อ.เจษฎ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา ได้ให้ความรู้กรณีโซเชียลฯ แห่แชร์เรื่องการซดน้ำ 'ซุปหม่าล่า' แล้วท้องเสีย ชี้เป็นเรื่องปกติ คนจีนจึงมีหม้อคู่ 2 ฝั่งเพื่อมีน้ำซุปใสไว้ซดคู่ เผยซุปหม่าล่าเอาไว้แค่ลวกเนื้อสัตว์และผักไม่ควรซดอันตรายอาจทำให้ท้องเสีย มีปัญหากับลำไส้ได้
จากกรณีเจ้าของ Hotpot Man ชาบูหม่าล่า ได้อัดคลิปเตือน ลูกค้าขอเติมน้ำซุป ซึ่งเป็นหม่าล่า แต่ทางร้านให้ซุปใสแทน โดยให้เหตุผลว่า ถ้ายิ่งเติมน้ำซุปหม่าล่า น้ำจะยิ่งเค็มยิ่งเผ็ด อาจทำให้ท้องเสีย-มีปัญหากับลำไส้ได้ และปกติคนจีนไม่นิยมซดน้ำซุปหม่าล่ากัน แต่นิยมใช้แค่เอามาลวกต้มเนื้อสัตว์และผักเท่านั้น
วันนี้ (26 ก.ค.) เพจ "อ๋อมันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" หรือ ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าว ระบุข้อความว่า "กินอาหารเผ็ดเกินไป (อย่างเช่น น้ำซุปหม่าล่า) ก็เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ครับ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีชาวเน็ตแสดงความคิดเห็นมากมาย ว่าเคยท้องเสียหลังจากกินหม่าล่าโดยไม่รู้สาเหตุ
ด้วยความที่น้ำซุป 'หม่าล่า' ทำจากน้ำมันและวัตถุดิบที่เข้มข้น เครื่องเทศเยอะ จัดหนักจัดเต็มเพื่อความเผ็ดชา คนจีนไม่ได้ทำน้ำซุปหม่าล่ามาเพื่อซด จะใช้จุ่มลวกเนื้อและอาหารอื่นๆ เท่านั้น เพราะด้วยความที่เครื่องเยอะ แค่จุ่ม ลวก ก็ถึงเครื่องได้รสความจัดจ้านเผ็ดชาของหม่าล่าโดยไม่จำเป็นต้องซดน้ำซุปแล้ว คนจีนจึงมีหม้อคู่ 2 ฝั่ง เพื่อมีน้ำซุปใสไว้ซดคู่กับหม่าล่า (ไม่ซดหม่าล่า ซดฝั่งซุปใสแทน) หากใครชอบซดซุปหม่าล่าแล้วท้องเสีย คือเรื่องปกติ"
ทางเพจ Pobpad ได้ให้ข้อมูลเรื่อง "ผลกระทบต่อสุขภาพจากการกินเผ็ด" ไว้ว่า แม้ความเผ็ดจะช่วยเพิ่มสีสันให้กับรสชาติอาหารได้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกัน การกินเผ็ดก็อาจมีโทษบางอย่างต่อร่างกายได้เช่นกัน โดยอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้
ช่องปาก หลายคนอาจรู้สึกแสบร้อนภายในปากหลังจากกินอาหารเผ็ด โดยอาการแสบร้อนนี้ถือเป็นกลุ่มอาการแสบร้อนในช่องปาก ซึ่งอาจส่งผลต่อลิ้น เหงือก ริมฝีปาก แก้ม เพดานปาก และบริเวณอื่นๆ ภายในช่องปากด้วย รวมทั้งอาจทำให้ปากแห้ง รู้สึกหิวน้ำ อาจสูญเสียการรับรส หรือทำให้ลิ้นรับรสชาติผิดเพี้ยนไปได้
ระบบทางเดินอาหาร สารแคปไซซินในพริกอาจเป็นสาเหตุของอาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียน ซึ่งในกรณีที่เกิดการอาเจียน กรดที่ไหลย้อนกลับมาจากกระเพาะอาหารอาจทำให้หลอดอาหารระคายเคืองได้ นอกจากนี้ การกินเผ็ดก็อาจส่งผลให้อาการของโรคแผลในกระเพาะอาหารรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคนี้จึงควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารเผ็ด เพื่อลดความเสี่ยงและช่วยไม่ให้โรคแผลในกระเพาะอาหารมีอาการรุนแรงขึ้น
ระบบทางเดินหายใจ การกินเผ็ดอาจเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้จมูกจากอาหาร ซึ่งเป็นโรคจมูกอักเสบชนิดที่ไม่ได้เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ แต่มีสาเหตุมาจากอาหารที่กิน โดยอาจทำให้มีอาการน้ำมูกไหลหรือมีเสมหะในคอหลังจากกินอาหารเผ็ด อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่าสารแคปไซซินอาจมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้มีอาการดีขึ้นได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของสารแคปไซซินที่มีต่อโรคนี้อย่างชัดเจนต่อไป
ปัญหาสุขภาพอื่นๆ การกินเผ็ดอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางทรวงอก นอกจากนี้ การกินเผ็ดอาจส่งผลให้อาการของโรคบางชนิดอย่างโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบรุนแรงขึ้นได้ เนื่องจากอาหารเผ็ดอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง ซึ่งผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้อาจมีการติดเชื้อบริเวณอวัยวะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะด้วย อย่างไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการของโรคดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการเลือกกินอาหารอย่างเหมาะสม
ดังนั้น เรื่องนี้ก็น่าจะสรุปได้ไม่ยาก ว่ามันก็เป็นไปได้ที่การบริโภคอาหารที่ "เผ็ดจัดเกินไป" ย่อมไม่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกับระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่ปากของเรา หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ ไปจนถึงระบบขับถ่าย จึงควรพิจารณาดูระดับของความเผ็ดของอาหารที่รับประทานเข้าไปด้วย ว่าไม่ให้เผ็ดมากเกินไป และไม่ควรบริโภคบ่อยครั้งเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่เผ็ดจัด แบบ "น้ำซุปหม่าล่า" นี่ครับ
ขอนำคำเตือนเรื่อง "อาหารรสเผ็ดดีหรือไม่" โดย ผศ.(พิเศษ) พญ.ฐนิสา พัชรตระกูล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มาเสริมตรงนี้ด้วยครับ
- อาหารรสเผ็ดเป็นที่ชื่นชอบทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งนี้การรับประทานเผ็ดอาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดี
1. ช่วยให้เจริญอาหารเนื่องจากพริกมีสารแคปไซซิน (Capsaicin) ช่วยให้กระเพาะอาหารส่วนต้นขยายตัวรับอาหารได้มากและนานขึ้น ทำให้ผู้ที่รับประทานอาหารรสเผ็ดสามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น
2. ลดอาการปวดแสบร้อนในทางเดินอาหารเมื่อรับประทานรสเผ็ดเป็นประจำนอกจากความเผ็ดแล้ว ตัวรับสารแคปไซซินที่อยู่ในเยื่อบุทางเดินอาหารสามารถรับความรู้สึกปวดและแสบร้อนได้อีกด้วย ตัวรับนี้มีคุณสมบัติพิเศษ คือ เมื่อถูกกระตุ้นซ้ำ จะเกิดความชินและทนต่อการกระตุ้นได้มาก จึงทำให้ผู้ที่รับประทานเผ็ดอย่างต่อเนื่องจะมีความรู้สึกปวด และแสบร้อนในทางเดินอาหารลดลง
ข้อเสีย
1. ปวด แสบร้อนบริเวณช่องปากและทางเดินอาหาร ผู้ที่ไม่ได้รับประทานอาหารรสเผ็ดเป็นประจำอาจเกิดอาการแสบร้อนในปาก แสบร้อนหน้าอก ปวดแสบท้อง และถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้น
2. ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้แปรปรวน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเผ็ดเพราะอาหารเผ็ดทำให้อาการแย่ลง และหากต้องการรับประทานอาหารเผ็ดเมื่ออาการของโรคดีขึ้นแล้ว ควรเริ่มรับประทานจากทีละน้อยก่อนแล้วปรับเพิ่มความเผ็ดขึ้น จะทำให้สามารถรับประทานอาหารรสเผ็ดได้โดยไม่ทำให้เกิดอาการกำเริบ
รับประทานเผ็ดอย่างไรให้อร่อยและไม่มีผลเสีย
1. เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่รับประทานอาหารเร็วเกินไป เนื่องจากขณะรับประทานอาหารรสเผ็ดจะบริโภคได้มากและอิ่มช้าลง อาจส่งผลเสียต่อการควบคุมน้ำหนัก
2. ผู้ที่เมื่ออาหารหรือมีข้อจำกัดในการรับประทานอาหาร อาจปรุงรสชาติให้เผ็ดขึ้นเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความอยากอาหาร
3. หากไม่ได้รับประทานรสเผ็ดเป็นประจำ ควรเริ่มบริโภคอาหารจากความเผ็ดระดับน้อยไปหามาก
คลิกโพสต์ต้นฉบับ