xs
xsm
sm
md
lg

อ.เจษฎ์ยันภาพ "สายรุ้งสีแดง" ครอบ "วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร" ไร้ตัดต่อและหาชมยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อ.เจษฎ์อธิบายปรากฏการณ์ "สายรุ้งสีแดง" แสงสวยงามเหนือท้องฟ้าที่มีลักษณะครึ่งวงกลมครอบ "วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร" เป็นภาพที่พบเห็นได้ไม่บ่อย มักเกิดในช่วงพลบค่ำ

จากกรณีโซเชียลฯ ฮือฮาแสงประหลาดสวยงามครึ่งวงกลมครอบองค์พระธาตุเชิงชุมวรวิหารด้านทิศตะวันออกของวัด ขณะภายในวัดพระสงฆ์และญาติโยมกำลังทำวัตรสวดมนต์เย็น ซึ่งมีความสวยงามอย่างมาก ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

คลิกชมข่าวต้นฉบับ >>ฮือฮา! แสงสวยงามครอบพระธาตุเชิงชุมขณะทำวัตรสวดมนต์เย็น

วันนี้ (4 ก.ค.) โดยเพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้ออกมาให้ความรู้ถึงกรณีดังกล่าวระบุว่า "แสงครอบวัดพระธาตุเชิงชุม" น่าจะเป็นปรากฏการณ์ red rainbow สายรุ้งสีแดง" เมื่อช่วงพลบค่ำวันอาทิตย์ที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานการพบ "แสงครอบวัด" ที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร โดยมีลักษณะเป็นแสงสวยงามเหนือท้องฟ้า ลักษณะครึ่งวงกลมครอบองค์พระธาตุ สร้างความฮือฮาสาธุต่อผู้พบเห็นเหตุการณ์อย่างมาก และมีหลายคนที่ถ่ายภาพนำมาเผยแพร่กัน (ดูรูปประกอบ หรือลิงก์จากข่าวด้านล่าง)

คลิกชมวิดีโอต้นฉบับ

ซึ่งช่วยยืนยันได้ว่าภาพถ่ายของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดจากมุมกล้องหรือใช้แอปฯ ตกแต่งแต่อย่างใด ตามความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่านี่น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยพบบ่อยนัก ที่เรียกว่า red rainbow หรือสายรุ้งสีแดง ครับ

ปรากฏการณ์ red rainbow จะพบเห็นได้ เมื่อมีสายรุ้งเกิดขึ้นในช่วงที่พระอาทิตย์กำลังอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำลงมาใกล้ขอบฟ้า (ดังเช่นตอนพลบค่ำเช่นนี้) ทำให้แทนที่จะเห็นแสงอาทิตย์ที่ผ่านละอองน้ำในอากาศ แล้วหักเหเป็นหลายๆ สี จนดูเป็นรุ้งกินน้ำสเปกตรัม 7 สีหลักอย่างที่เราคุ้นกัน กลับเห็นเป็น "สีแดง" เด่นเป็นหลัก

เพราะในช่วงที่พระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกนั้น แสงอาทิตย์ซึ่งมีหลายความยาวคลื่นปนกัน ได้เคลื่อนที่ผ่านชั้นบรรยากาศ แล้วเกิดการกระเจิงอันเนื่องจากฝุ่นผงและโมเลกุลต่างๆ ในอากาศ ทำให้แสงกลุ่มที่ความยาวคลื่นสั้น เช่น สีฟ้า และสีเขียว ถูกกระเจิงออกไปมากที่สุด ขณะที่แสงในกลุ่มยาวความยาวคลื่นที่ยาวกว่าคือสีแดง และเหลืองนั้น เดินทางมาหาเร็วได้มากกว่า จึงทำให้ท้องฟ้ายามเช้าและพลบค่ำดูเป็นสีแดงส้ม และมีผลทำให้รุ้งกินน้ำที่เกิดขึ้นดูเป็นสีแดงไปด้วย

ซึ่งสอดคล้องกับในรายงานข่าวนี้ ที่บอกว่า เห็น "แสงครอบวัด" ในทางทิศตะวันออก ตอนพระอาทิตย์ตก พลบค่ำ ซึ่งรุ้งกินน้ำ จะเกิดในทิศตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ (ถ้าเกิดจาก "พระอาทิตย์ทรงกลด" ก็น่าจะเกิดทางทิศตะวันตก) ขณะที่ช่วงนี้ตามพยากรณ์อากาศพบว่ามีฝนตกบ่อยครั้งในจังหวัดสกลนครด้วย ... และถ้าไปดูในรูปตามข่าว ก็พอจะเห็นสีอื่นๆ ของรุ้งกินน้ำ ปนอยู่บ้าง

ดังนั้น คราวหน้าเวลาฝนหยุดตอนใกล้พลบค่ำ ลองมองทิศไปทางทิศตะวันออกนะครับ อาจจะเจอ red rainbow แบบนี้ก็ได้ .. เอารูป red rainbow จากที่ประเทศอื่นๆ มาฝากด้วยครับ สวยดี”


กำลังโหลดความคิดเห็น