xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 2-8 ก.ค.2566

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1."พิธา" ยัน เดินหน้าแก้ ม.112 ตามที่เคยพูดไว้ก่อนเลือกตั้ง ด้าน "ชลน่าน" ยัน เพื่อไทยไม่หนุน ขณะที่ "ก้าวไกล" เชื่อ โหวตนายกฯ รอบเดียว "พิธา" ผ่าน!

สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่า เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับเสียงโหวตจาก ส.ว. มากพอที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ก็คือ นโยบายของพรรคก้าวไกลที่จะเสนอแก้มาตรา 112 ซึ่ง ส.ว.หลายคนยืนยันไม่โหวตให้ ถ้านายพิธาและพรรคก้าวไกลไม่ล้มเลิกนโยบายนี้

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นายอานนท์ นำภา ทนายความและแกนนำกลุ่มราษฎร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า "เหตุผลที่คนยังเชียร์พรรคก้าวไกลอยู่ เพราะเชื่อว่าพรรคจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอกฎหมายที่มีความแหลมคมต่อยุคสมัย "ถ้าพรรคหันหลังให้กับสิ่งที่ให้คำมั่นไว้ก่อนเลือกตั้ง ลดเพดานเพียงเพื่อให้ได้เป็นนายกฯ ผมเชื่อว่าทุกคนจะหันหลังให้ แต่ถ้าพรรคก้าวไกลยังยืนหลังตรง คนนอกสภาก็ถึงไหนถึงกัน"

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า จะเดินหน้าแก้ไขมาตรา 112 ตามที่เคยได้พูดไว้ก่อนเลือกตั้ง "ก่อนเลือกตั้งยังไง หลังเลือกตั้งก็คงยังเหมือนเดิม ก็คงจะต้องมีการยื่นเข้าสภาอยู่ดี"

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า คำแถลงข้อตกลง 2 พรรคเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ไม่มีเรื่องมาตรา 112 มีแต่เรื่องนิรโทษกรรมการแสดงออกทางการเมือง "ก็แค่หลักการ และหลักการที่เขียนที่ชัดที่สุดคือ เป็นการแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น” เมื่อถามว่า มาตรา 112 อยู่ในข้อตกลงหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “ไม่อยู่ อันนี้คุยกันชัดเจน ต้องไม่มีเรื่องนี้ อันนั้นเป็นนโยบายของแต่ละพรรคไป” ถามต่อว่า ถ้ามีเรื่องมาตรา 112 มา เพื่อไทยไม่เอาแน่นอนใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “เรื่องนี้พูดชัดแล้ว"

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการโหวตนายกรัฐมนตรี ที่ทาง ส.ว. ค่อนข้างจะชัดเจนว่าไม่สนับสนุนนายพิธา เนื่องจากติดเงื่อนไขมาตรา 112 ว่า ยังเป็นความเห็นของ ส.ว. เพียงบางคน เพราะ ส.ว.ส่วนใหญ่ยังไม่ได้แสดงออกอะไร และคิดว่าคงแสดงออกในวันโหวต อย่าเพิ่งประเมินสถานการณ์จากสิ่งที่เห็น สิ่งที่เป็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เห็นก็ได้

เมื่อถามว่า ยังเชื่อมั่นเสียง ส.ว. ที่ไปคุยมาใช่หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ยังมั่นใจว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี ยังมั่นใจในวิจารณญาณของ ส.ว.ส่วนใหญ่ว่า อยากจะเห็นประเทศชาติเดินหน้าอย่างไร การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนแสดงออกว่าต้องการความปกติให้กับประชาธิปไตยของไทย ดังนั้น ผมยังเชื่อมั่น ส.ว.จำนวนมาก ท่านจะให้โอกาสนี้กับประเทศไทย

เมื่อถามว่า ยังยืนยันว่า จะแก้ไขมาตรา 112 แม้จะมีคำทักท้วงจาก ส.ว. นายชัยธวัช กล่าวว่า มั่นใจว่าถ้าได้อธิบายเหตุผล จะมีความเข้าใจมากขึ้น ถามต่อว่า หากการโหวตในรอบแรก นายพิธาไม่ได้รับเลือก จะมีการเสนอชื่อซ้ำหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่มีการเสนอครั้งเดียวแน่นอน วันนี้ยังเชื่อว่า จะโหวตจบในครั้งเดียว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด (8 ก.ค.) นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้ประสานงานมายังพรรคร่วมต่างๆ ทั้ง 8 พรรค เพื่อนัดหมายหารือวันที่ 11 ก.ค. เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา เพื่อเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการโหวตนายกรัฐมนตรี วันที่ 13 ก.ค. ซึ่งสิ่งที่พรรคร่วมอยากได้ความชัดเจนจากพรรคก้าวไกล คือจำนวนเสียง ส.ว. ที่จะสนับสนุนนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากที่ผ่านมาแกนนำพรรคก้าวไกลยืนยันมาโดยตลอดว่า ได้เสียง ส.ว.เพียงพอ แต่สิ่งที่ ส.ว.บางส่วนสื่อสารออกมาเหมือนไม่เป็นเช่นนั้น จึงต้องการความชัดเจนเพื่อเตรียมความพร้อมในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจนถึงขณะนี้ จุดยืนของพรรคร่วมทั้ง 8 พรรคยังเป็นการสนับสนุนพรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลตาม MOU ที่ได้ลงนามกันไว้ ไม่มีการคิดแผนสอง แต่ก็อยากทราบความชัดเจน เพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือเกมในสภา หากฝ่ายรัฐบาลเดิมจะเล่นเกมการเมืองอะไรขึ้นมา

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก (8 ก.ค.) ระบุว่า "13 ก.ค.นี้ วาระสำคัญที่จะกำหนดทิศทางประเทศกำลังจะมาถึง นั่นคือการโหวตนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 แม้ผลเลือกตั้งจะออกมาชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง และเราเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล จนได้พรรคร่วม 8 พรรค ที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนรวม 25 ล้านเสียง หรือ 72% ของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่เรายังคงต้องรอการตัดสินใจของวุฒิสมาชิก แต่ผมเชื่อมั่นว่า สมาชิกรัฐสภาทุกท่าน จะฟังเสียงประชาชน"

“เย็นวันอาทิตย์นี้ 9 ก.ค. เชิญชวนทุกท่านมาเจอกันที่ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ 16.30 น. เป็นต้นไป พบปะทักทายกับผมและเพื่อนผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลแบบใกล้ชิด ส่งความหวังและกำลังใจให้กัน ยืนยันในเจตนารมณ์ของประชาชน ก่อนถึงวันโหวตนายกฯ แล้วเจอกันครับ”


2."ในหลวง" เสด็จฯ เปิดประชุมรัฐสภา ทรงมีพระราชดำรัสให้สมาชิกรัฐสภาปฏิบัติหน้าที่โดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนสำคัญสูงสุด!


เมื่อวันที่ 3 ก.ค. เมื่อเวลา 17.16 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดประชุมรัฐสภา ณ ห้องประชุมอาคารรัฐสภา ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา และนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เฝ้าฯ รับเสด็จ

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงห้องประชุมอาคารรัฐสภา เสด็จขึ้นบนเวที ทรงยืนหน้าพระราชอาสน์และมีพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา ความว่า “บัดนี้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสร็จสิ้นลง และเป็นการเรียกประชุมรัฐสภา พุทธศักราช 2566 แล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดประชุมรัฐสภาตั้งแต่วาระนี้เป็นต้นไป ขอให้ท่านทั้งหลายผู้เป็นสมาชิกของสภาแห่งนี้ได้ลระลึกไว้เสมอว่า ท่านเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากประชาชนให้มาเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ และการใช้อำนาจนิติบัญญัติให้ดำเนินการปกครองและพิจารณาออกกฏหมายต่างๆให้รัฐบาลถือเป็นหลักในการบริหารราชการแผ่นดิน

ดังนั้นประเทศชาติจะมีความเจริญเพียงไร ย่อมขึ้นอยู่กับสติปัญญาความสามารถและความสุจริตบริสุทธิ์ของท่านที่จะปฏิบัติหน้าที่ทั้งปวงโดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด หากทุกท่านจะได้สำนึกตระหนักเช่นนี้อยู่เสมอ ก็จะสามารถปฎิบัติหน้าที่ได้สำเร็จลุล่วงเป็นประโยชน์ เป็นความเจริญมั่นคงของอาณาประชาราษฎร์และชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง

ขออวยพรให้การดำเนินงานของรัฐสภาเป็นไปโดยเรียบร้อยสำเร็จผลที่พึงประสงค์ทุกประการและขอให้ทุกท่านมีความสุขความเจริญทุกเมื่อไป”

3. "ก้าวไกล-เพื่อไทย" ตัดปัญหาเก้าอี้ ปธ.สภา ยกให้ "วันนอร์" ส่วน 2 พรรครั้งรอง ปธ. วางวันโหวตเลือก “พิธา” นายกฯ 13 ก.ค. หากไม่ผ่าน โหวตใหม่ 19 ก.ค.!



เมื่อช่วงค่ำวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา แกนนำพรรคก้าวไกล นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแกนนำพรรคเพื่อไทย นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ได้ร่วมแถลงถึงผลสรุปการเสนอชื่อประธานสภาฯ หลังจากช่วงเช้าวันเดียวกัน ทางพรรคเพื่อไทย ได้ออกมายอมรับว่า ได้ผ่าทางตันด้วยการเเสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ขึ้นเป็นประธานสภา เพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างสองพรรค โดยพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จะรับตำแหน่งรองประธานสภาฯ

ทั้งนี้ นายพิธา แถลงสรุปข้อตกลงว่า 1.จะเสนอชื่อ นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วนพรรคก้าวไกลเป็นรองประธานคนที่ 1 และพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานคนที่ 2

2.บุคคลที่จะปฏิบัติหน้าที่ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมผลักดันวาระที่ทำให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชน 3.ข้อตกลงเรื่องตำแหน่งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพระหว่าง 8 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงการเสนอและสนับสนุนตนเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างสุดความสามารถ ตามข้อตกลงร่วม (MOU) ที่แถลงไว้เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566

4.พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ยืนยันร่วมให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ (ร่าง) พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ร่าง) พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และ (ร่าง) พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

วันต่อมา (4 ก.ค.) ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 โดยนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญ พล.ต.ต.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ ส.ส.ที่มีความอาวุโสสูงสุดในที่ประชุม ขึ้นทำหน้าที่ประธานชั่วคราว

จากนั้นประธานได้ให้สมาชิก ส.ส.กล่าวคำปฎิญาณตนก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ ก่อนเข้าสู่วาระการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยนายพิธาได้ลุกขึ้นเสนอชื่อนายวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภา โดยไม่มีผู้ใดเสนอรายชื่อบุคคลอื่นเข้าแข่งขัน

ทั้งนี้ นายวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ว่า 1.หากได้รับการทำหน้าที่ครั้งนี้ ขอยืนยันกับทุกคนว่า ตนจะทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง และจะน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงที่พระราชทานให้สมาชิก ส.ส. สมัยที่ 26 เมื่อวันที่ 3 ก.ค. มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติของพวกเราต่อไป 2. ตนจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส สุจริต ตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ฯลฯ

ต่อมา พล.ต.อ.วิโรจน์กล่าวว่า ถือว่าที่ประชุมได้มีมติให้นายวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราฏรชุดที่ 26 ตามข้อบังคับการประชุมข้อ 6 วรรคสาม เนื่องจากมีผู้เสนอชื่อเพียงผู้เดียว

จากนั้นที่ประชุมได้เข้าสู่วาระการเลือกตำแหน่งรองประธานสภา 2 คน โดยเริ่มจากคนที่ 1 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ขณะที่นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอชื่อนายวิทยา แก้วภารดัย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยบุคคลทั้งสองต่างลุกขึ้นแสดงวิสัยทัศน์การทำงาน เพื่อให้สมาชิกประกอบการพิจารณาตัดสินใจ

โดยผลการลงคะแนนแบบลับ ปรากฏว่า นายปดิพัทธ์ จากพรรคก้าวไกล ได้ 312 คะแนน ส่วนนายวิทยา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ 105 คะแนน งดออกเสียง 77 เสียง และบัตรเสีย 2 ใบ

ต่อมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ เสนอชื่อนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภาคนที่ 2 โดยไม่มีใครเสนอชื่อแข่ง ทำให้นายพิเชษฐ์ ได้เป็นรองประธานสภาคนที่ 2 ตามข้อบังคับการประชุมสภา ข้อ 6 วรรค 3

ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พร้อมด้วยนายปดิพัทธิ์ สันติภาดา และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ได้เข้าพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ห้องประชุม 604 ชั้น 6 อาคารรัฐสภา เกียกกาย เมื่อวันที่ 7 ก.ค.

ส่วนการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ เผยว่า จะมีขึ้นในวันที่ 13 ก.ค. เวลา 09.30 น. ซึ่งได้มีการหารือกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามว่า การโหวตนายกรัฐมนตรีในส่วนของนายพิธา หากโหวตไม่ผ่าน ประธานจะให้มีการโหวตกี่ครั้ง นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จำนวนครั้งคงพูดไม่ได้ เพราะครั้งเดียวอาจจะผ่านก็ได้ คือ ได้ 376 เสียง แต่ถ้าไม่ครบ ก็ต้องพิจารณาการประชุมในรอบต่อไป รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นคนเดิมหรือคนใหม่ แต่เบื้องต้นต้องเป็นคนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดคุณสมบัติว่าครบถ้วน แต่ถ้าหากว่ารายชื่อทั้งหมดที่ส่งไปยัง กกต. ยังไม่ผ่าน ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดว่า ให้รัฐสภาเสนอคนนอกได้ แต่ก็เป็นขั้นตอนที่ยาว เพราะรัฐสภาต้องมีเสียงมากกว่า 2 ใน 3 ที่เห็นว่า ควรจะให้เสนอคนนอกเข้ามาโหวตในสภาได้ ซึ่งต้องได้เสียง 376 เสียง ก็ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีได้

ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ ให้สัมภาษณ์วันต่อมา (6 ก.ค.)ด้วยว่า หากการโหวตนายกฯ ครั้งแรกวันที่ 13 ก.ค.ไม่จบ ไม่ผ่าน จะนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 19 ก.ค.ตามที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ว่าที่รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ระบุหรือไม่ว่า วันที่ 19 ก.ค.ก็เป็นเวลาที่เหมาะสม

เมื่อถามว่า จะให้โหวตชื่อนายพิธาได้กี่ครั้ง นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนไม่สามารถบอกได้ เพราะไม่แน่ อาจจะผ่านในวันที่ 13 ก.ค.เลย หรืออาจจะผ่านในวันที่ 19 ก.ค.ก็ได้ และการเสนอชื่อผู้เป็นนายกฯ ให้โหวตในครั้งต่อไป ยังสามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้อีก

ทั้งนี้ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ว่าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เผยว่า ได้วางวันเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ 13 ก.ค. ถ้าไม่ได้ก็จะให้เลือกรอบที่ 2 วันที่ 19 ก.ค. และรอบที่ 3 วันที่ 20 ก.ค. คาด 3 วันนี้ก็น่าจะเพียงพอได้นายกรัฐมนตรีแล้ว ถ้าไม่ได้ก็จะคุยกันใหม่ โดยจะเปิดโอกาสให้ 3 ครั้งก่อน เพราะการเรียกประชุมบ่อยๆ และใช้สมาชิก 750 คนก็ค่อนข้างลำบาก เวลา 3 วันก็เยอะแล้ว และอยากให้ได้ภายใน 3 วันนี้

ส่วนถ้าหากกำหนดไว้ 3 ครั้งแรกแล้วยังไม่ได้นายกรัฐมนตรี จะมีการพูดคุยกันใหม่หรือพลิกให้พรรคเพื่อไทย มานำในการจัดตั้งรัฐบาล นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า แล้วแต่ที่ประชุมรัฐสภาและที่ประชุม 8 พรรค ที่ต้องทำตาม MOU ที่จะต้องจับมือกันไป ซึ่งต้องพูดคุยกันเป็นการภายใน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

4. ศาลพิพากษาจำคุก "ประสิทธิ์ เจียวก๊ก" 1,155 ปี ปรับ 145 ล้าน ฐานฉ้อโกง ปชช. หลอกร่วมลงทุนซื้อขายสินค้าแบรนด์เนม อ้างให้ผลตอบแทนสูง!



เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ศาลอาญาได้นัดฟังคำพิพากษาคดีฉ้อโกงประชาชนที่พนักงานอัยการคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท วีเลิฟยัวแบ็ก (ไทยแลนด์) จำกัด, น.ส.อมราภรณ์ หรือ พันตรีหญิงแพทย์หญิงอมราภรณ์ วิเศษสุข, บริษัท เหนือโลก จำกัด โดยนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กรรมการผู้จัดการ ในฐานะนิติบุคคล, นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก อดีตประธานโครงการคืนคุณแผ่นดิน นักธุรกิจพันล้าน, นายกิตติศักดิ์ เย็นนานนทน์, น.ส.ณัฐวรรณ อุตตมะปรากรม, บริษัท เอ็มโกลด์ ฟิวเจอร์ จำกัด โดยนางสาวสิริมา เนาวรัตน์ กรรมการผู้จัดการ, น.ส.สิริมา เนาวรัตน์ และนายกิตติวัฒน์ อ่วมอารีย์ เป็นจำเลยที่ 1-9

ในความผิด พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3, 4, 5, 9, 11, 12, 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14(1) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 341, 343 และให้พวกจำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ยังไม่ได้รับคืน ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

คดีนี้ อัยการโจทก์ฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 23 พ.ย.2563 ถึง 19 เม.ย.2564 พวกจำเลยได้ร่วมกันและแยกกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ด้วยการหลอกลวงและแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยการโฆษณาชักชวนประชาชนมาร่วมลงทุนซื้อขาย ฝากขายสินค้าแบรนด์เนม เช่น หลุยส์ วิตตอง ชาแนล แอเมส กุชชี่ และสินค้าทำความสะอาดสินค้าแบรนด์ เนม เป็นต้น ในหลายรูปแบบ โดยจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 40.15-51.1ต่อปี ซึ่งเป็นผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตามที่สถาบันการเงินกฎหมายกำหนดที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี

จนมีประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อร่วมลงทุนกับพวกจำเลยตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่พวกจำเลยตั้งขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้ว พวกจำเลยไม่มีเจตนานำเงินจากประชาชนและผู้เสียหายไปลงทุนในธุรกิจดังกล่าว เป็นเพียงอุบายเพื่อนำเงินลงทุนมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่พวกจำเลยเท่านั้น สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาลกว่า 1,000 ล้านบาท ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยตามความผิดด้วย

ทั้งนี้ ศาลได้อ่านคำพิพากษาให้นายประสิทธิ์ จำเลยที่ 4 ฟังผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปที่เรือนจำกลางบางขวาง จ.นนทบุรี

โดยศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างแล้วเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องรู้เห็นด้วยตัวเอง สมเหตุสมผลมีรายละเอียดเชื่อมต่อเป็นลำดับเรื่องราวความเป็นมาของการกระทำความผิดตั้งแต่เปิดธุกิจของจำเลยที่ 1, 3, 4 มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ส่วนที่จำเลยที่ 1, 3, 4 ต่อสู้คดีอ้างว่า มีแผนการธุรกิจและคำนวณตามโมเดลธุรกิจดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะให้ผลตอบแทนสูงนั้น เป็นเพียงแนวคิดเบิกความลอยๆ ที่โฆษณาหลอกลวงว่า ประชาชนผู้เสียหายจะได้รับผลตอบแทนจำนวนมากนั้น ไม่สามารถกระทำได้จริง พยานและหลักฐานของ จำเลยที่ 1, 3, 4 ยังมีข้อพิรุธ น่าสงสัย ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์

ส่วนจำเลยที่ 2, 5-9 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลเห็นว่า พยานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2, 5-9 จึงพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1, 3, 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 342 พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1) ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดกฎหลายบทต่างกัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนที่เป็นโทษหนักสุด ให้จำคุกนายประสิทธิ์ จำเลยที่ 4 กระทงละ 5 ปี จำนวน 321 กระทง รวม 1,155 ปี และปรับจำเลยที่ 1, 3 และ4 รายละ 5 แสนบาท รวม 321 กระทง รวมเป็นเงิน 145,500,000 บาท

อย่างไรก็ตาม กฎหมายกำหนดให้จำคุกไม่เกิน 20 ปี คงจำคุกนายประสิทธ์ จำเลยที่ 4 รวม 20 ปี และให้ จำเลย 1, 3 และ 4 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายอัตราร้อยละ 5 ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2, 5-9 พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์

เป็นที่น่าสังเกตว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ทำความเห็นแย้งเห็นว่า จำเลยทั้ง 9 รายมีส่วนร่วมรู้เห็นการกระทำผิดด้วย ทั้งนี้ การทำความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญานั้นจะอยู่ในสำนวนคดี และหากอัยการยื่นอุทธรณ์ ความเห็นแย้งดังกล่าวก็จะอยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ด้วย

5. ดีเอสไอขอศาลออกหมายจับ "ชนินทร์" อดีต ปธ.บอร์ด STARK คดีโกงหุ้น หลังพบหนีออกนอกประเทศ เตรียมออกหมายเรียกเลขาฯ สัปดาห์หน้า!



เมื่อวันที่ 6 ก.ค. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ขอศาลออกหมายจับนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) หลังพบว่าได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว ถือเป็นพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าจะหลบหนี เนื่องจากไม่เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาทุจริตจัดทำงบการเงินเป็นเท็จตามที่ดีเอสไอได้ออกหมายเรียก

พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ และในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีโกงหุ้น STARK เผยความคืบหน้ากรณีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ออกหมายเรียกนายชนินทร์ ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คดีโกงหุ้น STARK ว่า นายชนินทร์ไม่ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกในวันนี้ (6 ก.ค.) โดยตนได้รับรายงานว่า นายชนินทร์ส่งหนังสือแจ้งเลื่อนหมายเรียก โดยให้เหตุผลว่า ไม่สะดวกเข้าพบ แต่เจ้าตัวก็ยังไม่ได้ระบุว่าจะเข้ามาพบพนักงานสอบสวนวันเวลาใด อย่างไรก็ตาม ทางการข่าวทราบว่า นายชนินทร์ได้เดินทางออกนอกประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยประเทศปลายทางเบื้องต้นเป็นประเทศสิงคโปร์ ดีเอสไอจึงขอศาลออกหมายจับเรียบร้อยแล้ว

ส่วนขั้นตอนถัดไประหว่างที่สำนวนคดีใกล้แล้วเสร็จ จะดำเนินการประสานกับอินเตอร์โพล หรือ องค์การตำรวจสากล เพื่อพิจารณาออกหมายแดงแก่นายชนินทร์ และขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามยึด อายัดทรัพย์เพิ่มเติม โดยได้มีการอายัดทางทะเบียนไว้บ้างแล้ว เพื่อป้องกันการจำหน่าย จ่าย โอน มีรายงานว่า ทรัพย์สินของนายชนินทร์ ได้ถูกอายัดไว้แล้ว มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท

พ.ต.ต.ยุทธนา เผยอีกว่า ภายในสัปดาห์หน้า ดีเอสไอเตรียมออกหมายเรียกครั้งที่ 1 แก่ น.ส.ยสบวร อำมฤต เลขานุการของนายชนินทร์ เนื่องจากการจะออกหมายเรียกผู้ต้องหานั้น พนักงานสอบสวนจะต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอในการแจ้งข้อกล่าวหา รวมถึงทราบมาว่า ทางสำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีการกล่าวโทษบุคคลดังต่อไปนี้ (1) บริษัท STARK (2) นายชนินทร์ เย็นสุดใจ (3) นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ (4) นายชินวัฒน์ อัศวโภคี (5) นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ (6) นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม (7) บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) (8) บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) (9) บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด และ (10) บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ทำให้ดีเอสไอจะต้องไปรวบรวมพยานหลักฐานอีกสักระยะ และพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานในส่วนของ ก.ล.ต. ก่อนออกหมายเรียกผู้ต้องหารายใดต่อไป

รายงานข่าวจาก กลต.เผยว่า สำหรับกรรมการ อดีตกรรมการและอดีตผู้บริหารของบริษัท STARK ทั้ง 10 ราย ถูก กลต.ร้องทุกข์กล่าวโทษกรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในช่วงปี 2564-2565 เพื่อลวงบุคคลใดๆ และเปิดเผยงบการเงินในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบ รวมทั้งปกปิดความจริงในข้อมูล factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 ก.ค. อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะพนักงานสอบสวนกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ได้ร่วมกันเข้าตรวจค้นบริษัท STARK และบริษัทในเครือ รวมถึงบ้านและสำนักงานของผู้ต้องหา คือ นายชนินทร์, นายศรัทธา และ น.ส.ยสบวร รวมทั้งสิ้น 15 จุดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เบื้องต้นเป็นการตรวจค้นเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกบันทึกไว้ในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และฮาร์ดดิสก์ต่างๆ เพื่อนำมาประกอบพยานเอกสารในสำนวนคดีให้มีความรอบด้านมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น