ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมเป็นวิทยากรในการอบรม “การใช้งานเทคโนโลยี 5G ผ่านประสบการณ์จริง” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการกระตุ้นระบบนิเวศ 5G ให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เชิงพาณิชย์ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เมื่อวันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานการจัดอบรมได้ระบุว่า การบรรยายในงานครั้งนี้มีทั้งหมด 4 หัวข้อหลัก ได้แก่
1. Now and Tomorrow เทคโนโลยี 5G ในปัจจุบันและอนาคต โดยคณะที่ปรึกษาโครงการ คุณจักรกฤษณ์ สังกิตติวรรณ์ ที่ได้พูดถึงการพัฒนาในปัจจุบัน-อนาคตของเทคโนโลยี 5G การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G
2. การแสดงโครงการที่มีการประยุกต์ใช้ 5G ในชีวิตประจำวัน ผ่านโครงการนำร่อง Smart Campus ด้วยเทคโนโลยี 5G และการจำลองการใช้งาน AR/VR ในการเข้าร่วมเข้าห้องเรียนออนไลน์ โดย อาจารย์สัญญา เศรษฐพิทยากุล ผศ.ดร.วิลาวัลย์ อินทร์ชำนาญ และ ผศ.บัญญพนต์ พูลสวัสดิ์ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)
3. การแสดงโครงการเทคโนโลยี 5G กับการขับเคลื่อนในการประยุกต์ใช้งานด้านขนส่งมวลชน ด้านสุขภาพ และอุตสาหกรรม โดย คุณนพปฎล ประเสริฐ Product Manager - 5G Solution บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
4. การแสดงโครงการเทคโนโลยี 5G ในภาคธุรกิจ โดย คุณนวชัย เกียรติก่อเกื้อ หัวหน้าส่วนงานการตลาดลูกค้าองค์กรและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
อาจารย์สัญญา เศรษฐพิทยากุล ผู้ช่วยรองอธิการบดีสำนักดิจิทัลการศึกษาและบริการ ในฐานะ Chief Information Office (CIO) ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า “เทคโนโลยี 5G นอกจากจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมไทยในภาคส่วนต่างๆ ด้วย
โดย DPU ได้รับเลือกให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ดำเนินการโครงการนำร่อง เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ในภาคการศึกษา ตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ซึ่งนอกจากจะมีการพัฒนา Intelligent Hybrid Classroom ที่เป็นต้นแบบ สำหรับการสนับสนุนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning พร้อมทั้งมี AI มาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ Learning Engagement แล้ว DPU ยังให้ความสำคัญต่อการสร้างบรรยากาศให้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเป็น Living Lab หรือห้องปฏิบัติการที่มีชีวิต เพื่อให้คณาจารย์และนักศึกษาสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยี 5G ที่มีคุณค่า สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ก่อนจะขยายผลไปสู่การสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างต่อไป”
ทั้งนี้ ในการจัดฝึกอบรม DPU ยังได้นำเสนอและเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมได้ทดลองใช้งาน Virtual Learning Space ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรม 5G ที่ได้พัฒนาขึ้น โดยคณาจารย์และนักศึกษาจากวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี ซึ่งนับเป็นประสบการณ์จริงในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมต้นแบบ (Prototype) ที่ตอบโจทย์ความต้องการ และได้รับการขยายผลต่อยอด โดยจัดตั้งเป็น บจก. D Gizmo เพื่อให้บริการออกแบบและจัดทำ VR/AR Content ให้กับภาคส่วนต่างๆ ต่อไป