เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า (ECST) โต้เครือข่ายเอ็นจีโอต้านบุหรี่ ยกสวีเดนเป็นกรณีตัวอย่างประเทศที่มีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำที่สุดในยุโรป ตอกย้ำความสำเร็จแนวทางการลดอันตราย (Harm Reduction) หลังเครือข่ายเอ็นจีโอและแพทย์ของไทยพยายามกดดันรัฐบาลใหม่คงการแบนบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมอ้างกรณีค่ารักษาคนป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาซึ่งนำมาใช้เปรียบเทียบไม่ได้
จากกรณีที่เครือข่ายรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าได้กล่าวอ้างถึงข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายรักษาสุขภาพของผู้ที่ป่วยจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกานั้นและเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่คงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าไว้ต่อไป เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) และเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน ได้ระบุว่า “ผลวิจัยและผลการศึกษาจากหน่วยงานสาธารณสุขชื่อดังทั่วโลกต่างก็สนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนจากการสูบบุหรี่มวนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ ซึ่งก็จะส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลด้วยเช่นกัน ดังเช่นประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศที่อัตราการสูบบุหรี่ลดลงจากร้อยละ 15 ในปี 2551 เหลือเพียงร้อยละ 5.6 ในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นประเทศที่มีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำที่สุดในยุโรปและเข้าใกล้การเป็นประเทศปลอดควันบุหรี่มากที่สุด ในขณะที่ประเทศไทยยังอยู่ที่ร้อยละ 17.4 ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และพลาดเป้าการลดอัตราการสูบบุหรี่ตามแผนยุทธศาสตร์ยาสูบชาติมาแล้ว 2 ครั้ง นอกจากนี้ ในปัจจุบันสวีเดนมีอัตราการเกิดโรคมะเร็งต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปถึงร้อยละ 41 ขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของยุโรปถึงร้อยละ 39” นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากล่าว
“ตัวเลขดังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำเร็จของการนำแนวทางการลดอันตรายมาปรับใช้เพื่อช่วยลดภาระค่ารักษาพยาบาลและอัตราการเสียชีวิตจากยาสูบของสวีเดน ซึ่งเป็นแนวทางที่หน่วยงานสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ นิวซีแลนด์ หรือแคนาดา นำมาใช้เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ในประเทศ” นายอาสากล่าว
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายฯ อีกราย กล่าวว่า “การลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ถือเป็นกลยุทธ์ด้านสาธารณสุขที่มีเป้าหมายในการลดผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่สำหรับผู้ที่ยังจะสูบบุหรี่ต่อไปแม้ทราบถึงอันตรายต่างๆ เช่น เปลี่ยนจากการสูบบุหรี่มวนซึ่งมีการเผาไหม้ ไปใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือนิโคตินทดแทนซึ่งไม่มีการเผาไหม้ หลายประเทศทั่วโลกล้วนสนับสนุนแนวทางนี้เพื่อสุขภาพประชาชน แต่ในปัจจุบันเป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งที่เครือข่ายเอ็นจีโอและหน่วยงานสาธารณสุขในไทยปิดกั้นผู้สูบบุหรี่กว่า 9.9 ล้านคนจากทางเลือกเหล่านี้ และยังให้ข้อมูลเชิงลบด้านเดียวแก่สังคมมาโดยตลอด”
นายมาริษกล่าวเสริมอีกว่า “รายได้ภาษีจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสมการเท่านั้น การปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้าไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มรายได้ภาษีให้แก่ประเทศ แต่ยังช่วยควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ช่วยให้มีกฎหมายและข้อบังคับที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และช่วยลดผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ในไทย ปัจจุบันมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการแบนบุหรี่ไฟฟ้าไม่เพียงแต่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษี ผู้ใช้ต่างก็ต้องเสาะหาผลิตภัณฑ์ทางเลือกเหล่านี้ผ่านช่องทางผิดกฎหมาย ซึ่งผลิตภัณฑ์ใต้ดินเหล่านั้นไม่มีการตรวจสอบคุณภาพว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ไม่มีการตรวจสอบว่าผู้ซื้อเป็นใคร อายุเท่าไหร่ และที่สำคัญถ้าการแบนมันได้ผลจริงทำไมออกมาโวยวายกันว่าเด็กและเยาวชนใช้กันเต็มไปหมด”
“ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง เราขอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาการปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้า โดยอิงจากหลักฐานและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และพิจารณาผลกระทบให้ครบถ้วนทั้งในแง่มุมของรายได้ภาษี สุขภาพประชาชน สิทธิผู้บริโภค การควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการปกป้องเด็กและเยาวชน เพราะเราเชื่อว่าการมีกฎหมายควบคุมเข้มงวดดีกว่าการห้ามอย่างสิ้นเชิงที่ทำให้เกิดธุรกิจใต้ดินขนาดมหาศาลและไม่สามารถควบคุมได้จริง”
อ้างอิง: Tobacco harm reduction: Sweden’s experience and lessons for Nigeria - Punch Newspapers https://punchng.com/tobacco-harm-reduction-swedens-experience-and-lessons-for-nigeria/