มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer) เกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร จึงทำให้ระบบการทำงานของกระเพาะอาหารเสียหาย นอกจากนี้มะเร็งกระเพาะอาหารยังสามารถลุกลามหรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ อาทิ ลำไส้ ตับ ตับอ่อน ต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
สาเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
มีประวัติป่วยเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร จากการได้รับเชื้อ Helicobacter pylori (H. pylori)
เคยเป็นโรคกรดไหลย้อน
เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
มีอาชีพหรือใช้ชีวิตประจำวันที่สัมผัสกับฝุ่นและสารเคมีบางชนิด
การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานในเพศชาย (ในเพศหญิงยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด)
มีบุคคลในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือได้รับควันบุหรี่มือสองอยู่เสมอ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารแปรรูป หมักดอง ตากเค็ม รมควันเป็นประจำ ไม่กินผักและผลไม้
อาการของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่สังเกตได้
สำหรับอาการเตือนโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาจแบ่งเป็นอาการในช่วงแรก เช่น
อาหารไม่ย่อย จึงรู้สึกไม่สบายท้อง
แสบร้อนบริเวณหน้าอก
ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร
รู้สึกคลื่นไส้
เบื่ออาหาร
แต่เมื่อเป็นมากขึ้น มักมีอาการเพิ่มเติม ดังนี้
รู้สึกไม่สบายท้องบริเวณส่วนบนและส่วนกลาง
มีเลือดปนในอุจจาระ
อาเจียน หรืออาเจียนเป็นเลือด
อ่อนเพลีย และน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
การตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหาร มีประโยชน์มากกว่าที่คิด
เพราะโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะแรกจะไม่แสดงอาการที่เด่นชัดนัก แต่มักถูกตรวจพบด้วยการตรวจสุขภาพจากการส่องกล้องกระเพาะอาหาร (Gastroscopy) ซึ่งหากพบติ่งเนื้อหรือเนื้องอกเล็กๆ แพทย์สามารถทำการผ่าตัดขณะส่องกล้องที่เป็นเหมือนทั้งการรักษาก่อนที่ติ่งเนื้อนั้นจะลุกลามไปเป็นมะเร็งในอนาคต และตัดเพื่อนำไปตรวจว่าใช้เซลล์มะเร็งหรือไม่ เพื่อวางแผนการติดตาม หรือทำการรักษาต่อไป
วิธีการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะลุกลามหรือแพร่กระจาย จำเป็นต้องได้รับการรักษาตามลักษณะอาการของโรค เช่น การทำเคมีบำบัด หรือการทำคีโม (Chemotherapy) การฉายรังสี (Radiotherapy) ก่อนที่จะทำการผ่าตัดรักษาตามลำดับ โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการรักษาและช่วงเวลาที่เหมาะสมจากผลการวินิจฉัย ทั้งอาการและระดับความรุนแรง ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
ดูแลสุขภาพอย่างไร? ให้ห่างไกลมะเร็งกระเพาะอาหาร
การใส่ใจดูแลสุขภาพพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น การบริหารจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีการปรุงแต่งและแปรรูป ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากทำเช่นนี้สม่ำเสมอก็จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันดีที สุขภาพแข็งแรง ซึ่งเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้
สำหรับความเสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เราควรดูแลสุขภาพเพิ่มเติมด้วยการหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายแม้เพียงเล็กน้อย เช่น อาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นน้อง อาหารไม่ย่อย โดยไม่ปล่อยผ่าน ยิ่งหากมีอาการบ่อยๆ ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัด
แม้ในหลายๆ ครั้ง อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการป่วยด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่เป็นโรคอื่นๆ ในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมหรือปล่อยทิ้งไว้ก็อาจกลายเป็นโรคเรื้อรัง และเป็นปัจจัยเสี่ยงในการก่อให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในอนาคตได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ไม่ว่าเราจะมีอาการใดๆ หรือไม่มีอาการเลย การตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยคัดกรองให้พบความเสี่ยงหรือรอยโรคต่างๆ ได้ก่อนลุกลามรุนแรง ทำให้เราสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพไปในทิศทางที่ถูกต้อง หรือรักษาโรคได้ทันท่วงทีในกรณีมีโรคหรือภาวะใดๆ ซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มาก