xs
xsm
sm
md
lg

พ่อเมืองอุดรขอบคุณ “ลิซ่า” ปลุกตลาดผ้าบ้านนาข่าฟื้นคืนชีพ จ.อุดรฯ มีกลุ่มทอผ้ากว่า 500 กลุ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุดรธานี - พ่อเมืองอุดรธานี ขอบคุณ “ลิซ่า” “BLACKPINK” ที่ทำให้ผ้าย้อมครามหมักโคลนบ้านนาข่าเป็นที่รู้จักแก่สายตาชาวโลก ปลุกชีพตลาดผ้าบ้านนาข่าให้คึกคักอีกครั้ง เผยจังหวัดอุดรธานี มีกลุ่มทอผ้ากว่า 500 กลุ่ม มีสมาชิกเครือข่าย 2,500 คน มีรายได้จากการขายผ้าในปีที่ผ่านมา 3,000 กว่าล้านบาท

นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี
ภายหลังวงเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังแห่งเกาหลีใต้ “BLACKPINK” เสร็จสิ้นคอนเสิร์ตส่งท้ายปีที่ประเทศไทยเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา “ลิซ่า BLACKPINK“ หรือ “ลลิษา มโนบาล” ยังคงอยู่พักผ่อนต่อในเมืองไทย โดยล่าสุดเธอได้โพสต์ภาพการไปไหว้พระที่อยุธยากับเพื่อนลงในอินสตาแกรมส่วนตัว (@lalalalisa_m) ไม่กี่วินาทีจากนั้นได้เกิดกระแสลิซ่าฟีเวอร์ขึ้นอีกครั้ง โดยหลายคนตั้งใจตามรอยลิซ่าไปเที่ยวเมืองกรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา และแต่งชุดไทย นุ่งซิ่นเหมือนอย่างลิซ่า และผ้าไทยที่เธอสวมใส่มาจากร้านผ้าทอในตลาดบ้านนาข่า อ.เมืองอุดรธานี

ล่าสุดผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ตลาดผ้านาข่า บรรยากาศคึกคักเป็นอย่างมาก มีนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศเดินทางมาสั่งซื้อผ้าไหมลายขอนาคจากร้านค้าต่างๆ แต่ตอนนี้ลายนี้ไม่มีขายแล้ว ขณะเดียวกันได้มีโอกาสพบกับคุณแม่สุวิมล ไชยวงศ์ เจ้าของร้านชานเรือน และเป็นคุณแม่น้องเดียร์น่า ฟลีโป ดารานักแสดงอีกครั้ง

คุณแม่สุวิมลย้ำอีกครั้งว่า ดีใจที่น้องลิซ่าใส่ผ้าถุงจากร้าน ก็อย่างที่เข้าใจไม่คิดว่าน้องจะใส่ผ้าถุงลายนี้ ดีใจอย่างมาก ภาพที่ออกไปน้องงามอย่างไทย และผ้าถุงที่น้องใส่ถือเป็นมัดหมี่ย้อมครามหมักโคลนเป็นลายดั้งเดิมที่ผลิตด้วยมือของช่างผู้ชำนาญ ที่สำคัญหลังข่าวแพร่กระจายออกไปทำให้ตลาดผ้าไหมนาข่า จ.อุดรธานี กลับมาคึกคักอีกครั้ง

คุณสุวิมล ไชยวงศ์ เจ้าของร้านชานเรือน


ขณะที่นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้ออกมากล่าวขอบคุณน้องลิซ่า นางสาวลลิษา มโนบาล ที่ทำให้ผ้าย้อมครามหมักโคลนได้เป็นที่รู้จักแก่สายตาชาวโลก

นายวันชัยได้กล่าวว่า “ขอขอบคุณน้องลิซ่า ที่ทำให้ผ้าย้อมครามหมักโคลนจากร้านชานเรือนนาข่า ตลาดผ้าบ้านนาข่า อำเภอเมืองอุดรธานี ได้เป็นที่รู้จักแก่สายตาชาวโลก ทำให้เกิดกระแสมีคนมาติดตามซื้อผ้าที่น้องลิซ่าสวมใส่เป็นจำนวนมาก”




ทั้งนี้ จังหวัดอุดรธานีมีกลุ่มที่ทำการทอผ้ากว่า 500 กลุ่ม มีสมาชิกจำนวน 2,500 คน มีรายได้จากการจำหน่ายผ้าในปีที่ผ่านมา 3,000 กว่าล้านบาท และจังหวัดอุดรธานียังได้มีการส่งเสริม เพิ่มทักษะให้กลุ่มอาชีพอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการอบรมให้ความรู้ในด้านการย้อมสีธรรมชาติ เพื่อให้ได้ผ้าที่มีความสวยงามและเป็นการลดการใช้สารเคมี รวมทั้งสอดคล้องกับกรอบแนวคิดสิ่งทอรักษ์โลก BCG Model


กำลังโหลดความคิดเห็น