xs
xsm
sm
md
lg

“เอเชียนเกมส์หางโจว” จีนประกาศอิสรภาพทางเทคโนโลยี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เอเชียนเกมส์หางโจว” จีนเจ้าเหรียญทองของตายอยู่แล้ว มากไปกว่านั้นจีนใช้มหากรรมกีฬาของชาวเอเชียเป็นโชว์เคสของนวัตกรรมใหม่ อาทิ เครือข่าย 5.5G ที่เร่วกว่า 5G 10 เท่า การใช้ AR ในพิธีเปิด-ปิด การใช้ cloud เต็มรูปแบบ รวมไปถึงระบบควบคุมจราจรอัจฉริยะ, DingTalk แพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการอีเวนต์ขนาดใหญ่ เป็นต้น เทคโนโลยีเหล่านี้จีนพัฒนาขึ้นมาเอง เป็นการปลดแอกจากการกดขี่ทางเทคโนโลยีโดยมหาอำนาจตะวันตกอย่างแท้จริง




ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ที่เมืองหางโจวมณฑลเจ้อเจียงเป็นเจ้าภาพ ว่า เป็นส่วนหนึ่งของการประกาศอิสรภาพทางเทคโนโลยีของจีน

มหกรรมเอเชียนเกมส์ที่เมืองหางโจว ไม่เพียงแต่เป็นการแข่งขันกีฬาเท่านั้น ยังเป็นเวทีพิสูจน์นวัตกรรมของประเทศจีน เหมือนเป็นสปริงบอร์ด หรือกระดานกระโดดนั่นเอง ส่งให้จีนก้าวกระโดดสูงเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีที่เป็นผลผลิตของจีนเอง ที่สำคัญคือ เป็นผลผลิตของจีนเอง


สาเหตุที่จีนเลือกจัดเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่เมืองหางโจว เพราะว่าเมืองนี้ถือว่าเป็นสวนหลังบ้านของเมืองเซี่ยงไฮ้ เนื่องจากหลังๆ จีนใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ เซี่ยงไฮ้ถือว่าเป็นมหานครอันดับหนึ่งที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้า มีความเป็นสากลมากกว่าเมืองอื่นในประเทศจีน แต่ในสิบปีที่ผ่านมา หางโจวได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นเมืองเทคโนโลยี จากการปักหลักตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทนวัตกรรมมากมาย ยกตัวอย่างเฉพาะที่คนไทยรู้จัก เช่น อาลีบาบา กรุ๊ป ANT Group โทรศัพท์มือถือ Oppo จีหลี (Geely) ผู้ผลิตรถยนต์และรถไฟฟ้าชั้นนำของจีน ยังถือหุ้นใหญ่ในรถยนต์แบรนด์ระดับโลก อย่างเช่น VOLVO และ LOTUS ด้วย HikVision และ Dahua ผู้ผลิตกล้องวงจรปิดที่บริการพัฒนา AI ระบบไบโอเมตริกซ์ระดับโลก


เหตุผลที่จีนเลือกหางโจวให้เป็นเมืองเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ จีนหวังจะใช้มหกรรมขนาดใหญ่นี้เป็นสนามทดสอบและเป็นโชว์รูมสำหรับนวัตกรรมเทคโนโลยีที่จีนพัฒนาขึ้นมาเอง ท่ามกลางการปิดล้อมของชาติตะวันตก

เอเชียนเกมส์ครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์ถึงความสำเร็จทางเทคโนโลยีทางด้านดิจิทัลและนวัตกรรมของประเทศจีน ไม่เพียงแต่ทัดเทียมหรือบางอย่างล้ำหน้ากว่าชาติตะวันตก ที่สำคัญคือ เป็นหมุดหมายที่ยืนยันว่าจีนสามารถพึ่งพาตัวเองทางเทคโนโลยีได้แล้ว


ประจักษ์พยานที่เห็นได้ชัดคืองานเอเชียนเกมส์ หางโจว มีสปอนเซอร์ที่บริษัทเทคโนโลยีมากกว่ามหกรรมกีฬาใดๆ ครั้งใด สปอนเซอร์หลัก 11 ราย มี 5 รายเป็นบริษัทเทคโนโลยี ได้แก่ China Moblile, Alibaba, Alipay, China Telecom และ DAS-Security นอกจากนั้น ยังมีบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้จำนวนมาก บริษัทเทคโนโลยีสนับสนุนในด้านต่างๆ ในหางโจว เอเชียนเกมส์ มีมากกว่าเอเชียนเกมส์ที่เมืองกว่างโจว เมื่อปี 2553 หรือสิบสามปีที่แล้ว ถึงสองเท่าตัว

เทคโนโลยีทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artigicial Intelligence), Big Data, Internet of Things หรือการใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงกับทุกสิ่ง รวมทั้งโครงข่ายสื่อสารของจีนที่พัฒนาไปถึงระดับ 5.5G แล้ว ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ หลายอย่างเป็นเทคโนโลยีที่กำลังสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมา


หางโจวเป็น Showcase ในเทคโนโลยี 5.5G ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของคนในช่วงการแพร่ระบาดโควิดที่เปลี่ยนไป พอมีโควิด-19 ผู้คนไม่เพียงแต่เสพสื่อหรือดาวน์โหลดข้อมูล แต่ยังมีการประชุมออนไลน์ อัปโหลดข้อมูลจาก Smart Device ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิด วิดีโอคอล เครื่องมือสื่อสารอื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้นแล้ว เครือข่าย 5.5G จึงเพิ่มศักยภาพในการส่งข้อมูลหรืออัปโหลดให้เพิ่มอย่างมหาศาล หลังจากเอเชียนเกมส์ที่หางโจวนี้แล้ว ในปีหน้า (2567) จะเห็นเทคโนโลยีสื่อสารในรุ่น 5.5 หรือ 5.5G ในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น

ทั้งนี้ เครือข่ายการสื่อสารไร้สาย 5.5G ที่มีความเร็วมากกว่า 5G ถึงสิบเท่าตัว ได้ถูกนำมาใช้ในพิธีเปิดการแข่งขันที่มีผู้เข้าชมและเจ้าหน้าที่มากกว่า 1 แสนคน ถ่ายทอดสดด้วยความคมชัดสูง เครือข่าย 5.5G ได้ทดลองใช้เป็นครั้งแรกบนถนนที่เชื่อมระหว่างหมู่บ้านนักกีฬาและสนามแข่งขัน วัดจากความเร็วอินเทอร์เน็ตสูงสุดได้มากกว่า 10 กิกะบิตต่อวินาที

เครือข่าย 5.5G ยังใช้ในการแข่งขันกีฬา e-Sport การจัดระบบโลจิสติกส์ ศูนย์โลจิสติกส์ประจำการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ สามารถรองรับและกระจายวัสดุอุปกรณ์สำหรับการแข่งขันกีฬาครั้งนี้มากกว่า 1 หมื่นชิ้นต่อวัน


นอกจากเครือข่าย 5.5G แล้ว ไฮไลต์สำคัญที่พูดถึงมากที่สุดคือพิธีจุดคบเพลิง ทางจีนได้ใช้เทคโนโลยีเหมือนจริง หรือที่เขาเรียกว่า AR (Augmented Reality) และโดรน ทำผู้วิ่งคบเพลิงเสมือนจริง และพลุดอกไม้ไฟแบบดิจิทัลที่สวยงามและตื่นตาตื่นใจอย่างมาก การสร้างภาพเสมือนด้วยโดรน และ AR ช่วยลดการใช้ไฟฟ้า และการจุดพลุดอกไม้ไฟช่วยประหยัดพลังงาน และลดมลภาวะ

เทคโนโลยี Cloud ถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ เป็นเอเชียนเกมส์บน Cloud ครั้งแรก บริการ Cloud ได้เข้ามาแทนที่ศูนย์ข้อมูลแบบเดิมๆ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ห้องเซิร์ฟเวอร์ชั่วคราวสำหรับการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา ไม่ต้องมี Data Center ที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่และต้องบำรุงรักษา นอกจากนี้แล้ว เมื่อสิ้นสุดงาน ทรัพยากร Cloud ต่างๆ ที่ใช้จะถูกปลดออกจากระบบโดยที่แทบไม่มีขยะวัสดุหลงเหลือ ทำให้การแข่งขันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


ระบบ DingTalk แพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับบริหารจัดการมหกรรมกีฬาที่พัฒนาโดย Alibaba ถูกนำมาใช้เพื่อบริหารจัดการเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครหลายพันคน ระบบ DingTalk เป็นระบบบริหารการจัดงานกีฬาขนาดใหญ่แบบครบวงจรครั้งแรกของโลก สามารถประยุกต์ใช้กับงานอีเวนต์อื่นๆ ได้ด้วย เช่น คอนเสิร์ต งานแสดงสินค้า การประชุมขนาดใหญ่

ระบบควบคุมการจราจรอัจฉริยะที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท Hytera ถูกนำมาใช้อำนวยความสะดวกในการจราจรระหว่างสนามแข่งและสถานที่สำคัญอื่นๆ เช่น สนามบิน ทางด่วน โดยทั้งหมดเป็นระบบควบคุมแบบไร้สาย พัฒนาโดยจีนเอง

ระบบ AI ที่พัฒนาระบบโดยบริษัท SenseTime ซึ่งบริษัทนี้ถูกอเมริกาขึ้นบัญชีดำตั้งแต่ปี 2562 หรือสี่ปีที่แล้ว ใช้ระบบนำทางและแผนที่ ทำให้ผู้เข้าชมการแข่งขันเดินทางถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการด้วยมุมมองที่ให้ความรู้สึกเสมือนจริงผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน


ระบบ AI นี้ยังใช้ในรถบัสที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติในสนามแข่งขัน เป็นระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 4 (Level 4) คุณสมบัติอัตโนมัติระดับสูง หมายความว่ารถยนต์ขับเคลื่อนเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สามารถควบคุมความเร็ว การเลี้ยวในทางที่คดเคี้ยว เร่งความเร็ว และสามารถรับรู้เหตุการณ์ไม่ปกติ และป้องกันได้อย่างทันท่วงที เช่น มีคนเดินตัดหน้ารถ หรือมีรถคันอื่นวิ่งย้อนศร รวมทั้งการเข้าจอดในที่ปลอดภัยได้เองโดยที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องควบคุมรถอีกต่อไป

ทั้งนี้ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 4 (Level 4) เป็นระดับรองจากระดับสูงสุด คือ Level 5 ซึ่งเขาเรียกว่า Full Automation อัตโนมัติ 100 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงรถจะขับเคลื่อนอย่างสมบูรณ์ ไม่ต้องมีพวงมาลัยไว้ในการควบคุม

ระบบขับเคลื่อนระดับ 4 นี้ มีเพียงไม่กี่บริษัทในโลกที่ทำสำเร็จ บริษัท ไป่ตู้ (Baidu) ของจีน วอลโว่ (VOLVO) ของสวีเดน เวย์โม (Waymo) ของอัลฟาเบ็ท (Alphabet) หรือที่รู้จักในนามกูเกิล (Google) ในสหรัฐฯ เท่านั้น ขณะที่เทสล่า (Tesla) ยังใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 2 เท่านั้นเอง


ขณะเดียวกัน จอ LED ในสนามแข่ง และจอของระบบควบคุมต่างๆ ที่ผลิตโดยบริษัท ยูนิลูมิน (Unilumin) ของจีน จอภาพความคมชัดสูง ถูกใช้ในพื้นที่มากกว่า 4,200 ตารางเมตร

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ที่เปิดตัวในช่วงเอเชียนเกมส์ ที่คนไทยได้ประโยชน์ชัดเจน เพราะทุกวันนี้การซื้อสินค้าและบริการในจีนแทบจะไม่ใช้เงินสดกันแล้ว แม้แต่ร้านค้าเล็กๆ ก็จ่ายเงินผ่านสมาร์ทโฟนทั้งสิ้น แต่ว่าที่ผ่านมาแอปพลิเคชันหลักของจีน คือ วีแชตเพย์ (WeChat Pay) และ Alipay เป็นปัญหาสำหรับชาวต่างชาติอย่างมาก เพราะต้องมีการยืนยันตัวตน ต้องมีโทรศัพท์ในประเทศจีน ต้องผูกกับบัญชีธนาคารของประเทศจีน แม้ว่าหลังจากจีนเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงต้นปี WeChat Pay, Alipay ก็จะเปิดให้ผูกกับบัตรเครดิตวีซ่า (VISA), มาสเตอร์การ์ด (Master Card) ได้ แต่ว่าชาวต่างชาติหลายคนยังกังวล ไม่อยากผูกบัตรเครดิต หรือไม่คุ้นเคยกับการใช้แอปพลิเคชันจีนเท่านั้นเอง


Pain point เหล่านี้ได้หมดไปแล้วในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ เมื่อทรูมันนี่ (True Money) ร่วมกับ Alipay เปิดให้สามารถใช้แอปพลิเคชัน True Money สแกนชำระเงินสำหรับร้านค้าและบริการในจีนกว่า 10 ล้านแห่ง ได้โดยตรง นับจากนี้เป็นต้นไป นักท่องเที่ยวไทยที่ไปเมืองจีนมากกว่า 7 แสนคนในแต่ละปี จะสามารถใช้เงินบาทที่อยู่ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของ True Money ใช้จ่ายในประเทศจีนได้ทันที โดยไม่ต้องแลกเงินหยวน ไม่ต้องผูกกับบัตรเครดิต และไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชันใดๆ เพิ่มเติม

นอกจากประเทศจีนแล้ว True Money ยังได้ใช้แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ผ่านเครือข่ายของ Alipay+ ด้วย


นายอิลาริโอ คอร์นา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายไอที ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ออกมายอมรับว่า โลกได้เรียนรู้จากหางโจวว่าเป็นเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล หางโจวได้ใช้เทคโนโลยีแบบครบวงจรในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ในสนามแข่งขันและหมู่บ้านนักกีฬา แต่เมืองหางโจวทั้งเมืองเป็นสนามทดสอบเทคโนโลยีล้ำสมัยในสเกลขนาดใหญ่ บริษัทเทคโนโลยีของจีนไม่ได้มีแค่ยักษ์ใหญ่ที่เป็นที่รู้จัก อย่างเช่น หัวเว่ย, Alibaba, TenCent ที่เป็นเจ้าของ WeChat เท่านั้น ยังมีบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากที่ใช้มหกรรมเทคโนโลยีนี้เป็นสปริงบอร์ด หรือกระดานกระโดด

ไม่เพียงแค่มหกรรมเอเชียนเกมส์ ที่เป็นเวที หรือเป็น Showcase เกี่ยวกับการแสดงเทคโนโลยีล้ำหน้าของจีน ในช่วงใกล้เคียงกัน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จีน หลังจากสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับตลาดสมาร์ทโฟนโลก ด้วยการเปิดตัวหัวเว่ย เมท 60 โปรแล้ว หัวเว่ยได้จัดการเปิดตัวแบรนด์แอมบาสเดอร์ เป็นดาราชาวฮ่องกง นั่นคือ "หลิวเต๋อหัว"


พร้อมเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ในซีรีส์ เมท 60 โปร รวมทั้งสินค้าที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการของ HarmonyOS 4 เชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoT) ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ รถ EV กลายเป็น EcoSystem ที่ครบวงจร และอาจจะกล่าวได้ว่า หัวเว่ยกำลังเร่งความเร็วในการพัฒนาระบบปฏิบัติการดังกล่าวให้ไล่ตามทัดเทียมและก้าวล้ำหน้ากว่าระบบ iOS ของ Apple รวมทั้ง Android ของ Google ในเวลาอันใกล้นี้


ไม่เพียงแต่ฮาร์ดแวร์อย่างสมาร์ทโฟน ชิปประมวลผล ระบบปฏิบัติการที่หัวเว่ยทำการเปิดตัวออกมาแล้ว สร้างความฮือฮา เทคโนโลยีรุ่นใหม่ๆ ระดับ NearLink ที่มีชื่อภาษาจีนคือ ซิงเน่ย หัวเว่ยคิดค้นขึ้นมาเพื่อเป็นระบบปฏิบัติการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ เพื่อมาทดแทนระบบที่เราใช้กันและเคยชิน คือ บลูทูธ (Bluetooth) ได้ถูกนำไปบรรจุในอุปกรณ์ใหม่ๆ ของหัวเว่ยด้วย

NearLink หรือ ซิงเน่ย เชื่อมต่ออุปกรณ์และส่งข้อมูลได้เร็วกว่าบลูทูธ 6 เท่า มีระยะการเชื่อมต่อมากกว่าบลูทูธ 2 เท่า ใช้พลังงานน้อยกว่าบลูทูธ 50 เปอร์เซ็นต์ ตอบสนองเครือข่ายรวดเร็วกว่าบลูทูธ โดยใช้เวลาแค่ 1/30 และสามารถเชื่อมอุปกรณ์บลูทูธได้พร้อมกันมากกว่าบลูทูธถึง 10 เท่า


ทั้งนี้ทั้งนั้น มีประโยคหนึ่งที่ หลิวเต๋อหัว กล่าวไว้สั้นๆ บนเวทีหัวเว่ย จนกลายเป็นไวรัล ที่มีนัยสำคัญมาก หลิวเต๋อหัว พูดว่า "ปาฏิหาริย์ไม่ได้เกิดขึ้นโดยกำเนิด แต่ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นจากความกล้าที่จะสร้างปาฏิหาริย์"


“ผมเล่าให้ฟังตอนที่แล้วว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศออกมาว่า จีนจะสร้างการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ขับเคลื่อนพัฒนาด้วยนวัตกรรม พิสูจน์จากการทุ่มงบประมาณโฆษณา งบประมาณวิจัยและพัฒนา มากกว่า 3 ล้านล้านหยวน ในปีที่แล้ว (2565) เป้าหมายที่แท้จริงของจีนในการเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ครั้งนี้จึงไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าเหรียญทอง ที่เขาเป็นแน่ๆ อยู่แล้ว เพราะศักยภาพนักกีฬาของเขาในกีฬาต่างๆ ถูกพัฒนามาท้าชิงในระดับโอลิมปิกมานานแล้ว

“ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายของจีนในการเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ที่หางโจวครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเจ้าเหรียญทอง แต่เป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี ที่สำคัญที่สุด การเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีที่พัฒนาและต่อยอดขึ้นได้ด้วยตนเอง เป็นบทพิสูจน์ว่า จีนได้ประกาศอิสรภาพ ปลดแอกโซ่ตรวนทางด้านเทคโนโลยี และใช้นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเอง ก้าวขึ้นมาคว้าชัยชนะต่อการกดขี่ข่มเหงของมหาอำนาจจากโลกตะวันตกได้เรียบร้อยแล้ว” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น