xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัยเอลนีโญ! แรงสุด พ.ย.-ม.ค.ปีหน้า มีโอกาสสูงทะเลร้อนเกิน 1 องศา ‘อ.ธรณ์’ ส่งสัญญานน่าสะพรึง “ถ้าลากยาวถึงฤดูร้อนปีหน้า”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon
Thamrongnawasawat
เมื่อวานนี้ ( 14ก.ค.2566) ฉายภาพปรากฎการณ์ธรรมชาติ “เอลนีโญ” ที่กำลังส่งผลกระทบภัยแล้งรุนแรง โดยเฉพาะหากกลายร่างเป็นดับเบิ้ลเอลนีโญ หรือแม้แค่ลากยาวจนถึงฤดูร้อนปีหน้าก็หนักแล้ว

อาจารย์ธรณ์ #อัปเดทเอลนีโญ พร้อมอธิบายประกอบภาพว่าอุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลเกี่ยวข้องโดยตรงกับเอลนีโญ ภาพนี้แสดงน้ำร้อนผิดปรกติที่เคลื่อนเข้ามาจ่อปากอ่าวไทยแล้วครับ

สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดจาก NOAA หรือ National Oceanic and Atmospheric Administration หน่วยงานด้านการพยากรณ์อากาศของสหรัฐ (เทียบได้กับกรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา) แสดงกราฟอุณหภูมิน้ำทะเลที่ทำให้เราเห็นว่า เราทะลุเข้าเอลนีโญตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเร่งตัวขึ้น


เอลนีโญจะแรงสุดช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม มีโอกาสที่น้ำทะเลร้อนเพิ่มขึ้นเกิน 1 องศา (80%) เกิน 1.5 องศา (50%) และเกิน 2 องศา (20%)


ตัวเลข % อาจเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะแม่นยำเพิ่มขึ้นเมื่อใกล้ขึ้น

เมื่อดูกราฟในอดีต ส่วนใหญ่เอลนีโญจะจบลงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปีหน้า แต่มีอยู่บ้างที่จะลากยาวไปไกลกว่านั้น กลายเป็นดับเบิ้ลเอลนีโญ

ภาพประกอบน้ำร้อนกว่าปรกติ เหลือง/ส้ม/แดง บริเวณฝั่งเวียดนามและปากอ่าวไทย

เส้นสีม่วงคือเอลนีโญปีนี้ เส้นสีเทาคือในอดีต แกนตั้งคืออุณหภูมิผิวน้ำทะเล แกนนอนคือเดือน เห็นได้ว่าอุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแบบกระชากแรง จากลานินญากลายเป็นเอลนีโญในเวลาสั้นๆ เอลนีโญในอดีตสิ้นสุดที่มีนาคม/เมษายน ปีต่อไป แต่มีบ้างที่ลากยาวไปไกลกว่านั้น หากหนนี้เป็นแบบนั้นจะส่งผลรุนแรง เพราะน้ำทะเลไทยร้อนสุดช่วงเมษายน-พฤษภาคม หากเอลนีโญไม่จบ จะกลายเป็น 2 เด้ง

ปะการังในภาคตะวันออก ถ่ายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังมีอาการสีซีดและฟอกขาวบ้าง แม้เข้าหน้าฝนมาพอสมควรแล้ว

แพลงก์ตอนบลูมเกิดเป็นระยะ ส่งผลต่อการหากินของชาวประมงโดยเฉพาะกลุ่มพื้นบ้านและการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง
รามาดูว่าน้ำร้อนส่งผลอย่างไร ? ผมสรุปให้เพื่อนธรณ์ 3 เรื่อง

ผลกระทบต่อปะการัง แม้เป็นช่วงฤดูฝนที่น้ำควรจะเย็น แต่ปะการังบางแห่งยังสีซีดไปจนถึงฟอกขาวน้อยๆ ไม่แข็งแรงอย่างที่ควรเป็น
หากเอลนีโญลากยาวไปถึงฤดูร้อนปีหน้า มันเป็นเรื่องน่าสะพรึง 😖

ผลกระทบต่อแพลงก์ตอนบลูม/น้ำเปลี่ยนสี ช่วงนี้ฝนตกแดดออกสลับกันไป แพลงก์ตอนพืชชอบมาก เพราะมีทั้งธาตุอาหารทั้งแสงแดด จึงเกิดปรากฏการณ์น้ำเขียวเป็นระยะ

มวลน้ำที่ร้อนกว่าปรกติ ทำให้น้ำแบ่งชั้น น้ำร้อนอยู่ข้างบน น้ำเย็นอยู่ข้างล่าง ออกซิเจนจากน้ำด้านบนมาไม่ถึงน้ำชั้นล่าง หากเกิดแพลงก์ตอนบลูม สัตว์น้ำตามพื้นจะตายง่าย

ผลกระทบต่อพายุ อันนี้ต้องออกไปดูมวลน้ำร้อนในแปซิฟิก น้ำยิ่งร้อนยิ่งถ่ายทอดพลังงานให้พายุหมุนได้มากขึ้น ต้องจับตาดูไต้ฝุ่นปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร

พื้นที่ได้รับผลกระทบคืออ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนในและภาคตะวันออก ซึ่งบริเวณนั้นเป็นที่คนอยู่หนาแน่นและมีกิจกรรมทางทะเลมากสุดในไทย


แล้วเราทำอะไรได้บ้าง ?

คำตอบคือ “รับมือ” ด้วยการยกระดับติดตามผลกระทบในทะเลอย่างจริงจัง เพิ่มการสำรวจคุณภาพน้ำ สมุทรศาสตร์ และระบบนิเวศให้ทันท่วงที

“ปรับตัว” ด้วยการลดผลกระทบจากมนุษย์ให้น้อยที่สุด อย่าซ้ำเติมทะเลตอนที่เธอกำลังแย่

มองไปข้างหน้าหาทางหนีทีไล่ เช่น หากต้องปิดจุดดำน้ำในแนวปะการังหากฟอกขาวปีหน้า เราจะต้องทำอย่างไรเมื่อการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว

ปรับตัวกับโลกร้อนไม่ใช่อะไรที่จะทำได้ในพริบตา เราต้องคิดและวางแผนล่วงหน้าครับ

อย่างที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกบอกไว้ โลกเปลี่ยนไป เอลนีโญ+โลกร้อน เป็นปรากฏการณ์ที่เราต้องเผชิญอีกเรื่อยๆ
หนนี้เป็นแค่ชิมลางก่อนเข้าสู่ยุคธรรมชาติแปรปรวนอย่างแท้จริง เราควรต้องเรียนรู้ให้มากที่สุด คิดหาหนทางไว้ในขณะที่ยังพอมีเวลา

ผมจะมารายงานเพื่อนธรณ์เรื่อยๆ ส่วนที่ว่าทำได้แค่ไหน ก็จะพยายามสุดแรง โดยมีความหวังเล็กๆ ว่าที่พูดไปจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นบ้าง เปลี่ยนเร็วๆ หน่อยก็ดีนะ เพราะมวลน้ำร้อนใหญ่มาจ่อไทยแล้วครับ

อ้างอิง https://www.climate.gov/.../july-2023-el-ni%C3%B1o-update


กำลังโหลดความคิดเห็น