อ.เจษฎ์เตือนอย่าใช้ปากกาเมจิกมีสารเคมีเขียนถุงพลาสติกบรรจุอาหาร อันตรายต่อร่างกาย เสี่ยงมะเร็ง หลังโซเชียลฯ แห่แชร์ร้านใช้ปากกาเขียนถุงโจ๊ก หมึกซึมทะลุถึงเนื้อโจ๊กด้านใน
จากกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ภาพถุงโจ๊กที่ซื้อมา ลงกลุ่ม "พวกเราคือผู้บริโภค" ซึ่งมีการเขียนด้วยปากกาเมจิกแล้วสีซึมไปถึงเนื้อโจ๊ก จนหลายคนเป็นห่วงเข้าไปแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นจำนวนมากนั้น
วันนี้ (23 ก.ค.) เพจ "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ถึงกรณีดังกล่าวโดยระบุว่า “ไม่ควรใช้ปากกาเมจิกเขียนบนพลาสติกบรรจุอาหาร" เคยเขียนบทความเตือนเรื่องทำนองนี้มาหลายครั้งแล้ว ทั้งกรณีที่มีการใช้ปากาเมจิกเขียนลงไปบนบรรจุภัณฑ์อาหาร แล้วพบว่ามันสามารถซึมเข้าไปถึงอาหารข้างในได้! เคยเจอกันมาแล้วทั้งถุงโจ๊ก และกล่องแซนด์วิช ฯลฯ
โดยสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า พลาสติกเป็นวัสดุที่มีโมเลกุลของสารตั้งต้นมาจับตัวกันเป็นสายยาวและเป็นร่างแหของพอลิเมอร์ โดยที่ในตัวเนื้อพลาสติกนั้น ก็มีช่องว่างเล็กๆ อยู่ เมื่อพลาสติกถูกความร้อนจะเกิดการขยายตัวขึ้น ทำให้ช่องว่างเหล่านี้มีพื้นที่กว้างขึ้น ความชื้นหรืออากาศสามารถแทรกซึมผ่านได้
ในขณะที่หมึกของปากกาเมจิกนั้นก็เป็นสารเคมีที่มีสภาพเป็นสารมีขั้ว จึงอาจจะซึมผ่านเนื้อของพลาสติกบางชนิดได้ดี โดยเฉพาะกับพลาสติกกลุ่มที่มีเนื้อไม่แน่น และซึมผ่านไปยังเนื้อของอาหารที่มีสภาพเป็นสารมีขั้วเช่นกันได้ แถมยิ่งอาหารร้อนมาก ก็จะยิ่งเกิดการซึมผ่านเข้าไปได้ง่ายขึ้นด้วย
และแน่นอนว่า เนื้อสีของปากกาเมจิกมีสารเคมีที่เป็นตัวทำละลาย ซึ่งถ้าบริโภคเข้าไปก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย และอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้ด้วย จึงไม่ควรเขียนถุงพลาสติกบรรจุอาหารด้วยปากกาเมจิกครับ เพราะถุงพลาสติกไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สำหรับการเขียนปากกาเมจิกลงไป แต่ควรหาวิธีอื่นๆ ที่จะสร้างสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแทน
และก็ขอเอาภาพกราฟิกคำเตือนของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่เคยเตือนภัยเรื่อง ปากกาเมจิกซึมทะลุอาหาร ไว้ โดยแนะนำว่า
“เตือนภัย ปากกาเมจิกซึมทะลุถุงอาหาร ควรเลือกใช้ถุงให้ถูกประเภท / ถุงใส่อาหารที่ได้มาตรฐาน จะทนความร้อนได้ 100-120 องศาเซลเซียส สีหมึกจะไม่ซึมผ่านเข้าไป / ไม่ควรใช้ปากกาเคมีมาเขียนบนถุงพลาสติกที่ใส่อาหารโดยตรง ให้ใช้วิธีแปะสติกเกอร์ดีกว่า / เลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีการเขียนถุงด้วยปากกาเมจิก"
ตามด้วยข้อมูลอย่างละเอียดจากเพจ "เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว" ที่เคยเขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้ มาให้อ่านประกอบนะครับ
(บทความจากเพจ เคมีฯ)
หลายๆ คนก็คงจะสงสัยว่า เอ๊!! ทำไมหมึกที่อยู่อีกด้านจึงสามารถที่จะทะลุเข้าไปด้านในได้นะเออ!! ดังนั้นวันนี้แอดฯ ก็จะมาเล่าถึง #เกร็ดความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ ถึง #ปรากฏการณ์การเคลื่อนตัวของสีหมึกจากภายนอกถุงพลาสติกเข้าไปเปื้อนโจ๊ก ให้ฟังกันนะครับ
จากที่แอดฯ ดูแล้ว แอดฯ ก็จะเดาว่าปากกาเมจิกที่ใช้เขียนถุงพลาสติกเหล่านี้น่าจะเป็นปากกาที่เรามักจะเรียกกันเป็นภาษาชาวบ้านว่า “ปากกาเคมี” หรือ Permanent marker นะครับ
ปกติแล้วสีย้อมที่นำมาใช้ทำเป็นหมึกปากกาเคมีเหล่านี้มักจะเป็น “สีประจุบวก” (cationic dyes) ที่มักจะเป็นสีในกลุ่มของ “ไตรเอริลมีเทน” (Triarylmethane dyes) และนิยมนำมาละลายในตัวทำละลายอินทรีย์ชนิดต่างๆ เช่น Ethyl acetate, Acetone, Isopropyl alcohol หรืออาจจะเป็น Ethanol ก็ได้นะครับ
เนื่องจากว่าสีเหล่านี้มีความเข้มสูง และเมื่อสีเหล่านี้เมื่ออยู่ในตัวทำละลายอินทรีย์ที่มีขั้วปานกลางเหล่านี้ก็จะทำให้มันมีแรงตึงผิวที่ต่ำพอ จนทำให้สามารถเกาะบนผิวพลาสติกที่ไม่มีขั้วอย่าง PP หรือ HDPE ที่นำมาทำเป็นถุงพลาสติกได้ดีนะครับ
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความแตกต่างที่มากเหลือเกินของ “ความมีขั้วจากประจุบวกของสีย้อม” กับ “ความไม่มีขั้วของพลาสติก” เหล่านี้จึงทำให้สีนั้นสามารถเกิดการ “เคลื่อนตัวหนีจากพลาสติกได้เสมอ” ถ้ามีพลังงานที่มากพอและมีสิ่งที่มีขั้วที่ใกล้เคียงกับสีย้อมตัวนั้นมาดักรออีกฝั่งด้วย!! (เนื่องจากความมีขั้วของสีและถุงพลาสติกนั้นต่างกันมาก แต่ที่มาอยู่ด้วยกันตอนแรก เพราะโดนบังคับมาจากการกดขี่หัวปากกาใส่ถุงพลาสติก!!)
แน่นอนว่า ในถุงโจ๊กนั้นมีทั้งคาร์โบไฮเดรตจากแป้ง โปรตีนจากไข่และเนื้อหมูสับที่ละลายอยู่ในน้ำซุปร้อนๆ นั้น ต่างก็เป็นโมเลกุลที่มีขั้ว (polar molecule) ที่มากกว่าถุงพลาสติกเป็นไหนๆ นะครับ ดังนั้นเมื่อสีย้อมที่มีขั้วนั้นได้เจอกับโมเลกุลที่มีขั้วเหมือนๆ กัน ตามทฤษฎี “Like dissolves like” หรือตามภาษาความรักก็เรียกว่า “เคมีตรงกัน” ก็จะทำให้สีย้อมนั้นรีบปรี่เข้าไปหาโมเลกุลที่มีขั้วของอาหารในถุงอย่างไม่คิดชีวิตกันเลยทีเดียว
และแน่นอนว่าสีย้อมเหล่านี้ไม่ใช่ “สีผสมอาหาร” ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ จึงไม่ควรนำปากกาเคมีเหล่านี้มาเขียนบนถุงพลาสติกที่ใส่อาหารโดยตรงนะครับ และถ้าผู้ซื้อเห็นว่าสีเลอะแล้วก็ควรจะ “ทิ้งไป” ซะนะครับ แต่ถ้าเผลอรับประทานไปแล้วก็ไม่ต้องกังวลอะไรมาก เพราะความเข้มสีที่เห็นนั้นมีน้อยกว่าปริมาณอันตรายพอสมควร แต่ก็นะ!! ถ้าคราวหลังยังเห็นอีกก็ควรจะเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีการเขียนถุงด้วยปากกาเมจิกเหล่านี้นะครับ”