xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 16-22 ก.ค.2566

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1."ก้าวไกล" ยอมให้ "เพื่อไทย" เป็นแกนนำจัดตั้ง รบ. "พิธา" ยัน ตั้งใจทำงานต่อ ลั่น อย่าบอกให้ก้าวไกลเสียสละเป็นฝ่ายค้าน เหมือนเอา 14 ล้านเสียงไปเทกระจาด!

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ กกต.ไว้วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงหรือไม่จากกรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี พร้อมมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว จนกว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ขณะที่ที่ประชุมรัฐสภาก็มีมติเสียงข้างมากว่า ไม่สามารถเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ ซ้ำสองได้ ส่งผลให้ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ รอบสองได้เมื่อวันที่ 19 ก.ค. หลังโหวตนายกฯ แล้วไม่ผ่านเมื่อวันที่ 13 ก.ค.

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้าการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล โดยอ้างว่า ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ทุกอย่างชี้ชัดว่า ทุกองคาพยพของฝ่ายอนุรักษนิยม ทั้งการเมืองจารีต ทุนผูกขาด และสถาบันองค์กรต่างๆ ที่เป็นบริวารแวดล้อม ทั้งหมดไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเอาเรื่อง ม.112 มาบังหน้า และอ้างความจงรักภักดีมาปะทะกับการเลือกตั้งของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังตัดสิทธิการเมืองของแกนนำพรรคและยุบพรรคก้าวไกลให้ได้

การที่นายพิธาไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ได้หมายความว่าภารกิจการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อพลิกขั้วอำนาจรัฐบาลจะไม่สำเร็จไปด้วย ...พรรคก้าวไกลจะเปิดโอกาสให้ประเทศ โดยให้พรรคอันดับสอง คือพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพันธมิตร 8 พรรคที่ได้เคยทำ MOU กันไว้ ดังนั้น ในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป พรรคก้าวไกลจะเสนอชื่อแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เช่นเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยเคยสนับสนุนพรรคก้าวไกล

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงหลังการประชุมหารือร่วมกันของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า ที่ประชุมมีมติว่า ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 27 ก.ค. ที่ประธานบรรจุวาระการโหวตเลือกนายกฯ นั้น ที่ประชุมมีมติให้พรรคเพื่อไทยส่งชื่อผู้ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยพรรคก้าวไกลจะเป็นผู้เสนอชื่อ เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่ประชาชนมุ่งหวัง ซึ่งที่ประชุมเสนอแนวทางการได้เสียงสนับสนุน คือ

1.ทั้ง 8 พรรคร่วมจะขอเสียงจาก สว. ให้ได้ครบตามจำนวนที่จะต้องเติมถึง 375 เสียง คือ 63 เสียง ซึ่งอาจมีเงื่อนไขคือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พรรคเพื่อไทยจะคุยเรื่องนั้น และนำการลดเงื่อนไขมาพูดคุยกับทางพรรคก้าวไกลต่อไป 2.ถ้าได้เสียง สว. ไม่พอ ก็ให้สิทธิพรรคเพื่อไทยคุยกับพรรคการเมืองอื่นได้ ตามที่พรรคเพื่อไทยเห็นสมควร ซึ่งที่ประชุมให้เป็นเสรีภาพของพรรคเพื่อไทยที่จะไปคุย 3.แนวทางอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ที่ประชุมได้ให้สิทธิ์พรรคเพื่อไทยในการพิจารณาดำเนินการ

ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวในช่วงท้ายของการแถลงข่าวหลังการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า นโยบายการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ที่เป็นอุปสรรคในการหาเสียงสนับสนุนเพิ่มให้ครบ 375 เสียงนั้น ทาง ส.ว.จิ้มมาเลยว่า ถ้ามีพรรคก้าวไกลเขาไม่เอาด้วย เพราะฉะนั้นก็ควรจะเป็นเรื่องของก้าวไกลที่ต้องตัดสินใจ

“จะทำอย่างไร ถ้ายังยืนยันอยู่เพื่อไทยก็ไม่ผ่านหรอก เชื่อผมสิ แต่ถ้าเสียสละ ก็พอไปได้ ก็เปรียบเสมือน ยืนอยู่กลางทะเลกันนะ เรือมันล่ม มีคนแก่ ผู้หญิง มีเด็ก มีอะไรต่างๆ แล้วเราคนหนุ่มจะต้องขึ้นเรือก่อนเหรอ เราต้องให้เด็ก คนแก่ ผู้หญิงขึ้นก่อน เราก็ยอมเสี่ยงภัยไปเสียก่อน เมื่อเสี่ยงภัย เดี๋ยวเรือลำที่ 2 มา เราค่อยไป ไม่ใช่ว่าไอ้หนุ่มกระโดดขึ้นเรือก่อน ปล่อยให้ผู้หญิง ปล่อยให้เด็กผจญกรรมอย่างนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้ต้องมีผู้เสียสละเพื่อให้ประชาธิปไตยไปได้ ถ้าไม่มีการเสียสละก็ไปไม่ได้ เชื่อผม”

เมื่อถามว่า หมายถึงให้ตัดพรรคก้าวไกลหรือไม่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตอบว่า ไม่ใช่การตัด ถ้าตัดออก เพื่อไทยก็ขาดไปอีก 151 เสียง ไม่ตัด อยู่ด้วยกันนั่นหละ เพียงแต่ไม่ต้องแสดงตัว ถ้าแสดงตัวตน มันก็ไม่เอา ต้องเล่นให้เป็น แล้วไปรวมกันทีหลังได้ รอเพื่อไทยเขาจัดการ

ถามต่อว่า เสียสละคืออย่างไร ให้พรรคก้าวไกลถอยไปเป็นฝ่ายค้านใช่หรือไม่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า “ก็ไปคิดเอาเองว่าใครควรเสียสละ ผมเสียสละเพื่อไทยก็ไม่ได้ประโยชน์หรอก ผมเสียงเดียว เดี๋ยวเพื่อไทยเขาจัดการอยู่”

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยเริ่มทยอยคุยกับแกนนำพรรคการเมืองบางพรรคแล้ว เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนากล้า พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งแต่ละพรรคต่างยืนยันว่า พร้อมสนับสนุนพรรคเพื่อไทย หากไม่มีพรรคที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112

ล่าสุด (23 ก.ค.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เผยความคืบหน้าการพูดคุยขอเสียงสนับสนุนจาก สว. ว่า ได้ส่งมอบทีมเจรจา สว. ไปพูดคุยขอเสียงสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 ก.ค.แล้ว เนื่องจาก สว.มี 250 คน จึงไม่ได้นัดคุยอย่างเป็นทางการ แต่ในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ค.) ทีมทำงานจะมาสรุปร่วมกันอีกครั้ง จากนั้นพรรคเพื่อไทยจะแถลงผลการหารือกับ สว. โดยจะกำหนดทิศทางอีกครั้งว่า จะแถลงร่วมกับ สว. หรือไม่ พร้อมปฏิเสธที่จะบอกจำนวน สว. ที่ได้มีการพูดคุยว่า จนถึงขณะนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. เท่าใด

เมื่อถามถึงการเชิญพรรคประชาธิปัตย์มาหารือ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค จึงมองว่า กำหนดวันเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของประชาธิปัตย์คือ 6 ส.ค. ไม่ทันกับการเลือกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค.นี้

ส่วนความเคลื่อนไหวของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล แม้จะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จนกว่าศาลจะวินิจฉัยปมถือหุ้นสื่อ ว่าต้องพ้นสภาพ ส.ส.หรือไม่ และที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่สามารถถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ รอบสองได้ ก็ได้เดินสายขอบคุณประชาชนในจังหวัดต่างๆ ที่เลือกพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

โดยนายพิธา ยืนยันกับผู้สนับสนุนที่ จ.จันทบุรีว่า ตอนนี้กำลังใจยังดีอยู่ ตั้งใจที่จะทำงานต่อ เมื่อถามว่า มีความพยายามให้พรรคก้าวไกลเสียสละจากการเป็นพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล นายพิธา ระบุว่า คิดว่าตอนนี้คุณค่าที่สำคัญ ก็คือ “สัจจะ ไม่ใช่เสียสละ” คือสัจจะที่เคยให้สัญญากับพี่น้องประชาชนไว้ตามที่เขาคาดหวัง ถ้าเรารักษาสัจจะที่ให้กับประชาชนไว้ ก็ไม่มีใครต้องเสียสละ เพราะเป็นไปตามกฎกติกาที่มันมีอยู่ตามครรลองการเมืองปกติ เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าให้เสียสละ เหมือนเอาคะแนน 14 ล้านเสียงไปเทกระจาด และทำให้ประชาชนผิดหวัง ตนว่าถึงตอนนั้นต้องยึดสัจจะให้มั่นและยึดหลักการให้มั่น มากกว่าการที่มองว่าใครควรจะเสียสละหรือไม่เสียสละ แต่เอาหลักการปกติที่ควรจะเป็นเป็นตัวตั้ง

2.ศาล รธน. สั่ง “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราวหลังรับวินิจฉัยปมถือหุ้นสื่อ ด้านรัฐสภามีมติเสียงข้างมากเสนอชื่อ “พิธา” เป็นนายกฯ ซ้ำไม่ได้!


เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ได้มีการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 2 โดยมีระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญคือ การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 ก.ค. มีการโหวตเลือกนายกฯ แต่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล แต่ไม่ผ่าน เนื่องจากได้เสียงสนับสนุนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา แต่ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลยังคงมีมติเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกฯ อีกรอบ ซึ่ง ส.ส.และ ส.ว.หลายคนมองว่า ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้ โดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกฯ ซ้ำอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้าน โดยระบุว่า การเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ เป็นญัตติที่ถูกตีตกไปแล้วในการประชุมเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ไม่สามารถเสนอซ้ำได้อีก นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุมจึงได้เปิดให้สมาชิกได้อภิปรายโต้แย้ง

ทั้งนี้ บรรยากาศการอภิปรายเป็นไปด้วยความเข้มข้น ทั้งฝ่ายพรรคขั้วรัฐบาลเดิม กับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงฝั่ง ส.ว. ซึ่งยกเหตุผลและข้อบังคับ รวมถึงรัฐธรรมนูญว่าด้วยการโหวตนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 สนับสนุนเหตุผลของฝั่งตนเอง ขณะที่พรรคก้าวไกล ต่างยืนยันว่า การเสนอชื่อบุคคลให้ความเห็นชอบเป็นนายกฯ นั้น เป็นเรื่องที่เสนอให้พิจารณา ไม่ใช่การเสนอญัตติตามที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับการประชุม

กระทั่งเวลา 16.50 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานที่ประชุมได้ สั่งปิดการอภิปราย จากนั้นได้ให้สมาชิกกดบัตรแสดงตนเพื่อตรวจองค์ประชุมก่อนลงมติว่า การเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นญัตติที่ต้องห้ามเสนอชื่อซ้ำตามข้อบังคับที่ 41 หรือไม่

ผลปรากฏว่า มีสมาชิกแสดงตนจำนวน 715 คน สมาชิกเห็นด้วยต่อญัตติดังกล่าว 395 เสียง ไม่เห็นด้วย 312 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ถือว่าเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งหมายถึงไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาให้พิจารณารอบสองได้

ทั้งนี้ ขณะที่ที่ประชุมรัฐสภากำลังอภิปรายกันอยู่นั้น อีกด้าน ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไว้วินิจฉัย กรณีที่ กกต. ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากการมีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 หุ้น

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ ประกอบวรรคหนึ่ง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 75 โดยให้นายพิธา ผู้ถูกร้อง ยื่นคำชี้แจงแก้เข้ากล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 54

สำหรับคำร้องของ กกต.ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธา ผู้ถูกร้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรค 2 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า มีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายพิธาอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้ง เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมรัฐสภาและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค 66 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญเผยว่า มติ 7 ต่อ 2 ที่ให้นายพิธาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว นับแต่วันที่ 19 ก.ค ไปจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องของ กกต.นั้น เสียงข้างมากเห็นว่า ตัวบทกฎหมายระบุไว้ชัดว่า มีเหตุอันควรสงสัยตามคำร้อง จึงเห็นควรสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้ก่อน

ส่วนเสียงข้างน้อย 2 เสียง ที่เห็นต่างนั้น ตุลาการคนหนึ่ง ยังติดใจเรื่องการถือหุ้นดังกล่าวตามเอกสาร บมจ.5 หรือสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ระบุในฐานะผู้จัดการมรดกหรือไม่ ขณะที่ตุลาการอีกคน ติดใจว่า กระบวนการควรจะมีความชัดเจนกว่านี้

แหล่งข่าวเผยด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการส่งเอกสารคำสั่งของศาลไปยังรัฐสภาแล้ว เพื่อแจ้งประธานรัฐสภารับทราบ ส่วนกระบวนการหลังจากนี้ ศาลจะรอเอกสารชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาจากนายพิธาภายใน 15 วันตามกรอบที่ได้แจ้งไว้ และอาจเรียกนายพิธาเข้ามาชี้แจง และเข้าสู่กระบวนการไต่สวน คาดว่าจะใช้เวลาในกระบวนการไต่สวน 3-4 เดือน

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญส่งถึงที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งกำลังอภิปรายเรื่องการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ ซ้ำได้หรือไม่ ปรากฎว่า นายพิธาได้ลุกขึ้น กล่าวว่า ขณะนี้มีเอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ตนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จึงขออนุญาตพูดกับประธานว่า ตนรับทราบคำสั่งดังกล่าว และจะปฏิบัติตามคำสั่งจนกว่าจะมีการวินิจฉัยเป็นอื่น จึงขอใช้โอกาสนี้ในการอำลาประธานสภาและสมาชิกด้วย และขอฝากเพื่อนๆ สมาชิกในการดูแลประชาชนด้วย ซึ่งตนคิดว่า ประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา เท่ากับว่าประชาชนชนะมาแล้วครึ่งทาง ยังเหลืออีกครึ่งทาง ถึงแม้ตนจะยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ขอให้สมาชิกทุกคนช่วยกันดูแลประชาชนต่อไป

ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานที่ประชุมได้กล่าวขอบคุณนายพิธา เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมายังสภา ก็ให้ความเคารพกติกาต่อสภา โดยไม่ขอปฏิบัติหน้าที่ในสภานี้จนกว่าคำสั่งวินิจฉัยจะเปลี่ยนแปลงไป

จากนั้นนายพิธาได้เดินออกจากห้องประชุม พร้อมชูกำปั้นด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ขณะที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ต่างปรบมืออำลา ขณะที่การอภิปรายในที่ประชุมยังคงดำเนินต่อไปตามปกติ ก่อนที่ประชุมจะมีการลงมติในภายหลัง โดยเสียงข้างมากเห็นว่า การเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นญัตติที่ต้องห้ามเสนอชื่อซ้ำตามข้อบังคับที่ 41

3. นัก ก.ม.เสียงแตก มติรัฐสภาห้ามเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำสองขัด รธน.หรือไม่ "บวรศักดิ์" ชี้ ขัด "คมสัน" ยัน ไม่ขัด เผย ห้ามเสนอชื่อซ้ำ ป้องกันเล่นแท็กติกโหวตชื่อเดิมไม่สิ้นสุด!



หลังที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมากมีมติว่า ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ รอบสองได้เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ได้ เนื่องจากไม่ผ่านการโหวตรอบแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ถือว่าญัตติดังกล่าวตกไปแล้ว ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงผลการประชุมรัฐสภาที่มีมติว่า ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ รอบสองได้ว่า เอาข้อบังคับการประชุมมาทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นง่อย ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะแล้ว น่าสงสารประเทศไทย ผิดหวัง สส. คนที่ไปร่วมลงมติห้ามเสนอชื่อซ้ำ แม้คุณจะอยู่ฝ่ายค้าน คุณก็ควรรู้ว่า เมื่อไหร่ต้องทิ้งความเป็นฝ่ายค้าน ทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่การตีความของรัฐสภาไม่เป็นที่สุด คนที่คิดว่าสิทธิของตนถูกกระทบ ไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ ว่ามติรัฐสภา ซึ่งเป็นการกระทำทางนิติบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญได้ตาม มาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ ถ้าผู้ตรวจการไม่ส่งศาล ผู้นั้นยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ผมจะรอดูคำร้องว่าการกระทำของรัฐสภาขัดรัฐธรรมนูญ และจะดูว่าศาลรัฐธรรมนูญว่ายังไง สอนรัฐธรรมนูญมา 30 กว่าปี ต้องทบทวนแล้วว่าจะสอนต่อไหม?!?!?!

อย่างไรก็ตาม นายคมสัน โพธิ์คง นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองต่างจากนายบวรศักดิ์ โดยโพสต์บทความผ่านเฟซบุ๊ก (20 ก.ค.) ยืนยันว่า การเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติ โดยระบุว่า ข้อบังคับการประชุม คือ กฎที่มีลักษณะพิเศษ เป็นวิธีดำเนินงานของรัฐสภาที่รัฐธรรมนูญกำหนดฐานะให้มีฐานะเป็นกฎที่มีศักดิ์สูง เป็นกฎที่ขยายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในรัฐธรรมนูญเขียนรายละเอียดไม่ได้ด้วยข้อจำกัดในหลายประการ เช่นเดียวกับที่ศาลทั้งหลายต้องมีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความของศาล ป.ป.ช.มีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฝ่ายปกครองมีกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

ผมอ่านกี่รอบก็เห็นว่าเป็น “ญัตติ” ข้อบังคับสภาผู้แทนราษฎรก็เขียนแบบนี้ เหมือนลอกกัน ถ้าไม่เป็นญัตติก็ไม่ต้องเขียนยกเว้น ...แต่ผู้ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และสภาผู้แทนราษฎร น่าจะมีความเข้าใจว่าเป็นญัตติ และกำลังบอกว่า เป็นญัตติแบบหนึ่ง ที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้า แต่มีวิธีการเสนอตามข้อ ๑๓๖ ไม่เสนอแบบญัตติทั่วไป คือ เป็นญัตติที่มีลักษณะพิเศษ

ส่วนที่จะมีการเสนอให้ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยการลงมติเมื่อวันที่ ๑๙ นั้น นายคมสัน ระบุว่า การเขียนและลงมติอย่างที่ปรากฏในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ไม่ทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๗๒ เสียหาย เพราะยังเลือกได้อยู่จนกว่าจะหมดบัญชีทุกพรรค ไม่ได้ทำให้เจตนารมณ์เปลี่ยนแปลง ถ้าเกิดการเลือกคนๆ เดียวด้วยเงื่อนไขเดิมตลอดจะทำกี่ครั้ง จึงจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา ๒๗๒ ถ้าโหวตกันได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกไปเรื่อยๆ โดยเสนอคนคนเดียว จน สว. ครบวาระ ยิ่งทำให้การเขียนมาตรา ๒๗๒ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์กับที่เขียนให้ สว. เข้าร่วมการการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี แต่จะเป็นการใช้แท็กติกที่จะทำให้รัฐธรรมนูญใช้งานไม่ได้ และวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำอีก

ซึ่งถ้าเช่นนั้น มาตรา ๒๗๒ วรรคสองจะเขียนไว้ทำอะไร ถ้าเสนอคนๆ เดียวที่มีมติไม่เห็นชอบได้ตลอด จะลงมติจนครบวาระสภาผู้แทนราษฎร ๔ ปี ก็ทำได้เช่นนั้นหรือ ถ้าเช่นนั้น ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเขียนมาตรา ๒๗๒ วรรคสองไว้ ดังนั้นผมเห็นว่า การลงมติตามมาตรา ๒๗๒ วรรคหนึ่งต้องมีข้อยุติว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ซึ่งมาตรา ๒๗๒ วรรคหนึ่งไม่เขียนไว้ ก็ต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งเมื่อโหวตวันแรกไม่ได้ ก็ต้องเข้าเงื่อนไขตามมาตรา ๒๗๒ วรรคสองแล้ว คือเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ คือจึงต้องมีข้อยุติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ซึ่งเป็นวิธีดำเนินงานของรัฐสภาในแต่ละเรื่องไป

ทั้งนี้ วันเดียวกัน (20 ก.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เผยว่า วันนี้ได้ส่งคำร้องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้พิจารณาและส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่ที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. มีมติว่า ญัตติการเสนอชื่อนายพิธา เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่สอง เป็นการเสนอญัตติซ้ำต้องห้ามตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 นั้น จะถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะขณะนี้ มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าญัตติการเสนอชื่อนายพิธา ซึ่งเป็นญัตติเฉพาะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ประกอบมาตรา 159 นั้น รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อตามมาตรา 88 ของพรรคการเมืองที่มี สส. ไม่น้อยกว่า 25 คน และการเสนอชื่อต้องมี สส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ 50 คน ซึ่งญัตติดังกล่าวนี้ รัฐธรรมนูญมีข้อจำกัดจำนวนครั้งหรือไม่ อย่างไร จึงได้ส่งคำร้องด่วนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้พิจารณาและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติ

วันต่อมา (21 ก.ค.) นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีที่ประชุมรัฐสภามีมติว่าไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ รอบสองได้ เป็นการใช้ข้อบังคับฯ เหนือรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ถ้ายังเป็นร่างข้อบังคับฯ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะตรวจสอบดูร่างข้อบังคับของสภา ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา ได้ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ถ้าเป็นข้อบังคับที่ประกาศใช้แล้ว เป็นเรื่องภายในรัฐสภา ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญไปตรวจสอบว่าจะขัดแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะถ้าให้ศาลรัฐธรรมนูญไปตีความข้อบังคับของรัฐสภา ไม่มีแบบอย่างมาก่อน และผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่มีหน้าที่ที่จะส่งเรื่องแบบนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เมื่อถามว่า ถ้าเป็นแบบนี้จะหาจุดจบอย่างไร นายจรัญ กล่าวว่า เมื่อข้อบังคับฯ ประกาศใช้แล้ว ก็ต้องใช้มติของสภานั้นๆ มาตัดสิน จะให้คนอื่นวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ไม่มีช่องทางให้ทำได้ เพราะหลักการใหญ่คือ ไม่ให้อำนาจตุลาการมาแทรกแซงกับอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ที่ศาลรัฐูธรรมนูญพิจารณาร่างข้อบังคับฯ ได้ ไม่ใช่การตรวจสอบ แต่เป็นการช่วยกลั่นกรองรัฐสภาอีกทางหนึ่ง เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ไม่ให้มีเนื้อหาขัดแย้งรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ใช้อำนาจก้าวก่ายกัน แต่เป็นเรื่องเกื้อกูลช่วยกันดู ไม่ให้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อใดที่ข้อบังคับใช้แล้ว เขาใช้อยู่ในแวดวงสภาฯ รัฐสภาของเขา ศาลฯ ไม่ว่าศาลฯใด ไม่มีอำนาจเข้าไปวินิจฉัย ตรวจสอบ หรือตีความข้อบังคับของสภา

4. ตำรวจยื่นศาลถอนประกัน "อานนท์" เหตุทำผิดเงื่อนไข นำม็อบ-ปราศรัยสร้างความปั่นป่วนในบ้านเมือง เจ้าตัวย้ำไม่ผิดเงื่อนไขและจะไม่หยุดปราศรัย!



เมื่อวันที่ 18 ก.ค. พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวนายอานนท์ นำภา ทนายความ และแกนนำกลุ่มราษฎร จำเลยที่ 1 ในคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้องนายอานนท์ กับพวก ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ ที่หน้าสำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ถ.พหลโยธิน และห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 24-25 พ.ย. 2563 โดยอาศัยบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 109

โดยระบุว่า นายอานนท์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาในชั้นศาล ซึ่งมีเงื่อนไขว่า ห้ามจำเลยพูดหรือยุยงหรือส่งเสริมให้มีการกระทำใดๆ อันก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาล ทั้งห้ามยุยงส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบของบ้านเมือง รวมทั้งห้ามจำเลยที่ 1 ขัดขวาง หรือกระทำการใดๆ ให้การดำเนินคดีในศาลนี้เป็นไปด้วยความล่าช้า โดยหลังจากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ดังนี้

วันที่ 12 ก.ค.2566 จำเลยประกาศชุมนุมที่ลานสกายวอล์ก แยกปทุมวัน พร้อมขึ้นปราศรัยด้วยคำพูดที่ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวายในบ้านเมือง มีการกล่าวถึงสถาบันศาล มีพฤติการณ์ข่มขู่คุกคาม ส.ว. เป็นแกนนำปลุมระดมมวลชนให้ร่วมชุมนุมที่รัฐสภา เพื่อกดดัน สว.ในวันเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี วันที่ 13 ก.ค. 2566 นอกจากนี้ วันที่ 16 ก.ค. 2556 ยังได้นัดหมายทำกิจกรรมคาร์ม็อบ เอาใบลาออกไปยื่นให้ สว.

ด้านศาลอาญาได้รับเป็นคำคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวนายอานนท์ ของพนักงานสอบสวนไว้ และให้รวมไว้ในสำนวนคดี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ได้มีพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวนายอานนท์ อีกรวม 2 คำร้อง ประกอบด้วย 1.พนักงานสอบสวน สน.บางโพ ยื่นคำร้องคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวนายอานนท์ จำเลย คดีหมายเลขดำ อ.2847/2564 และ 2.พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ยื่นคำร้องคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวนายอานนท์ จำเลย คดีหมายเลขดำ อ.2495/2564 โดยอ้างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือชักชวนให้ร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2666 และ 16 ก.ค.2566 เช่นกัน

ด้านศาลอาญา เห็นว่า ได้ปรากฏความต่อศาลถึงพฤติการณ์แห่งคดี ภายหลังปล่อยตัวชั่วคราวอาจเปลี่ยนแปลงไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 115 จึงมีคำสั่งให้หมายเรียกนายอานนท์ มาศาลเพื่อรับทราบคำร้อง และให้ยื่นคำแถลงต่อศาลภายใน 3 วัน เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควรต่อไป และหมายนัดให้ผู้ประกันทราบกำหนดส่งตัวจำเลยตามหมายเรียกด้วย

ทั้งนี้ วันเดียวกัน (21 ก.ค. ) นายอานนท์ กล่าวถึงกรณีที่พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ยื่นคำร้องคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว กรณีชุมนุมปี 2563 ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหมายเรียกจากศาล และไม่ทราบว่าตำรวจไปยื่นคำร้องด้วยเหตุใด แต่ตนเองยินดีจะพิสูจน์ต่อศาลว่าไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไข การชุมนุมเป็นไปตามสิทธิเสรีภาพ และได้แจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย ส่วนกิจกรรมคาร์ม็อบ ก็ได้รับการอำนวยความสะดวกจากตำรวจด้วยซ้ำ และว่า เนื้อหาการปราศรัยก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ยืนยันไม่กังวลว่าจะเป็นการผิดเงื่อนไข เพราะไม่ได้เกิดความวุ่นวาย และเป็นการพูดในข้อเท็จจริง ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ขณะนี้กำลังรอหมายเรียกจากศาล เพื่อที่ยื่นคำร้องขอชี้แจงต่อไป

นายอานนท์ ย้ำด้วยว่า จะไม่หยุดการขึ้นปราศรัย เชื่อว่าในการประชุมรัฐสภา วันที่ 27 ก.ค.นี้ จะมีการชุมนุมใหญ่ และว่า ศาลเพียงแต่สั่งไม่ให้พูดถึงเรื่องสถาบัน แต่เรื่องรัฐบาล ศาลให้พิจารณาว่าทำได้ตามกรอบกฎหมาย ส่วนประเด็นที่กล่าวหาว่าตนเองคุกคาม สว.นั้น ไม่เป็นความจริง ไม่ได้ข่มขู่ และยังได้ห้ามปรามไม่ให้ผู้คนไปรบกวนด้วย

5. ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกแม่ข่ายยูฟัน คนละ 12,255 ปี แต่จำคุกจริง 20 ปี ด้าน "เกย์นที" โดนร่วมชดใช้ให้ผู้เสียหาย 356 ล้าน!



เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีแชร์ลูกโซ่ยูฟันสโตร์ รวม 7 สำนวน ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 และผู้เสียหาย ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องนายอภิชณัฏฐ์ แสนกล้า แม่ข่ายยูฟันสโตร์ นายนที ธีระโรจนพงษ์ หรือเกย์นที จำเลยที่ 27 นักเคลื่อนไหวความหลากหลายทางเพศกับพวกร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-43 ความผิดฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง 2545 ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ

คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2556-18 มิ.ย.2558 บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด ได้ชักชวนบุคคลเข้าร่วมเครือข่ายในการประกอบธุรกิจน้ำผลไม้และสมุนไพรกับเครื่องสำอางผิวหน้า ทำให้หลงเชื่อว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่าย แต่กลับหลอกลวงให้ร่วมลงทุน โดยจำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

ต่อมา ศาลชั้นต้นศาลพิพากษาว่า นายอภิชณัฏฐ์ จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกทำงานเป็นขั้นตอน ชักชวนให้ผู้เสียหายมาร่วมลงทุนการประกอบธุรกิจของบริษัทยูฟันฯ ไม่ได้เน้นการจำหน่ายสินค้าขายตรงตามที่แจ้งไว้ แต่กลับเชิญชวนให้ลงทุนยูโทเคน อ้างว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยไปอย่างต่อเนื่อง หากผู้ลงทุนหาสมาชิกใหม่เพิ่มได้ จะได้รับค่าตอนแทน ทำให้ได้รับความเสียหาย

พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1, 2, 4, 6, 11, 12, 13 ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุด 2,451 กระทงๆ ละ 5 ปี เป็นเวลารวม 12,255 ปี และให้จำคุกอีกคนละ 10 ปี ฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 50 ปี

และให้จำคุกจำเลยที่ 7 ฐานกู้ยืมเงินฯ 2,451 กระทงๆ ละ 5 ปี เป็นเวลารวม 12,255 ปี,ให้จำคุก 10 ปี ฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, จำคุกอีก 2 ปี ฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 50 ปี พร้อมกับให้ปรับบริษัท ยูเทรดดิ้ง จำกัด จำเลยที่ 42 ฐานกู้ยืมเงินฯ 2,451 กระทงๆ ละ 500,000 บาท และให้ปรับฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติอีก 200,000 บาท รวมปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 1,225,700,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5, 15, 16, 22, 23, 29, 31, 36, 37, 40 ให้จำคุกฐานฐานกู้ยืมเงินฯ 2,451 กระทงฯ ละ 5 ปี คนละ 12,255 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 20 ปี

สำหรับจำเลยที่ 17, 19, 27 ให้จำคุกฐานกู้ยืมเงินฯ 2,451 กระทงฯ ละ 5 ปี คนละ 12,255 ปี และฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ จำคุกอีกคนละ 2 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 20 ปี

โดยให้จำเลยที่ 1, 2, 4, 5, 6, 7, 11, 12, 13, 15, 16, 17, 19, 22, 23, 27, 29, 31, 36, 37, 40, 42 ร่วมกันคืนเงินจำนวน 356,211,209 บาทให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 2,451 คน ตามจำนวนที่แต่ละคนถูกฉ้อโกงไป พร้อมให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ให้กู้ยืม หรือวันสุดท้ายที่ให้กู้ยืม หรือวันสุดท้ายของเดือนที่ให้กู้ยืม และให้ริบทรัพย์สินที่เป็นเงินสดของกลางด้วย และให้ยกฟ้องจำเลย 21 คน ซึ่งได้รับการปล่อยตัวหลังศาลพิพากษายกฟ้อง

ต่อมาทั้งโจทก์ และจำเลยบางส่วนยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า อุทธรณ์ของจำเลยบางส่วนฟังขึ้น จึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 7 คงมีความผิด จำนวน 2,451 กระทงๆ ละ 5 ปี คนละ 12,255 ปี ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และจำคุกอีก 2 ปี ฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 20 ปี โดยให้ยกฟ้องฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1,2,6,11 ในความผิดฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยจำเลยยังคงมีโทษ ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกสูงสุดตามกฎหมาย 20 ปี (เดิมศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกสูงสุด 50 ปี)

พร้อมทั้งให้ยกฟ้องจำเลยที่ 15, 16, 22, 23, 29, 31, 36, 37, 40 ที่เคยถูกพิพากษาจำคุก ฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 17,19 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยให้ยกคำขอที่จะให้จำเลยที่ 15,16,17,19, 22 ,23 ,29, 31,36 ,37, 40 ร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกงแก่ผู้เสียหาย

นอกจากที่ได้พิพากษาแก้แล้ว ส่วนอื่นก็ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และยังคงให้จำเลยที่ 1, 2, 4, 5, 6, 7, 11, 12, 13 ซึ่งเป็นกลุ่มแม่ข่ายระดับสูง 27, 42 ร่วมกันคืนเงินจำนวน 356,211,209 บาทให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 2,451 คน ตามจำนวนที่แต่ละคนถูกฉ้อโกงไป พร้อมให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ซึ่งโจทก์ยื่นฎีกา ขณะที่จำเลยที่ 1,2,4,7,11-14, 27, 42 ก็ยื่นฎีกา

ศาลได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่าฎีกาของจำเลยที่อ้างว่า โจทก์ไม่มีผู้เสียหายทาง สคบ.จึงไม่มีสิทธิ์แจ้งความ และพนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าคดีรับฟังได้ข้อยุติว่า ทาง สคบ.ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจึงได้เข้าไปตรวจสอบและพบว่า บ.ยูฟันลงทะเบียนว่าเป็นผู้ประกอบการขายตรง แต่ไม่ได้มีสินค้าตามที่ระบุไว้ ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดต่อรัฐ ไม่ต้องมีผู้เสียหายมาร้องโดยตรงก็ได้ เพราะกฎหมายให้อำนาจกับทาง สคบ. คุ้มครองผู้บริโภค ด้านตำรวจได้เข้ามาสอบสวนและพิสูจน์ได้ว่า บ.ยูฟันฯมีส่วนร่วมกับอาชญากรรมข้ามชาติ และการฉ้อโกงประชาชน จนกระทั่งจับกุมผู้กระทำผิดได้ และ บ.ยูฟันฯได้รับเงินที่หลอกลวงจากประชาชนไป คำพิพากษาของศาลล่างทั้ง 2 ชอบแล้ว

ศาลฎีกาพิพากษาแก้ คงให้จำเลยที่ 1, 2, 4, 5, 6, 7, 11-13 ซึ่งเป็นกลุ่มแม่ข่ายระดับสูง จำเลยที่ 27 (เกย์นที), 42 ร่วมกันคืนเงินจำนวน 356,211,209 บาทให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 2,451 คน ตามจำนวนที่แต่ละคนถูกฉ้อโกงไป แต่ให้ชำระดอกเบี้ย ใน 2 อัตราคือ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ให้กู้ยืมหรือวันสุดท้ายที่ให้กู้ยืม หรือวันสุดท้ายของเดือนที่ให้กู้ยืมเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เม.ย.2564 ให้คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่) นับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายทั้งหมดจากเดิมคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราเดียว คือร้อยละ 7.5 ปี นอกจากที่ศาลฎีกาแก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คือโทษอาญาให้จำคุกจำเลย 1, 2, 6, 7, 11-13 คนละ 20 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น