ศ.ดร.เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ได้ออกมาให้ความรู้หลังพบการแชร์กรณีที่มีจุดขาวๆ บนตัวปลาหมึก พร้อมยืนยันไม่ใช่ไข่แมลงวันหรือพยาธิ แต่เป็นโฟโตฟอร์ หรืออวัยวะที่ใช้ในการเรืองแสงของพวกหมึกยักษ์น้ำทะเลลึก
จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพและคลิปวิดีโอระบุว่า "สอบถามหน่อยค่ะ วันนี้ไปซื้อยำที่ตลาดโป่งไผ่มา มันคือจุดขาวๆ บนตัวปลาหมึกคืออะไรคะ เขี่ยออกได้ด้วย" ซึ่งหลังจากที่โพสต์ไปมีคนเข้ามาคอมเมนต์จำนวนมาก บ้างก็บอกว่าเป็นไข่แมลงวัน พยาธิ และบางความคิดเห็นระบุว่าเป็นเม็ดเรืองแสงของหมึกนั้น
วันนี้ (19 ก.ค.) เพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” หรือ ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ระบุข้อความถึงกรณีดังกล่าวว่า "มันไม่ใช่ไข่แมลงวัน แต่เป็น photophore อวัยวะที่ใช้ในการเรืองแสงของปลาหมึกยักษ์ครับ" ซึ่งได้ข้อมูลจากร้านขายอาหารทะเลและร้านยำ ว่าปลาหมึกที่ปรากฏในคลิปน่าจะเป็นปลาหมึกที่นำเข้าจากต่างประเทศ หรือที่ชอบเรียกว่า ปลาหมึกอาเจน มีลักษณะตัวเรียวยาวคล้ายกับปลาหมึกกล้วยของประเทศไทย ส่วนสิ่งที่เห็นนั้นไม่เคยเจอ แต่ไม่คิดว่าน่าจะเป็นไข่แมลงวัน น่าจะเป็นอย่างอื่นมากกว่า จากการค้นหา ก็เคยมีเพจเพจหนึ่งได้โพสต์แจ้งว่าเป็นจุดที่เรืองแสงของปลาหมึก ไม่อันตราย แต่ไม่แนะนำให้รับประทาน ถ้าเห็นจุดนี้ ให้เฉือนตัดทิ้งหรือไม่ก็ขูดออก
ซึ่งเรื่องนี้ผมเคยโพสต์อธิบายในเพจ "อ๋อ" หลายทีแล้ว ว่าพวกที่เป็นจุดๆ สีออกเหลืองๆ เป็นเนื้อปลาหมึกยักษ์นั้น มันไม่ใช่พยาธิ ไม่ใช่ไข่แมลงวัน แต่เป็นโฟโตฟอร์ (photophore) หรืออวัยวะที่ใช้ในการเรืองแสงของพวกหมึกยักษ์น้ำทะเลลึก ซึ่งบ้านเราหลังๆ สั่งนำเข้าแช่เย็นมาจากต่างประเทศ และหาซื้อได้ตามพวกซูเปอร์มาร์เกต อวัยวะ photophore นี้จะอยู่ใต้ชั้นหนังหนาๆ ของหมึก และพอลอกชั้นหนังออกเพื่อประกอบอาหารก็จะเห็นได้ ซึ่งเนื้อปลาหมึกยักษ์ที่พบโฟโตฟอร์นี้ก็ไม่ได้อันตรายอะไรต่อการบริโภคครับ เพียงแค่ขูดออกให้หมดก่อนจะนำมาประกอบอาหารก็ใช้ได้แล้ว
ปกติพวกหมึกในน้ำลึกจะมีการเปลี่ยนแปลงสีตัวและสร้างแสงขึ้นได้ด้วยตนเอง โดยใช้โครมาโตฟอร์ chromatophore ที่เป็นถุงที่มีเม็ดสี ซึ่งอยู่บนผิวหนังด้านนอก ควบคุมโดยระบบประสาทให้ถุงหดหรือขยายอย่างรวดเร็วมากระดับนาโนวินาที แต่ในบริเวณที่น้ำลึกมืดมิด ถุงโครมาโตฟอร์หดขยายได้ไม่ดีพอ จึงมีอีกอวัยวะคือ โฟโตฟอร์ photophore ทำหน้าที่เป็นอวัยวะเรืองแสง ที่ใช้ปฏิกิริยาเคมีแบบลูมิเนสเซนส์ luminescence เคยมีบทความในวารสารการประมง พ.ศ. 2562 เรื่อง "อวัยวะสร้างแสงเรืองในปลาหมึก Bioluminescence in Cephalopods" ของ สนธยา ผุยน้อย และคณะ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่อธิบายไว้ว่า
อวัยวะสร้างแสงเรือง (photophores หรือ light organ) นี้ ที่พบแทรกอยู่ในเนื้อปลาหมึกนำเข้าจากต่างประเทศ มีลักษณะเป็นก้อนสีครีมออกขาว รูปทรงกลมและทรงรี ขนาดเท่าเมล็ดข้าวสาร จึงทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นปรสิตที่ฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อของหมึก แต่เมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายต่ำ จะเห็นเป็นก้อนทึบแสง และเมื่อกระตุ้นด้วยสารเคมีบางชนิด จะทำให้เกิดแสงเรืองสีต่างๆ เช่น ขาว เขียว ฟ้า ชมพู หรือม่วง จากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่มีเซลล์โฟโตไซต์ (photocyte) สรุปคือ เวลาซื้อเนื้อหมึกยักษ์จากตามห้าง ซึ่งเดี๋ยวนี้มักจะเป็นเนื้อของปลาหมึกจากต่างประเทศ แล้วเจอจุดหรือก้อนเหลืองแบบนี้แทรกอยู่ใต้ชั้นหนังแข็งด้านนอกของมัน ก็อย่าตกใจแตกตื่นกันนะครับ เป็นแค่อวัยวะที่ใช้ในการเรืองแสงของมัน สามารถกำจัดออก แล้วเอาเนื้อมาบริโภคได้ตามปกติครับ”