xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์รามาฯแนะรบ.ใหม่ปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าจริงจัง หลังตัวเลขเยาวชนสูบพุ่งขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพทย์รามาฯ ห่วงเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่ม แนะรัฐบาลใหม่ เร่งให้ความรู้ ปราบปรามจริงจัง หวั่นซ้ำรอยอังกฤษพบเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าพุ่ง 3 เท่าจาก 8% เป็น 24% ในรอบ 5 ปี

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 66 รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยติดตามและเฝ้าระวังอุตสาหกรรมยาสูบ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ผลสำรวจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าปัจจุบันมีเยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 9.1% โดยสูบตามเพื่อนสูงถึง 92.2% และยังมีเยาวชนอีกจำนวนมากที่มีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะกรณีบุหรี่ไฟฟ้าแบบพอดใช้แล้วทิ้ง ที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามีสารเสพติดนิโคตินในปริมาณที่สูงถึงขั้นอันตราย และมีการจำหน่ายแบบผิดกฎหมายในไทย โดยเฉพาะชนิดที่สูบได้ถึง 5000 พัฟฟ์ มีนิโคตินสูงเทียบเท่าบุหรี่ธรรมดาถึง 20 ซอง หรือ 400 มวน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น เป็นผลจากกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจยาสูบที่พุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนโดยตรง ทั้งนี้ นิโคตินเป็นสารเคมีอันตรายเพียงแค่ 1 ซีซี ก็ทำให้เด็กเล็กเสียชีวิตได้

รศ.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า จากรายงานการสำรวจแนวโน้มการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนจากชุดข้อมูลสำรวจเพื่อประเมินผลนโยบายควบคุมยาสูบระหว่างประเทศ (International Tobacco Control Policy Evaluation Project : ITC) โดยมหาวิทยาลัยวอร์เตอร์ลู แคนาดา สำรวจเยาวชนอายุ 16-19 ปี รวม 104,467 คน ใน 3 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2560-2565 โดยผลการศึกษาพบข้อมูลการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนอังกฤษที่พุ่งสูงขึ้นจนถึงขั้นวิกฤต ดังนี้ 1.อัตราการสูบบุหรี่ธรรมดาในเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นจาก 16% เป็น 21% 2.เยาวชนมีแนวโน้มสูบบุหรี่ธรรมดาหนักขึ้นคือ สูบบุหรี่ธรรมดาอย่างน้อย 20 วันในรอบ 1 เดือน เพิ่มขึ้นจาก 4.3% เป็น 8.9% 3.อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนเพิ่มจาก 8% เป็น 24% 4.เยาวชนมีแนวโน้มสูบบุหรี่ไฟฟ้าหนักขึ้นคือ สูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างน้อย 20 วันในรอบ 1 เดือน เพิ่มขึ้นจาก 1.5% เป็น 7.9% 5.เยาวชนมีแนวโน้มใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบรวมทุกประเภทเพิ่มขึ้นจาก 22% เป็น 36%

รศ.พญ.เริงฤดี กล่าวอีกว่า 6.เยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 19% ขณะเดียวกันเยาวชนที่สูบบุหรี่ธรรมดาอยู่แล้ว มีแนวโน้มเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าลดลง 7.บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เยาวชนเสพติดนิโคตินหนักกว่าบุหรี่ธรรมดา พบสัดส่วนของเยาวชนที่ต้องสูบบุหรี่ไฟฟ้าภายใน 1 ชั่วโมงหลังตื่นนอนถึง 47% 8.เยาวชนส่วนใหญ่ 80% สูบบุหรี่ไฟฟ้ารสชาติผลไม้ 9.เยาวชนที่รู้สึกว่าตัวเองติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 31% เป็น 57% 10.อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าแบบพอดใช้แล้วทิ้ง (disposable pod) เพิ่มขึ้นจาก 9% เป็น 67% ทั้งนี้ คาดว่าเป็นผลมาจากรัฐบาลอังกฤษมีท่าทีสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยมักจะถูกเครือข่ายธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ายกมาเป็นตัวอย่างให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทย ซึ่งจากข้อมูลสำรวจชุดนี้พบว่าอัตราการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนอังกฤษมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นช่วงปี 2560-2565 ดังนี้


ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ข้อมูลจากการสำรวจยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถถูกจำกัดการใช้เฉพาะผู้ใหญ่ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ตามที่เครือข่ายธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ามักกล่าวอ้าง แต่ถือเป็นสิ่งเสพติดใหม่ที่พุ่งเป้าไปที่เยาวชนโดยตรง แม้ในอังกฤษที่ถือว่ามีมาตรการควบคุมและการบังคับใช้กฎหมายดีกว่าไทยก็ยังล้มเหลว ปัจจุบันนานาประเทศแสดงออกถึงท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าของอังกฤษ เพราะนอกจากจะทำให้ส่งผลกระทบทำให้เยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแล้ว ยังถูกเครือข่ายล็อบบี้ยิสต์บุหรี่ไฟฟ้านำไปอ้างเพื่อแทรกแซงนโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศต่าง ๆ

“ในไทยมีกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามักยกอังกฤษเป็นข้ออ้างและบิดเบือนข้อมูลผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง ในการเข้าให้ข้อมูลแก่ ฝ่ายบริหาร ผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ในสภาผู้แทนราษฎร จึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ ให้พิจารณาข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบคอบ พร้อมทั้งให้รับคำแนะนำจากองค์กรด้านสุขภาพระดับโลกอย่างองค์การอนามัยโลก ที่สนับสนุนให้ไทยคงมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป พร้อมเพิ่มมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็งสกัดการเข้าถึงของเยาวชนและเร่งให้ความรู้โทษพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างกว้างขวาง องค์การอนามัยโลกเพิ่งรายงานว่าปัจจุบันประเทศที่แบนบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 37 ประเทศจาก 32 ประเทศเมื่อปี 2564” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ข้ออ้างของฝ่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าที่ให้ยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้รัฐเก็บภาษีได้ เป็นข้ออ้างที่ถูกปฏิเสธโดยองค์การอนามัยโลก โดยยืนยันว่ารายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้ามีจำนวนเล็กน้อยไม่คุ้มค่ากับการที่เด็กและเยาวชนจำนวนมากต้องเข้ามาเสพติดนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้สูญเสียคุณภาพชีวิต รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่มีขึ้นในอนาคต และหากต้องการภาษีจากบุหรี่ไฟฟ้ามาก ๆ หมายถึงต้องมีเด็กและเยาวชนเข้ามาติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ดังนั้นถ้ารัฐบาลอยากได้รายได้เพิ่มจากภาษีแนะนำว่าให้ไปขึ้นภาษีบุหรี่ธรรมดา รวมทั้งยาเส้นที่มีวางขายในตลาดอยู่แล้วจะดีกว่าเพราะนอกจากรายได้จะเพิ่มแล้วช่วยลดการบริโภคยาสูบได้ด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น