xs
xsm
sm
md
lg

ปม “ปาเลสไตน์” ล้างแค้น “ยิว” สงครามครูเสดแห่งศตวรรษที่ 21

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ย้อนปมขัดแย้งก่อนนักรบฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลตอนเช้ามืดวันที่ 7 ต.ค. ความหมาดหมางสะสมมาเกือบ 100 ปี เมื่ออิสราเอลเข้ายึดครองพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์โดยมีมหาอำนาจตะวันตกหนุนหลัง และยังใช้กำลังรุกคืบยึดพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนฝ่ายปาเลสไตน์ต้องใช้ความรุนแรงตอบโต้ และกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาสื่อตะวันตก ขณะที่อิสราเอลใช้กำลังโจมตีฝ่ายปาเลสไตน์มาตลอด กลับไม่ค่อยมีการพูดถึง



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของความขัดแย้งระหว่างชาวปาเลสไตน์และอิสราเอล ที่ปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อกลุ่มฮามาสออกมาจากพื้นที่ฉนวนกาซ่าบุกโจมตีอิสราเอลแบบสายฟ้าแลบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา ว่า เป็นเรื่องราวที่มีความเป็นมายาวนาน ย้อนหลังไปอย่างน้อยเมื่อประมาณ 70-80 ปีก่อน เมื่อดินแดนปาเลสไตน์เริ่มถูกอิสราเอลยึดครอง และค่อย ๆ คืบคลานยึดพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


เดิมทีพื้นที่ของปาเลสไตน์มีเนื้อที่ทั้งหมด 27,555 ตารางกิโลเมตร แต่ปัจจุบันถูกแบ่งแยกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

1.ประเทศอิสราเอล มีขนาดใหญ่ที่สุด มีขนาดประมาณ 21,600 ตารางกิโลเมตร

2.เขตเวสต์แบงก์ (West Bank) ตั้งอยู่ทางตะวันออก ควบคุมโดย ปาเลสไตน์ มีขนาด 5,500 กว่าตารางกิโลเมตร (แต่ก็ถูกเจาะพรุนโดยผู้อพยพชาวยิว)

3.ฉนวนกาซ่า (Gaza Strip) ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ ถูกควบคุมโดยกลุ่มนักรบปาเลสไตน์ที่เรียกว่ากลุ่มฮามาส มีขนาด 378 ตารางกิโลเมตร


จะเห็นได้ชัดว่าจากหลักฐานใน ปี 2460 (ค.ศ.1917) หรือเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ชาวปาเลสไตน์มีพื้นที่ดินแดนที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ทั้งหมดเกือบ 27,000 ตารางกิโลเมตร (พื้นที่สีเขียวในแผนที่)

อีก 30 ปีถัดมา ปี 2491 (ค.ศ.1948) หรือ 75 ปีมาแล้ว กองกำลังไซออนิสต์ของพวกยิวหรืออิสราเอล ก็ขับไล่ชาวปาเลสไตน์ 750,000 คน ออกจากพื้นที่และพยายามยึดครองดินแดนเกือบ 4 ใน 5 ที่เป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของชาวปาเลสไตน์

ปี 2510 (ค.ศ.1967) เกิดสงคราม 6 วัน (Six-Day War) ระหว่างวันที่ 5 - 10 มิถุนายน 2510 เป็นสงครามสู้รบกันระหว่างอิสราเอล กับ จอร์แดน ซีเรีย และ อียิปต์ โดยอิสราเอลประสบชัยชนะอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถยึดฉนวนกาซาและคาบสมุทรไซนายจากอียิปต์ ยึดเวสต์แบงก์ รวมเยรูซาเล็มตะวันออก จากจอร์แดน และที่ราบสูงโกลัน จากซีเรีย โดยอิสราเอลสามารถควบคุมพื้นที่ทั้งหมด ใช้กำลังขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกไปอีกหลายแสนคน


“ฉนวนกาซ่า” ซึ่งตกเป็นข่าวใหญ่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นหลังสงคราม 6 วันก็ถูก “อิสราเอล” ยึดครองแบบเบ็ดเสร็จตั้งแต่ปี 2510 จนถึง 2536 โดยอิสราเอลเพิ่งเริ่มถอนกองกำลังออกจากฉนวนกาซ่าในปี 2538 ภายหลังจากข้อตกลงออสโล (Oslo Accord) และถอนกำลังออกครบในอีก 10 ปีต่อมาคือในปี 2548

แต่ก็ยังเกิดการสู้รบกันอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการก่อกำเนิดขึ้นของ กลุ่มฮามาส (Hamas) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 2530 เพื่อต่อต้านแผนสันติภาพระหว่างอิสราเอล กับ องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) โดยตั้งเป้าหมายว่าเพื่อขับไล่อิสราเอลออกจากแผ่นดินดั้งเดิมของปาเลสไตน์และจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้นมา

ย้อนไปวันที่ 29 พฤศจิกายน 2490 สหประชาชาติมีแผนแบ่งปาเลสไตน์เป็น 3 ส่วน ได้แก่ รัฐอาหรับ รัฐยิวหรือประเทศอิสราเอล และเขตปกครองพิเศษในเยรูซาเล็ม และเบธเลเฮม โดยฝั่งยิวยอมรับแผนดังกล่าว และประกาศก่อตั้งประเทศขึ้นในปี 2491 (ค.ศ.1948)

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่อิสราเอลยึดครองกาซา และเวสต์แบงก์อยู่นั้น ทางรัฐบาลอิสราเอลก็สนับสนุนให้ประชาชนเข้ายึดครองพื้นที่ ที่ดินของประชาชนชาวปาเลสไตน์ เพิ่มขึ้นมากเรื่อย ๆ


อิสราเอลส่งกองกำลังเข้ายึดครองพื้นที่ในฉนวนกาซา และเวสต์แบงก์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อขับไล่ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่เดิม ปูทางให้ชาวยิวเข้าไปก่อตั้งชุมชนของตนเอง โดยมีการสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นถนน ไฟฟ้า ประปา บ้านจัดสรรราคาถูก (จากเงินสนับสนุนของรัฐบาลอิสราเอล จูงใจให้ชาวยิวเข้าไปในพื้นที่ที่ตนยึดเอาไว้) รวมไปถึงกำแพงสูงพร้อมหอคอยสังเกตการณ์ยาวหลายร้อยกิโลเมตร เพื่อป้องกันการก่อการร้าย และระเบิดฆ่าตัวตายของชาวปาเลสไตน์

7 ตุลาคม 2566 Pearl Habor และ 9/11 ของ อิสราเอล

ตัดมาถึงเหตุการณ์และปรากฏการณ์ในปัจจุบัน การบุกจู่โจมของ “กลุ่มฮามาส” เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมานั้นถือว่าเป็น “หายนะครั้งใหญ่”


โฆษกกองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) ระบุว่า เป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดที่เกิดอิสราเอลนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมาเมื่อปี 2491 หรือ 75 ปีก่อน เปรียบเทียบได้กับ กรณี Pearl Habor ที่ญี่ปุ่นบุกจู่โจมสหรัฐฯ ในปี 2484 หรือ เหตุการณ์ 9/11 ที่เกิดขึ้นจากการจู่โจมเมืองใหญ่หลายจุด ของสหรัฐฯ โดยกลุ่มอัลกออิดะห์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544

คำถามที่สำคัญคือ การบุกจู่โจมแบบฉับพลันครั้งล่าสุดของ “กลุ่มฮามาส” จนก่อให้เกิดหายนะครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสราเอลนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เนื่องจาก หลายสิบปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ สงคราม 6 วันในปี 2510 เป็นต้นมา “อิสราเอล” นั้นได้รับการยอมรับไปทั่วโลกว่า เป็นกองกำลังที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก เนื่องจาก ได้รับการหนุนหลังจากมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ทำให้อาวุธยุทโธปกรณ์ของอิสราเอลนั้นถือว่า ล้ำสมัยและไฮเทคที่สุดในโลก มีฝูงบินขับไล่ที่ล้ำสมัย มีประจำการทั้งเครื่องบิน F-15 จำนวนร้อยกว่าลำ เครื่องบิน F-16 จำนวน 175 ลำ เครื่องบิน F-35 จำนวน 39 ลำ

อิสราเอล ทุ่มงบประมาณให้กับการป้องกันประเทศมากถึงปีละเกือบ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งถือว่าสูงมาก เปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ที่ 3.5%, จีน 1.6% ทั้งยังสูงกว่ามาตรฐานของชาติสมาชิก NATO ที่กำหนดไว้ที่ 2% อย่างชัดเจน

กองทัพป้องกันอิสราเอล (IDF) มีกำลังพลประจำการประมาณ 170,000 คน และมีกำลังสำรองประมาณ 460,000 คน


ด้านข่าวกรองของอิสราเอลก็ ถือว่าล้ำสมัย ด้วยความร่วมมือของ หน่วยข่าวกรองแห่งชาติอิสราเอล (The Israel Security Agency หรือ Shin Bet), Mossad (หน่วยข่าวกรองระหว่างประเทศ) และ กองกำลังป้องกันอิสราเอล (Israel Defense Forces)

อุตสาหกรรมทางการป้องกันประเทศ และผลิตอาวุธที่เฟื่องฟูทำให้ อิสราเอลเป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ของโลก โดยปีที่แล้ว ปี 2565 อิสราเอลส่งออกส่งออกอาวุธไปประเทศต่างๆ ทั่วโลก คิดเป็นมูลค่ากว่า 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 455,000 ล้านบาท)

ด้วยเหตุนี้ทำให้ในปีที่แล้ว 2565 US News & World Report จึงจัดให้ อิสราเอล มีกองกำลังทางความมั่นคงที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกเป็นลำดับ 4 เป็นรองเพียงชาติมหาอำนาจคือ รัสเซีย, สหรัฐฯ และ จีน เท่านั้น

แม้สำนักข่าวต่างประเทศอย่าง บีบีซี ยังยอมรับว่า อิสราเอลถือเป็นประเทศที่มีหน่วยข่าวกรองที่ครอบคลุมและได้รับทุนสนับสนุนมากที่สุดในตะวันออกกลาง มีสายข่าวและสายลับฝังตัวอยู่ในปาเลสไตน์ เลบานอน ซีเรีย และอีกหลายพื้นที่

บนภาคพื้นดินนั้น พรมแดนอันตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับฉนวนกาซา ที่กลุ่มฮามาสปกครอง อิสราเอลติดตั้งกล้องเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว และมีทหารหมั่นลาดตระเวนอย่างแน่นหนา รั้วสูงที่เต็มไปด้วยลวดหนาม ถูกออกแบบเพื่อเป็น “แนวกั้นอัจฉริยะ” เพื่อป้องกันการแทรกซึม-ล่วงล้ำ


เป็นที่ยอมรับกันว่า การวางแผนจู่โจมแบบฉับพลันเมื่อวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 ของ “กลุ่มฮามาส” นั้นมีการวางแผนอย่างละเอียดละออ มีความซับซ้อนอย่างมาก และที่สำคัญคือ สามารถเก็บความลับได้อย่างมิดชิด จนหน่วยข่าวกรองของอิสราเอลมิอาจระแคะระคายเลยแม้แต่น้อย โดยการจู่โจมนั้นทำจากหลากหลายยุทธวิธี เช่น การจู่โจมทางบก ระเบิดฆ่าตัวตาย การใช้รถแทรกเตอร์พุ่งเข้าทำลายรั้ว-กำแพง การจู่โจมด้วยพารามอเตอร์ทางอากาศ การจู่โจมทางน้ำ ทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน


และที่สำคัญ การรุมถล่มจู่โจมอิสราเอล ด้วยจรวด-ขีปนาวุธที่ว่ากันว่า ยิงต่อเนื่องมากกว่า 5,000 ลูก เพื่อที่จะเอาชนะระบบป้องกันภัยทางอากาศเคลื่อนที่ ที่ชื่อ โดมเหล็ก (Iron Dome) หรืออีกชื่อคือ หมวกเหล็ก (Iron Cap) ให้ได้

มีการประเมินว่าในปฏิบัติการจู่โจมครั้งล่าสุด กลุ่มฮามาสใช้นักรบเข้าร่วมปฏิบัติการประมาณ 2,000 คน จากจำนวนนักรบ 40,000 คนที่ฝังตัวอยู่ในพื้นที่ฉนวนกาซ่า
รายละเอียดปฏิบัติการ


ทั้งนี้ วันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 กลุ่มฮามาส เปิดฉากครั้งใหญ่เบี่ยงเบนความสนใจกองทัพอิสราเอล ด้วยการระดมยิงจรวดจริง และจรวดปลอมอย่างหนักเป็นจำนวนมากราว 3,500 - 5,000 ลูก จากเครื่อองยิงหลายเครื่อง ตลอดแนวชายแดนอิสราเอล ไปยังภาคใต้ และภาคกลาง ทำให้เกินกำลังของระบบป้องกันภัยทางอากาศไอรอนโดม ที่จะจำแนกจรวดจริง และปลอมได้ ส่งผลให้ฝนเหล็กห่าใหญ่รอดหลุดพ้นไปตกในพื้นที่กรุงเทลอาวีฟ เมืองเทคโนโลยี และอีกหลายเมืองโดยรอบ

จรวดพุ่งไปตกใส่อาคารตึกสูง ถนน รถยนต์ โรงงาน ตึกใดที่โดนจังๆ ถึงกับถล่มลงมา สร้างความตกตะลึงสับสนอลหม่านให้ฝ่ายอิสราเอล โดยในช่วงชุลมุนนั้นนักรบส่วนหนึ่งได้ใช้รถเครื่องจักร รื้อทำลายรั้วกันชายแดนออก เกิดเป็นช่องโหว่พรุนไปตลอดแนวพรมแดน หน่วยรบพิเศษฮามาสชั้นยอดที่ฝึกฝนมาอย่างดี ได้ใช้ขบวนรถมอเตอร์ไซต์ และเครื่องพารามอเตอร์ บินข้ามชายแดนเหมือนกองทัพมด


กองกำลังแต่ละชุดมีไม่มากชุดละราวไม่เกิน 10 คน แต่ซอยออกบุกจู่โจมจากหลายจุดช่องโหว่ จึงสามารถข้ามพรมแดนได้หลายแห่งในคราวเดียวกัน บางชุดโจมตีเบี่ยงเบนความสนใจจากทางชายทะเลอีกด้วย

ส่วนนักรบที่ใช้เครื่องพารามอเตอร์ ก็บินร่อนทางอากาศไปลงจอดหลายจุดในดินแดนอิสราเอล แต่การโจมตีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเกิดขึ้นที่ด่านฐานทัพจุดตรวจของอิสราเอล 2 แห่งบริเวณชายแดนติดกับฉนวนกาซา คือ ฐานทัพเอเรตซ์ และ เคเรม ชาลอม (วงกลมแดงในแผนที่) โดยที่นี่สร้างความประหลาดใจให้กองทัพอิสราเอลอย่างมาก เพราะนักรบฮามาส ไม่ได้ใช้ยานพาหนะรถเกราะใดๆ แต่ใช้วิธีหน่วยกล้าตายล้วนๆ คือ วิ่งกรูกันเข้าโจมตีดื้อๆ เลย


ซึ่งนักรบฮามาสพวกนี้ก็สามารถจู่โจมบุกยึดฐานทัพได้ในพริบตา โดยยึดรถถัง รถหุ้มเกราะได้เป็นจำนวนมาก บางส่วนถูกทำลาย บางส่วนก็นำไปใช้งานเป็นยานพาหนะบุกพื้นที่อื่น ๆ ในเมืองตลอดแนวชายแดน

ทหารอิสราเอลส่วนใหญ่ไม่มีเวลาตั้งหลักด้วยซ้ำ จึงแทบไม่มีการต่อต้านเกิดสูญเสียมาก และถูกจับเป็นเชลย หลังจากฝ่าแนวกั้นแรกของฐานทัพหลักแล้ว พวกนักรบฮามาสก็บุกต่อลึกเข้าไปในดินแดนอิสราเอล แล้วกระจายแยกย้ายกันไปเป็นกลุ่มเล็กๆ 5 - 10 คน ด้วยรถมอเตอร์ไซค์ รถตู้ รถกระบะ มุ่งไปทั่วดินแดนอิสราเอล ผ่านไปแค่ 30 นาทีเท่านั้น พวกเขาบุกลึกเข้าไปยึดได้หลายเมือง เช่น เบียร์ชีบา โอฟาคิม คฟาร์ ดารอม สเดโรต์ และ เนติวอต

หนึ่งในเป้าหมายแรกของการโจมตีคือเมืองสเดโรต์ พวกเขาโจมตีสถานีตำรวจ ดังนั้นการที่ประชาชนร้องขอความช่วยเหลือจากตำรวจจึงไม่ได้รับคำตอบ ใดๆ และไม่มีการต่อต้านใดในเมืองนี้

นอกจากนี้ในคืน วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม ถึงวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 นั้นมี เทศกาลดนตรี The Supernova Sukkot ซึ่งจัดขึ้นในเขตคิบบุทซ์ เรอิม บริเวณชายแดนฉนวนกาซา โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 2,000 คน ทำให้กองทัพอิสราเอล ห่วงหน้าพะวงหลัง จึงเกิดความสูญเสียอย่างหนัก และทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 250 คน


หน่วยข่าวกรองแห่งชาติอิสราเอล, มอดสาด รวมไปถึง กองทัพอิสราเอล ต่างไม่ได้ระแคะระคายแผนการณ์ลับครั้งนี้เลย จึงไม่ทันเตรียมพร้อมสำหรับการโจมตีใหญ่ขนาดนี้ เมื่อเวลาไปถึง 9.00 น. ของเช้าวันเสาร์ นักรบฮามาส ก็สามารถบุกไปไกลถึงบ้านพักของผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษที่ดีที่สุดของกองทัพอิสราเอล และจับตัวเขาไปเป็นเชลยได้ นั่นหมายความว่าปฏิบัติการครั้งนี้ของกองทัพฮามาสนั้นเก็บงำความลับได้อย่างดีมาก

และแสดงว่า วันนี้ชาวอาหรับที่อิสราเอลเคยปราบในสงคราม 6วันวันนี้กับเมื่อหลายปีมาแล้วไม่เหมือนกันแล้ว

การเกิดสงครามใหญ่ระหว่างปาเลสไตน์ นำโดยกลุ่มฮามาส กับ อิสราเอลคราวนี้ สถานการณ์แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ “สงคราม 6 วัน (Six-Days War)” ในปี 2510 หรือ เมื่อ 56 ปีที่แล้ว แม้นักรบฮามาสอาจด้อยกว่าด้านอาวุธ แต่เหนือกว่าด้านกลยุทธ์ คอยใช้ระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน MANPAD คอยสอยเฮลิปคอปเตอร์ และเครื่องบิน จากระยะใกล้เผาขน


ใช้โดรนบรรทุกระเบิดคอยทิ้งระเบิดลงมาใส่รถถัง รถหุ้มเกราะ และทหารอิสราเอล, ปล่อย “โดรนพลีชีพ” พุ่งชนเป้าหมายทางทหารอย่างแม่นยำ ซึ่งทางกองทัพอิสราเอล ยังไม่มีวิธีรับมือที่ดีต่ออาวุธเหล่านี้

ด้วยเหตุนี้ มีรายงานว่ามีการสังหารสายลับชาวอเมริกัน อย่างน้อย 4 ราย และมีชาวต่างชาติเสียชีวิตและถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกันจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ ในหน้าสื่อมวลชนทั่วโลก โดยเฉพาะสื่อตะวันตก และสื่อไทยที่รับข้อมูลส่วนใหญ่มาจากสื่อภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น เอพี เอเอฟพี รอยเตอร์ ซีเอ็นเอ็น ซีเอ็นบีซี บีบีซี ฯลฯ เราจึงได้ยินคำว่า “กลุ่มก่อการร้ายฮามาส (Hamas Terrorist)” รวมถึง คำแถลงข่าวจาก รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล ยอแอฟ แกลแลนท์ (Yoav Gallant) ที่ใช้คำเปรียบเปรย “นักรบฮามาส” ว่าเป็น “สัตว์ในคราบมนุษย์ (Human Animals)”

ปัญหาคือ แล้วสิ่งที่ “อิสราเอล” กับ พวกไซออนิสต์ทำกับ “ชาวปาเลสไตน์” มาตลอด 70-80 ปี เรียกว่าพฤติกรรมของ “สัตว์ในคราบมนุษย์” เหมือนกันหรือไม่

นับตั้งแต่ปี 2491 หรือ 75 ปีที่แล้ว อิสราเอลก็เข้าไปขับไล่ ยึดครอง ชาวปาเลสไตน์ ออกจากบ้านของเขาดินแดนของเขา ทำร้ายทำลายเข่นฆ่าคนของเขา ไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ โดยอ้างว่าเป็น “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาตัวเองที่พระเจ้า” มอบให้มา

ขนเอา “ชาวยิว” มาจากทั่วโลกมาแย่งชิงดินแดน ถิ่นเกิดของ “ชาวปาเลสไตน์” ด้วยความรู้เห็นเป็นใจของพวกฝรั่งผิวขาวไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อังกฤษ หรือยุโรป จนทุกวันนี้ ทั้งสองฝ่ายมีจำนวนประชากรเท่ากันแล้ว

ย้อนอดีต : “อิสราเอล” เข่นฆ่า “ปาเลสไตน์” นับครั้งไม่ถ้วน

นับตั้งแต่ยิวมาก่อตั้งประเทศอิสราเอลด้วยการสนับสนุนของอเมริกา และอังกฤษเมื่อปี 1948 (พ.ศ.2491) เป็นต้นมา 70 กว่าปี ที่ปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ถูกโจมตีนับพันครั้ง ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ไม่มีคนสนใจ ยุโรป อเมริกา แม้กระทั่งไทยก็ไม่สนใจ

ชาวยิวก่อตั้งประเทศบนคราบเลือดเนื้อและน้ำตาของชาวปาเลสไตน์ แย่งชิงพื้นที่ ใช้กำลังทหาร ใช้รถถังเข้าไปขับไล่เจ้าของพื้นที่อย่างโหดร้ายและป่าเถื่อน


ภาพเด็กปาเลสไตน์ ใช้ก้อนหินปารถถังเพื่อตอบโต้ แต่บางครั้งก็ถูกอาวุธหนักถล่ม จนเสียชีวิต เพราะฮามาสเป็นแค่กลุ่มติดอาวุธ ไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์อะไรมากมาย มีแต่อาวุธที่ผลิตแบบบ้าน ๆ จรวดก็เป็นจรวดบ้าน ๆ ผลิตเองภายใต้ข้อจำกัดที่ถูกปิดล้อม แต่อิสราเอลเป็นประเทศที่มีพลังอำนาจทางการทหารสูงกว่ามาก

ยกตัวอย่างการโจมตีครั้งใหญ่ๆ ของอิสราเอล ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา

มกราคม 2549 - กลุ่มฮามาส กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ชนะการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ ชัยชนะดังกล่าวทำให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลปาเลสไตน์ที่นำโดยกลุ่มฮามาสในเดือนมีนาคม แต่อเมริกาไม่ยอมรับ อ้างว่า เป็นกลุ่มก่อการร้าย

มิถุนายน 2550 - หลังจากการยึดครองฉนวนกาซาของฮามาส อิสราเอลได้กำหนดการ ปิดล้อมทางบก ทางอากาศ และทางทะเล จำกัดการนำเข้าอาหารการกิน ยารักษาโรค วัสดุก่อสร้าง และสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ตามรายงานของเคเบิลทีวีทางการทูตของสหรัฐฯ อ้างคำพูดของนักการทูตอิสราเอล นโยบายของอิสราเอลคือ "ทำให้เศรษฐกิจของฉนวนกาซาจวนจะล่มสลาย"

พฤศจิกายน 2551 - อิสราเอลเปิดฉากการโจมตีทางทหารข้ามพรมแดน ชื่อ Operation Double Challenge เข้าไปในย่านที่อยู่อาศัยในฉนวนกาซาตอนกลางเพื่อทำลายล้างการเปิดอุโมงค์ข้ามพรมแดน ที่ซ่อนอยู่ภายในอาคารห่างจากรั้ว 300 เมตรบริเวณชายแดนฉนวนกาซา


ธันวาคม 2551 - อิสราเอลเปิดฉากการใช้กำลังทางทหารครั้งใหญ่ต่อกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ชื่อ Operation Cast Lead ใช้การโจมตีทางอากาศ มีเครื่องบินขับไล่ F-16 และ เฮลิคอปเตอร์โจมตี AH-64 อาปาเช่ ปืนใหญ่ ระเบิด การสู้รบสิ้นสุดลงในวันที่ 18 มกราคม 2552 โดยมีชาวปาเลสไตน์ 1,440 คน ซึ่งรวมถึงพลเรือน คนแก่ เด็ก ส่วนชาวอิสราเอลเสียชีวิต 13 คน

พฤศจิกายน 2555 - อิสราเอลสังหาร อาห์เหม็ด จาบารี ผู้นำทหารของกลุ่มฮามาส ด้วยการโจมตีด้วยขีปนาวุธ การโจมตีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการของอิสราเอลเพื่อกำจัดอาวุธและกลุ่มติดอาวุธในฉนวนกาซา กลุ่มฮามาสเรียกการสังหารครั้งนี้ว่า “เปิดประตูนรก”

กรกฎาคม 2557 - รัฐบาลอเมริกา ไฟเขียวให้อิสราเอลโจมตีภาคพื้นดินไปยังฉนวนกาซ่า มีการเผยแพร่ภาพสุดสะเทือนใจของเด็กๆ ชาวปาเลสไตน์ ขว้างก้อนหินเล็กๆ ใส่รถถังของของทหารยิว ที่ขับมาบุกที่ตั้งถิ่นฐานของพวกเขา และเด็กพวกนี้ก็ถูกตอบโต้ด้วยกระสุนจริงจนตายในสภาพศพสุดอนาถ


พฤษภาคม 2564 - ตำรวจอิสราเอลบุกโจมตีมัสยิดอัล-อักซอในกรุงเยรูซาเลม ช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม ชาวมุสลิมมองว่าการโจมตีสถานที่ซึ่งถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมในคืนศักดิ์สิทธิ์ที่สุดช่วงหนึ่งของเดือนรอมฎอน เป็นการดูหมิ่น เหตุบุกมัสยิดแห่งนี้โดยฝ่ายอิสราเอล ได้จุดชนวนความขัดแย้งอย่างเต็มรูปแบบระหว่างอิสราเอลและฮามาสเป็นระยะเวลากว่า 11 วัน

เมษายน 2565 - ตำรวจอิสราเอลเปิดฉากการปะทะรอบใหม่ ที่มัสยิดอัลอักซอ ในเมืองเยรูซาเลม ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ประท้วงปาเลสไตน์ หลังอ้างพบมีการโยนหินใส่กำแพงตะวันตกตอนตี 4 จุดที่ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์กราบไหว้ของชาวคริสต์และชาวยิว ทำให้คณะรัฐมนตรีประเทศอ่าวอาหรับออกมาประณาม และองค์การสหประชาชาติออกมาแสดงความวิตกกังวล


สิงหาคม 2565 - อิสราเอลโจมตีทางอากาศ มุ่งเป้าไปที่ผู้บัญชาการอาวุโสและคลังอาวุธ กลุ่มฮามาส อิสราเอลอ้างว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นปฏิบัติการล่วงหน้า ป้องกันการโจมตีโดยขบวนการติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน เช่น ญิฮาดอิสลาม(Islamic Jihad)

มกราคม 2566 - อิสราเอลเปิดฉากการโจมตีค่ายผู้ลี้ภัยเยนินในเขตเวสต์แบงก์ โดยระบุว่ากลุ่มติดอาวุธและนักเคลื่อนไหวชาวปาเลสไตน์กำลังซ่อนตัวอยู่

เมษายน 2566 - หรือเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ตำรวจปราบจลาจลอิสราเอลก็บุกเข้ามัสยิดอัลอักซอ ในช่วงเช้า วันที่ 4 เมษายน 2566 โดยเปิดฉากยิงระเบิดแสงและแก๊สน้ำตาด้านในระหว่างปะทะกับชาวปาเลสไตน์ผู้แสวงบุญ มีรายงานกวาดจับไปไม่ต่ำกว่า 350 คน โดยการบุกเข้ามัสยิดอัลอักศอเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังชายชาวปาเลสไตน์โดนสังหารด้านนอกมัสยิด โดยตำรวจอิสราเอลอ้างเหตุของการบุกมัสยิดว่า เพราะพบว่ามีชาวปาเลสไตน์รุ่นใหม่ละเมิดกฎหมาย โดยกลุ่มก่อกวนได้ปิดหน้าเอาประทัด ท่อนไม้ และก้อนหินก่อนที่จะขังตัวเองภายในมัสยิดอัล-อักศอ คนทั้งหมดปิดประตูหน้าพร้อมกับตะโกนสโลแกนว่าจะก่อความรุนแรง

กรกฎาคม 2566 - อิสราเอลส่งทหารประมาณ 1,000 นายที่ได้รับการสนับสนุนจากการโจมตีด้วยโดรน ไปยังเยนิน เพื่อทำลายสิ่งที่อิสราเอลเรียกว่า “ศูนย์บัญชาการ” ของกลุ่มติดอาวุธ

นี่เป็นแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่ง กราฟด้านล่างนี้ สหประชาชาติได้สรุปตัวเลขว่าในช่วงความขัดแย้งแค่ 12 ปี ระหว่างปี 2551-2563 นั้นแต่ละฝ่ายสูญเสีย ได้รับบาดเจ็บไปเท่าไหร่กันบ้าง แล้วก็จะรู้ว่าใครกันแน่ที่เป็นผู้ถูกกระทำ?
-ปาเลสไตน์เสียชีวิตไป 5,590 คน
-อิสราเอล 251 คน


จับตาอิสราเอล ฉวยโอกาส “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปาเลสไตน์” ในกาซ่า

หลังจากการถูก “กลุ่มฮามาส” บุกจู่โจมแบบฉับพลัน ไม่ทันตั้งตัว “อิสราเอล” ก็แค้นมาก สั่งให้ใช้จรวด และเครื่องบินไปทิ้งระเบิดถล่ม “ฉนวนกาซ่า” แบบปูพรม โดยไม่สนว่าจะมีตัวประกันทั้งชาวอิสราเอล หรือ ชาวต่างชาติ รวมถึงชาวไทยจะถูกลูกหลงบ้างหรือไม่? หรือไม่สนว่าระเบิดจะหล่นไปลงหัวชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธิ์ ลูกเด็กเล็กแดง ผู้หญิง คนแก่ คนป่วย หรือใครก็แล้วแต่

ทำให้มีรายงานแล้วว่า จากการโจมตีโต้กลับของ “อิสราเอล” ให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซ่า กลายเป็นคนไร้บ้านไปแล้วกว่า 200,000 คน นอกจากนี้อิสราเอลก็ยังกระทำการที่ไร้มนุษยธรรมไม่แพ้กันก็คือ การสั่งตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดเชื้อเพลิง ตัดช่องทางการสื่อสาร การคมนาคม ของประชาชนกว่า 2 ล้าน 4 แสนคนอย่างสิ้นเชิง


และล่าสุดได้สั่งให้ ชาวปาเลสไตน์ 1.1 ล้านคนอพยพออกจากภาคเหนือของฉนวนกาซาลงมาทางใต้ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อที่จะส่งกำลังภาคพื้นดินเข้าไปกวาดล้างกลุ่มฮามาส

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการของฮามาสที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เกิดขึ้นตามกฎแห่งกรรม ใครทำกรรมใดไว้ก็รับกรรมนั้น รัฐบาลอิสราเอลก่ออาชญากรรมเอาไว้มาก แถมได้รัฐบาลอเมริกาสนับสนุนทางอาวุธ เงินทอง และการทูตตลอดเวลา โดย รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เงินสนับสนุนอิสราเอลเป็นประจำมากถึงปีละ 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 140,000 ล้านบาท) จึงไม่มีใครเอาผิดอิสราเอลที่สหประชาชาติได้

อย่างไรก็ตาม กรรมก็ยังเป็นกรรม ช้าหรือเร็ว กรรมก็จะตามมาให้ผลอยู่ดี

โดยเฉพาะ นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐนตรีอิสราเอล ซึ่งเป็นผู้ปล่อยข้อมูลเท็จ ดึง สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ชักนำชาติสมาชิกนาโต้อื่น ๆ มาบุกรุกอิรัก สังหารซัดดัม ฮุสเซ็นและสังหารประชาชนอิรักจำนวนมากมาย แถมยังปล้นทองคำอิรักไปจนเกลี้ยงคลัง

นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จับมือกับ นายเบนจามิน เนตันยาฮู นายกฯ อิสราเอล ระหว่างการประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์กเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566
นอกจากนั้น ยังก่ออาชญากรรมอื่นๆ เอาไว้มาก ส่งเครื่องบินรบไปละเมิดน่านฟ้าเลบานอน รุกรานซีเรีย เป็นกองทัพอากาศให้กลุ่มก่อการร้ายไอซิสเป็นประจำ

“อิสราเอล-ปาเลสไตน์” มีความขัดแย้งกันยาวนาน ทั้ง 2 ฝ่ายก่อกรรมกันไปมา อิสราเอลใช้กำลังแย่งดินแดนปาเลสไตน์ บุกรุกที่อยู่ของชาวปาเลสไตน์ สังหารคนปาเลสไตน์ไปจำนวนมาก โดยมีอเมริกาให้ท้ายสนับสนุนมานานหลายปีก่อนจะมีเหตุการณ์ในวันนี้

สื่อกระแสหลักของไทยไม่เคยรายงานข่าวในช่วงที่อิสราเอลก่อกรรมทำเข็ญกับชาวปาเลสไตน์ รายงานแต่ตอนที่ชาวปาเลสไตน์แก้แค้น เพราะพวกนี้มีเจตนาจะให้ส้งคมโลกมองเห็นแค่มุมเดียวว่าอิสราเอลเป็นเหยื่อ กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์เป็นผู้ร้าย เพื่อจะให้ชาวปาเลสไตน์ถูกกระทำอย่างไรก็ได้

“สงครามครูเสด” แห่งศตวรรษที่ 21

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และ ปาเลสไตน์ รอบนี้จะไม่จบเร็ว แต่มีแนวโน้มว่าจะพัฒนาไปสู่สงครามครั้งใหญ่ของตะวันออกกลาง เป็น “สงครามครูเสด” หรือ สงครามศาสนาแห่งศตวรรษที่ 21 ที่คู่ขัดแย้งไม่ใช่ “คริสต์ vs อิสลาม” แต่เป็น “ยิว vs อิสลาม”

เป็น “สงครามครูเสด” ที่ไม่ได้ใช้ดาบ ใช้หอก ใช้ธนู พลทหาร หรือกองทัพม้าเป็นหลักในการสู้รบ แต่เป็นการสู้รบด้วยอาวุธสมัยใหม่ คือ เครื่องบินรบ ขีปนาวุธ และโดรน

รัฐบาลสหรัฐฯ และ อิสราเอล ต่างเป็นรัฐบาลจอมรุกรานประเทศอื่น แต่ถนัดในการสร้างภาพว่าตนเอง ตกเป็นเหยื่อ เป็นผู้ถูกกระทำ


อเมริการุกรานซีเรีย ปล้นน้ำมันซีเรีย ทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารซีเรีย คว่ำบาตรซีเรียสาระพัด พอชาวซีเรียใช้ก้อนหินใช้ปืนไล่กองทัพอเมริกันให้พ้นไปจากซีเรีย ป้องกันผลประโยชน์ประเทศตนเอง รัฐบาลอเมริกาประกาศว่าประชาชนซีเรียดำเนินการก่อการร้ายใส่พวกตน แต่ตนเองรุกรานประเทศซีเรีย กลับยังหน้าด้านหน้าทนสร้างภาพว่าเป็นชาติประชาธิปไตย ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

อิสราเอลก็เช่นเดียวกัน รุกราน ยึดบ้านชาวปาเลสไตน์มา 70-80 ปี ส่งทหารไปไล่ที่ชาวปาเลสไตน์ เข่นฆ่า สังหารชาวปาเลสไตน์ ทำลายโรงเรียนชาวปาเลสไตน์ สังหารสื่อชาวปาเลสไตน์ สังหารนักสิทธิมนุษยชนและบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก แถมให้ท้ายชาวยิวที่อพยพมาใหม่ ๆ ไล่ที่ชาวปาเลสไตน์สาระพัด

ทำมาแล้วหลายสิบปีก่อนที่กลุ่มฮามาสจะตัดสินใจบุกในวันนี้ พอฮามาสบุก ก็สร้างภาพว่าพวกตนเป็นเหยื่อทันที แล้วโจมตีกลุ่มฮามาสว่าก่อการร้าย ส่วนตนเองก่อการร้ายหลายทศวรรษแล้วแต่กลับไม่พูดถึง


กลุ่มติดอาวุธฮามาสสู้เพื่อแผ่นดินเกิด กฎบัตรสหประชาชาติก็รับรองสิทธิในการต่อสู้เพื่อแผ่นดินเกิดของประชาชนในทุกประเทศ ทหารอิสราเอลต่างหากคือกองทัพผู้รุกราน แต่บังเอิญรัฐบาลจักรวรรดินิยมอเมริกาให้ท้าย จึงไม่มีชาติไหนเอาผิดได้

สงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ครั้งนี้น่าจะถูกชะตาลิขิตบีบเพื่อเร่งให้จักรวรรดินิยมอเมริกาล่มสลายโดยเร็วยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น