xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-15 ก.ค.2566

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1."พิธา" ฝันสลายโหวตนายกฯ ไม่ผ่าน แก้ ม.112 เป็นเหตุ ยอมรับผลโหวต แต่ไม่ยอมแพ้ ปลุก ปชช.ส่งสารถึง ส.ว.ให้เลือกตนเป็นนายกฯ รอบหน้า 19 ก.ค.!

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ก่อนหน้าจะถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 2 วัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก พร้อมแนบคลิปวิดีโอ โดยระบุว่า “จากพิธาถึงทุกคน ก่อนวันโหวตนายกรัฐมนตรี 13 ก.ค.นี้ ให้โอกาสประเทศไทยได้มีรัฐบาลเสียงข้างมากตามเจตจำนงของประชาชน เดินหน้าตามครรลองประชาธิปไตย คืนความปกติสู่การเมือง”

"...วันนี้ชัดเจนว่าประเทศไทยอยู่ในการเมืองที่ไม่ปกติ อำนาจที่เป็นตัวแทนของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ถูกล้มล้างครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยการรัฐประหาร นิติสงครามและการยุบพรรค ความไม่ปกตินี้เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560 ผมขอสื่อสารไปยัง ส.ส. และ ส.ว. ทุกท่าน อาจจะไม่ชอบแนวทางการเมืองของพวกเราในระบบการเมืองปกติ ...แต่การโหวตให้รัฐบาลเสียงข้างมาก คือการให้โอกาสประเทศไทยเดินหน้าในแบบที่ควรจะเป็น..."

เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้มี ส.ว. ลาออก 1 คน เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ก่อนจะถึงวันโหวตเลือกนายกฯ คือ น.ส.เรณู ตังคจิวางกูร โดยยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ขอลาออกจาก ส.ว. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.2566 ทั้งนี้ น.ส.เรณู เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ด้านยุทธศาสตร์และการวางแผน เมื่อครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ วันเดียวกัน (11 ก.ค.) พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้เผยแพร่ประกาศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ของพรรค ลาออกสมาชิกพรรคและวางมือทางการเมือง โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ให้การสนับสนุนพรรครวมไทยสร้างชาติและตนเองในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา และพูดถึงการทุ่มเททำงานให้กับประเทศตลอด 9 ปีเศษ รวมทั้งขอให้หัวหน้าพรรค กรรมการบริหาร และสมาชิกพรรคได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองด้วยอุดมการณ์ที่แข็งแกร่ง ปกป้องรักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และดูแลพี่น้องประชาชนชาวไทยต่อไป และขอให้พี่น้องประชาชนให้ความไว้วางใจสนับสนุนการทำงานของพรรครวมไทยสร้างชาติต่อไปด้วย

ส่วนบรรยากาศการโหวตเลือกนายกฯ ของที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 ก.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีพรรคใดเสนอชื่อแข่ง

จากนั้น สมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นต่อคุณสมบัติของนายพิธากับตำแหน่งดังกล่าว โดยนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย อภิปรายคนแรกว่า ไม่เห็นชอบที่มีการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยย้ำจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ที่แถลงไปก่อนหน้านี้ว่าไม่เลือกนายกฯ ที่แก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 112 “ผมไม่เชื่อว่า ท่านจะปกป้องพระมหากษัตริย์ เพราะการลดการคุ้มครอง ลดโทษผู้ละเมิด ไม่เอาผิดไม่เอาโทษผู้ละเมิดด้วยเหตุผลเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และยังขัดมาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์ เป็นบุคคลสำคัญ ผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องมิได้ ...ที่เจ็บปวดมากกว่านั้น มีคำพูดของผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคก้าวไกลว่า ถ้านายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ไปลงนามกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ สามารถฟ้องผู้เป็นประมุขได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รับไม่ได้"

ด้านนายประพันธุ์ คูณมี ส.ว. อภิปรายต่อที่ประชุมรัฐสภา เพื่อคัดค้านนายพิธา เป็นนายกฯ โดยระบุว่า นายพิธาเป็นบุคคลที่มีคุณสมบติและลักษณะต้องห้าม ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และ มาตรา 160 ประกอบกับมาตรา 98(3) การเสนอชื่อดังกล่าวถือว่าขัดกับข้อบังคับข้อ 136 นายพิธาถูก กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ว่าสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ รัฐสภาไม่อาจรับชื่อของนายพิธาไว้พิจารณาลงคะแนนเสียงได้ เพราะคุณสมบัติขัดต่อกฎหมายและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธารมนูญ หากดึงดันอาจจะถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231(1) จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ส่วนกรณีที่ ส.ว.จะลงมติอาจจะมีปัญหาต่อการทำผิดประมวลจริยธรรมเช่นเดียวกัน

ด้านนายพิธา ได้ชี้แจงโดยยืนยันว่า ตนมีคุณสมบัติที่สมบูรณ์แบบ และมีความชอบธรรม แม้กระบวนการที่กล่าวหาตน ทั้งที่ตนไม่รู้ว่าข้อกล่าวหานั้นคืออะไร เห็นแค่มติผ่านสื่อมวลชน ดังนั้น ตามสมมติฐานของทนายหรือนักกฎหมายต้องสมมติฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน อย่าให้มีศาลเตี้ยในรัฐสภา

ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายกรณีที่มีการเสนอชื่อนายพิธาว่า เวลานี้ ทั้ง ส.ว. 10 พรรคฝ่ายค้าน และ 7 พรรคที่เตรียมเป็นรัฐบาล ไม่อยากให้ไปแตะต้อง ม.112 แต่มีพรรคเดียวที่อยากแตะ ถือเป็นความไม่ปกติที่พรรคเดียวเสนอนโยบายแก้ 112 รู้สึกหรือไม่ว่าใครไม่ปกติ ตนไม่ติดใจนายพิธา แต่ติดใจนโยบายการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ดังนั้น ขอให้ทบทวนข้อติดขัดได้หรือไม่ “คนที่ได้คะแนนเลือกตั้ง 14 ล้านเสียง ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมดของสภา กำลังจะข่มขืนสภา แบบนี้จะปกติสุขได้อย่างไร หากอ้างความไม่ปกติ ในสิ่งที่ตนเองก็ไม่ปกติ จะข่มขืนสภาให้ทำตาม ขอให้ขยับก้าวนั้นได้หรือไม่"

ทั้งนี้ หลังจากนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้ให้สมาชิกลงคะแนนโหวตเลือกนายกฯ แบบเปิดเผยด้วยการขานรายชื่อตามตัวอักษร จนครบ 749 คน ผลปรากฏว่า นายพิธาได้คะแนนเห็นชอบจาก ส.ส.และ ส.ว. 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 199 เสียง ถือว่าได้คะแนนเห็นชอบไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ มีรายงานว่า ในส่วนของ ส.ว. มี ส.ว.ที่ลงมติเห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกฯ จำนวน 13 เสียง ไม่เห็นชอบ 34 เสียง งดออกเสียง 160 เสียง มีรายงานด้วยว่า มี ส.ว.ลาการประชุม 33 คน มี ส.ว.เข้าร่วมประชุม 216 คน แต่บางส่วนไม่ได้ร่วมลงมติโหวตนายกฯ

หลังรู้ผลโหวตไม่ผ่านนายกฯ นายพิธา ได้โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพบนอินสตาแกรม ระบุว่า
“ยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้ ยอมรับว่าถึงแม้จะยังไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ไม่ยอมแพ้ เดินหน้าวางแผนยุทธศาสตร์รวบรวมเสียงกันใหม่ ...ต้องขอขอบคุณทั้ง 324 เสียงที่ให้ความไว้วางใจในตัวผม รวมถึง 13 เสียงของวุฒิสภาที่กล้าหาญท่ามกลางความกดดันสารพัด ขอกำลังใจให้ความแน่วแน่ของพวกเราด้วยครับ แล้วเจอกันใหม่”

ด้านประธานรัฐสภา ได้มีคำสั่งให้นัดประชุมโหวตเลือกนายกฯ ครั้งต่อไปในวันที่ 19 ก.ค. โดยยังไม่มีการระบุว่า ที่ประชุมสามารถเสนอชื่อนายพิธาอีกครั้งได้หรือไม่ ขณะที่ ส.ว.บางคนมองว่า ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำอีกได้

ล่าสุด (15 ก.ค.) นายพิธา เผยแพร่คลิปวิดีโอทางโซเชียลมีเดีย นอกจากขอบคุณ ส.ส. และ ส.ว.ที่เลือกตนเป็นนายกฯ แล้ว ยังชวนให้ประชาชนส่งสารถึง ส.ว.ที่เหลือให้เลือกตนเป็นนายกฯ ในการโหวตวันที่ 19 ก.ค.ด้วย “ขอให้เราเดินด้วยกันต่อไป ตั้งรัฐบาลของประชาชนให้ได้ ...เราเหลือโอกาสอีกไม่กี่ครั้ง ที่ต้องสู้ร่วมกัน ใน 2 สมรภูมิ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลตามมติมหาชนได้สำเร็จ

"สมรภูมิที่หนึ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 วันข้างหน้า คือการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 และสมรภูมิที่สอง ก็คือการยื่นเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกถาวรตลอดกาล ทั้งสองสมรภูมิจะไม่มีวันชนะได้ หากเราไม่สามารถเปลี่ยนใจ ส.ว. ให้อยู่ข้างประชาชน

"ผมจึงขอให้ประชาชนทุกคน ร่วมทำภารกิจกับผมในสองสมรภูมินี้ โดยการส่งสารถึง ส.ว. ในทุกวิถีทาง ทุกวิธีการที่ท่านนึกออก ย้ำ ขอเป็นวิธีการสร้างสรรค์ ช่วยกันเชิญชวนให้ ส.ว. โหวตนายกตามมติประชาชน หรือโหวตยกเลิกมาตรา 272 เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน”

นายพิธา กล่าวว่า หากพวกเราทำเต็มที่ใน 2 สมรภูมินี้แล้ว เป็นที่ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้จริงๆ พร้อมเปิดโอกาสให้ประเทศไทย โดยเปิดทางให้พรรคอันดับสอง คือพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ภายใต้ MOU ที่ทำร่วมกันไว้ และผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลทุกคนพร้อมสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย

“แต่กว่าจะถึงวันนั้น เราไม่ยอมแพ้แน่นอน ...อนาคตของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ในมือของพวกท่านทุกคนแล้ว มาช่วยกันส่งสารเพื่อเปลี่ยนใจ ส.ว. ด้วยกัน”

2.กกต. ยื่นเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัย "พิธา" พ้น ส.ส.หรือไม่กรณีถือหุ้นไอทีวี พร้อมขอสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ด้านเจ้าตัวผุดวลี "แกล้งผมคนเดียวมีราคาจ่ายสูง"!


เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าที่ที่ประชุมรัฐสภาจะมีการประชุมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 1 วัน ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และแคนดิเนตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น รวมทั้งมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ไว้ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

มีรายงานว่า บรรยากาศในการพิจารณาของ กกต. ก่อนมีมติเรื่องดังกล่าว เป็นไปอย่างเคร่งเครียด ซึ่ง กกต.ทั้ง 5 คน เห็นตรงกันว่า บริษัท ไอทีวีฯ ประกอบกิจการเป็นสื่อ หากมีการถือหุ้นก็จะเข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. จำเป็นต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82

ทั้งนี้ มีการพูดถึงว่า หาก กกต.ไม่ส่งศาลธรรมนูญในวันดังกล่าว ก่อนที่รัฐสภาจะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี อาจจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ขัดกฎหมายมาตรา 157 จึงมีการลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 4 ต่อ 1 เสียง โดย 4 เสียง ประกอบด้วย 1. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. 2. นายฐิติเชฎฐ์ นุชนาฏ 3.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ และ 4. นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ส่วน 1 เสียง ที่ไม่เห็นด้วยกับการส่งศาลรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าว คือ นายปกรณ์ มหรรณพ

โดยนายปกรณ์แสดงความกังวลต่อที่ประชุมว่า การที่ กกต.ส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในช่วงนี้ อาจจะถูกมวลชนมองว่า การกระทำของ กกต.ไม่เหมาะสม และควรจะต้องมีสอบประเด็นอื่นเพิ่มเติม อาทิ ความเป็นเจ้าของหุ้นไอทีวี ว่านายพิธาเป็นเจ้าของหุ้นจริงหรือไม่ให้ชัดเจนกว่านี้ แม้ทุกคนจะเห็นตรงกันว่า ไอทีวีเป็นธุรกิจสื่อก็ตาม

วันเดียวกัน (12 ก.ค.) นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส.ของพรรค แถลงกรณี กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา กรณีถือหุ้นสื่อว่า พรรคเห็นว่า กกต.ดำเนินการไม่ถูกต้องตามครรลองที่ควรจะเป็น ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวนและชี้ขาด เราเห็นว่า กกต. ต้องปฏิบัติตามระเบียบให้ครบถ้วน การที่ กกต.เสนอศาลรัฐธรรมนูญอย่างรีบเร่ง ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหามาที่นายพิธา และไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พรรคเห็นว่า เท่ากับ กกต. เลือกปฏิบัติตามระเบียบเพียงบางส่วน และจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบตามที่ตนเองตราไว้ อาจเป็นการทำผิดหรือละเว้นการปฏิบัติ ตามมาตรา 157

"ขอฝากเสียงเตือนไปยัง กกต. และองค์กรอิสระทั้งหมดว่า ท่านอย่าลุแก่อำนาจจนเกินขอบเขต เรายืนยันจะเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกฯ คนที่ 30 และนายพิธา ยังมีสิทธิ 100% ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ และผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากอันดับ 1 ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก ความชอบธรรมที่สูงสุด คือ อำนาจประชาชน พรรคก้าวไกล มีหน้าที่รับผิดชอบต่อเสียงของประชาชนที่มอบให้ เราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดอย่างสุดความสามารถ เชื่อว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการไม่เห็นหัวประชาชน และประชาชนคงจะไม่ยอมอย่างแน่นอน"


ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังทราบว่าตนถูก กกต. ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. กรณีถือหุ้นสื่อ โดยยืนยันว่า ขณะนี้สติและกำลังใจยังดีอยู่ พร้อมเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค. ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ห่วงว่ากรณีนี้จะเป็นปัจจัยในการโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ส.ว. หลายคนก็ออกมาแสดงจุดยืนว่า เป็นนักการเมืองของประชาชน

นายพิธา กล่าวว่า ตอนนี้ไม่รู้จะตั้งรับอย่างไร เพราะว่าไม่มีโอกาสในการชี้แจงแจ้งข้อกล่าวหา ขณะเดียวกันก็พร้อมชี้แจงหากศาลรัฐธรรมนูญเปิดการไต่สวน

นายพิธา กล่าวต่อว่า ตนหวังว่าจะไม่เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง จนนำไปสู่การชุมนุมในขณะนี้ "เพราะการกลั่นแกล้งผมเพียงคนเดียวมีราคาจ่ายที่สูง ระบบกลไกในการบริหารราชการและบริหารประเทศ และหลักเกณฑ์ที่เป็นบรรทัดฐานของนักการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หากจะสกัดกั้นผมเพียงคนเดียวหรือพรรคก้าวไกล แต่เป็นเสียงของประชาชน"

ด้านสำนักงาน กกต. ได้ชี้แจงกรณีส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายพิธา โดยยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญตามมาตรา 82 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร… มีเหตุสิ้นสุดลง… ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย…"

เมื่อปรากฏว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. คนใดมีเหตุสิ้นสุดลง กกต. จะรวบรวมข้อเท็จจริง โดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาหรือให้ ส.ส. ผู้มีเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพมารับทราบข้อกล่าวหา หรือให้มาชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหา เพราะบุคคลดังกล่าวสามารถใช้สิทธิของตนเองไปชี้แจงข้อเท็จจริงและเสนอพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดีตามบทบัญญัติของ พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ได้ ซึ่งเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วางแนวทางเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว


ส่วนข้อกล่าวอ้างที่ว่า กกต. เร่งรัดพิจารณาดำเนินการอย่างเร่งรีบ ไม่ละเอียดรอบคอบ ขอชี้แจงว่า การดำเนินการของ กกต. เป็นเพียงกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง ไม่ได้เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดมีเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพ ขอยืนยันว่า กกต. ไม่ได้เร่งรีบหรือเร่งรัดที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวเสร็จสิ้นเร็วกว่าปกติ กกต. ใช้ระยะเวลารวบรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว ดังนั้น การส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เป็นกระบวนการที่ กกต. ปฏิบัติตามมาตรา 82 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันทุกประการ

3. "ธาริต" ติดคุก หลังศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานกลั่นแกล้งแจ้งข้อหา "อภิสิทธิ์-สุเทพ" แต่นอนคุกวันเดียว เข้า รพ.ราชทัณฑ์ เหตุป่วยหลายโรค!



เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ศาลอาญาได้นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 10 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4

ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง กรณีนายธาริตกับพวกแจ้งข้อหาดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ในการสลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษพวกจำเลยด้วย ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับให้จำคุกจำเลยคนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ต่อมา จำเลยทั้งสี่ยื่นฎีกา

เป็นที่น่าสังเกตว่า คดีนี้ นายธาริตได้อ้างเหตุผลต่างๆ เพื่อขอให้ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกามาแล้ว 9 ครั้ง รวมระยะเวลากว่า 1 ปี โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าป่วย นอกจากนี้ นายธาริตยังได้มอบหมายให้ให้ทนายถอนคำให้การเดิม จากที่ให้การปฏิเสธ เป็นรับสารภาพ ไม่ต่อสู้คดีเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 66 พร้อมยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 4 ที่ใช้บังคับคดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ต่อมา วันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายธาริตก็ขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาอีกโดยอ้างว่าป่วย บ้านหมุน พร้อมแสดงใบรับรองแพทย์ ด้านศาลฎีกาได้สั่งให้ศาลอาญาไต่สวนแพทย์หญิง จาก รพ.พญาไท 2 ซึ่งเป็นผู้ออกใบรับรองแพทย์ และการรักษาอาการป่วยของนายธาริตว่า มีอาการเจ็บป่วยจนไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ตามกำหนดนัดว่า ข้อเท็จจริงถูกต้องหรือไม่ ในวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา แล้วให้ส่งผลการไต่สวนให้ศาลฎีกาพิจารณาโดยเร็ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนจะถึงวันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 10 ก.ค. ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค. นายธาริตได้เปิดแถลงพร้อมนำญาติผู้เสียชีวิตในคดีสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.มาด้วย โดยขอให้ศาลฎีกาคืนความยุติธรรมให้ผู้ตาย 99 ศพ พร้อมยืนยันว่า ที่ผ่านมาที่ตนขอเลื่อนศาลหลายครั้ง ไม่ได้มีเจตนาหลบเลี่ยง แต่ป่วยจริง พร้อมย้ำว่า วันที่ 10 จะไปฟังคำพิพากษาของศาล และจะเปิดเผยข้อมูลสำคัญ

เมื่อถึงวันที่ 10 ก.ค. นายธาริตได้แจกเอกสารให้สื่อมวลชน อ้างว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาจะมีผลต่อคดีสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. จะไม่ได้รับความยุติธรรมและชดใช้ความเสียหาย ตนกับพวกพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รักษากฎหมายจะกลายเป็นผู้ผิด และอ้างว่ามีข้าราชการกลุ่มหนึ่งเกี่ยวพันในการทำคำพิพากษามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม กปปส. ซึ่งมีนายสุเทพเป็นแกนนำ จึงขอเปลี่ยนองค์คณะพิจารณาคดี และขอเปลี่ยนคำให้การจากรับสารภาพ เป็นปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาเหมือนเดิม แต่ปรากฏว่า ศาลฎีกาได้ยกคำร้องทั้งหมด

ทั้งนี้ ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว มีข้อที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสี่กระทำผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ เห็นว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยจำเลยที่1 ทราบอยู่แล้วว่า ตนเองและหน่วยงานไม่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนบุคคลทั้งสอง ที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ที่มีอำนาจหน้าที่สรุปสำนวนเรื่องให้อัยการสูงสุด เพื่อฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นข้อพิรุธ

และในที่ประชุมเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2555 จำเลยที่ 1 ได้แสดงความคิดเห็นชี้นำให้พนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนหาหลักฐาน และรวบรัดเชิญโจทก์ทั้งสองมารับทราบข้อกล่าวหา อีกทั้งในขณะนั้นเป็นช่วงรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นน้องสาวของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ขั้วตรงข้ามทางการเมืองกับโจทก์ทั้งสอง ฟังได้ว่า เป็นการกลั่นแกล้งให้โจทก์ทั้งสองได้รับโทษทางอาญา เพื่อสนองความต้องการของรัฐบาลใหม่ หลังจากนั้น นายธาริตได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอีก 1 ปี

พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัย ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องจริง


นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2-4 กระทำผิดตามฟ้องด้วยหรือไม่ ศาลเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่ 1 และ 2 ยังไม่แน่ชัด และไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2-4 ได้รับประโยชน์อย่างไรจากการแจ้งข้อกล่าวหาต่อโจทก์ทั้งสอง แต่ที่ทำสำนวนมาจากการรับคดีและการชี้นำของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2-4 อาจทำคดีโดยสุจริต ยังมีข้อสงสัยในข้อกล่าวหาในคำฟ้อง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2-4

การลงโทษตามที่ศาลอุธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุธรณ์ จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 2-4 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง

มีรายงานว่า ระหว่างฟังคำพิพากษา นายธาริตมีสีหน้าเรียบเฉย แต่ค่อนข้างเคร่งเครียด ต่อมา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวนายธาริตไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตามคำพิพากษาศาลฎีกา

อย่างไรก็ตาม วันต่อมา (11 ก.ค.) นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ เผยว่า ได้มีการตรวจร่างกายนายธาริต ผู้ต้องขังเข้าใหม่ และสอบประวัติเบื้องต้น พบว่ามีโรคประจำตัวหลายโรค ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะหยุดหายในขณะหลับใช้เครื่องช่วยหายใจ (CPAP) และพบประวัติการรักษาวัณโรคปอด โดยอยู่ในการรับยารักษาระยะเข้มข้น ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่สามารถแพร่เชื้อต่อผู้ต้องขังรายอื่นภายในเรือนจำ

“เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจึงได้ส่งตัวไปยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ในวันที่ 11 ก.ค.66 โดยแพทย์ได้พิจารณารับตัวให้รักษาตัวห้องแยกโรค หอผู้ป่วยวัณโรค เพื่อให้การรักษาจนอยู่ในระยะปลอดภัยไม่แพร่กระจายเชื้อ ลดความเสี่ยงแพร่เชื้อต่อผู้ต้องขังรายอื่น เนื่องจากภายในเรือนจำเป็นพื้นที่ปิด ที่มีความแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ”


นายสิทธิ ยืนยันด้วยว่า กรมราชทัณฑ์ได้มีการปฏิบัติต่อนายธาริต เช่นเดียวกับผู้ต้องขังทั่วไป มิได้มีสิทธิพิเศษเหนือกว่าผู้ต้องขังรายอื่นๆ มิได้มีห้องพิเศษสำหรับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่ออำนวยความสะดวกแต่อย่างใด กรมราชทัณฑ์ยังคงควบคุมผู้ต้องขังทุกรายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักสิทธิมนุษยชน

4. "เนตร นาคสุข" ไม่สนประวัติมัวหมอง เดินหน้าสมัคร ป.ป.ช. ครั้งที่ 5 สมัครควบทั้ง 2 ตำแหน่งแทน "สุภา-ณรงค์" ที่ครบวาระ!



ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แทน น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งจะพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ตามมาตรา 9 มาตรา 10 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 จำนวน 1 คน มีรายงานเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ว่า ผลการรับสมัครมีผู้สมัครแล้วจำนวน 1 คน คือ นายเนตร นาคสุข อายุ 68 ปี อดีตรองอัยการสูงสุด

นอกจากนี้ ในส่วนของการรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. แทนนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ตามมาตรา 14 วรรคสอง ตามมาตรา 9 มาตรา 10 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 จำนวน 1 คน ปรากฏว่า ผลการรับสมัคร ณ วันที่ 14 ก.ค. มีผู้สมัครแล้วจำนวน 2 คน คือ นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ อายุ 63 ปี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา (สมัครคุณสมบัติตามมาตรา 9 วรรคสอง (1) และนายเนตร นาคสุข อายุ 68 ปี อดีตรองอัยการสูงสุด สมัครคุณสมบัติตามมาตรา 9 วรรคสอง (1)

ทั้งนี้ การเปิดรับสมัครมีขึ้นระหว่างวันที่ 10-24 ก.ค.นี้ ในเวลาราชการ ไม่เว้นวันหยุดราชการ ณ จุดรับสมัคร บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา)

เป็นที่น่าสังเกตว่า นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด เคยถูกคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) มีคำสั่งให้ออกจากราชการกรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ผู้ต้องหาคดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อเสียชีวิต หรือที่รู้จักกันใน “คดีบอส” ซึ่งนายเนตรเคยสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช.มา 4 ครั้งแล้ว แม้จะถูกกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงความมัวหมองและไม่เหมาะสมในการลงสมัคร แต่นายเนตรก็ยังเดินหน้าลงสมัครในครั้งนี้อีก เป็นครั้งที่ 5

5. เกิดเหตุทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังพังถล่มขณะก่อสร้าง ตาย-เจ็บกว่า 10 ราย "ชัชชาติ" ชี้ สาเหตุจากก่อสร้างผิดพลาด ไม่ใช่เพราะเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้าง!



เมื่อวันที่ 10 ก.ค. เวลา 18.10 น. ได้เกิดอุบัติเหตุทางยกระดับที่อยู่ระหว่างก่อสร้างย่านถนนลาดกระบัง ยุบตัวพังถล่มลงมา บริเวณหน้าห้างโลตัส สาขาลาดกระบังปากซอยทางเข้า สน.จรเข้น้อย แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กทม. เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิต 2 ราย ได้รับบาดเจ็บ 12 ราย

ผู้เสียชีวิต คือ ทราบชื่อคือ นายฉัตรชัย ประเสริฐ และนายอรัญ สังข์รักน์ อายุ 24 ปี
ส่วนผู้บาดเจ็บ ได้แก่ 1.นางสาวรัชนี นาคทรงแก้ว อายุ 46 ปี 2.นายธนดล คลังจินดา อายุ 47 ปี 3.นางสาวอุไรวรรณ วะเรื่องรัมย์ อายุ 38 ปี 4.นายศุภชัย พวงยีโถ อายุ 15 ปี 5.นายพรรษา พวงยีโถ อายุ 43 ปี 6.นายศรศักดิ์ เหมือนพร้อม อายุ 26 ปี 7.นายสุเทพ สุวรรณทา 8.นายวีสิทธิ์ แจ้งทา อายุ 35 ปี 9.นายทัศนัย รัตนแสง อายุ 31 ปี 10.นางสาวมัจฉา เสียงสุข อายุ 25 ปี 11.นายณัฐพงษ์ มัคยุโก้บ 12.นายอารักน์ กิ่งคำ อายุ 59 ปี

นอกจากนี้อุบัติเหตุดังกล่าวยังส่งผลให้มีรถยนต์ของชาวบ้านพังเสียหายหลายคันและทรัพย์สินเสียหายหลายรายการ เจ้าหน้าที่เร่งระดมกำลังเข้าตรวจสอบหาผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุ พร้อมสั่งปิดการจราจรบางส่วน จากการสำรวจเบื้องต้น พบคานหล่นทับอาคารข้างเคียง 1 คูหา

ทั้งนี้ ที่เกิดเหตุเป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง โดยโครงสร้างของทางยกระดับทั้งตัวคานและเสาพังลงมาจากความสูงประมาณ 20 เมตร ทำให้ตัวคานและเสาหล่นทับรถที่โดยสารผ่านไปมาได้รับความเสียหาย รวมถึงมีประชาชนและคนงานก่อสร้างได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากคอนกรีตจากการก่อสร้างทางยกระดับ พังถล่มกลายเป็นซากเศษปูน เหล็กเส้นขาดพังทลายลงมากินพื้นที่เป็นวงกว้าง สร้างความเสียหายจากการพังถล่มเป็นทางยาวประมาณ 100 เมตร

วันต่อมา (11 ก.ค.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. แถลงถึงอุบัติเหตุดังกล่าวว่า ทางยกระดับถล่มลงมา ขณะดึงลวดอัดแรง ส่งผลให้โครงเหล็ก ลอนเชอร์ เสียสมดุล และล้มพับทับโครงสร้างสะพานเสียหาย ชิ้นส่วนสะพานกีดขวางการจราจร 2 ช่องทาง คนงานชุดปฏิบัติงานดึงลวดอัดแรง 13 คน และชุดปฏิบัติงานติดตั้งชิ้นส่วนสะพาน ได้รับบาดเจ็บ 12 คน เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน สำหรับผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ทั้งหมดเป็นคนงานในโครงการก่อสร้าง ประชาชนผู้สัญจรผ่านเส้นทางหรือประชาชนที่มีบ้านเรือนพักอาศัยอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุไม่ได้รับบาดเจ็บ รถยนต์ที่ถูกชิ้นส่วนสะพานทับเสียหาย ได้รับรายงานว่าผู้ขับขี่และผู้โดยสารวิ่งหลบออกมาได้อย่างปลอดภัย หลังจากนี้ กทม. จะร่วมกับผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ตรวจสอบสาเหตุการถล่มของสะพาน

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ระหว่างนี้ได้สั่งระงับการก่อสร้างไว้ก่อน และกำชับว่า ระหว่างรื้อถอนโครงสร้างที่พังถล่มให้เก็บหลักฐานไปด้วย เพราะจะเห็นร่องรอยทั้งหมด เบื้องต้นสาเหตุไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้าง แต่เกิดจากความผิดพลาดของการก่อสร้างมากว่า พร้อมยืนยันว่า กทม. ไม่ได้เป็นคนสั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบในการก่อสร้าง แต่ทางผู้รับเหมาได้แจ้งขอเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้าง เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้การก่อสร้างเร็วขึ้น

ส่วนบริษัทที่รับเหมา นายชัชชาติ ยอมรับว่า เพิ่งรับงานครั้งแรกกับทาง กทม. และประมูลตามขั้นตอน โดยเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 4 แสนบาท จนเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งนอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ใน กทม. ไม่มีการก่อสร้างในจุดอื่น มีเพียงการก่อสร้างสะพานทางเดินเชื่อมตรงย่านบางกะปิ

สำหรับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมถึงทรัพย์สินความเสียหายต่างๆ นายชัชชาติ กล่าวว่า ทาง กทม. และบริษัทผู้รับเหมาพร้อมรับผิดชอบและดูแลอย่างเต็มที่ เบื้องต้น ผู้บาดเจ็บ 13 ราย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์

ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ระหว่างลงพื้นที่จุดเกิดเหตุสะพานก่อสร้างถล่มว่า อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ที่เกี่ยวข้อง หากพบว่าพยานหลักฐานเกี่ยวข้องไปถึงผู้ใด ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ข้อหาเบื้องต้นคือ กระทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย รวมถึงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ตามพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง

วันต่อมา (13 ก.ค.) พ.ต.อ.ชนาวิน พวงเพชร รอง ผบก.น.3 เผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุร่วมกันตรวจหาพยานหลักฐานและสาเหตุเมื่อวันที่ 12 ก.ค. คาดว่า ต้องรอผลสักระยะ แต่ตนกำชับให้สรุปผลโดยเร็ว ผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เนื่องจากประชาชนให้ความสนใจ และมีผลกระทบกับผู้ใช้ถนน

ส่วนการสอบปากคำพยานและผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบริษัท กิจการธาราวัญ-นภา ซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างสะพานดังกล่าว ได้ส่งผู้เกี่ยวข้องมาให้การบ้างแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นคนงานที่อยู่ในเหตุการณ์ ส่วนผู้บริหารยังไม่มา แต่ได้ออกหมายเรียกไปแล้ว คาดว่า จะมาพบภายหลังจากเคลียร์พื้นที่เกิดเหตุเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ต้องสอบสวนให้ครบทุกด้าน รวมทั้งรอผลสรุปจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด


กำลังโหลดความคิดเห็น