค่านิยมที่พึงประสงค์” (ค่านิยมที่พึงประสงค์ดังกล่าว ไม่ได้มีความหมรยว่า เป็นเรื่องที่ ดี หรือ ไม่ดี แต่เป็นการมองในระยะยาวถึงลักษณะของเยาวชน ที่จีนต้องการให้เป็น)
บรรดาแฟนคลับของ “ลิซ่า” อาจจะมองว่า นี่เป็นการกระทำที่เกินเลยไป เพราะว่า “ลิซ่า” ไม่ใช่ศิลปินชาวจีน และการแสดงของเธอไม่ได้แสดงในเมืองจีน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทางการจีนไม่ได้มีคำสั่ง “แบน” ลิซ่าอย่างเป็นทางการ สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเพียงการระงับบัญชีโซเชียลมีเดียบน เวยป๋อ เท่านั้น
คนไทยจำนวนมากอาจจะยังไม่รู้ว่า เวยป๋อ คืออะไร ทำไมจึงมีบทบาทต่อวงการต่าง ๆ ของจีนอย่างมาก ?
“เวยป๋อ” = ทวิตภพ แห่งแดนมังกร
“เวยป๋อ (微博)” มีความหมายตามตัวอักษรคือ “ไมโครบล็อก” เป็นแอปลิเคชั่นที่ผู้ใช้สามารถเผยแพร่และส่งต่อข้อความสั้น รูปภาพ วิดีโอ หรือก็คือเหมือนกับทวิตเตอร์ ที่เราคุ้นเคยกันดี ผู้ให้บริการ “เวยป๋อ” เป็นรายแรก คือ บริษัท Sina Corporation เปิดตัวเวยป๋อเมื่อ วันที่ 14 สิงหาคม 2552 หรือ 14 ปีที่แล้ว
หลังจากนั้น ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียรายใหญ่ของจีน ทั้ง เท็นเซนต์, โซหู, เน็ตอีสต์ ต่างก็เปิดแพลตฟอร์ม “เวยป๋อ” ของตัวเองเพื่อแข่งขันกับ Sina แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งหมดก็ยุติการให้บริการลง ทำให้ปัจจุบัน “ซีนา เวยป๋อ” คือ เจ้าของแพลตฟอร์มเพียงรายเดียวในประเทศจีน และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า“เวยป๋อ”เป็นของตนเอง
“เวยป๋อ” สร้างความนิยมด้วยการเชิญบรรดาคนดัง ทั้งดารา ศิลปิน อินฟลูเอนเซอร์ และสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ มาเปิดบัญชี “เวยป๋อ” เพื่อสื่อสารกับกลุ่มแฟนคลับ ผู้ติดตาม และสร้างฐานลูกค้าในประเทศจีน แม้แต่นักการเมืองต่างชาติหลายคนก็ยังเปิดบัญชีเวยป๋อของตัวเอง เช่นนายเควิน รัดด์ อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ที่พูดภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่วและเชี่ยวชาญเรื่องจีน ปัจจุบันเป็นเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำสหรัฐอเมริกา,นายบอริส จอห์นสันและนายเดวิด คาเมรอน อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ
ศิลปินต่างชาติที่มีบัญชีเวยป๋อ เช่นแอวริล ลาวีน นักร้อง-นักแต่งเพลงชาวแคนาดา, เดวิด เบ็คแฮม, ทอม ครูซ, เอมมา วัตสัน, แชมมวล แอล แจ็คสัน, ไมค์ ไทสัน เป็นต้น
“เวยป๋อ” ถือเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในประเทศจีน โดยจากสถิติเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 มีผู้ใช้งานรายเดือนที่มีความเคลื่อนไหวทุกเดือน หรือ monthly active users มากกว่า 590 ล้านคน
ในทางธุรกิจ บริษัท Sina Corporation แยกธุรกิจเวยป๋อออกมาจดทะเบียนในตลาดหุ้นแนสแด็กเมื่อปี 2557 ผู้ถือหุ้นคือ Sina ที่เป็นเจ้าของเดิมถือหุ้น 44.7% และ อาลีบาบาถือหุ้นอยู่ 29.8% เวยป๋อได้ทำสถิติมูลค่าตามราคาตลาด หรือ Market Cap สูงสุด 30,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2561
ใครอยู่เบื้องหลังแบนลิซ่า?
แม้ปัจจุบัน“ลิซ่า”จะเป็นศิลปินระดับหัวแถวของโลก โดยใน Instagram เธอมีผู้ติดตามมากเกือบ 100 ล้านคน เรียกว่าเป็นผู้ที่มีคนติดตามในโซเชียลมีเดียมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่“เวยป๋อ”นั้นเป็นโซเชียลมีเดียของจีน และถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีนอย่างเคร่งครัด
“เวยป๋อ” เป็นโซเชียลมีเดียของเอกชน เหมือนกับ เฟชบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูป สื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ต่างก็มีกฎระเบียบในการใช้งานของตัวเอง และมีมาตรการระงับบัญชีชั่วคราว หรือปิดบัญชีอย่างถาวรเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย เช่น ภาพโป๊เปลือย, ความรุนแรง
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ถูกปิดบัญชีทวิตเตอร์อย่างถาวร หลังจากยุยงให้บรรดาผู้สนับสนุนคัดค้านผลการเลือกตั้ง และบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาสหรัฐ จนทุกวันนี้เขาต้องสร้างโซเชียลมีเดียของตัวเอง
โซเชียลมีเดียของตะวันตก ก็มีการแบนและลดการเข้าถึงในหลายกรณี ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและค่านิยมเช่นกัน เป็นต้นมา เรื่องโควิด, ฟ้าทะลายโจร , สงครามยูเครน, สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ก็ถูกเฟชบุ๊กและยูทูปแบนและลดการเข้าถึง หรือแม้แต่การโพสต์ขายสินค้าในบางกรณี ก็อาจถูกเฟชบุ๊กแบนได้
แต่“เวยป๋อ”รวมถึงโซเชียลมีเดียทุกอย่างของจีน มีความเข้มงวดมากกว่า โดยมีองค์กรของรัฐและพรรคคอมมิวนิสต์กำกับอยู่ คือ “สำนักงานบริหารไซเบอร์สเปช” Cyberspace Administration of China หรือที่คนจีนเรียกกันว่า “หวั่งซิ่นปั้น” ซึ่งมีหน้าที่คล้ายกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศไทย
“สำนักงานบริหารไซเบอร์สเปช” หรือ “หวั่งซิ่นปั้น” ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2554 หรือเมื่อประมาณ 12 ปีที่แล้ว โดย เป็นหน่วยงานในกำกับของคณะรัฐมนตรีจีน เดิมมีงานหลัก 5 ด้าน คือ
1. ติดตามความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ทางอินเทอร์เน็ต
2. ติดตามสื่อสังคมออนไลน์
3. บริหารจัดการเครือข่ายโทรคมนาคม
4. ดูแลความปลอดภัยด้านอินเทอร์เน็ต
5.ความร่วมมือระหว่างประเทศ
ต่อมาในปี 2561 สำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซ ได้รับการยกระดับให้มาขึ้นตรงกับ ศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์ และขยายขอบเขตอำนาจขึ้นอย่างมาก ครอบคลุมไปถึงเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์, ตรวจสอบและกำกับการเผยแพร่ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งจัดการเนื้อหาและการสืบสวนและลงโทษเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย
หลังจากถูกยกระดับองค์กรสำนักงานบริหารไซเบอร์สเปชได้ให้ความสำคัญกับงานตรวจสอบด้าน “เนื้อหา”มากกว่างานโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศน์ทางไซเบอร์อย่างมาก เห็นได้จากตำแหน่ง ผู้อำนวยการของสำนักงาน จะควบตำแหน่ง รองอธิบดีสำนักงานโฆษณาการของศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์ (จงซวนปู้) ไปพร้อมกัน
สำนักงานบริหารไซเบอร์สเปช คือหน่วยงานที่กำกับดูแลแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งประเทศจีน รวมทั้ง เวยป๋อ ที่ได้ระงับบัญชีของลิซ่าด้วย
คำถามต่อมาก็คือ ทำไมต้อง “แบนลิซ่า” ?
โซเชียลมีเดียของจีนแตกต่างจากของตะวันตก ตรงที่โซเชียลมีเดียของจีนมีหน่วยงานของทางการกำกับอยู่ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วโซเชียมีเดียของจีนจะ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ก่อน คือ มีระบบเพื่อตรวจจับข้อความที่มีความอ่อนไหว เช่นคำต้องห้ามทางการเมือง ข่าวปลอม ภาพอนาจาร ความรุนแรง เรื่องที่สร้างความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน รวมทั้งค่านิยมที่ไม่เหมาะสม ที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อรักษาแพลตฟอร์มของตัวเองไว้ ไม่ให้ถูกหน่วยงานกำกับลงโทษ
ตั้งแต่ปี 2561 เวยป๋อได้เพิ่มความเข้มงวดในการใช้งาน ผู้ใช้ทุกรายจะต้องลงทะเบียนด้วยชื่อจริงและบัตรประชาชน(จากนั้นจึงสามารถเปลี่ยนชื่อบัญชีเป็นชื่อเล่นได้)และยังจำกัดไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 14 ปี ลงทะเบียนใช้ “เวยป๋อ”
นอกจากนี้ บัญชีเวยป๋อจะแสดง ตำแหน่ง IP ของผู้ใช้งานว่าอยู่ที่เมืองไหน ประเทศใด รวมทั้งโพสต์จากอุปกรณ์อะไร เช่น ไอโฟน ,ยี่ห้อโทรศัพท์อื่น ๆ , มาจากแอปลิเคชั่นบนโทรศัพท์ หรือ แชร์มาจากเว็บไซต์ เป็นต้น
ยกตัวอย่างโพสต์ล่าสุดของเดวิด เบคแฮม ระบุว่าโพสต์จาก เครื่อง ไอโฟน 11 Pro Max
วันที่ 1 ธันวาคม 2564 - เวยป๋อได้ประกาศ “ข้อตกลงในการใช้สื่อสังคมออนไลน์” เพื่อสร้างวัฒนธรรมทางอินเทอร์เน็ต ห้ามผู้ใช้โพสต์คำหยาบ ข้อความและภาพที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งเนื้อหาสายวาย (ชายรักชาย)หรือชายที่กระตุ้งกระติ้งก็ห้ามเผยแพร่ โดยระบบคัดกรองของเวยป๋อจะเข้มงวดขึ้นตามจำนวนผู้ติดตาม ยิ่งบัญชีที่มีผู้ติดตามจำนวนมากก็จะยิ่งถูกจับตามากเป็นพิเศษ(บัญชีของลิซ่ามีผู้ติดตามมากกว่า 8 ล้านคน)
เวยป๋อใช้ทั้ง AI และพนักงานกว่าพันคนเพื่อคัดกรองเนื้อหา เกือบ30% ของข้อความที่ผิดกฎจะถูกลบภายใน 5-30 นาที 90% จะถูกลบภายใน 24 ชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเรื่องการระงับบัญชีของลิช่า กับอินฟลูเอนเซอร์ชาวจีนรายหนึ่งที่มีผู้ติดตามบนเวยป๋อมากกว่า 1 ล้านคน เธอให้ความเห็นว่า ในกรณีนี้ เนื่องจาก
- ลิซ่ามีแฟนคลับจำนวนมาก และกลุ่มผู้ติดตามเป็นเยาวชน
- เรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในประเทศจีน มีทั้งกลุ่มแฟนคลับที่สนับสนุนลิซ่า และ กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ ที่วิพากษ์วิจารณ์แบบโจมตี สร้างเรื่องเท็จเพื่อใส่ความ เช่นบอกว่า สินค้าแบรนด์ดังหลายรายยกเลิกสัญญาเป็นพรีเซนเตอร์ของลิซ่า โดยคนเหล่านี้หวังปั่นกระแสในโซเชียลมีเดีย ซึ่งทางการจีนไม่ต้องการให้เกิดกระแสเช่นนี้
- การแสดง Crazy Horse ในจีนถือว่ามีนัยทางเพศ และไม่ได้รับอนุญาต แม้แต่การแชร์มาจากต่างประเทศก็ทำไม่ได้
- คนจีนจำนวนมากรู้จักCrazy Horse จากลิซ่า มีข่าวว่านักท่องเที่ยวจีนหลายคนที่ไปฝรั่งเศสเข้าไปดูการแสดง Crazy Horse เพื่อนำมาสร้างกระแสสื่อสังคมออนไลน์
- จีนตั้งเกณฑ์ของ บุคคลสาธารณะ ไว้ว่าจะต้องเป็นแบบอย่าง“ที่พึงประสงค์”ต้องไม่มีปัญหาทางกฎหมาย และค่านิยม
จีนเอาจริง! คุมเข้มการใช้อินเทอร์เน็ตของเยาวชน
นอกจากการควบคุมเนื้อหา และพฤติกรรมของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แล้ว “สำนักงานบริหารไซเบอร์สเปช” หรือ “หวั่งซิ่นปั้น” ยังออกกฎระเบียบควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของเยาวชนอย่างเข้มงวดด้วย คือ
เดือนพฤศจิกายน 2563 ออกกฎป้องกันเยาวชนเสพติดเกม
- ห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เล่นเกม ในช่วงเวลา 4 ทุ่ม ถึง 8 โมงเช้า
- จำกัดเวลาเล่นเกมไม่เกิน 90 นาทีในวันธรรมดา และไม่เกิน 3 ชั่วโมงในวันสุดสัปดาห์และวันหยุด
- เยาวชนอายุ 8-16 ปี ใช้เงินซื้อไอเทมในเกมได้ไม่เกินเดือนละ 200 หยวน(ราว1,000 บาท)
- เยาวชนอายุ 16-18 ปี ใช้เงินซื้อไอเทมในเกมได้ไม่เกินเดือนละ 400 หยวน(2,000 บาท)
เดือนสิงหาคม 2566 ได้เปิดการประชาพิจารณ์ เพื่อออกกฎจำกัดเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตของเยาวชน คือ
- ห้ามเด็กและเยาวชนใช้อินเทอร์เน็ตตั้งแต่เวลา 4 ทุ่ม ถึง 6 โมงเช้า
- เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี จะใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่เกินวันละ 40 นาที
- เด็กอายุ 8-16 ปี จะใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง
- เยาวชนอายุ 16-18 ปี จะใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง
- ทุก 30 นาทีของการใช้งาน จะมีคำเตือนขึ้นมา
- ผู้ปกครองสามารถอนุญาตให้ลูกหลานใช้อินเทอร์เน็ตนอกเวลา หรือเกินเวลาที่กำหนดได้
- ยกเว้นแอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับการศึกษา และข้อมูลข่าวสาร จะไม่ถูกจำกัด
- จะไม่มีการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่จะให้ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ต้องทำ“โหมดเยาวชน”เพื่อจำกัดการใช้งาน เมื่อใช้งานเกินเวลา แอปพลิเคชั่นจะปิดตัวลง
“ลิซ่า” จะไม่หายไปจากวงการบันเทิงจีน
หากพูดอีกนัยหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “ลิซ่า” ในจีนขณะนี้ ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการ “แบน” เพราะว่าทางการจีนไม่ได้มีมาตรการลงโทษ หรือห้ามเธอปรากฏตัวในที่สาธารณะ เพียงแค่ “เวยป๋อ” ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์แห่งหนึ่งได้ระงับบัญชีของลิซ่าเท่านั้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่จีนลดพื้นที่บนสื่อของบุคคลสาธารณะเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง และมีหลายสาเหตุ ซึ่งรวมถึงเรื่องการเมืองด้วย หลายปีก่อน จีนก็เคย “แบน” ศิลปินเกาหลีใต้ทั้งหมด คือ ไม่ให้มาเปิดคอนเสิร์ตในประเทศจีน ไม่เชิญมาออกรายการโทรทัศน์ ให้สื่อต่าง ๆ ลดจำนวนซีรีย์เกาหลี ลดการนำเสนอเรื่องราวของศิลปินเกาหลี
จีนทำเพื่อตอบโต้ที่เกาหลีใต้นำระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ของสหรัฐฯ มาประจำการในเกาหลีใต้ ซึ่งฝ่ายจีนมองว่าการนำระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ มาติดตั้งในเกาหลีใต้ ที่เหมือนกับตั้งอยู่หลังบ้านของจีน แม้ว่าเกาหลีใต้จะย้ำมาตลอดว่าเป็นการประจำการไว้เพื่อเตรียมรับมือกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือก็ตาม
อย่างไรก็ตาม เมื่อความขัดแย้งระหว่างจีน-เกาหลีใต้ผ่อนคลายลง การแบนศิลปินเกาหลีก็ไม่ได้ใช้อย่างจริงจังอีก
กรณีที่ชัดเจนยิ่งกว่า คือ ฟ่าน ปิงปิง อดีตซูเปอร์สตาร์หญิงอันดับ 1 ของจีน ที่หลายปีก่อนเผชิญข้อหาหลบเลี่ยงภาษี และถูกปรับเงินถึง 883 ล้านหยวน หรือราว 4,500 ล้านบาท
ฟ่าน ปิงปิง ต้องเงียบหายไปจากวงการนานถึง 5 ปี แต่ล่าสุด เธอก็ได้หวนคืนวงการแล้ว โดยเดินทางมาไปร่วมงานเทศกาลหนังเมืองเบอร์ลินครั้งที่ 73 ใน ประเทศเยอรมนี เพื่อโปรโมทภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเธอ ที่ชื่อว่า Green Night
นั่นแสดงว่า การจำกัดพื้นที่บุคคลสาธารณะของจีนไม่ได้ใช้ตลอดไป แม้แต่คนที่มีความผิดตามกฎหมายเหมือนฟ่าน ปิงปิงก็ยังหวนคืนวงการได้ เมื่อเธอได้รับโทษแล้ว
ในกรณีของลิซ่านั้น เธอไม่ได้มีความผิดอะไร เป็นเพียงแค่จีนต้องการลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และก็เป็นเรื่องของ“ค่านิยมที่พึงประสงค์”เท่านั้น ซึ่งค่านิยมก็เป็นสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ “บัญชีเวยป๋อ” ของลิซ่าถูกสร้างขึ้นและบริหารจัดการโดยต้นสังกัดทางเกาหลี คือบริษัท YG Entertainment ในฐานะ “ลิซ่า Blackpink” แต่เมื่อลิซ่าไม่ต่อสัญญากับ YG Entertainment การอุทธรณ์เพื่อขอฟื้นคืนบัญชีจึงไม่เกิดขึ้น และฝ่ายบริษัทเกาหลีเองก็คงต้องการระงับบัญชีอยู่แล้ว
หลังจากนี้ ลิซ่าจะไม่ใช่ Blackpink แต่จะเป็นตัวของเธอเอง เป็นลลิษา มโนบาลเธอยังคงมีกลุ่มแฟนคลับจำนวนมากในประเทศจีน มากกว่า 8 ล้านคนที่ติดตามบัญชีเวยป๋อที่ YG Entertainment เป็นคนสร้างขึ้น
ในไม่ช้าเชื่อว่า “ลิซ่า” ก็จะหวนคืนสู่แดนมังกรได้ด้วยศักยภาพของตัวเธอเอง!