UNFPA ร่วมกับ UNDP และ Thailand Policy Lab จัดนิทรรศการพร้อมเสวนา “ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน” เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง “Pride Month” เดือนแห่งความภาคภูมิใจความหลากหลายทางเพศ
กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และ Thailand Policy Lab จัดนิทรรศการและเสวนาหัวข้อ “ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน” พร้อมเชิญชวนร่วมเฉลิมฉลองความหลากหลายและการโอบกอดความแตกต่างในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ “Pride Month”
น.ส. สิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อขยายโครงการเกี่ยวกับนโยบายประชากร สอดคล้องกับเทศกาล Pride ด้วยความตั้งใจที่จะรับฟัง ให้เกียรติ และรับรู้ถึงประสบการณ์ชีวิต การต่อสู้ และความคาดหวังของชาว LGBTQIA+ รวมถึงครอบครัวสมัยใหม่ในรูปแบบอื่นๆ ในประเทศไทย เป็นโอกาสในการขยายเสียงของความหลากหลายให้กว้างไกลออกไป ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการเดินทางที่ไม่เหมือนใครของชาว LGBTQIA+ ตลอดจนส่งเสริมสภาพแวดล้อมของการยอมรับและการสนับสนุนพวกเขาเหล่านั้น โดยการเสวนา “ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน” มีขึ้นในวันที่ 3 มิถุนายน 2566 และ นิทรรศการ “ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน” จัดขึ้นระหว่าง26-30 มิ.ย. 66 ณ สยามเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ
“กิจกรรมนี้เป็นการแสดงจุดยืนในการส่งเสริมสิทธิของคนทุกเพศในการสร้างครอบครัว รวมถึงสำรวจและทำความเข้าใจรูปแบบครอบครัวสมัยใหม่และรูปแบบครอบครัวทางเลือก ส่งเสริมการยอมรับ และการสนับสนุนบุคคลและครอบครัวที่ไม่ได้มีรูปแบบโครงสร้างดั้งเดิม อีกทั้งยังเป็นการรวบรวมข้อมูลและข้อค้นพบเชิงลึกเกี่ยวกับการรับรู้ ความกังวล และความคาดหวังของสาธารณชนต่อการสร้างครอบครัว และยังเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตระหนักรู้และการเคารพต่อวิถีอันหลากหลายในการสร้างครอบครัวและการทำหน้าที่ของครอบครัวอีกด้วย
ครอบครัวที่หลากหลายในปัจจุบันส่งผลต่อโครงสร้างประชากรไทยในภาพรวม ซึ่งได้ก้าวสู่การเป็นสังคมสูงวัยแล้ว ทั้งนี้ UNFPA เน้นให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิและทางเลือก ตลอดจนความเสมอภาคทางเพศของเพื่อนมนุษย์ทุกคน ในการเลือกที่จะเป็น และเลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบเหมาะสมของแต่ละคน ในมุมจำนวนประชากร เราไม่เน้นเพิ่มในเชิงปริมาณแต่ขอส่งเสริมให้เพิ่มคุณภาพให้ประชากรทุกท่าน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่ม ทั้งด้านการศึกษาและพัฒนาอาชีพ เพื่อให้ดูแลตัวเองได้ดีทั้งทางเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม และครอบครัว และเป็นประชากรที่มีคุณภาพในที่สุด” หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย กล่าว
ทั้งนี้ การเสวนา “ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน” ที่จัดขึ้นในวันที่ 3 มิถุนายน 2566 ซึ่งกระตุ้นการเปิดใจ ส่งเสริมความเข้าใจ และสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจของสาธารณชนต่อสิ่งที่ประกอบสร้างเป็นครอบครัวซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย ได้มีการร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลายจากผู้ร่วมเสวนา
“มัจฉา พรอินทร์” ตัวแทนผู้ปกครองครอบครัวทางเลือก กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสนับสนุนครอบครัวที่มีรูปแบบหลากหลายในสังคมไทย คือการสร้างการยอมรับและความเข้าใจจากสังคม โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมไทยที่ต้องทำให้เร็วที่สุด เพราะเป็นการแก้ปัญหาอย่างเข้าใจและยอมรับ สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงในการสร้างความเท่าเทียมให้แก่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและสังคม
“สายสุนีย์ จ๊ะนะ (แวว)” นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบทีมชาติไทย ตัวแทนครอบครัวคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว กล่าวว่า คนพิการก็มีสิทธิและความต้องการมีครอบครัวเป็นของตัวเอง ถึงแม้จะมีความท้าทายและอุปสรรคมากกว่าคนทั่วไป ที่ผ่านมาในอดีตยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐและระบบสาธารณสุขที่เพียงพอในการมีครอบครัวเป็นของตัวเอง
ด้าน “ดร.พงศ์สิริ เตชะวิบูลย์” ตัวแทนครอบครัวคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว กล่าวว่า จากประสบการณ์การเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ได้รับการรับรองบุตรจากต่างประเทศ นับว่ามีความโชคดีที่ได้ยื่นเรื่องไปที่ศาลในการเป็นผู้ปกครองคนเดียว ทำให้การรับรองจากศาลและการดำเนินเรื่องเอกสารต่างๆ เป็นไปด้วยความสะดวก เรื่องการระบุเป็นผู้ปกครองก็ไม่ต้องระบุเพศว่าเป็นพ่อหรือแม่ แต่เป็น Parent 1 หรือ Parent 2 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงนโยบายและกฎหมายที่รับรองและเข้าใจถึงความหลากหลายของครอบครัว
ขณะที่ “ภาวิดา มอริจจิ (ซิลวี่)” นักร้อง Warner Music Thailand และ Spotify's EQUAL Thailand Ambassador กล่าวว่า การปรับตัวระหว่างตัวซิลวี่และคุณแม่ผ่านมาได้ด้วยกระบวนการพูดคุย รับฟัง ปรับตัว และเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะพื้นที่ปลอดภัยและการให้เวลาซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก