xs
xsm
sm
md
lg

เพจดังวอนอย่าให้ "สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา" เป็นแพะทางการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจ “โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure” วอนอย่าให้สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาเป็นแพะทางการเมือง ล่าสุดอ้างมาตรา 44 บิดเบือน ย้ำตำแหน่งที่ตั้งสถานีมีตั้งแต่โครงการ 2 ล้านล้านบาทแล้ว ฝากคนอยุธยาช่วยกันให้ข้อมูลและรักษาสิทธิ

วันนี้ (23 ก.ย.) เฟซบุ๊กเพจ “โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure” ที่มีผู้ติดตาม 1.6 แสนราย โพสต์บทความระบุว่า "ขอร้อง!!! อย่าให้สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาเป็นแพะทางการเมือง!!! ตำแหน่งสถานี อยู่ตรงนี้ตั้งแต่แรก!!! จาก 2 ล้านๆ มา EIA 2556 สู่แบบก่อสร้างล่าสุด ห่างมรดกโลกกว่า 1.5 กิโลเมตร

ผมเห็นกระบวนการปั่นกระแส เรื่องตำแหน่งรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ที่อ้างว่าอยุธยาจะโดนถอนมรดกโลกจาก UNESCO บ้างล่ะ สร้างประวัติศาสตร์นอกกระแสเรื่องเมืองเก่าอโยธยาบ้างล่ะ ทั้งๆ ที่รู้มาเป็นร้อยปี แต่ไม่มีใครมาขุดค้น พอจะสร้างรถไฟความเร็วสูง ก็เป็นห่วงกันขึ้นมา

โดยดรามาเหล่านี้ถูกนำด้วยกลุ่มคนนักวิชาการ นักโบราณคดี และที่หนักสุด คือ “นักการเมือง” ทั้ง ส.ส.ระดับประเทศ และนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งมาพูดแบบมองมุมเดียว และมีข้อเรียกร้องแบบที่หาจุดร่วมไม่ได้ จนสงสัยว่า สรุปคือ ไม่ต้องการให้สร้างใช่มั้ย???

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น ต้องขอบคุณ และชื่นชม ชาวอยุธยา ที่มีการตั้งคำถามกลับไปยังคนที่มาโจมตี และคัดค้านการสร้างสถานีอยุธยา ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ขัดขวางความเจริญ และมองการพัฒนาแต่มุมเดียว!!!

*** ล่าสุด มีการตั้งประเด็น อ้างอิง ม.44 เป็นหนึ่งในสาเหตุในการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ซึ่งจะทำลายโบราณสถานในอยุธยา ซึ่งเป็นความบิดเบือนอย่างที่สุด เพราะตำแหน่งสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยามันอยู่ในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่โครงการ 2 ล้านๆ แล้ว!!!! จนออกมาเป็นแบบ และอนุมัติใน EIA 2556 สรุปแล้วมันยังไง เดี๋ยวผมมาเล่าให้ฟังอีกทีครับ
—————————
ย้อน Timeline สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา

- เดิม สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาอยู่ในโครงการรถไฟความเร็วสูง สายเหนือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ซึ่งมีการศึกษาเสร็จตั้งแต่ปี 2556 เพื่อเตรียมจะเข้าแผนก่อสร้างตามโครงการ 2 ล้านๆ ที่เรารู้จักกัน แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด และรูปแบบโครงการ เลือกทำสายอีสาน ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-โคราช ก่อน ก็เลยมีการปรับข้อมูลจากที่เคยศึกษาไว้ มาใช้กับสายอีสานแทน ซึ่ง EIA เล่มนี้มีมติผ่านในปี 2560

- จากนั้นมีการปรับก่อสร้างอาคารสถานี พร้อมทำการแก้ไขผลการศึกษาใหม่ ในช่วงปี 2562 โดยในครั้งนี้ก็มีการใช้สถานที่ก่อสร้างเดิม แต่มีการปรับปรุงรูปแบบอาคารให้สอดคล้องกับโบราณสถาน วัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งเป็นทรงจั่วขนาดใหญ่ แต่ในครั้งนี้มีการแย้งเรื่องการบดบังทัศนียภาพของเมืองอยุธยา ทำให้ที่ปรึกษาได้มีการปรับแก้ไขแบบ ลดมิติของอาคารลงมากว่า 30% แต่สุดท้ายก็ “ไม่ผ่าน” จึงทำให้โครงการถอยหลังกลับไปที่แบบ และการศึกษาโครงการ จาก EIA ปี 2556 และปรับแก้รายละเอียดอาคารสถานีจากตรงนั้นแทน

- แต่กรมศิลป์อ้างถึง UNESCO ว่ากลัวการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาไปกระทบเขตมรดกโลกอยุธยา โดยทาง UNESCO ขอให้ทำการศึกษาผลกระทบกับโบราณสถาน (HIA) ซึ่งไทยเราไม่เคยทำ และไม่มีข้อกำหนดรวมถึงกฎหมายควบคุมให้ทำ ซึ่งสุดท้ายการรถไฟฯ ก็ทำจนเสร็จ และยื่นเอกสารให้ UNESCO พิจารณาแล้ว

- มีกลุ่ม “อนุรักษ์เมือง อโยธยา” ซึ่งไม่ใช่อยุธยา และไม่ได้มีสถานะมรดกโลกใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับตรงนี้ แต่กลุ่มนี้อ้างว่า เป็นต้นกำเนิดอยุธยา ซึ่งพื้นที่อโยธยาที่ “อ้างถึง” คือพื้นที่รอบสถานีรถไฟอยุธยา ยาวไปจนถึงเจดีย์วัดสามปลื้ม แต่!!! ในพื้นที่นี้ยังไม่ถูกขุดค้น และปัจจุบันประชาชนก็เข้าใช้พื้นที่เต็มไปหมดแล้ว
—————————
ปัญหากับโครงการรถไฟความเร็วสูง

ทางคนคัดค้านเขาบอกว่าการก่อสร้างทั้งทางวิ่งยกระดับ และสถานีรถไฟความเร็วสูง มีผลกระทบต่อโบราณสถานใต้ดินที่ไม่ถูกขุดค้น แต่ก็ไม่เห็นว่าจะขุดเมื่อไหร่!!! ซึ่งทางคนคัดค้านมีข้อเสนอ คือ

1. ทำทางวิ่งและสถานีอยุธยาเป็นรูปแบบใต้ดิน!!!! ระยะทาง 5 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 10,300 ล้านบาท ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี!!!! แล้วยังไม่รวมกรณีที่ขุดใต้ดินแล้วไปเจอวัตถุโบราณ ซึ่งอย่างที่รู้ว่าเมืองอยุธยาเป็นเมืองโบราณ ขุดไปทางไหนก็เจอวัตถุโบราณ แล้วถ้าขุดไปเจอ จะต้องย้ายแนวอีกมั้ย??? ต้องเสียเวลาโยกย้ายวัตถุโบราณอีกกี่ปี?? สุดท้ายและสำคัญที่สุด พื้นที่เมืองอยุธยาเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมเป็นประจำ แถมท่วมสูงขึ้นทุกปี แล้วถ้าอุโมงค์น้ำท่วมใครจะรับผิดชอบ มูลค่าเสียหายเท่าไหร่??? คุ้มกันมั้ย???

2. ทำทางรถไฟเลี่ยง!!!! เมืองอยุธยา ไป 30 กิโลเมตร จาก บางปะอิน-บ้านภาชี!!!! ระยะทาง 30 กิโลเมตร เวนคืนใหม่ตลอดเส้นทาง ค่าเวนคืนประมาณ 3,750 ล้านบาท ต้องย้ายสถานีอยุธยาออกไป (ไปไหนก็ไม่รู้ กลางทุ่งสักที่) ใช้งบประมาณ 22,630 ล้านบาท!!! ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 7 ปี!!!!

เอาจริงๆ ข้อเสนอนี้มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรมีเลยด้วยซ้ำ เพราะมีทั้งเรื่องผลกระทบของประชาชน แล้วไม่ส่งเสริมการเดินทางอะไรกับเมืองอยุธยา และอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาเลย!!! ผมว่าถ้าจะทำแบบนี้ไม่ทำสถานีอยุธยาเลยซะดีกว่า สร้างไปก็ไม่มีคนใช้บริการซะเปล่าๆ

3. ย้ายสถานีอยุธยาไปที่สถานีบ้านม้า ซึ่งเป็นการย้ายสถานีออกจากจุดเดิมไปอีก 5 กิโลเมตร ซึ่งตรงสถานีบ้านม้าอยู่ใกล้กับถนนสายเอเชีย (ทางหลวง 32) ต้องเวนคืนพื้นที่โดยรอบเพื่อสร้างสถานี ค่าเวนคืนประมาณ 200 ล้านบาท ใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี!!!! ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่พอเป็นไปได้แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์ต่อเมืองอยุธยา และอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาเท่าที่ควร!

แต่คำถามคือ เราต้องการให้ผู้โดยสารเดินทางไปไหน เราก็ควรจะพาผู้โดยสารไปใกล้กับปลายทางให้มากที่สุด ซึ่งตำแหน่งสถานีเดิมเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดแล้วจริงๆ เพราะการย้ายออกไป 5 กิโลเมตร จะสร้างปัญหาการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูง กับเมืองอยุธยา ต้องมาลงทุนระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อระหว่าง 2 สถานีอีก!!

***แต่เป็นสิ่งที่นักการเมือง และนักเก็งกำไรต้องการให้ย้ายไปเพื่อให้สอดคล้องกับที่ดินที่ได้มีการดักซื้อไว้เป็นจำนวนมาก เป็นของใครบ้างก็ลองไปตามหากันครับ
—————————
ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ก็เป็นการแก้ปัญหาที่สร้างปัญหามากกว่า ทำให้ทางที่ปรึกษา เสนอทางเลือก คือ

1. จัดทำผังเมืองเฉพาะเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของเมืองโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง ใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี ซึ่งกรณีนี้จะไปสอดคล้องกับโครงการ TOD อยุธยา ซึ่งจะไปวางเขตผังเมืองเฉพาะเพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ แต่ก่อนหน้าก็มีการตีกลับโครงการ TOD อยุธยา เพราะทางกรมศิลป์ แจ้งว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ที่จะประกาศในอนาคต

2. สร้างทางวิ่งก่อน แล้วค่อยหาตำแหน่ง และรูปแบบสถานีที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ ใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท โดยกรณีนี้สามารถสร้างได้ทันทีและไม่กระทบต่อแผนการก่อสร้าง หลังจากทุกอย่างลงตัวค่อยเริ่มสร้างสถานีตามแบบที่ทุกฝ่ายลงตัว แต่ปัญหาคือสถานีอยุธยาจะเปิดช้ากว่าสถานีอื่น 3-5 ปี เพราะอาจจะต้องไปทำ EIA แก้ไขก่อน ซึ่งกว่าจะผ่านกระบวนการต่างๆ ก็จะช้าไป
—————————
ซึ่งตัวอาคารสถานีรถไฟอยุธยา ที่กลับไปใช้แบบสถานีรถไฟความเร็วสูงตามรูปแบบเดิม ที่ใช้เสนอ EIA ปี 2556 ซึ่งก็เป็นแบบสวยเหมือนกัน แต่เรียบง่ายลงมาเยอะ เน้นใช้วัสดุเป็นหลังคาและอาคารใส ความสูงในส่วนต่างๆ ของอาคาร

- หลังคากลางอาคารสูงสุด อยู่ที่ 37.45 เมตร
- ระดับชั้น 3 ชานชาลารถไฟความเร็วสูง 19.00 เมตร
- ระดับชั้น 2 ชานชาลาพื้นที่ขานตั๋วและรอรถ 10.25 เมตร
- ระดับชั้น 1 สถานีเดิม ชานชาลารถไฟทางไกล และชานชาลารถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในอนาคต 1.50 เมตร

ซึ่งถ้ายืนตามแบบนี้ สามารถสร้างได้ ”ทันที“ เพราะทำตามกฎหมายไทยหมดแล้ว
—————————
ล่าสุด ผมเพิ่งเห็นการจัดทัวร์ พาอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ เดินทางไปฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ 'อโยธยา' ซึ่งหนึ่งในรายละเอียดของการเสวนาในครั้งนี้คือ “มรดกเผด็จการ ม.44 ทำลายมรดกโลก อโยธยา” {สรุปว่าอยุธยา หรือ อโยธยา ที่ได้มรดกโลกนะครับ}

โดยตรงนี้เห็นชัดเจนว่า เป็นการตั้งธง และผูกเรื่องเพื่อสร้างให้สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา กลายเป็นแพะ และเป็นมรดกของ ม.44 ซึ่งคนละเรื่องตามที่ผมให้ข้อมูลมาตั้งแต่แรก!!!
—————————
ตอนนี้ก็ต้องฝากคนอยุธยาช่วยกันให้ข้อมูล และรักษาสิทธิ์ให้กับตัวท่านเอง เพื่อการพัฒนาที่เหมาะสมกับเมืองอยุธยาครับ"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

ด้านชาวเน็ตต่างแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใ เช่น

- คัดค้านความเจริญที่ศึกษามาหลายรอบด้วยการบิดเบือนเพื่อประโยชน์ทางการเมือง คนดีๆ เขาคงไม่ทำกันหรอกมั้ง...ปล. แต่รู้สึก ส ส. เขต 1 อยุธยานี่พรรคไหนนะฮะ...กลัวว่าวันเลือกตั้งรอบใหม่จะลืมกันหมด แล้วก็ได้กลับมาเป็น ส.ส.อีกรอบนะสิ

- ถนน​ ตึก​ สิ่งปลูกสร้าง​ รอบๆ โบราณ​สถาน ไม่พูดถึง​บ้าง​ พอรถไฟ​ความเร็ว​สูง​ผ่าน​ คัดค้าน​แบบไม่มีเหตุผล​

- อยากจะด่าพรรคการเมืองบางพรรค และบรรดา ส.ส.ผู้ทรงเกียรติทั้งหลายของพรรคนั้นมากครับ ขัดขวางทุกอย่างที่จะไม่ใช่ผลงานตัวเอง ทั้งด้อยค่าทุกผลงานที่คนอื่นทำสำเร็จแล้ว ทุกอย่างเพื่อคะแนนเสียงของตัวเองโดยไม่เคยเห็นประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ยอมให้ประเทศพังได้ถ้าตัวเองได้ผลประโยชน์ ควรเรียกคนพวกนี้ พรรคนี้ว่าอะไรดีครับ สุดจะสรรหาคำมาบรรยาย

- ผมว่าบางคนที่พอมีชื่อเสียงและผสมโรงปั่นเรื่องสถานี (รถไฟความเร็วสูง) อยุธยาอยู่ตอนนี้ก็หวังใจจะให้ย้ายสถานีไปนอกเมืองกะเก็งกำไรที่ดินด้วยแหละ เพราะมันไม่สมเหตุสมผลว่าตั้งแง่มีปัญหากับโครงการรถไฟความเร็วสูง แต่ดันไม่มีปัญหากับรถไฟทางสามที่มีทั้งรถไฟโดยสารและรถสินค้าสายเหนือสายอีสานวิ่งสั่นสะเทือนอยู่ทุกวัน ถ้าย้ายก็ต้องย้ายไปให้หมดครับ อย่ามากระแดะอุ๊บอิ๊บ

- สร้างไปเถอะครับ สร้างเพื่ออนาคต ของเก่าก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปตามธรรมชาติ มันไม่ใช่ว่าเราจะลืมรากเหง้านะ แต่ก็ไม่ควรเอาอดีตมาฝังกลบอนาคต ถ้ามันทับเขตเมืองเก่ามีฐานกำแพงออกแบบตัวสถานีใหม่ให้มีชั้นใต้ดินโชว์ฐานอิฐเก่าก็ได้ เพิ่มมูลค่าของตัวสถานีไปได้ด้วยในตัว

- ยกเลิกการสร้างสถานีไปก่อน เพื่อไม่ให้กระทบโครงการให้ไปสถานีสระบุรีเลย ลงตัวเมื่อไรค่อยสร้าง

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ระยะทาง 253 กิโลเมตร มี 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา วงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท ใช้รถไฟ Fuxing Hao รุ่น CR300 ให้บริการด้วยความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที

ขณะนี้กำลังก่อสร้างงานโยธา แบ่งออกเป็น 14 สัญญา สร้างเสร็จแล้ว 2 สัญญา คือ ช่วงกลางดง-ปางอโศก 3.5 กิโลเมตร และช่วงสีคิ้ว-กุดจิก 11 กิโลเมตร กำลังก่อสร้างอีก 9 สัญญา คืบหน้าประมาณ 25% ยังเหลืออีก 3 สัญญา ได้แก่ ช่วงแก่งคอย-กลางดง กับ ปางอโศก-บันไดม้า (สัญญาเดียวกัน) 30.2 กิโลเมตร กำลังเตรียมการก่อสร้าง, ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง 15.21 กิโลเมตร มีปัญหาตรงที่โครงสร้างไปทับซ้อนกับ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และช่วงบ้านโพ-พระแก้ว 13.3 กิโลเมตร โดยมีแผนแล้วเสร็จภายในปลายปี 2569 และเปิดให้บริการในปี 2570
กำลังโหลดความคิดเห็น