"หมอประกิต" เตือนรัฐบาลใหม่ อยากได้ภาษีจากบุหรี่ไฟฟ้า ต้องตอบคำถาม จะเอาสุขภาพของประชาชนหรือจะเอาเงิน หวั่นซ้ำรอยสหรัฐฯ หลังงานวิจัยชี้ค่ารักษาคนป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าพุ่งปีละ 5 แสนล้านบาท
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ศ.นพ ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า มีข้อมูลงานวิจัยค่าใช้จ่ายรักษาสุขภาพของคนที่ป่วยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำ Tobacco Control เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2563 โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ ได้สำรวจค่าใช้จ่ายรักษาสุขภาพของคนที่ป่วยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐฯ โดยใช้ข้อมูลสำรวจระหว่างปี 2558-2561 ในคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป โดยค่ารักษาพยาบาลรวมถึง การนอนรักษาในโรงพยาบาล การไปตรวจที่ห้องฉุกเฉินที่คลินิกแพทย์ และการเยี่ยมไข้ที่บ้าน ผลวิจัยพบค่าใช้จ่ายทางสุขภาพคนป่วยจากการสูบบุหรี่รวม 15 พันล้านดอลลาร์ต่อปี (525,000 ล้านบาท)
"คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่ายรักษาสุขภาพมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ 2,024 ดอลลาร์ต่อปี (70,840 บาท) ทั้งนี้ ไม่นับรวมเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กนักเรียน เท่ากับ 20.8% ในปี 2561 ขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป เท่ากับ 3.7%" ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูลวิจัยนี้ เพื่อให้รัฐบาลที่จะมีการตั้งขึ้นใหม่รับรู้ว่า การยกเลิกมาตรการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า โดยหวังให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาษีบุหรี่ไฟฟ้า ภาษีที่เก็บได้เพิ่มขึ้น ไม่คุ้มกับค่ารักษาพยาบาลคนที่จะป่วยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าระบาดในไทยช้ากว่าสหรัฐฯ และยังไม่มีระบบรายงานผู้ที่ป่วยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างที่สหรัฐฯ มี แต่ก็เริ่มพบคนไข้ที่ป่วยจากการสูบบุหรี่ตาม รพ.ต่าง ๆ ซึ่งหากรัฐบาลไทยยกเลิกการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ภาษีที่จะเก็บได้เพิ่มขึ้น จะไม่คุ้มกับค่ารักษาพยาบาลคนที่ป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้า นอกเหนือจากจำนวนคนป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จะไปเพิ่มภาระของแพทย์และ รพ.ซึ่งมีคนไข้ล้นโรงพยาบาลของรัฐอยู่แล้ว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ดร.เอเดรียน่า บลังโค มาร์คิโซ่ หัวหน้าสำนักเลขาธิการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ที่เดินทางมาประเมินความจำเป็นในการควบคุมยาสูบของไทย ได้ให้คำแนะนำกับรัฐบาลไทยหลังเสร็จสิ้นการประเมินว่า ข้ออ้างที่ว่าการเปิดให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น ความจริงคือ แม้เก็บภาษีได้มากขึ้น ก็ย่อมหมายความว่าผู้บริโภคจะต้องมากขึ้นด้วยเช่นกัน การที่มีผู้บริโภคมากขึ้น ตรงนี้เป็นกำไรของบริษัทที่จำหน่าย แต่ไม่ใช่กำไรของภาครัฐ ที่ได้ภาษีมาเล็กน้อย เมื่อเทียบกับรายจ่ายที่ต้องเสียไปกับการดูแลสุขภาพ ดังนั้น ขอให้รัฐบาลไทยถามตัวเองว่า อะไรสำคัญกว่ากันสำหรับประชาชน รัฐบาลจะเอาสุขภาพของประชาชนหรือจะเอาเงินไปแบ่งให้อุตสาหกรรมยาสูบ