xs
xsm
sm
md
lg

“หนึ่งทศวรรษของหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ร่วมสร้างโชคชะตาร่วมกันเอเชีย-แปซิฟิก” เสวนาครบรอบ 10 ปีแห่งความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เสวนาครบรอบ 10 ปีแห่งความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ภายใต้หัวข้อ “หนึ่งทศวรรษของหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ร่วมสร้างโชคชะตาร่วมกันเอเชีย-แปซิฟิก” จัดขึ้นโดยศูนย์วิจัย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ไทย-จีน และสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เพื่อสรุปผลงานภาคปฏิบัติของความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และขยายมุมมองสู่วิสัยทัศน์แห่งอนาคต โดยการเสวนาครั้งนี้ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 ณ หอประชุมสถาบันป้องกันราชอาณาจักร และได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานวิจัยแห่งชาติ สถาบันคลังปัญญาเอเชียแปซิฟิก ศูนย์สื่อสารเอเชียแปซิฟิก สำนักสารนิเทศต่างประเทศแห่งประเทศจีน ศูนย์เผยแพร่ความรู้แห่งเอเชียแปซิฟิก สำนักข่าว The Leader Asia หนังสือพิมพ์ Bangkok Today พร้อมด้วยองค์กรคลังปัญญาและสื่อมวลชนหลายแขนง

แขกผู้มีเกียรติที่รับเชิญเข้าร่วมงานเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วย นายหานจื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ดร.วิรุฬห์ พิชัยวงศ์ภักดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน รศ.ดร.โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและนายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน นายยูกิโอะ ฮาโตยามะ อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น นายควอน กีซิก ประธานสมาคมมิตรภาพเมืองเกาหลี-จีน ผศ.ดร.บัวดำ ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ดร.คิน เพียห์ ผู้อำนวยการสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ราชบัณฑิตสภาราชอาณาจักรกัมพูชา และ ดร.แอนโทนี่ ฮาร์ดี นักวิชาการคลังสมองเอเชีย-แปซิฟิก (ประเทศอินโดนีเซีย) รวมถึงสมาชิกสถาบันคลังปัญญา ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ สื่อมวลชน นักธุรกิจ และนักศึกษาต่างชาติที่สนใจในประเด็นหัวข้อเสวนารวม 200 กว่าท่านได้เข้าร่วมงานเสวนาครั้งนี้


ท่านสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้นำเสนอ “ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ในปี ค.ศ. 2013 ซึ่งประกอบด้วย “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” และ “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” จวบจนปัจจุบันได้ครบรอบ 10 ปี และเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา ท่านสี จิ้นผิงได้แสดงปาฐกถาสำคัญในการประชุมผู้นำครั้งที่ 29 เวทีความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (APEC) ที่กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อ “ร่วมมืออย่างสมัครสมานสามัคคี รับผิดชอบอย่างกล้าหาญ สร้างสรรค์ประชาคมร่วมโชคชะตากรรมแห่งเอเชียแปซิฟิก” ซึ่งท่านได้รณรงค์ให้บรรดาประเทศต่างๆ จับมือร่วมกันสร้างสรรค์ “ประชาคมร่วมโชคชะตากรรม” แห่งเอเชียแปซิฟิก นำความเจริญเฟื่องฟูกลับมาสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกครั้ง นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2023 นี้ ท่านสี จิ้นผิงได้กล่าวสุนทรพจน์สำคัญในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ โดยกล่าวว่า เนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งทศวรรษแห่งความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ประเทศจีนเตรียมเป็นเจ้าภาพในการจัดเสวนาระดับสูงในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศครั้งที่ 3 ว่าด้วย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ขอเชิญชวนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์เส้นทางแห่งความผาสุกในระดับทั่วโลกสายนี้ให้มีความกว้างใหญ่และราบรื่นยิ่งขึ้น

ภายใต้สถานการณ์ทั่วโลกที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในรอบศตวรรษ ท่านสี จิ้นผิงได้ใช้ความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์โลกในเชิงลึก นำมาซึ่งการเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้น ก้าวข้ามอุปสรรคทางภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นภูเขาสูงใหญ่หรือเส้นทางที่เดิมมีความยาวไกล ล้วนถูกก้าวข้ามกลายเป็นทางสะดวก ประเทศที่เคยเป็น Land Lock ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็น Hub แห่งการเชื่อมโยงคมนาคมทางบกและทางน้ำ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจอย่างสูงมาสู่ประชาชนหลายๆ ประเทศ นอกจากนั้น การรณรงค์สานประโยชน์ร่วมกันเพื่อคว้าชัยชนะร่วมกัน ทำให้ประเทศต่างๆ ตามแนวเส้นทางหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้พบกับโอกาสใหม่ๆ แห่งการพัฒนา ทำให้ประชาชนที่ในอดีตเคยยากจนข้นแค้น สามารถหลุดพ้นจากความยากจน ก้าวสู่ความมั่งคั่งด้วยความมั่นใจ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวแห่งยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ ทำให้มวลมนุษยชาติมองเห็นอนาคตอันสดใส “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะในระดับทั่วโลกที่ได้รับการตอบรับและต้อนรับอย่างดีจากสังคมสากล ประเทศจีนได้อุทิศภูมิปัญญาแห่งการพัฒนา สร้างคุณูปการสู่สังคมโลก นำมาซึ่งแนวคิดใหม่ในการพัฒนาชาติในเอเชียแปซิฟิก ก่อเกิดเส้นทางคมนาคมขนส่งใหม่ๆ เช่น เส้นทางรถไฟจีน-ลาว เส้นทางรถไฟจาการ์ตา-บันดุง และช่วยให้รถยนต์พลังงานใหม่ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของจีนก้าวเข้าสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่สำคัญ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้สร้างสรรค์ “ประชาคมแห่งโชคชะตากรรมร่วมกันในเอเชียแปซิฟิก” และ “ประชาคมแห่งโชคชะตากรรมร่วมกัน ไทย-จีน” และ “ประชาคมแห่งโชคชะตากรรมร่วมกัน จีน-ลาว” ฯลฯ


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แสดงปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “เอเชีย-แปซิฟิกจับมือกับหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มุ่งสู่ความเจริญรุ่งเรือง โดยกล่าวว่า ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาประเทศต่างๆ จำนวน 150 ประเทศ คิดเป็น 3 ใน 4 ของประชากรโลก หรือถือเป็นครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความเจริญดังกล่าว ข้อริเริ่มนี้นำมาซึ่งโครงการหลายๆ โครงการในภูมิภาค เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐาน สะดวก-รวดเร็ว เป็นช่องทางขยายและกระชับความสัมพันธ์ประเทศจีนและประเทศที่เข้าร่วมอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกับสนับสนุนความต้องการเชื่อมโยงของโลกบนพื้นฐานของความคิดจะต้องเป็นการสร้างประโยชน์ให้กันและกัน ให้โลกก้าวข้ามพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น โควิด-19 หรือ สงครามในยูเครน สร้างโอกาสในการค้าและการลงทุนที่ทุกประเทศมีบทบาทความรับผิดชอบร่วมกันให้การเชื่อมโยงนี้มีการสานต่อไป โดยจะสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ให้ทุกประเทศนั้นบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนร่วมกัน

นายหานจื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่า ผลสำเร็จของ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้หลอมรวมจิตวิญญาณแห่งหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง สรุปประสบการณ์ภาคปฏิบัติและวิเคราะห์วิสัยทัศน์แห่งอนาคต ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้พัฒนาจากพิมพ์เขียวมาเป็นผลงานที่จับต้องได้ และกลายเป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะที่ได้รับการตอบรับด้วยความยินดีสูงสุดในระดับโลก รวมถึงกลายเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือระดับสากลที่ใหญ่ที่สุด นำมาซึ่งการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพพร้อมด้วยประโยชน์อย่างแท้จริงในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นผลสำเร็จที่ประจักษ์ชัด นอกจากนั้น ยังส่งเสริมให้เกิดการประสานงานสร้างความเข้าใจตรงกันในภาครัฐผู้กำหนดนโยบายของชาติ ขับเคลื่อนความร่วมมือในการสร้างความเชื่อมโยงอันเป็นผลสำเร็จที่สำคัญ กระตุ้นความสัมพันธ์ทางการค้าและเชื่อมประสานแหล่งทุน สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันในระดับประชาชนอันนำมาซึ่งความผาสุก “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เป็นผลสำเร็จที่ประเทศต่างๆ ล้วนตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งยังนำมาเสริมกระตุ้นการพัฒนาของประเทศชาติ ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่มุ่งรณรงค์สร้างความร่วมมือแบบ “คว้าชัยชนะร่วมกัน” เพื่อสร้างสรรค์ประชาคมแห่งโชคชะตาร่วมกันแห่งมวลมนุษยชาติ ซึ่งในอนาคต ประเทศจีนจะยังคงยึดมั่นในแนวทางการพัฒนาเช่นนี้อย่างต่อเนื่องและมีความสม่ำเสมอ เน้นการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ ทำให้ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กลายเป็นเส้นทางแห่งความผาสุก และหวังว่าทุกฝ่ายจะยังคงยึดถือฉันทามติ ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีคุณภาพ ขจัดอุปสรรคและคลื่นรบกวนต่างๆ จากภายนอก ช่วยกันสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ให้กลายเป็น “แถบสายแห่งความผาสุก” ต่อไป และร่วมกันอัดฉีดพลังขับเคลื่อนการพัฒนามนุษยชาติสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

ดร.วิรุฬห์ พิชัยวงศ์ภักดี
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน กล่าวว่า จากการพัฒนาของประวัติศาสตร์และความเจริญทางอารยธรรม มนุษยชาติไม่อาจตัดขาดจากแนวความคิดชั้นนำในการขับเคลื่อนการพัฒนาก้าวหน้า ซึ่งคติแนวคิดของท่านสี จิ้นผิงได้เปลี่ยนแปลงโลกอย่างใหญ่หลวง ท่านสี จิ้นผิงในฐานะประธานประเทศจีนได้นำเอาความคาดหวังของประชาชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มุ่งแสวงหาวิถีชีวิตอันดีงาม มาสร้างขึ้นเป็นพันธกิจการเสาะแสวงหาของตน ซึ่งสามารถให้คำตอบต่อประเด็นปุจฉาแห่งยุคสมัย ท่านยังใช้ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ความริเริ่มการพัฒนาในระดับทั่วโลกและคติเชิงทฤษฎีในการสร้างประชาคมร่วมโชคชะตากรรมแห่งมวลมนุษยชาติ มาชี้ทางสว่างให้กับการพัฒนาของสังคมมนุษยชาติ โดยท่านสี จิ้นผิงในฐานะประธานประเทศจีน ได้นำเสนอความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ในปี ค.ศ. 2013 โดยมีเนื้อหามุ่งสร้างความอะลุ้มอล่วยเพื่อสานประโยชน์อย่างถ้วนหน้า มุ่งเอื้อเฟื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันนำไปสู่การคว้าชัยชนะร่วมกัน เป็นแนวคิดเชิงทฤษฎีที่สามารถนำไปสู่การทลายกรอบข้อจำกัดแห่งเกมผลรวมเป็นศูนย์ (Zero Sum game) ช่วยให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกหันมาสร้างเครือข่ายแห่งความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันที่แน่นแฟ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศที่กำลังพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารจัดการหลักธรรมาภิบาลทั่วโลก


รศ.ดร.บัวดำ แสงคำคุดลาวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว กล่าวว่า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ทำให้ประเทศจีนเชื่อมโยงเข้ากับประเทศลาว โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟจีน-ลาวที่ช่วยให้ภาคการคมนาคมขนส่ง ระบบโลจิสติกและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศลาวเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และกำลังจะเชื่อมเข้ากับระบบรถไฟของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ จะก่อเกิดเส้นทางสายทองคำที่เชื่อมโยงพื้นที่ทางบกของทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน เส้นทางรถไฟสายนี้จะสร้างคุณูปการอย่างสูงต่อการพัฒนาภาคเศรษฐกิจของทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศลาวเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นเส้นทางแห่งความภาคภูมิใจสำหรับประเทศลาว ยังจะยกระดับฐานะประเทศลาวจากเดิมที่เป็นพื้นที่ Land Lock กลายเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญหรือ Hub ในระดับเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศลาวเกิดความเจริญก้าวหน้าในทุกๆ มิติ

นายยูคิโอะ ฮาโตยามะ
อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ปัจจุบันมีประเทศและองค์กรระหว่างประเทศรวมแล้วกว่า 100 ประเทศ และองค์กรลงนามเข้าเป็นภาคีความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งทำให้ความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มีบทบาทเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ในระดับโลก สนับสนุนให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างอารยธรรมต่างๆ นำมาซึ่งพลังขับเคลื่อนการพัฒนาของอารยธรรมแห่งมนุษยชาติ จึงเชื่อได้ว่าความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆ ได้พัฒนาสู่ความเจริญรุ่งเรือง

นายควอน กีซิก
ประธานสมาคมมิตรภาพเมืองเกาหลี-จีน กล่าวว่า ในยุคสมัยใหม่ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จะเป็นพลังขับเคลื่อนใหม่ที่ช่วยให้ประเทศต่างๆ ได้รับการฟื้นฟูศักยภาพแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายหม่าไห่หยาง
ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาดบริษัท GAC AION (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า รถยนต์พลังงานใหม่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงการก้าวหน้าสู่ความทันสมัยของประเทศจีน ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสใหม่สำหรับประเทศต่างๆ ตามแนวเส้นทาง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ซึ่งผู้ประกอบการรถยนต์พลังงานใหม่ของประเทศจีนพร้อมที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามเส้นทางสายไหม นำผลสำเร็จในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ของประเทศจีนมาร่วมแบ่งปันกับประเทศต่างๆ บนแถบสายเส้นทาง เพื่อสร้างประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ

รศ.ดร.โภคิน พลกุล
อดีตประธานรัฐสภาและนายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างไทย-จีนได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งคุณภาพสูง โดย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และ “สร้างสรรค์ประชาคมร่วมโชคชะตากรรมแห่งมนุษยชาติ” นั้น ล้วนสอดคล้องกับเจตนารมณ์และความคาดหวังของประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงได้รับการตอบรับอย่างแพร่หลาย


ส่วนนายพิริยะ เข็มพล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้สนับสนุนให้ภาคส่วนเศรษฐกิจการค้า การศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีน เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว สร้างหลักประกันให้ก่อเกิดประชาคมร่วมโชคชะตากรรมไทย-จีนที่มีความมั่นคง เสถียรภาพและยั่งยืน

ดร.คิน เพียห์
ผู้อำนวยการสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ราชบัณฑิตสภาราชอาณาจักรกัมพูชาได้กล่าวว่า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้เสริมกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกัมพูชากับประเทศจีน ทำให้ประเทศกัมพูชาได้รับโอกาสใหม่ๆ อันทรงคุณค่าในการพัฒนาต่อไป ถือเป็นความริเริ่มแห่งวิสัยทัศน์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศชาติและประชาชน ดังนั้นประเทศกัมพูชาจึงพร้อมที่จะจับมือกับประเทศจีนต่อไป เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่องในอีก 10 ปีข้างหน้า

ดร.แอนโทนี่ ฮาร์ดี
นักวิชาการคลังสมองเอเชีย-แปซิฟิก (ประเทศอินโดนีเซีย) กล่าวว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูง จาการ์ตา-บันดุง จะเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมาตรฐานประเทศจีนสายแรกที่เปิดเดินรถอย่างเต็มรูปแบบในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพการพัฒนาภาคคมนาคมขนส่งของประเทศอินโดนีเซีย สร้างความเชื่อมโยงและเสริมพลังขับเคลื่อนการพัฒนาสู่ประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล
ประธานหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า 10 ปีแรกในการขับเคลื่อนภาคปฏิบัติแห่งความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ได้ดึงดูดนักลงทุนชาวจีนมากมายเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย และช่วยให้สินค้าเกษตรของประเทศไทยส่งเข้าไปจำหน่ายในประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จะช่วยเสริมสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาคให้เกิดความแข็งแกร่งแน่นแฟ้น อันจะทำให้ภาคการค้าการลงทุนระหว่างประเทศมีความสะดวกราบรื่นยิ่งขึ้น

การเสวนาในครั้งนี้ยังมีแขกผู้มีเกียรติอีกหลายท่านที่ได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นช่วงปาฐกถาพิเศษและสัมมนาโต๊ะกลม เช่น พล.อ.สุรสิทธ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน คณาจารย์และผู้แทนนักศึกษาจีนจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้เข้าร่วมการเสวนา พร้อมทั้งได้มอบผลงานจิตรกรรมออกแบบของนักศึกษาให้แก่ นายหานจื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เป็นภาพจิตรกรรมที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมสาขาการออกแบบสากลภายใต้ความร่วมมือด้านแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงประจำปี 2022 อันเป็นสัญลักษณ์ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันข้ามอารยธรรม เพื่อร่วมสร้างสรรค์อนาคตที่มีความหลากหลาย







กำลังโหลดความคิดเห็น