ก่อนที่ทรัพยากรโลกจะหมด ก่อนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นจะส่งผลต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมทุกมิติที่มากกว่าปัจจุบันนี้ อนาคตการร่วมมือสร้างความยั่งยืนจึงถูกหยิบยกเป็นวาระสำคัญร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนความเจริญควบคู่กับแนวทางความยั่งยืนให้ได้มากที่สุด
สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ก.ค. Forbes Forum 2023 ระดมเหล่า Next Tycoon นักธุรกิจคนรุ่นใหม่ และตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมเสวนาทิศทางในการดำเนินธุรกิจที่ยึดโยงแนวทางความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญระดับโลก โดยหนึ่งในไฮไลต์ของงานคือเวทีเสวนา หัวข้อ “Sustainable City: Driving Urban Innovations for a Resilient Future”
Sustainability ต้องปลูกฝังตั้งแต่ภาคการศึกษา
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ Chairman of the Board of Governors, Wellington College International School Bangkok ระบุว่า ฉากทัศน์แรกในการสร้างความตระหนักรู้และการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนคือ “การปลูกฝังแนวคิด” ให้กับเยาวชนตั้งแต่ภาคการศึกษาทั้งระดับโรงเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัย ต้องสร้างสังคมสิ่งแวดล้อม และ “คอมมูนิตี้” ที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ เข้าใจเรื่องความยั่งยืนไปพร้อมกับการเติบโต
“นอกจากหลักสูตรที่มีการสอดแทรกเรื่อง Sustainability ในหลากหลายมิติ สภาพสังคมสิ่งแวดล้อมและคอมมูนิตี้ของโรงเรียนก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะทุกสิ่งจะไม่เกิดผลลัพธ์หากเด็กไม่เห็นภาพ หรือไม่เห็นว่าสำคัญและเกี่ยวกับกับตัวเองอย่างไร ฉะนั้น Synergy for Sustainability เราต้องทำให้ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน จับมือร่วมกันผ่านโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน”
สำหรับโรงเรียน Wellington College นอกจากหลักสูตรและการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและคอมมูนิตี้แล้ว ได้มีการทำงานกับองค์กรภายนอกอย่างองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ในการขับเคลื่อนการบูรณาการการเรียนรู้และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับโรงเรียน เช่น โครงการ Eco-Schools ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ มีส่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับวิธีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม
หรือโครงการร่วมพัฒนาคุณภาพโรงเรียนที่มีอยู่จำนวนมาก หรือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งในปีการศึกษา 2566 จะมีการต่อยอดไปสู่การนำครูผู้ช่วย (TA) และนักเรียนได้ลงพื้นที่ช่วยสนับสนุนกิจกรรมหรือสนับสนุนการเรียนรู้ของน้องๆ ในโรงเรียนเหล่านั้น นอกจากจะช่วยยกระดับองค์ความรู้ให้โรงเรียนด้อยโอกาส จะทำให้เด็กๆ ในโครงการได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น
ส่วนในระดับมหาวิทยาลัย นอกจากแง่มุมเนื้อหาทางวิชาการ ยังต้องสร้าง Mindset ของบัณฑิตสำหรับการทำงานในอนาคต เพราะตอนนี้ทุกองค์กรทั่วโลกตื่นตัวอย่างมากกับเรื่อง Sustainability ขณะนี้โปรเจกต์ต่างๆ ที่ให้นักศึกษาทำจำเป็นต้องมีกรอบ 1 ใน 17 เป้าหมาย SDGs อยู่ในนั้น สิ่งเหล่านี้จะสร้างคุณลักษณะให้พวกเขาคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตลอดเวลา ไม่ว่าเขาจะทำอะไรต่อไปในอนาคตของสถานะการเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและโลก เหมือนต้นไม้ที่เมื่อเติบโตจากการเพาะกล้าเล็กๆ ที่แข็งแรงก็จะเติบโตสมบูรณ์และขยายกิ่งก้านสาขาในลำดับถัดมาเมื่อก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานแบบมี “คุณภาพและคุณธรรม”
ล้อมกรอบความสำเร็จ “Net Zero” ได้ เมื่อ...หัวใจดวงเดียวกัน
ดร.ดาริกา กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนเรื่อง Sustainability ให้สำเร็จจำเป็นต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม การเงิน การศึกษา และภาคสังคม โดยทุกองค์กรต้องวางแนวปฏิบัติ ร่วมกันสร้างสังคมสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนมีหัวใจที่ตระหนักเรื่องความยั่งยืน คิดและทำทุกอย่างโดยนึกถึงเป้าหมายระยะยาวและความยั่งยืนเป็นสำคัญ
ตรงกับ คุณประธานพร พรประภา Chief Executive Officer, Rêver Automotive หนึ่งในบริษัทผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า 100% (EV) ที่คำนึงถึงความยั่งยืนตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ โดยได้ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 1,500 ตัน จากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า 15,000 คันที่วิ่งบนถนนในเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
“ทุกห่วงโซ่อุปทานต้องพร้อม ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรร่วมมือกันในการสร้างความพร้อมนำสังคมไปสู่ความยั่งยืนในการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด สิ่งที่เราทำจึงไม่ได้มองเพียงรถยนต์ไฟฟ้า ต้องรวมไปถึง Ecosystem ของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วย”
และไม่ใช่แค่เทรนด์ ทว่าคือ “สิ่งที่ต้องทำ” และต้องร่วมมือกัน โดย รศ.ดร.อภิชาต ประดิษฐสมานนท์ Vice President Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) by MQDC กล่าวว่า ความตื่นตัวเรื่องความยั่งยืนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจะเห็นได้จากการคำนึงและดำเนินอยู่เสมอและตลอดเวลาในการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างคุ้มค่า เช่น Reduce, Reuse และ Recycle เพื่อแก้ไขมลพิษที่เกิดขึ้นมหาศาลของภาคอุตสาหกรรมธุรกิจ ไม่ใช่แค่การรณรงค์เพียงอย่างเดียว แต่เกิดการลงมือทำแบบรูปธรรม อาทิ โครงการพัฒนาอสังหาฯ ขนาดใหญ่อย่าง Forestias ออกแบบการปลูกป่าขนาดใหญ่ในเมืองตอบโจทย์ความยั่งยืนตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบโครงการ
ขณะที่ภาคการเงิน สถาบันการเงินหลายแห่งหันมาให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน โดยเฉพาะธนาคารยูโอบี ซึ่งคุณพนิตศนี ตั๊นสวัสดิ์ Executive Director Corporate Banking, UOB Thailand ได้อธิบายสมทบว่า ทิศทาง Synergy for Sustainability ของประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ได้จากการที่สถาบันทางการเงินให้ความสำคัญเรื่อง Green Loan
“สถาบันการเงินคือเส้นเลือดใหญ่ของธุรกิจ เราจึงให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยผู้ประกอบการรายเล็กหรือใหญ่ ซัพพลายเชน ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต รวมถึงการจำหน่าย ซึ่งจะทำให้เรามุ่งสู่ Net zero ในปี 2050”