xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “5 แหล่งผ้าฝ้ายหมักโคลน” นุ่งซิ่นสวยใส่เที่ยวตามรอย “ลิซ่า BLACKPINK”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


5 แหล่งผ้าฝ้ายหมักโคลน
หลังจาก "ลลิษา มโนบาล" หรือ "ลิซ่า BLACKPINK" นักร้องสาวชาวไทย โพสต์ภาพสวมชุดผ้าไทยเที่ยวอยุธยากับเพื่อน ๆ หลังจบคอนเสิร์ตในไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนเป็นกระแสดังในโลกออนไลน์ ทำให้หลายคนตามหาซื้อผ้าซิ่นหรือผ้านุ่งหมักโคลนใส่เพื่อไปเช็กอินเที่ยวตามรอยกันเป็นจำนวนมาก

วันนี้จึงพาทุกคนมารู้จักกับ “5 แหล่งผ้าฝ้ายหมักโคลน” ที่มีชื่อเสียงในไทย และตามไปชอปปิ้งใส่ตามรอยลิซ่าเที่ยวเมืองเก่าอยุธยา หรือใส่เที่ยวแบบสวยเก๋ทั่วไทยกัน

ก่อนที่จะพาไปรู้จักกับแหล่งผ้าฝ้ายหมักโคลน ขอพาทุกคนไปรู้จักกับที่มาของผ้าที่กำลังเป็นกระแสนี้กันก่อน ทางสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ได้เผยถึงเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ “ผ้าฝ้ายหมักโคลนย้อมคราม” ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมผ้าทอมือที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอุดรธานี และเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษมายาวนานมาให้ได้รู้จักกัน

ผ้านุ่งบ้านโนนกอก (ภาพ : ผ้าทอมือหมักโคลนบัวแดงชายคิม)
การนำผ้ามาหมักโคลนนั้นเกิดจากวิถีของชาวบ้านที่นุ่งผ้าออกไปทำงาน ทำไร่ ทำนา เปื้อนดินโคลน เมื่อกลับมาบ้านนำผ้าไปซักจึงพบว่าผ้ามีความนุ่มและเงาอย่างน่าประหลาด จนเป็นที่มาของผ้าฝ้ายหมักโคลนในปัจจุบัน ส่วนการย้อมครามนั้นเป็นการย้อมสีจากธรรมชาติ โดยสีที่ได้มาจากต้นครามซึ่งผ่านกระบวนการในการนำมาหมักครามจนเกิดเป็นสีน้ำเงินที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์

การทอผ้ามัดหมี่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีกรรมวิธีการทอโดยเริ่มจากนำเส้นด้ายหรือไหมมาย้อมสีแล้วมัดบริเวณที่ต้องการเก็บไว้ เมื่อนำไปย้อมสีอื่นจะได้ไม่ติดสี เพียงซึมเข้ามาบางส่วน โดยย้อมเรียงลำดับจากสีอ่อนไปหาสีเข้มจนครบ ตามลวดลายที่กำหนด จากนั้นจึงนำด้ายกรอเข้าหลอดตามลำดับ แล้วนำไปทอจะเกิดลวดลายบนผืนผ้า ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญในการมัดย้อมและทอเป็นอย่างมาก

ผ้านุ่งบ้านโนนกอก (ภาพ : ผ้าทอมือหมักโคลนบัวแดงชายคิม)
อย่างที่ “กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก” หมู่ที่ 18 ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เป็นอีกหนึ่งกลุ่มทอผ้าจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านโนนกอก จากผู้สูงอายุในหมู่บ้าน และในตำบลหนองนาคำ ซึ่งได้ทดลองการทอผ้าแบบโบราณด้วยตัวเองจนเกิดความชำนาญ จึงได้เริ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น นำเส้นไหม ฝ้าย มาย้อมสีจากดอกบัวแดง ก้านบัวแดง นำเส้นไหม ฝ้ายมาทอด้วยโบราณ นำลายดั้งเดิม มาอนุรักษ์ และประยุกต์ให้ออกแบบลวดลายที่มีลักษณะสวยงาม แปลกตา และโดดเด่น

กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก
นอกจากการย้อมสีธรรมชาติแล้ว การออกแบบลวดลายผ้าทอมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของ ตนเองเช่นกัน ที่มาของลวดลายที่สำคัญคือลายจากหมอนขิดอีสาน มีทั้งหมอนขิดที่เป็นผลิตภัณฑ์ของบ้านโนนกอกในสมัยก่อน หมอนขิดจากแหล่งอื่นๆ ลวดลายที่นำมาใช้มีอยู่มาก เช่น ลายขอขิดเกียง ลายขอเล็บแมว ลายกาบหลวง ลายขิดนาค ลายขิดบันได เป็นต้น และทางกลุ่มยังมีผ้าซิ่นหรือผ้านุ่งที่ทอจากเส้นไหม ผ้าฝ้ายหมักโคลนจำหน่ายอีกด้วย

ภาพ : ผ้าหมักโคลน ผ้าฝ้ายแท้ทอมือ ค้าส่ง อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร
อีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงด้าน “ผ้าหมักโคลน” ก็คือที่จังหวัดมุกดาหาร ที่นี่ถือเป็นภูมิปัญญาของชนเผ่าภูไทในอำเภอหนองสูง ที่อยู่คู่ชาวบ้านมาตั้งแต่โบราณกาล และยังคงสืบทอดเทคนิคการทำผ้าหมักโคลนมาจนถึงปัจจุบัน จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ผ้าทอมือเส้นใยธรรมชาติของบ้านหนองสูงที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในประเทศ แต่ยังคงได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในต่างประเทศด้วย

โคลนที่นำมาหมักผ้า (ภาพ : ผ้าหมักโคลน บ้านเป้า บ้านภู อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร)
สำหรับโคลนที่ใช้ในการหมักนี้จะใช้โคลนที่หนองน้ำ ที่บ้านหนองสูง ซึ่งเป็นดินโคลนที่มีอายุประมาณ 300-400 ปี โดยโคลนในท้องถิ่นอื่นๆ ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่ควรใช้โคลนดินเหนียว และเนื้อโคลนต้องละเอียด ไม่มีเม็ดดินเม็ดทรายปะปน

ผ้าหมักโคลนของชาวบ้านในชุมชนบ้านนาต้นจั่น
ผ้าหมักโคลน เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น ของชาวบ้านในชุมชน บ้านนาต้นจั่น ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ภูมิปัญญาเรียบง่ายที่กลายมาเป็นความมหัศจรรย์ของการผสมผสานระหว่างดินและผ้า จนกลายมาเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ที่มาเยือนยังหมู่บ้านแห่งนี้

ผ้าหมักโคลนของชาวบ้านในชุมชนบ้านนาต้นจั่น
จุดเริ่มต้นของภูมิปัญญานี้ เริ่มขึ้นจากการสังเกตุของชาวบ้าน ที่ถูกเล่าต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่นว่า ยามที่ออกไปทำนา เสื้อผ้าส่วนล่างที่ใส่ไปนั้น ก็จะเปื้อนโคลนทุกๆ ครั้ง หลังจากกลับบ้านมาซักผ้าเพื่อทำความสะอาดแล้ว จึงสังเกตว่าผ้าในส่วนล่างที่เปื้อนโคลนนั้น มีความนิ่มกว่าผ้าส่วนบนที่ไม่เปื้อนโคลนหลังจากการช่างสังเกตของบรรพบุรุษของชาวบ้านบ้านนาต้นจั่น กรรมวิธีการทำผ้าหมักโคลน จึงถือกำเนิดขึ้น และกลายมาเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านอันน่ามหัศจรรย์ ที่ส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านบ้านนาต้นจั่นอีกทางหนึ่ง

ผ้าหมักโคลนของชาวบ้านในชุมชนบ้านนาต้นจั่น  (ภาพ : ร้านภูมิพ่อ)
ผ้าหมักโคลนที่ทอสำเร็จแล้ว นำไปใช้เป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ให้ความนุ่มและอุ่น ผ้าถุง เสื้อ กางเกง กระโปรง หมวก กระเป๋า พวงกุญแจ เป็นต้น ปัจจุบันบ้านนาต้นจั่นเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจที่จะศึกษาภูมิปัญญาไทยในการผลิตผ้าหมักโคลน


ขณะที่การทำผ้าหมักโคลนของ “กลุ่มผ้าหมักโคลนหนองหลวง” จังหวัดกาฬสินธุ์ เริ่มมาจากโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลตําบลกุดจิก ได้ฝึกอาชีพให้ผู้สูงอายุและต่อยอดอาชีพของ ผู้สูงอายุ เพื่อทอผ้าพื้นเมือง ผ้าไทญ้อ และผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ ของไทญ้อ โดยคุณแม่ประกาย มูลลี ได้เป็นผู้ ริเริ่มผ้าย้อมสีธรรมชาติ และต่อมาคุณแม่ประกาย มูลลี ได้นําโคลนที่หนองหลวง มาหมักกับผ้าไทญ้อที่ยอมสี ธรรมชาติ จึงเกิดเป็นผ้าหมักโคลนหนองหลวงและย้อมสีธรรมชาติ จึงเกิดแรงบันดาลใจในการทำผ้าหมักโคลนหนองหลวง พร้อมเอกลักษณ์ความเป็นไทญ้อ ของตําบลกุดจิก อําเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ขึ้นมา

ลวดลายของกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ
สำหรับที่จังหวัดสกลนคร เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีชื่อเสียงผ้าฝ้ายย้อมครามโด่งดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีการทอผ้าที่ประณีตงดงาม และมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ โดยมีกลุ่มทอผ้าฝ้ายอยู่หลายกลุ่มให้เลือกชมด้วยกัน อย่างที่ กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ หมู่ 12 บ้านพันนานคร มีการทอผ้าลวดลายและเอกลักษณ์แสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสยงของจังหวัดสกลนคร ซึ่งได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่อนุรักษ์ลวดลายดั้งเดิมและประยุกต์ลวดลายใหม่ๆ ผสมผสานกันไปตลอดจนแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ตามความต้องการลูกค้าเป็นหลัก

ลวดลายของกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น