xs
xsm
sm
md
lg

“ไม่ต้องเก่ง แต่...ต้องขยัน” ธีระพงษ์ ชูมณี บัณฑิตจาก CIBA-DPU

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดวิธีการเป็นพนักงานเนื้อหอมกับอาชีพท็อปฟอร์มอย่างสาย Logistics ที่กำลังมาแรงปี 2566 องค์กรต่างๆ ล้วนก็ต้องการ กับบัณฑิตจาก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) “ธีระพงษ์ ชูมณี” เจ้าหน้าที่วางแผนขนส่งอาวุโส บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 1 ใน 3 องค์กรชั้นนำของอาเซียนด้าน 'ธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจร'

“ไม่ต้องเก่ง แต่...ต้องขยัน” เป็นห่วงโซ่แห่งคุณค่าที่ไปคล้องความสำเร็จของ “แทน-ธีระพงษ์ ชูมณี” จากนักศึกษาธรรมดาๆ ของ 'หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี' (CIBA-DPU) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แหล่งตู้คอนเทนเนอร์องค์ความรู้บ่มเพาะวิชาธุรกิจ! ที่สามารถทำงานสายตรง ก้าวขึ้นสู่การเป็นเจ้าหน้าที่วางแผนขนส่งอาวุโส (Senior Transport Planner) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรที่มั่นคงและมีสวัสดิการดีที่สุดแห่งหนึ่ง


Port of Loading ความสำเร็จ

'โลจิสติกส์' เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะแก่การเป็น Hub ของภูมิภาค ถึงแม้ว่าต้องเผชิญกับความท้าทายของโรคระบาดอย่างโควิด-19 แต่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์กลับเติบโตสวนทางอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และคาดว่ายังคงโตต่อเนื่องแบบก้าวกระโดด 3-4 เท่า ด้วยการเติบโตของตลาด E-commerce ที่เพิ่มสูงขึ้น กระแสการท่องเที่ยวและค้าขายที่เติบโตขึ้นหลังโควิด-19 และด้วยแผนปฏิบัติการด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทยของสภาพัฒน์ในปี 2566-2570 ที่เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน EEC เช่น รถไฟรางคู่ สนามบินอู่ตะเภา และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ส่งให้ประเทศไทยมีโอกาสเป็น 'Hub ศูนย์กลาง' ประตูสู่อาเซียน

“สิ่งที่นักศึกษาหรือผู้ที่ทำธุรกิจด้านโลจิสติกส์ควรจะใส่ใจเป็นพิเศษ คือ นวัตกรรมเรียนรู้ให้เท่าทันโลกอยู่เสมอ ติดตามข่าวสารอย่างใน 'LogisticsTime Magazine' และที่สำคัญต้องใช้นวัตกรรม AI ให้เป็น จากนั้นต้องเข้าถึงการใช้ Big Data เพื่อจัดเก็บบันทึกข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และรู้จักการนำ Data มาวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับต่อยอดธุรกิจพร้อมกับดำเนินธุรกิจไปในทิศทางที่ให้ถูกต้องได้ดี” แทน-ธีระพงษ์ ชูมณี เริ่มเล่าถึงสิ่งที่อยากฝากบอกน้องๆ ที่สนใจเรียนด้านโลจิสติกส์

สำหรับสิ่งที่อยากจะบอกต่อไป สำหรับน้องๆ ที่สนใจทำงานในองค์กรใหญ่ๆ ที่เป็นมืออาชีพ “จากประสบการณ์ องค์กรส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญต่อการคัดเลือกรับพนักงานใหม่ ซึ่งสิ่งที่ต้องการคือ คนที่มีความอดทนและรับแรงกดดันได้ดี ทั้งจากเนื้องานหรือหัวหน้าและพนักงานด้วยกัน เพราะไม่มีงานไหนไม่กดดัน แต่เด็กบางคนมาทำงานได้ไม่ถึงเดือนก็ลาออกกันแล้ว ความสามารถก็ไม่ทันได้แสดง แต่ถ้ามีความอดทนมีภาวะรับแรงกดดันได้ดี ต่อให้ยังไม่เก่ง แต่เราสามารถสร้าง พัฒนา และสามารถเรียนรู้กันได้”

“อีกจุดหนึ่งที่องค์กรต้องการมาก ในการมองดูหาพนักงานใหม่ คือ จะหาคนที่ใฝ่รู้ ชอบพยายามหาความรู้ รักในการพัฒนาตนเองให้เกิดความรอบรู้ เพราะอุปนิสัยตรงนี้จะหล่อหลอมให้กลายเป็นคนที่เก่ง และมองกว้าง อย่างแก่นของงานด้านโลจิสติกส์ หากมองอย่างกว้างคือ เข้าใจหน้าที่และความหมาย Supply Chain คือการเป็นผู้ประสานส่วนต่างๆ ทุกแผนกของบริษัทให้ไม่เกิดปัญหา ต้องรู้จักไกล่เกลี่ยให้งานเดินไปได้ข้างหน้าโดยสำเร็จ ไม่ใช่หาปัญหาหรือความคิดในแง่ลบมาใส่กัน งานโลจิสติกส์ก็จะสนุกและง่าย ทำโปรเจกต์อะไรก็ออกมาดี”


เลือกตู้ Container องค์ความรู้ให้ถูก

ก่อนที่จะมาเป็นเจ้าหน้าที่วางแผนขนส่งอาวุโสของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ธีระพงษ์เป็นเด็กต่างจังหวัดจาก จ.สุราษฎร์ธานี ฐานะปานกลาง คุณพ่อเป็นนักการพยาบาล คุณแม่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป จนกระทั่งปี 2550 ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ หลังการฟื้นตัวของวิกฤตต้มยำกุ้ง ธีระพงษ์ได้รับความรู้จากครูที่โรงเรียนว่าสายงานนี้เป็นอาชีพแนวใหม่ที่เติบโต และยั่งยืนแน่นอน ซึ่งแต่เดิมคนทั่วไปจะไม่รู้จักอาชีพด้านนี้ ส่วนมากรู้จักแต่อาชีพจำพวก ครู หมอ รับราชการ ค้าขาย

“กระแสโลจิสติกส์ตอนนั้นแรงมาก ครูแนะแนว และครูที่โรงเรียนต่างก็บอกว่าเป็นอาชีพที่เรียนแล้วรุ่งแน่ๆ ผมก็เลยศึกษาว่ามันคืออะไร ทีนี้ศึกษาไปศึกษามา ผมรู้สึกชอบอยากทำอาชีพด้านโลจิสติกส์ เพราะมันเปรียบเสมือน 'กล้ามเนื้อ' ขององค์กรทำหน้าที่พยุงกระดูก และส่งเสริมอวัยวะภายในร่างกายเพื่อให้เราเคลื่อนไหวได้ โดยในภาคของธุรกิจ งานด้านโลจิสติกส์ เป็นผู้บริหารกำหนดชี้วัดการเติบโต ฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย ก็ทำหน้าที่เต็มที่ของเขา เราก็ต้องทำหน้าที่ของเรา ให้ของไหลไปถูกที่ ถูกเวลา ด้วยต้นทุนที่ดีที่สุด ลดการเสียแรงให้น้อยที่สุด พอเราสามารถกระจายสินค้าไปหากลุ่มลูกค้าได้ดีที่สุด ก็จะนำมาซึ่งกำไรให้กับองค์กร” แทน-ธีระพงษ์ เล่าที่มาและความเข้าใจในด้านโลจิสติกส์

“ถือว่าได้ทำงานที่ชอบรู้สึกสนุก ตอนนี้อายุ 33 ปี หน้าที่ความรับผิดชอบก็เกินความคาดหมายของผมมาก ไม่คิดว่าเราจะมาไกลขนาดนี้ เราเด็กต่างจังหวัดเรียนจบใหม่ ด้วยความรู้ที่อาจารย์มอบให้ทำให้ได้มาทำงานในบริษัทระดับต้นๆ อย่างที่ฝัน ผมดีใจและภูมิใจสุดๆ ขึ้นไปอีก ก่อนหน้านี้เราก็ได้ทุนเรียนต่อปริญญาโทอีกด้วย”

"ผมถึงได้ชอบโลจิสติกส์ เพราะสิ่งนี้ทำให้เรามาในจุดที่มั่นคงขึ้น และอีกมุมหนึ่งก็ทำให้นึกถึงคำพูดคุณพ่อที่ว่า ... ให้ลูกขยัน ลูกไม่จำเป็นต้องเก่ง... ซึ่งก็ตรงกับกระบวนการทางโลจิสติกส์ ที่เน้นการปรับปรุงไปเรื่อยๆ ให้ดีที่สุด ไม่ได้ต้องดีตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มทำ การที่นำความรู้ ประสบการณ์ มาเผยแพร่ พัฒนา และส่งต่อ ไม่ว่าให้กับทีมงานหรือบอกกับน้องๆ ให้สร้างงานและสร้างชีวิต ล้วนเป็นเรื่องที่ดี"

สำหรับเป้าหมายส่วนตัว ธีระพงษ์บอกว่า “เป้าหมายแรกคือการเปิดธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะเครื่องดื่มให้กับครอบครัว และ เป้าหมายที่สองคือ พัฒนาตัวเองเพื่อก้าวต่อไปในองค์กร พร้อมทั้งนำความรู้ที่มี เอาไปแนะนำคนรุ่นใหม่ที่อยากเพิ่มความรู้เรื่องของสายงานโลจิสติกส์ ให้เขานำความรู้ไปสร้างชีวิต พัฒนาต่อยอดตัวเองแบบที่เราเคยได้มาวันนี้ เพื่อดูแลครอบครัว”


คณาจารย์ 'CIBA' ห่วงโซ่แห่งคุณค่า...ผู้กล้าทุ่มเท

เบื้องหลังความสำเร็จที่เป็นส่วนสำคัญนอกจากความรักในการเรียนรู้และเข้าใจประยุกต์ประสบการณ์ ก็คือ อาจารย์ในรั้ววิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี หรือ CIBA-DPU ที่คอยซัปพอร์ตและใส่ใจดูแล โดยเฉพาะ “ดร.รชฏ ขำบุญ” คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี DPU

“การที่ผมมีวันนี้ได้ต้องขอบพระคุณอาจารย์รชฏ ท่านเป็นต้นแบบและหล่อหลอมผมขึ้นมาให้เต็มที่กับการทำงาน ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ได้รู้จักท่าน ท่านไม่เปลี่ยนไปเลยวันนั้นจนวันนี้ เป็นคนกระตือรือร้นมาก ซัปพอร์ตนักศึกษาอยู่ข้างหลังตลอด คำว่า ลุย-อย่าไปกลัว-ผมซัปพอร์ต เป็นคำที่นักศึกษาได้ยินประจำ ท่านไม่เคยทอดทิ้งนักศึกษาทุกคน เพื่อนผมก็ได้อาจารย์ท่านเซ็นจดหมายรับรอง (Letter of Recommendation) เพื่อเรียนต่อต่างประเทศ” ธีระพงษ์เล่าความประทับใจ

ธีระพงษ์บอกว่า แม้กระทั่งตอนเรียนระดับ ป.โท ซึ่งท่านไม่ได้สอน แต่ก็ยังได้รับข้อความทักถามผ่านเฟซบุ๊กมาถามว่า “เป็นยังไงบ้าง?” และ “มีอะไรให้ช่วยบอกเลยนะ” เรียกว่าไม่เก็บเงินคิดเงินค่าที่ปรึกษาอีกด้วย

“อาจารย์จะเป็นคนที่ความคิดใหม่ตลอดมาบอกเรา ตั้งแต่เรียน ก็จะแนะนำให้เราทำแบบนั้นสิ ทำอย่างนี้กันดีกว่า อย่างล่าสุดก็เพิ่งทักมาแชร์เรื่องของ Data Analysis การวิเคราะห์ข้อมูลในโลจิสติกส์ขนส่ง เหมือนตอน 9 ปีที่แล้วก็เคยสอนเรื่อง Blockchain เทคโนโลยีว่าด้วยระบบการเก็บข้อมูล ซึ่งตอนนั้นมาใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นต้นแบบชีวิตผมในทุกวันนี้ ที่ทุกวันนี้เวลาทำงาน ผมจะคิดว่าไม่ได้ทำงาน ผมคิดว่าผมมาหาความรู้ใหม่ๆ”

“ซึ่งความรู้ใหม่ๆ ที่ว่า หลังจากที่วันนี้ได้เข้ามาเยี่ยมและให้สัมภาษณ์ที่วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี หรือ CIBA-DPU พบว่าปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย ตั้งแต่ การใช้เกมจำลองธุรกิจ Monsoon Business Simulation ที่ให้เห็นกระบวนการทางธุรกิจผ่านการเล่นเกม, การเขียนและพัฒนาระบบธุรกิจ (ERP) ด้วยโปรแกรม Odoo, การเสริมความชำนาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูล หรือ Data Analytics จนนำไปสู่การตัดสินใจทางธุรกิจในด้านต่างๆ เช่น การลดปริมาณสินค้าคงคลัง การจัดเส้นทางการเดินรถที่ทำให้ประหยัดที่สุด (Supply Chain Design and Optimization) รวมถึงการศึกษาดูงานกับบริษัท Partner ในด้านต่างๆ เช่น ระบบอัตโนมัติในคลังสินค้า ระบบติดตามรถขนส่ง เป็นต้น”

ธีระพงษ์เล่าสรุปถึงหลักสูตรด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของรุ่นน้องๆ DPU ในปัจจุบันนี้ว่า “หลักสูตรที่น้องเรียนอยู่ เป็นหลักสูตรที่ทันสมัย มีการนำเทคโนโลยีได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติ และมีเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยให้น้องๆ เข้าใจหลักการและแนวคิดได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงทางหลักสูตรก็เน้นการนำโจทย์การทำงานและสถานการณ์จริงมาให้น้องๆ ได้ฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประสบการณ์ และจะสามารถนำไปต่อยอดในอาชีพด้านโลจิสติกส์และซัปพลายเชนในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่นต่อไป”








กำลังโหลดความคิดเห็น