xs
xsm
sm
md
lg

เกมหมากล้อมของ “หัวเว่ย” สหรัฐฯ ส่อจนแต้ม เรียบร้อยโรงเรียนจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิ” มองกลยุทธ์ “หัวเว่ย” เดินเกมหมากล้อมชาติตะวันตก หลังโดนสหรัฐฯ สกัดดาวรุ่ง อ้างความมั่นคงหาเรื่องแบนทุกวิถีทาง จึงหนีไปหาตลาดเกิดใหม่ จนทุกวันนี้สามารถครองตลาดในแอฟริกา อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง และเอเชีย เพราะสินค้าของหัวเว่ยมีเทคโนโลยีระดับสูงแต่ราคาเหมาะกับประเทศยากจน ขณะที่ชาติตะวันตกเริ่มมีปัญหาต้นทุนเทคโนโลยีสูงขี้นเพราะคว่ำบาตรหัวเว่ย จนหลายชาติพันธมิตรเริ่มดื้อแพ่งอเมริกา ยกเลิกการแบน



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงถึงยุทธศาสตร์ของหัวเว่ย ในภูมิรัฐศาสตร์ทางด้านไซเบอร์ ซึ่งหัวเว่ยกำลังเดินเกมหมากล้อมที่จะล้อมประเทศทางตะวันตก ด้วยความสามารถของตัวเองในเรื่องระบบ 5G

ตอนนี้เป็นที่กล่าวขานทั่วโลกแล้วว่าอเมริกานั้นพ่ายแพ้หัวเว่ย ซึ่งเป็นผู้นำอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี 5G ของจีน หนึ่งในสมรภูมิคือสงครามชิป ซึ่งหัวเว่ยได้ทำไปเรียบร้อยแล้ว


หลังมาตรการการคว่ำบาตรของอเมริกา ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย และบริษัทจีนกว่า 70 แห่ง อ้างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา ด้วยความตั้งใจจะตัดขาดหัวเว่ยจากห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ ห้ามขายทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่มีส่วนผสมของเทคโนโลยีสหรัฐฯ เกี่ยวข้องกับหัวเว่ย เช่น ห้ามบริษัทส่งออกใช้ชิป 5G ของ Qualcomm สมาร์ทโฟนหัวเว่ยไม่สามารถใช้ระบบ Android ของ Google ห้ามใช้เครือข่าย Verizon และ AT&T ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่อันดับ 1-2 ของอเมริกา

นอกจากนี้แล้ว อเมริกายังกดดันพันธมิตรในยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และ ไต้หวัน ให้เดินตามคำสั่งของวอชิงตัน แบนระบบเครือข่าย 5G หัวเว่ย

แผนหมากล้อมของหัวเว่ยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คือเขาหนีไปเลย คือเขาไปเน้นเป้าหมายตลาดเกิดใหม่ ทั้งในภูมิภาคอาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และตะวันออกกลางแทน ผลที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้สหรัฐฯ กับพันธมิตรยุโรปยิ่งบีบคั้นหัวเว่ย ยิ่งบีบมากเท่าไร ยิ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตะวันตก เหมือนทำปืนลั่นใส่ขาตัวเอง เพราะว่าต้นทุนธุรกิจโดยที่ไม่มีเครือข่าย 5G นั้นสูงขึ้น และสูญเสียโอกาสในด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี


ยกตัวอย่างเช่น เยอรมนี ที่โครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีของหัวเว่ยมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ บริษัทโทรคมนาคม อย่างเช่น Deutsche Telekom พึ่งพาหัวเว่ยสำหรับการเข้าถึงเครือข่าย 5G มากกว่าเครือข่าย 4G คือพูดง่ายๆ ว่าถ้าตัดหัวเว่ยออก Deutsche Telekom จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนมหาศาลในการรื้อถอนอุปกรณ์หัวเว่ย และ ZTE ออกไป ตามนโยบายความมั่นคงของรัฐบาล เพราะเยอรมนีได้ผ่านร่างกฎหมายความปลอดภัยด้านไอทีปี 2564 ส่งผลให้ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมต้องเผชิญกับต้นทุนการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ เครื่องมือ และอุปสรรคสูงมาก

เรื่องทั้งหมดนี้ จากการกีดกันหัวเว่ยดังกล่าวอาจจะทำให้ระยะยาว ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกา ยุโรป อาจจะจบลงในระยะยาวในการพัฒนาเทคโนโลยี และจะทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีของอเมริกาและยุโรปล้าหลังกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ รวมทั้งบริการเครือข่าย 5G อย่างรวดเร็ว

อย่างเช่น ไนจีเรีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชีย ที่มีหัวเว่ยสร้างโครงการสมาร์ทซิตี (Smart City) เมืองปลอดภัย ช่วยปรับปรุงระบบจราจร ลดปัญหาจราจรติดขัดบนท้องถนน รวมทั้งซอฟต์แวร์ระบบการบังคับใช้กฎหมายจราจรกับคนที่ละเมิด หากเลือกใช้โครงการ Smart City ของหัวเว่ย และธนาคารของจีน พร้อมที่จะให้เงินกู้ระยะยาวถึง 20 ปี


ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น หัวเว่ยได้นำเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมเข้าไปใน Solution เชื่อมต่อกัน เข้าถึงชีวิตประชาชนทั่วโลก หัวเว่ยได้พัฒนานวัตกรรมอะไรบ้าง ? ยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆ เครือข่ายบริการ Solution 5G การเก็บข้อมูลแบบออนไลน์ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Cloud Computing ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) ระบบประมวลผล และ Internet of Things ที่เขาเรียกว่า IoT รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ก่อเกิดเป็นบริการใหม่ที่สร้างมูลค่าได้เป็นอย่างมาก ก้าวกระโดดไปสู่การผลิตชิปเองของหัวเว่ย มีระบบปฏิบัติการ Harmony OS หรือภาษาจีนเรียกว่า หงเมิ่ง หรือซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่หัวเว่ยพัฒนาขึ้นมาเอง สมาร์ทโฟนหัวเว่ย เมท 60 โปร ที่มีชิป Kirin 9000S ระดับ 7 นาโนมิเตอร์ และสามารถรองรับ 5G เป็นตัวชี้ขาดที่บุกทะลวงฝ่าการปิดล้อมคว่ำบาตรของอเมริกาในสงครามเทคโนโลยีได้สำเร็จ


เมื่อเร็วๆ นี้ นายนิโกลัส มาดูโร ประธานาธิบดีของเวเนซุเอลา เดินทางไปเยือนจีน 14 กันยายน ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้มอบของขวัญสมาร์ทโฟน หัวเว่ย เมท X3 รุ่นพับได้ พอกลับประเทศปั๊บ มาดูโร ร่วมรายการ Con Maduro ที่จัดโดยสถานีโทรทัศน์เวเนซุเอลา นายมาดูโร กล่าวว่า ผมมีหัวเว่ยเครื่องหนึ่ง ใช้ดีมาก อเมริกาไม่สามารถดักฟังผมได้เลย ทำให้หัวเว่ยถูกมองว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่ปลอดภัยที่สุดในขณะนี้

ปัจจุบันนี้หัวเว่ยมีธุรกิจอยู่ 6 ธุรกิจหลัก
1.โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ
2.การสื่อสารโทรคมนาคม
3.เครื่องมือ/อุปกรณ์ปลายทาง ที่เขาเรียกว่า Terminal
4.ธุรกิจพลังงานสะอาด แบตเตอรี Digital Power
5.Cloud Solution ด้านรถยนต์อัจฉริยะ ก็หมายความว่าอีกหน่อยรถยนต์อัจฉริยะในโลกนี้ เกือบจะทั้งหมดต้องใช้ซอฟต์แวร์ของ Harmony ที่้เหนือกว่า Android
6.ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอยู่ในลักษณะที่ไม่ได้มีการจัดตั้งโรงงานเอง แต่เขาร่วมมือกับ SMIC ใช้ชื่อแบรนด์ว่า ไฮซิลิคอน (HiSilicon)


ล่าสุด หัวเว่ยได้ร่วมลงนามเข้าร่วมเป็นพันธมิตรดิจิทัล หรือ P2C ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งเป็นองค์กรชำนาญพิเศษของสหประชาชาติที่รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีข่าวสาร สารสนเทศ เทคโนโลยีสื่อสาร โทรคมนาคม ของประชาคมต่างๆ ทั่วโลกที่ด้อยโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เชื่อมต่อเครือข่ายบรอดแบนด์ในพื้นที่ต่างๆ ตั้งเป้าไว้ว่า 120 ล้านคน ในพื้นที่ห่างไกลกว่า 80 ประเทศ ในปี 2568


และปัจจุบันนี้ หัวเว่ยกำลังรุกตลาดประเทศกำลังพัฒนาด้วยเทคโนโลยีของหัวเว่ยเอง ประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ อย่างเช่น อินโดนีเซีย บราซิล ไนจีเรีย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียกลาง แอฟริกา หมู่เกาะแปซิฟิก

ทั้งหมดนี้ หัวเว่ยได้กลายเป็น 1) ผู้ให้บริการด้านเซิร์ฟเวอร์ และ Data Center ของรัฐบาลเอธิโอเปีย 2) ระบบกล้องวงจรปิดในปากีสถาน 3) ศูนย์ข้อมูลในปาปัวนิวกินี 4) การตั้งสถานีฐานบริการเครือข่าย 5G ในอาร์กติกเซอร์เคิล ทะเลทรายซาฮารา ป่าฝน หรือที่เขาเรียกว่า Rain Forest ในอเมริกาใต้ แม้กระทั่งบนเทือกเขาเอเวอร์เรสต์


ตัวอย่างที่หัวเว่ยรุกเข้าไปในประเทศต่างๆ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ตุลาคม 2564 สองปีที่แล้ว บริษัท หัวเว่ย ดิจิทัล พาวเวอร์ กิจการหนึ่งของหัวเว่ย เทคโนโลยี แถลงว่า บริษัทชนะการประกวดราคาโครงการจัดทำระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อสนองให้แก่โครงการทะเลแดง ซึ่งเป็นโปรเจกต์อสังหาริมทรัพย์ขนาดมโหฬารที่อยู่ในซาอุดีอาระเบีย บริษัทบอกว่าจะบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศดิจิทัลของตนเข้ากับพวกเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังแสง และเทคโนโลยีเก็บกักพลังงานในโครงการนี้

อินโดนีเซีย ขณะที่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอินโดนีเซีย ได้จัดทำโครงสร้างพื้นฐานอย่างมั่นคงขึ้นมา และดังนั้นจึงเป็นจังหวะดีสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อบูรณาการเทคโนโลยี 5G ในด้านปัญญาประดิษฐ์ให้กลายเป็นธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในการเกษตร เรื่องการศึกษาผ่านออนไลน์ บริการทางการแพทย์ออนไลน์ เรื่องรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government)

นี่คือตัวอย่างของโอกาสดีๆ ทางธุรกิจสำหรับหัวเว่ยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หัวเว่ยใช้เวลาหลายปีในการบุกตลาดต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2546 รัฐบาลอัฟกานิสถานที่อเมริกาตั้งขึ้นมา ได้ทำสัญญากับหัวเว่ย และบริษัท ZTE ของจีน ให้เป็นฝ่ายจัดหาอุปกรณ์เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เวลาต่อมา ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ให้เงินกู้แก่ Roshan บริษัทโทรศัพท์มือถือในอัฟกานิสถาน เพื่อซื้ออุปกรณ์หัวเว่ย


ความสามารถของหัวเว่ยในการเสนอโครงการแบบแพกเกจ ซึ่งประกอบด้วยการบริการดิจิทัล การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เงินสนับสนุนของธนาคารจีน ทำให้หัวเว่ยสามารถชนะการประมูลงานในรัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกมาแล้ว

กลยุทธ์การบุกตลาดของหัวเว่ยที่ถูกอเมริกาและชาติตะวันตกมองข้ามนั้น เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2530 หรือสามสิบหกปีที่แล้ว เมื่อเจ้าของหัวเว่ย ประธานเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย บอกพนักงานของเขาว่า ให้ออกไปที่ชนบท ที่ห่างไกล เพราะความสำเร็จมากมายกำลังรออยู่ที่นั่น ทุกวันนี้หัวเว่ยใช้กลยุทธ์แบบเดียวกันนี้กับโลกทศวรรษที่ 21 บริษัทเทคโนโลยีของอเมริกาและยุโรปที่เน้นตลาดเกิดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง แต่หัวเว่ยเน้นตลาดชนบท กับประเทศยากจน เช่น แอฟริกา และลาตินอเมริกา

ทวีปแอฟริกา นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 หรืออีกสองปีข้างหน้า ทวีปแอฟริกาจะเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีเงินหมุนเวียนถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จึงไม่น่าประหลาดใจว่าแอฟริกากลายเป็นจุดสนใจของนานาประเทศ


ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เคยกล่าวว่า ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานคืออุปสรรคในการพัฒนาภูมิภาคแอฟริกา ทำให้จีนได้เข้าไปพัฒนาในแอฟริกาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการประกาศเริ่มโครงการ Belt and Road Initiative หรือ "1 แถบ 1 เส้นทาง" ในปี 2556 เสียอีก เพราะนับตั้งแต่ปี 2492 ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ขึ้นครองอำนาจ ทางการจีนเริ่มให้ความสนใจในภูมิภาคแอฟริกามากกว่าส่วนอื่นในโลก จึงเริ่มเข้ามาก่อสร้างทางรถไฟ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยต่างๆ ในพื้นที่

หัวเว่ยได้ร่วมมือกับบริษัท Rain ผู้ให้บริการเครือข่าย Data ในประเทศแอฟริกาใต้ ใช้เครือข่ายพาณิชย์ 5G รายแรกในแอฟริกาใต้ ทำให้แอฟริกาใต้กลายเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของโลกที่ใช้งาน 5G ทำให้บริษัท Rain สามารถผลักดันเครือข่าย 5G อย่างรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำ ในการให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายด้วยความเร็วสูง สำหรับประชาชน และพัฒนาระบบโทรคมนาคมของแอฟริกาใต้

ขณะเดียวกับที่อิทธิพลของจีนในลาตินอเมริกา และคิวบา เติบโตอย่างรวดเร้ว จีนได้เพิ่มการลงทุนการค้าในประเทศลาตินอเมริกา จาก 12,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2543 มาถึงปัจจุบันนี้ ยี่สิบปีผ่านมา เพิ่มขึ้นกว่าเดิม 40 เท่า เป็น 450,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2564 โดยเฉพาะในประเทศที่ถูกอเมริกาคว่ำบาตร เช่น เวเนซุเอลา และคิวบา ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่ต้องประสบกับความยากลำบากและความวุ่นวายทางการเมืองจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และการแทรกแซงทางการเมืองของอเมริกา


บริษัท หัวเว่ย ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้วางรากฐานธุรกิจในบราซิลอย่างมั่นคง ตั้งแต่ยี่สิบกว่าปีที่แล้ว และบริษัท หัวเว่ย ได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบ 5G กับผู้ใช้บริการหลักของบราซิล 4 ราย ยังได้ช่วยบริษัทดังกล่าวปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย

นอกจากนี้แล้ว สิงหาคม ปี 2563 บริษัท หัวเว่ย ได้ลงทุนมูลค่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่รัฐเซาเปาลูของบราซิลในปี 2565 เพื่อเตรียมขยายตลาดโทรคมนาคมในภูมิภาคลาตินอเมริกา แม้ว่าสหรัฐฯ จะคัดค้านก็ตาม

ปลายปีที่แล้ว (2565) บริษัท อีริคสัน (Ericsson) ได้ทำรายงานเสนอเรื่อง Future Value of Mobile in Emerging Markets ก็คือเป็นการศึกษาการใช้งาน 5G ใน 15 ประเทศที่เป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ ในทวีปเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา การศึกษาทำใน 15 ประเทศ มีอะไรบ้าง ? บังกลาเทศ บราซิล ชิลี โคลัมเบีย อียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เม็กซิโก โมร็อกโก ไนจีเรีย ปากีสถาน แอฟริกาใต้ ตุรกี และ ประเทศไทย

โดยศึกษาในผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการติดตั้งใช้งาน 5G เพื่อยกระดับการใช้งานอุปกรณ์เคลื่อนที่ ทั้งในกลุ่มผู้บริโภค อุตสาหกรรม โลจิสติกส์ พื้นที่ห่างไกล และกลุ่มคลัสเตอร์งานบริการสาธารณะ


ผลการศึกษาของบริษัท อีริคสัน พบว่าเทคโนโลยีสื่อสาร 5G ส่งผลสูงมากต่อศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ นับจากปี 2560 เป็นต้นมา รายได้จากโลกดิจิทัลในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นสองเท่า เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนกับในประเทศเจริญแล้ว โดยประเทศที่มีรายได้สูงจากโลกดิจิทัลจำนวน 30 ประเทศ มากกว่าครึ่งหนึ่งในโลกนี้ มาจากประเทศที่กำลังพัฒนา 16 ประเทศนี้

ด้วยเหตุนี้ความสำเร็จของหัวเว่ยคือการใช้กลยุทธ์พึ่งพาตลาดเกิดใหม่ที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นตลาดที่มีคนมีรายได้ต่ำ ตลาดแบบนี้ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง ทำให้บริษัทเทคโนโลยีในประเทศตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นอีริคสัน หรือ โนเกีย (Nokia) ไม่อยากเข้าไปลงทุน

ประเทศตะวันตกจะแข่งขันกับจีนได้ ต้องใช้เทคโนโลยีที่ประเทศยากจนสามารถลงทุนได้ ซึ่งบริษัทที่เทคโนโลยีสูงแต่ราคาเหมาะกับประเทศที่ยากจนนั้น ก็คือหัวเว่ยนั่นเอง

การแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างตะวันตกกับจีนจะเป็นผลดีอย่างมากแก่ประเทศกำลังพัฒนา เพราะโลกมีความต้องการมากมายในด้านเทคโนโลยีมากเกินกว่าจากการตอบสนองของประเทศๆ เดียว หรือจากบริษัทๆ เดียว แต่ทุกวันนี้อเมริกายังมีความหลงตัวเองว่าเป็นมหาอำนาจผูกขาด แต่กลัวจีน และกลัวหัวเว่ยมากที่สุด กังวลว่าการแจ้งเกิดอุตสาหกรรมผลิตเซมิคอนดักเตอร์แบบพึ่งตนเองของจีน อเมริกาถึงกับวางแผนจับกุมผู้บริหารระดับสูงของหัวเว่ย เหมือนอย่างที่เคยใช้แคนาดาจับกุมนางเมิ่ง หว่านโจว CFO หัวเว่ย และบุตรสาวของนายเหริน เจิ้งเฟย มาแล้ว


นอกจากนี้ ยุโรปก็เริ่มแล้วที่จะดื้อแพ่งต่ออเมริกา หลายประเทศกำลังพิจารณายกเลิกการแบนหัวเว่ย ประเทศในยุโรปบางประเทศเพิ่งยกเลิกการแบนอุปกรณ์หัวเว่ย การตัดสินใจยกเลิกการห้าม มาจากปัจจัยเศรษฐกิจที่เดือดร้อน ต้นทุนที่สูงขึ้นในการผลิตหากไม่ใช้อุปกรณ์หัวเว่ย และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับจีน

สรุป ถ้าอเมริกาและชาติตะวันตก โดยเฉพาะประเทศยุโรป หรือแม้แต่ญี่ปุ่น ต้องการจะแข่งขันจริงจังกับจีนทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเทคโนโลยี และทางยุทธศาสตร์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ อเมริกาและยุโรปต้องใช้เทคโนโลยีที่เหล่าประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา สามารถลงทุนได้ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเทคโนโลยีที่แตกต่างจากจีน และไล่ตามหลังหัวเว่ยที่บุกเบิกวางหมากล้อมทางเทคโนโลยีดักทางอเมริกา และชาติตะวันตก เรียบร้อยโรงเรียนจีน โรงเรียนหัวเว่ย ณ เวลานี้


กำลังโหลดความคิดเห็น