xs
xsm
sm
md
lg

เราเสียเวลากับรถไฟความเร็วสูง “สถานีอยุธยา” มากเกินพอแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เห็นนักการเมืองรายหนึ่งเปิดประเด็นคัดค้านการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง สถานีอยุธยา ในโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาแล้ว คำถามแรกที่อยู่ในหัวก็คือ “มาค้านอะไรตอนนี้?”

เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน คณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติไปตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2560 วงเงิน 179,413 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด 100%

รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร มี 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา

ใช้รถไฟ Fuxing Hao รุ่น CR300 ให้บริการด้วยความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยมีขบวนรถออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ชานชาลาชั้น 3 ทุก 90 นาที

กำหนดค่าโดยสารจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปสถานีดอนเมือง 105 บาท สถานีอยุธยา 195 บาท สถานีสระบุรี 278 บาท สถานีปากช่อง 393 บาท และปลายทางสถานีนครราชสีมา 535 บาท


ขณะนี้กำลังก่อสร้างงานโยธา แบ่งออกเป็น 14 สัญญา สร้างเสร็จแล้ว 2 สัญญา คือ ช่วงกลางดง-ปางอโศก 3.5 กิโลเมตร และช่วงสีคิ้ว-กุดจิก 11 กิโลเมตร กำลังก่อสร้างอีก 9 สัญญา คืบหน้าประมาณ 25%

แต่ที่ยังค้างเติ่งอยู่ในขณะนี้มีอีก 3 สัญญา คือ ช่วงแก่งคอย-กลางดง และ ปางอโศก-บันไดม้า ซึ่งเป็นสัญญาเดียวกัน ร่วมกับก่อสร้างรั้วช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทางรวม 30.2 กิโลเมตร ขณะนี้กำลังเตรียมการก่อสร้าง

ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กิโลเมตร มีปัญหาตรงที่โครงสร้างไปทับซ้อนกับ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งต้องไปหารือกับคณะกรรมการนโยบายอีอีซี และกลุ่มซีพี

ส่วนที่มีปัญหามากที่สุด คือ ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว 13.3 กิโลเมตร ได้ผู้รับเหมาแล้ว แต่ได้ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา เบื้องต้นจะให้สร้างทางรถไฟไปก่อน เพื่อไม่ให้ล่าช้า เพราะสถานีรถไฟอยุธยายังไม่ชัดเจน


สถานีอยุธยา กำลังถูกคัดค้านจากกรมศิลปากรและนักวิชาการ รวมทั้งมีนักการเมืองกำลังปั่นกระแสว่า กำลังจะทำให้อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ถูกถอดออกจากมรดกโลกเพราะ “รถไฟความเร็วสูง”

แม้จะมีกระแสสังคมโต้กลับไปว่า กลุ่มคนเหล่านี้กำลัง “ถ่วงความเจริญ” แต่ก็ไม่ยี่หระ เตรียมนำสื่อมวลชนและอินฟลูเอนเซอร์ไปศึกษาดูงาน เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับจากกลุ่มคนเหล่านี้ไปเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อของตนเอง

หนึ่งในนั้นก็คือ ประเด็นที่กล่าวหาว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เป็น “มรดกเผด็จการ” ใช้มาตรา 44 ทำลายมรดกโลกอโยธยา คือจะโยงให้เป็น “เรื่องการเมือง” ไปถึงสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ได้

คนกลุ่มนี้อ้างว่า “ควรสร้างให้ห่างออกไปจากเขตเมืองเก่า ดังได้เคยมีผู้เชี่ยวชาญได้เคยเสนอมาแล้วให้สร้างตามแนวถนนซูเปอร์ไฮเวย์” ซึ่งตีความได้สองอย่าง

อย่างแรก เปลี่ยนแนวเส้นทางใหม่ ออกไปนอกเมืองพระนครศรีอยุธยาโดยสิ้นเชิง และไม่รู้ว่าสถานีรถไฟอยุธยาแห่งใหม่ จะออกไปกลางทุ่งไกลปืนเที่ยงแค่ไหน

อย่างที่สอง ย้ายที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ไปที่สถานีบ้านม้า ห่างจากสถานีเดิม 5 กิโลเมตร ใกล้กับถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32 บางปะอิน-นครสวรรค์) ซึ่งบริเวณนั้นมีทุ่งนากับบ้านจัดสรร ออกนอกเมืองไปแล้ว

กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการย้ายสถานีอยุธยาที่ชัดเจน คือ นักเก็งกำไรที่ดิน เพราะที่ผ่านมามีการดักซื้อที่ดินบริเวณสถานีบ้านม้า และถนนสายเอเชียเอาไว้หลายแปลง หนึ่งในนั้นมีที่ดินผืนใหญ่ 16 ไร่ ตั้งราคาขายไว้ที่ 25 ล้านบาท

ปัญหาก็คือ เราเสียเวลากับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนมามากแล้ว หากจะต้องมาเสียเวลาตรงนี้อีก ก็ไม่รู้อนาคตว่าคนไทยจะได้ใช้รถไฟความเร็วสูงในชาตินี้หรือไม่?


โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รัฐบาลทั้งสองประเทศลงนามความร่วมมือไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทย กับสาธารณรัฐประชาชนจีน

แต่ที่ผ่านมามีการเจรจากันหลายครั้ง ปรากฏว่าหาความชัดเจนไม่ได้สักครั้ง โดยเฉพาะสัดส่วนการลงทุนระหว่างไทยกับจีน และการที่ฝ่ายจีนขอสิทธิในการบริหารพื้นที่สองข้างทางรถไฟ ซึ่งฝ่ายไทยไม่ยินยอม

ท้ายที่สุดจบลงที่ฝ่ายไทยลงทุนก่อสร้างงานโยธา 100% ใช้ผู้รับเหมาไทยทั้งหมดในการก่อสร้าง ส่วนฝ่ายจีนรับผิดชอบการออกแบบ ควบคุมงาน ติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล

ต่อมา ก่อสร้างทางช่วงกลางดง-ปางอโศก 3.5 กิโลเมตร เอาฤกษ์เอาชัยไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ก่อนที่จะลงนามสัญญาก่อสร้างตอนอื่นๆ รวมทั้งสัญญาวางระบบราง จัดหาขบวนรถและระบบรถไฟความเร็วสูงกับฝ่ายจีน


แต่ก็พบว่าส่วนใหญ่ไม่ค่อยคืบหน้า เพราะติดปัญหาเวนคืนที่ดิน ติดข้อพิพาททางกฎหมาย ต้องไปขอพื้นที่จากส่วนราชการ เช่น กรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมธนารักษ์ ซ้ำด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ขาดแคลนแรงงาน

มาถึงกรณีสถานีอยุธยา กรมศิลปากรมีข้อห่วงใยในการก่อสร้างสถานีใกล้กับพื้นที่เกาะเมืองอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลก จึงมีความเห็นร่วมกันกับการรถไฟแห่งประเทศไทย จัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA)

ที่ผ่านมาการรถไฟฯ ประชุมรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำรายงาน HIA ไปแล้วถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 10 มีนาคม 2566 และครั้งที่สอง วันที่ 20 เมษายน 2566 มีการสรุปผลการประชุมบนเพจ HIA Historic City of Ayutthaya

ทราบมาว่าตอนนี้รายงาน HIA ใกล้จะแล้วเสร็จ แต่ยังคงต้องผ่านกระบวนการพิจารณาทั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในไทย ก่อนนำเข้าคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกเพื่อพิจารณาต่อไป


ปัญหาก็คือ กลุ่มที่คัดค้านอ้างว่า พื้นที่ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและสถานีอยุธยาเป็น “อโยธยาศรีรามเทพนคร” หรือ “อโยธยา” ที่มาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาในปี 1893 เป็นรากฐานของการก่อกำเนิดความเป็นอยุธยา

อ้างว่าถ้าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงตรงนี้ จะมีการขุดเจาะเสาเข็ม ตอม่อขนาดใหญ่ มีแรงสั่นสะเทือนระหว่างก่อสร้างและการวิ่งของรถไฟ ส่งผลกระทบต่อโบราณสถานทั้งบนดินและใต้ดิน ทำลายเมืองเก่าและทุนทางวัฒนธรรม

กระทั่งต่อมามีนักการเมืองปั่นกระแสว่า “อยุธยาจะถูกถอดออกจากมรดกโลกเพราะรถไฟความเร็วสูง” และอ้างว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง สถานีอยุธยา เป็นมรดกเผด็จการ มาตรา 44 ทำลายมรดกโลก อโยธยา

ทั้งที่ความจริง พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา ล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก แต่สถานีอยุธยาอยู่นอกเกาะเมือง

และความจริงฝั่งที่เรียกว่า “อโยธยา” ปัจจุบันพื้นที่ส่วนหนึ่งกลายเป็นบ้านเรือนและชุมชนเต็มไปหมด แม้กระทั่ง วงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม หรือเจดีย์นักเลง ก็มีถนนโรจนะล้อมหน้าล้อมหลังไว้หมดแล้ว แบบนี้ไม่สั่นสะเทือนเหรอ?

ไม่นับรวมทุกวันนี้ ทางรถไฟสายเหนือ-อีสาน ช่วงที่ผ่านสถานีอยุธยา ก็มีขบวนรถโดยสารและขบวนรถบรรทุกสินค้าเดินรถอยู่ทุกวัน ไม่สั่นสะเทือนเหรอ? ถ้าจะย้ายสถานีรถไฟก็ต้องย้ายให้หมด แบบนี้คนอยุธยาก็เดือดร้อนอีก

ที่ผ่านมาในต่างประเทศ พื้นที่ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ก็มีรถไฟพาดผ่าน แต่ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา เช่น “อาสนวิหารโคโลญ” ประเทศเยอรมนี หรือ “วัดโทจิ” เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

ภาพ : wikipedia.org
โดยส่วนตัวสนับสนุนให้ก่อสร้างตรงจุดเดิม เพราะเป็นตำแหน่งที่ประชาชนคุ้นเคย สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟ รฟท.สายเหนือ และเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนท้องถิ่น เช่น รถสามล้อ-ตุ๊กตุ๊กอยุธยา รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

อีกทั้งด้วยค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-อยุธยา เพียง 195 บาท ไป-กลับเพียง 390 บาท ถูกกว่าเหมาแท็กซี่ ไม่ต้องเจอรถติด ยังไงก็มีคนมาใช้บริการ และยังช่วยกระจายความเจริญออกนอกกรุงเทพฯ

แต่ถ้าต้องย้ายที่ตั้งสถานี ย้ายแนวเส้นทาง ต้องเสียเวลามานั่งนับหนึ่งใหม่แค่เฉพาะช่วงที่เกิดข้อพิพาท ตั้งแต่ทำโครงการศึกษาความเหมาะสม จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำรวจออกแบบ ใช้เวลานานเป็นปี

แถมยังต้องเสียงบประมาณมหาศาล เวนคืนที่ดินชาวบ้านเพื่อทำเส้นทางรถไฟใหม่ เบี่ยงออกไปจากทางรถไฟเดิมที่มีอยู่แล้ว แถมสถานีอยู่ไกลปืนเที่ยง ก็ไม่ตอบโจทย์การเดินทางของผู้คนอีก

จากเดิมที่เสียค่ารถไฟความเร็วสูง ไป-กลับวันละ 390 บาท ก็ต้องเสียค่าเดินทางเพิ่มอีกเป็นร้อยบาท เพื่อไปยังสถานีรถไฟแห่งใหม่ที่อยู่ไกลปืนเที่ยง แบบนี้ใครเขาจะอยากเดินทาง โดยเฉพาะคนที่ต้องเข้า-ออกกรุงเทพฯ เป็นประจำ


และที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองรายหนึ่ง กล่าวบนเวทีเสวนาว่า สร้างทางรถไฟความเร็วสูงอ้อมออกไป ใช้งบประมาณ 18,000 ล้านบาท ก็ยังน้อยกว่างบประมาณของกองทัพที่มีกว่า 200,000 ล้านบาท ตรรกะนี้ใช้ไม่ได้

แม้ไม่ใช่คนอยุธยา แต่ได้มีโอกาสใช้บริการสถานีรถไฟอยุธยาทุกปี ขอสนับสนุนให้ที่ตั้งสถานีอยุธยาอยู่ที่เดิม และเดินหน้าก่อสร้างตามกำหนด เพราะเราเสียเวลากับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนมานานเกือบ 10 ปีแล้ว

สิ่งที่ห่วงใยมากที่สุดก็คือ สถานีอยุธยากำลังถูกลากเข้าไปเป็นประเด็นการเมือง เพราะเมื่อพิจารณาความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาแล้ว ดูเหมือนว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังเยอะเหลือเกิน

อยากให้คนอยุธยาที่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ช่วยกันให้ข้อมูลแก่ประชาชนคนอื่นๆ และรักษาสิทธิของตนเองกันให้มากๆ เพราะบ้านเมืองจะเจริญขึ้นหรือไม่ สุดท้ายคนอยุธยาด้วยกันเองย่อมเป็นผู้กำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น