อ.เจษฎ์เตือนหลังพบมีการแชร์ภาพว่านจักจั่น ระบุคือเชื้อราชนิดหนึ่ง มีพิษหากกิน ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ชัก กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก ดวงตาหมุนวนไปรอบๆ ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน อ่อนแรงใจสั่น และเวียนศีรษะ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
วันนี้ (12 มิ.ย.) เพจ 'อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์' หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ให้ความรู้ถึงว่านจักจั่น โดยระบุข้อความว่า "ว่านจักจั่น เป็นเชื้อราชนิดหนึ่งครับ ไม่ควรนำมากินกัน อาจเป็นอันตราย"
เช้านี้มีการแชร์ภาพของแปลก คล้ายหนอนที่มีก้านงอกยื่นออกมา ในเพจ FB หนึ่งที่ชื่อ "หากินแบบบ้านๆ แลกเปลี่ยนวิธีการล่าทุกชนิด" โดยการตั้งคำถามว่า "กินหรือเอาไปทำอะไรดีครับ" สิ่งที่เห็นในภาพนั้นคือ "ว่านจักจั่น" มันเป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง ที่ขึ้นอยู่ในตัวอ่อนของจั๊กจั่นที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งไม่ควรนำมาบริโภค เพราะอาจจะรับสารพิษอันตรายได้ครับ "ว่านจักจั่น" นี่ บางคนก็ไปขุดเก็บกันมา โดยมองว่าเป็นวัตถุมงคล ตามความเชื่อว่าเป็นว่านกึ่งพืชกึ่งสัตว์ ประเภทเดียวกับพวกมักกะลีผล มีบูชาแล้วร่ำรวย
จริงๆ แล้วมันไม่ใช่พืช ไม่ใช่ว่าน แต่เป็นตัวอ่อนของจักจั่นที่ตายแล้วเนื่องจากการติด "เชื้อราทำลายแมลง" ในขณะที่เป็นตัวอ่อน ช่วงที่ขึ้นจากใต้ดินมาลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยเหนือดิน ในระยะตัวอ่อนนี้จักจั่นจะอ่อนแอมาก ขณะที่มีอากาศชื้นจากหน้าฝน ทำให้เชื้อราแพร่กระจายได้ดีในอากาศ เมื่อเชื้อราตกลงไปอยู่บนตัวจักจั่นที่มีภูมิต้านทานต่ำ ทำให้เชื้อราสามารถแทงเส้นใยเข้าไป และงอกในตัวจักจั่นได้ดี โดยดูดน้ำเลี้ยงในจักจั่นเป็นอาหาร และทำให้พวกมันตายในที่สุด
เมื่อจักจั่นตายแล้ว เชื้อราก็จะสร้างโครงสร้างสืบพันธุ์ ที่มีลักษณะเหมือนเขา ยืดขึ้นเหนือพื้นดิน เหมือนที่เห็นยื่นออกมาจากว่านจักจั่น โครงสร้างสืบพันธุ์นี้จะมีสปอร์ติดอยู่บริเวณปลาย เมื่อมันยื่นขึ้นมาเหนือพื้นดิน สปอร์จะอาศัยลมหรือน้ำในการพัดพาให้ไปตกที่อื่นๆ และอาจจะทำให้ตัวอ่อนของจักจั่นตัวอื่นติดเชื้อกันต่อไปเราเรียกเชื้อราที่มีพฤติกรรมไปอาศัยอยู่ในตัวแมลงที่มีชีวิตแบบนี้ ว่าอยู่ในประเภท "เชื้อราทำลายแมลง"
จากการศึกษาของนักวิจัยจากศูนย์ไบโอเทค สวทช. พบว่ามีราทำลายแมลง ในประเทศไทยมากกว่า 400 ชนิด โดยพบได้ทั้งบนหนอน แมลงวัน มวน เพลี้ย ผีเสื้อ ปลวก แมลงปอ แมงมุม มด เป็นต้น ซึ่งพวกเชื้อราทำลายแมลงในว่านจักจั่นนี้เอง ปกติก็ไม่ใช่เชื้อที่มีพิษ แต่อาจจะมีราอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดพิษต่อคนที่กินเข้าไป มาเจริญเติบโตอยู่ด้วยได้ ถ้าโชคร้ายเจอสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดพิษแรงๆ อาจสร้างสารพิษพวก tremorgenic mycotoxin ขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายมาก เพราะไม่มียาถอนพิษ ได้แต่ประคองอาการให้รอด
โดยสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ระบุว่า สำหรับประเทศไทยมีรายงานว่าว่านจักจั่นมีความใกล้เคียงกับราชนิด Ophiocordyceps sobolifera กินแล้วคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ชัก กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก ดวงตาหมุนวนไปรอบๆ ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน อ่อนแรงใจสั่น และเวียนศีรษะ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ ในประเทศเวียดนามมีรายงานการกินว่านจักจั่นชนิด Ophiocordyceps heteropoda พบว่า ผู้ที่นำมารับประทานเกิดอาการเวียนศีรษะ อาเจียน น้ำลายไหล ม่านตาขยาย กรามแข็ง ไม่สามารถขับปัสสาวะได้ตามปกติ ชัก เพ้อคลั่ง เกิดภาพหลอน ง่วงซึม โคม่า และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ จากการตรวจสอบสารพิษ พบว่าเป็น ibotenic acid ซึ่งสารพิษในกลุ่มนี้มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง
ในอดีต ในปี พ.ศ. 2562 มีชาวบ้านในจังหวัดอุบลราชธานี 2 คน เก็บว่านจักจั่นมากิน แต่กินแล้วเกิดอาการเป็นพิษกะทันหัน จึงนำส่งโรงพยาบาล และในปี พ.ศ. 2559 ก็เคยมีข่าวที่จังหวัดสกลนคร มีประชาชนในตำบลคอนสวรรค์ อำเภอวานรนิวาส เก็บมากิน แล้วได้รับพิษกะทันหัน เกิดอาการร่อแร่ เข้าโรงพยาบาลสกลนคร 2 ราย จนต้องเตือนกันว่าถ้าใครพบเห็นห้ามนำรับประทานเด็ดขาด
ส่วน "ถั่งเช่า" ที่เอามาเป็นยาสมุนไพรชูกำลังกันนั้น ถึงแม้ว่าจะมีจุดกำเนิดในแบบเดียวกับว่านจั๊กจั่น คือมีเชื้อราทำลายแมลง พวกราคอร์ดิเซปส์ ชนิด Ophiocordyceps sinensis (หรือชื่อเก่า Cordyceps sinensis) ลงไปเจริญเติบโตตัวอ่อนของหนอนผีเสื้อ แต่มันเป็นเชื้อราชนิดที่ไม่ได้เป็นพิษ จึงนำมากินได้ครับ”
คลิกโพสต์ต้นฉบับ