xs
xsm
sm
md
lg

ไปต่อไม่รอแล้วนะ จีนเตรียมเปิดใช้ ซูเปอร์เน็ตเวิร์ก 6G ก่อนชาติอื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จีนเตรียมเป็นชาติแรกที่ได้เปิดใช้ ซูเปอร์เน็ตเวิร์ก 6G เพื่อการพาณิชย์ หลัง “หัวเว่ย” เร่งวิจัย คาดพร้อมในปี 2572 ขณะที่รัฐบาลจีนได้อนุมัติให้ใช้คลื่นความถี่ 6 กิกะเฮิร์ตซ์เพื่อรองรับไว้แล้ว และจะปฏิวัติเทคโนโลยีการสื่อสารไปอีกขั้น เพราะ 6G มีความเร็วกว่า 5G ถึง 100 เท่า




ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบเครือข่ายการสื่อสารไร้สายของจีน ซึ่งในระหว่างการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ที่เมืองหางโจวที่ผ่านมา มีการเปิดตัวการใช้ 5.5Gหรือ5G Advanced (หรือ 5G-A) แล้ว และขณะนี้จีนกำลังพัฒนา 6G โดยหัวเว่ย ซึ่งถือว่าล้ำหน้ากว่าทุกๆ ชาติในโลก

มีโอกาสสูงมากเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่หัวเว่ยจะพัฒนา 6G ได้สำเร็จก่อนทุกๆ เจ้า ที่กำลังขะมักเขม้นอยู่ สังเกตได้จากสิทธิบัตรในเรื่องเทคโนโลยี 6G ที่หัวเว่ยจดทะเบียนเอาไว้ ปริมาณสิทธิบัตรสูงกว่าทุกๆ ชาติ รวมกันแล้วยังสู้สิทธิบัตรของหัวเว่ยเจ้าเดียวไม่ได้

เทคโนโลยี 6G คืออะไร และจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกอย่างไร?


ในช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมาที่มีการสื่อสารผ่านเครือข่ายไร้สายเป็นต้นมา จะมีเปลี่ยนผ่านของระบบโครงข่ายไร้สาย (Wireless Networks) โดยเฉลี่ยแล้วทุก ๆ 10 ปี เริ่มต้นแต่

ทศวรรษที่ 1980 (หรือ 40 กว่าปีที่แล้ว) เป็น1st Generation (1G)ซึ่งยังอยู่ในยุคแอนะล็อกมีการคิดค้นโครงข่ายไร้สายมาเพื่อจุดประสงค์เพื่อตอบสนองต่อการติดต่อกันด้วยเสียงเป็นหลัก

ทศวรรษที่ 1990 (หรือ ราว 30 กว่าปีที่แล้ว) เข้าสู่รุ่นที่ 2 (2G)โครงข่ายนอกจากรองรับติดต่อกันด้วยเสียงได้แล้ว ก็รองรับการส่งข้อความ Short Message (SMS)

ทศวรรษที่ 2000 (ประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา) ขยับขึ้นมาเป็นรุ่นที่ 3 (3G)โครงข่ายสามารถรองรับการสื่อสาร และการส่งผ่านข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้แล้ว

ทศวรรษที่ 2010 (ประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา) ขยับขึ้นมาเป็นรุ่นที่ 4 (4G)โครงข่ายสามารถรองรับการสื่อสาร และการส่งผ่านข้อมูลระดับบรอดแบนด์ หรือ เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่สามารถรับส่งข้อมูลจำนวนมากโดยเครือข่ายไร้สายรุ่นที่ 4 หรือ 4G มีความรวดเร็วในการส่งผ่านข้อมูลได้ทัดเทียมกับอินเทอร์เน็ตแบบมีสาย แล้ว ทำให้การรับชมวีดิโอระดับ HD สามารถทำได้อย่างลื่นไหลไม่กระตุก

นอกจากนี้โครงข่าย 4G ยังรองรับการทำงาน หรือ ใช้งานต่าง ๆ ผ่านระบบ Application ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนได้อย่างลื่นไหลไม่ติดขัดด้วย


มาถึงปัจจุบัน ณ ตอนนี้เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในยุคของโครงข่ายไร้สายรุ่นที่ 5หรือ5G ที่ถูกพัฒนาและเริ่มใช้ในช่วงปี พ.ศ.2561 เป็นต้นมา โดย5G ไม่ได้มี วัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง การรองรับการติดต่อสื่อสาร และการเข้าถึงข้อมูลระหว่างบุคคล แต่ เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับ ความต้องการในการ ติดต่อสื่อสารของอุปกรณ์ และสรรพสิ่ง (Machine-centric communication) ในภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจ หรือที่เขาเรียกว่าอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things หรือ IoT)ไม่ว่าจะเป็นระบบกล้องวงจรปิด, ระบบกันขโมยในบ้าน, ระบบควบคุมไฟฟ้า, สมาร์ทวอชต์, เซ็นเซอร์ต่าง ๆ ไปจนถึงของใหญ่ ๆ อย่าง ยานพาหนะ และรถยนต์ไปจนถึงระบบเมืองอัจฉริยะไม่ว่าจะเป็นไฟจราจร, ระบบการควบคุมโครงข่ายไฟฟ้า-น้ำประปา, ระบบเตือนภัยไฟไหม้-น้ำท่วม ฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับโลกอินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ภายในระยะเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไม่เกิน 6-7 ปี หรือ พ.ศ.2572 หรือ 2573 โลกก็จะเข้าสู่ยุคของเครือข่ายไร้สาย 6G


เทคโนโลยี 6Gจะไปไกลกว่าแค่การสื่อสาร แต่จะทำหน้าที่เป็น“โครงข่ายประสาทเทียม (Distributed Neural Network)”แบบกระจายนั่นเอง จัดให้มีการเชื่อมโยงด้วยความสามารถด้านการสื่อสาร การตรวจจับ และการประมวลผลแบบบูรณาการ เพื่อหลอมรวมความสามารถทางกายภาพ ชีวภาพ และ โลกไซเบอร์ นำไปสู่ยุคแห่งความฉลาดที่แท้จริงของทุกสิ่ง

เทคโนโลยี 6Gจะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อยอดจาก5Gจากผู้คนและสิ่งต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันไปจนถึงความฉลาดที่เชื่อมโยงกัน โดยพื้นฐานแล้วจะนำความฉลาดมาสู่ทุกคนทั้งบ้าน และธุรกิจที่นำไปสู่ขอบเขตใหม่ของนวัตกรรม

ซึ่งบริษัทที่เป็นผู้นำในเรื่องการวิจัย พัฒนา และกำลังจะทำให้ 6G ปรากฏเป็นจริงในเชิงพาณิชย์ก็คือ“บริษัทหัวเว่ย”ของจีน นั่นเอง!

หัวเว่ย กับ อนาคตซูเปอร์เน็ตเวิร์ก 6G

“หัวเว่ย”ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน เป็นผู้นำการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย 6G ที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญซึ่งสร้างความหวั่นไหวกังวลให้กับโลกตะวันตก ถ้าใครคิดว่า 5G ก้าวหน้าแล้ว ต้องคิดใหม่เพราะ 6G ก้าวล้ำกว่าด้วยความเร็วสูงชนิดพิเศษกว่าของเดิม 100 เท่า ด้วยการส่งข้อมูลในระดับเทราเฮิร์ต


โดย 5G มีความเร็วในการส่งข้อมูลแค่ระดับ กิกะเฮิร์ต แต่สำหรับ 6G ความเร็วในการส่งข้อมูลจะมากกว่า 5G ถึง 100 เท่า ซึ่งจะทำให้ 6G กลายเป็น“ซูเปอร์เน็ตเวิร์ก” นำพาเราไปสู่โลกอัจฉริยะในยุคปฏิวัติเทคโนโลยีสื่อสาร ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลและบ้านเมืองอัจฉริยะในระยะเวลาอีกเพียง 7 ปีข้างหน้าหรือปี 2573 หรือ ค.ศ.2030 ที่จะถึงนี้

กระบวนทัศน์ในวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยีของ“หัวเว่ย”ยิ่งพัฒนายิ่งมีอนาคต โดย“หัวเว่ย”ได้ริเริ่มการวิจัยเทคโลยีการสื่อสารเคลื่อนที่ล้ำยุค 6G ตั้งแต่ช่วงต้น ปี 2561 และเปิดตัวโครงการวิจัย 6G อย่างเป็นทางการใน ปี 2562 ร่วมกับแวดวงอุตสาหกรรมและวิชาการในยุโรป จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมถึง สหรัฐอเมริกา


โดยเน้นไปที่การสื่อสารเครือข่ายไร้สายด้วยเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ที่เชื่อมแถบความถี่ ระดับเทราเฮิร์ตซ (Terahertz ; THz) แบบบูรณาการทั้งภาคพื้นดินและอวกาศที่ผ่านดาวเทียม ตลอดจนการผสมผสานการคำนวณการสื่อสาร และการตรวจจับ (เซ็นเซอร์) ซึ่งจะเปิดประตูสู่แอปพลิเคชั่นปัญญาประดิษฐ์ และธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรมมากมาย เช่น
-บริการคลาวด์ระบบอัจฉริยะ
- Extended Reality (XR)
-ระบบตอบโต้แบบสัมผัส
-การแสดงผลแบบโฮโลแกรม
- เครือข่ายปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่เปลี่ยนแปลงจาก AI บนคลาวด์ ไปเป็น AI บนเครือข่ายไร้สาย 6G ที่ใกล้ชิดกับผู้ใช้ปลายทาง และลดความกังวลด้านความเป็นส่วนตัว หรือ ข้อมูลส่วนบุคคล

6G จึงเป็นระบบการสื่อสารเคลื่อนยุคถัดไปที่ก้าวหน้าไปไกลกว่าที่คิด โดยจะทำหน้าที่เป็น “โครงข่ายประสาทเทียมแบบกระจาย” ที่ให้การเชื่อมโยงเข้ากับความสามารถด้านการสื่อสาร การตรวจจับ และการประมวลผล เพื่อหลอมรวมโลกทางกายภาพ ชีวภาพ และไซเบอร์ ถือเป็นการเปิดศักราชแห่งความชาญฉลาดของทุกสิ่งอย่างแท้จริง 6G จะสร้างต่อยอดจาก 5G นำความอัจฉริยะมาสู่ทุกคน บ้าน และธุรกิจ ซึ่งนำไปสู่ขอบเขตใหม่ของนวัตกรรม

นวัตกรรม 6Gบ่งบอกถึงการก้าวกระโดดแบบควอนตัมที่ทรงพลังระดับ Disruption Technology คือ
1.สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ในเวลาอันรวดเร็ว เป็นพิเศษเป็นร้อยเท่ากว่าของเดิม เป็นความเร็วปานสายฟ้าแลบ

2.ใช้สเปกตัมความถี่สูง เช่น คลื่นมิลลิเมตรเทราเฮิร์ตซ์ ระดับเทราบิตต่อวินาที(หรือละเอียดกว่า กิกะบิต 1,000 เท่า)เทียบเคียงได้กับการสื่อสารผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสง ทำให้การเชื่อมต่อได้รวดเร็วกว่า ส่งผ่านข้อมูลได้มากกว่า และ สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้พร้อม ๆ กันมากกว่า 10 ล้านชิ้นในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร หรือมากกว่า 5G 10 เท่า

เปรียบเทียบ ความหนาแน่นในการเชื่อมต่อของเทคโนโลยีบรอดแบนด์มือถือ ต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร 4G (100,000 ชิ้น) , 5G (1 ล้านชิ้น) และ 6G  (10 ล้านชิ้น)
3.ความหน่วง หรือ ระยะเวลาในการส่งถ่ายของ 6G จะลดลงจาก 5G โดยทำให้ความหน่วงลดลงเหลือเพียงระดับ“ไมโครวินาที”เทียบกับ 5G ที่ยังอยู่ในระดับ“มิลลิวินาที”โดย 1 ไมโครวินาที = 0.000001 วินาที (10 ยกกำลัง 6) 1 มิลลิวินาที = 0.001 วินาที (10 ยกกำลัง 3)

หรือกล่าวอย่างง่าย ๆ เครือข่าย 6G จะมีความหน่วงน้อยกว่า เครือข่าย 5G ราว 1,000 เท่า

ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นเหล่านี้ของ 6Gมีความหน่วงต่ำ (Low Latency) ส่งข้อมูลที่มีความจุขนาดใหญ่มหาศาลและซับซ้อนจำนวนมาก ทำให้ 6G เหมาะสำหรับการใช้งานแบบเรียลไทม์ เช่น การแพทย์ทางไกล / การผ่าตัดผ่านระบบการสื่อสารทางไกล (Remote Surgery) การขับขี่อัตโนมัติในรถยนต์ไฟฟ้า และระบบขนส่ง ต่าง ๆ

รวมถึงอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoT) โดย เทคโนโลยีที่ใช้บ่อยๆในชีวิตประจำวัน เช่น Smart Home เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต 6G มาใช้กับอุปกรณ์ภายในบ้าน เช่นระบบความปลอดภัยที่สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา , Smart Grid กระบวนการส่งไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบส่งไฟฟ้า ทำให้การซื้อขายไฟฟ้าเป็นไปอย่างเสรี ไฟฟ้ามีราคาถูกลง และสามารถตรวจสอบจุดที่มีปัญหาได้ , Smart Wearable อุปกรณ์สวมใส่ที่มีฟังก์ชันที่มากกว่านาฬิกาปกติ เช่น บันทึกข้อมูลสุขภาพ และส่งต่อข้อมูลได้แบบ Real-time , Smart City นำเอาเทคโนโลยีมาใช้กับสิ่งต่าง ๆ ภายในเมืองเพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย ให้ข้อมูลป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการจราจรบนท้องถนนด้วย


ยิ่งกว่านั้น 6G ยังเหมาะกับเครือข่ายธุรกิจที่ต้องรับ-ส่งข้อมูลความจุมหาศาลโดย เสาอากาศขนาดใหญ่และการปรับเข้ารหัสได้หลายมิติ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสเปกตรัมและในเชิงพื้นที่

6Gจึงถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความเป็นเลิศด้านเครือข่ายแบบครบวงจร ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง ภาคอากาศ และภาคพื้นดิน ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดาวเทียม โดรน และ แพลตฟอร์มระดับสูง ที่มีการเชื่อมต่อทั่วโลกได้ราบรื่นชนิดไร้รอยต่อ แม้ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ท้าทาย โดยเฉพาะ 6G มีความเป็นเลิศในความสามารถในการตรวจจับที่ผสานการสื่อสารและการตรวจจับต่าง ๆ

นอกจากนี้ เทคโนโลยี 6G ยังมี ความโดดเด่นที่แตกต่างจาก 5G คือ การจดจำที่ฉลาดเชิงลึก ด้วยความสามารถปรับอินเทอร์เฟซทางอากาศที่มีการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์กับผู้ใช้ มีการบูรณาการการคำนวณการสื่อสารและตรวจจับ คุณสมบัตินี้ปลดล็อกแอปพลิเคชั่นในระบบคลาวด์

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควบคู่ไปกับความเป็นอัจฉริยะของเครือข่าย 6G คือความท้าทายทางเทคนิค เช่น ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ การใช้พลังงาน และความปลอดภัย

ปัญหาด้านสังคมเรื่องละเมิดความเป็นส่วนตัว และประเด็นความขัดแย้งทางจริยธรรมที่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะความปลอดภัยทางไซเบอร์คือความท้าทายที่ทุกคนในโลกต้องเผชิญ โดยมีมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ เทคโนโลยี 6G

เพราะข้อมูลที่ถูกส่งผ่านเครือข่าย 6G จะมีการเข้ารหัสข้อมูลที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ควอนตัมถอดรหัสข้อมูลที่รับส่งเหล่านั้น ซึ่งคนที่จะทำได้ คือ ผู้ให้บริการเครือข่าย หรือ รัฐบาลในประเทศนั้นๆ ซึ่งเป็นผู้ดูแลเครือข่าย 6G


ดังนั้น 6G ไม่ใช่แค่การปฏิวัติเทคโนโลยีการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังรวมเอามิติความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไว้ด้วย และมีอิทธิพลลึกซึ้งต่อไลฟ์สไตล์หรือวิถีชีวิตประจำวันของเราด้วย ทั้งรูปแบบการทำงาน กระบวนทัศน์และค่านิยมรับ 6G เพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้น

ไม่เพียงแต่บริษัทเอกชนของจีนคือ“หัวเว่ย”เท่านั้นที่ดำเนินการเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี 6G ไปล่วงหน้าแล้ว แต่ ภาครัฐ คือ รัฐบาลกลางจีน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 หรือ 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้ก็ได้ อนุมัติให้มีการใช้คลื่นความถี่ใหม่ คือ คลื่น 6 กิกะเฮิร์ตซ์ เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนา 6G ไปแล้ว

ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศแรกในโลกที่ให้บริการคลื่น ความถี่ย่าน 6 กิกะเฮิร์ตซ์ (6,425-7,125 เมกะเฮิร์ตซ์) โดยเป็นการจัดเตรียมทรัพยากรย่านความถี่กลาง (Mid-Band) ที่เพียงพอต่อการพัฒนา 5G และ 6G

ทางการจีน ระบุว่าคลื่นความถี่ย่าน 6 กิกะเฮิร์ตซ์ เป็นทรัพยากรคุณภาพสูงชนิดเดียวที่มีปริมาณการรับส่งข้อมูล (bandwidth) ขนาดใหญ่ในย่านความถี่กลาง ทั้งมีความครอบคลุมและความได้เปรียบด้านความจุ พร้อมเสริมว่าคลื่นความถี่ดังกล่าวเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานกับระบบ 5G หรือระบบ 6G ในอนาคต

นอกจากรัฐบาลกลางแล้ว รัฐบาลท้องถิ่นของจีน ยังให้ความสำคัญกับอนาคตในการปรับตัวเข้ากับ เทคโนโลยี 6G โดยไม่นานมานี้ สำนักเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศเทศบาลนครปักกิ่งเผยแพร่“ร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยี 6G” และเทคโนโลยีล้ำยุคอื่นๆ ระหว่างดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2564-2568)


ในส่วนของภาคเอกชน ปัจจุบันมีบริษัทผู้ประกอบการสัญชาติจีนจำนวนมากที่มีส่วนร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี 6G โดยนอกจากหัวเว่ย (Huawei)แล้วก็ยังมี ZTE ,UNISOC, Vivo,DTmobile เป็นต้น

ระยะเวลา 10 ปีของการเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยี 3G ไป 4G, จาก4G ไป 5Gและที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ5G ไป 6Gนั้น รวดเร็วมา มีการคาดการณ์กันว่าด้วยการสอดประสานระหว่างภาคเอกชน และภาครัฐ รวมถึงความพร้อมในหลาย ๆ ด้านจีนจะเป็นประเทศแรกที่น่าสามารถนำเทคโนโลยี 6G มาปรับใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ก่อน ภายในอีก 6 ปีข้างหน้า หรือปี 2572 (ค.ศ.2029)

ซึ่งถือว่า ก่อนหน้าประเทศอื่น ๆ ที่กว่าจะสามารถนำ 6G มาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ อย่างเร็วก็คือในปี 2573 หรือ ค.ศ.2030 หรือล้าหลังจีนอย่างน้อย ๆ ก็ 1 ปีเต็ม ๆ

“ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ท่านผู้ชมเคยสังเกต ได้เคยลองถามตัวเองไหมว่า ตั้งแต่มีการพัฒนาเข้าสู่ยุคสมัยของเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายมาตรฐานรุ่น 5 (5G) โลกเราได้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าทางด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ สังคม วิถีชีวิต รวมทั้งการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไรบ้าง

“ถ้ามองย้อนหลังไปแล้ว ผมอยากให้ท่านผู้ชมมองไปข้างหน้าบ้าง ว่าอีกไม่กี่ปีที่จะถึงนี้ เมื่อเทคโนโลยี 6G ก้าวเข้ามา การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้จะเพิ่มความรุนแรง และอัตราความเร็วมากขึ้นขนาดไหน แล้วท่านผู้ชมลองพิจารณาถึงเทคโนโลยี 6G ซึ่งถ้าจีนพัฒนาเสร็จก่อนคนอื่นเขา ใช้ได้ก่อนคนอื่นเขาเป็นเวลา 2-3 ปี หรือ 3-4 ปีล่วงหน้า Apple จะมาใช้ 6G ที่เมืองจีนได้อย่างไร จะกลายเป็นโทรศัพท์หัวเว่ยเป็นคนที่ครองตลาดจีน ตลอดจนครองตลาด 6G ที่หัวเว่ยจะไปพัฒนาในแต่ละประเทศต่างๆ แน่นอนที่สุด ทางตะวันตกก็คงจะบอยคอตหัวเว่ยเหมือนเดิม ซึ่งในที่สุดผลลัพธ์ก็คือ จะต้องล้าหลังกว่าหัวเว่ยอีกมากมาย” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น