xs
xsm
sm
md
lg

De-dollarization ดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เป็นแบงก์กงเต๊ก จุดเปลี่ยนระเบียบเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิ” ยกตัวอย่าง 5 ปรากฏการณ์ เททิ้งเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อลดความเสี่ยง จากการที่สหรัฐฯ ใช้ดอลลาร์เป็นเครื่องมือจัดการ ควบคุม แบล็กเมล์ทำสงครามทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ทำให้เงินดอลลาร์ ใกล้เป็นแบงก์กงเต๊กเข้าไปทุกขณะ โดยเงินหยวนกำลังจะก้าวขึ้นมาทดแทนในฐานะเงินตราของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกและกลายเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของหลายประเทศทั่วโลก



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินโลกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 70 กว่าปี หรือนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2488 หรือ ค.ศ.1945 คือการเปลี่ยนแปลงของสกุลเงินหลักของโลก คือเงินดอลลาร์สหรัฐ

นายสนธิ กล่าวว่า ตนได้เคยพูดถึงเงินดอลลาร์ว่าจะมีสภาพกลายเป็นแบงกฺกงเต็กหลายครั้ง ในรายการ "คุยทุกเรื่องกับสนธิ" เช่น วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ตอนที่ 124 "หนี้สหรัฐฯ พุ่ง ดอลลาร์ = แบงก์กงเต๊ก"


วันที่ 15 เมษายน 2565 ตอนที่ 133 "อวสานดอลลาร์ อวสานอเมริกา"
วันที่ 16 ธันวาคม 2565 ตอนที่ 168 "เปโตรดอลลาร์ ถึงคราวล่มสลาย"

ล่าสุด เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว คือเรื่อง "หายนะการเงินอเมริกา อภิมหาแชร์ลูกโซ่" ในรายการ "คุยทุกเรื่องกับสนธิ" ตอนที่ 182

สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นชัด ณ เวลานี้ คือ วิกฤตระบบการเงินการคลังของสหรัฐอเมริกาลุกลามมาถึงยุโรป ส่งสัญญาณเป็นการล้มของธนาคารหลายแห่งในอเมริกา ธนาคารเครดิต สวิส และก่อให้เกิดปัญหาการเงินอย่างง่อนแง่นต่อธนาคารยักษ์ใหญ่อย่างเช่น ดอยช์แบงก์ ในเยอรมนี

จนกระทั่งวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2566 เฟด คือธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกมาประกาศความร่วมมือกับธนาคารของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอีก 5 ชาติ รวมเป็น 6 ชาติ คือ ธนาคารกลางแคนาดา อังกฤษ ญี่ปุ่น ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์


พวกธนาคารกลางพวกนี้ก็คือกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มระเบียบโลกเก่าทั้งสิ้น หันมาจับมือร่วมกันเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ระบบการเงิน ผ่านการปรับธุรกรรมสวอปออนไลน์สกุลเงินดอลลาร์ ก็คือว่า ใครขาดเงินดอลลาร์ให้ติดต่อได้เลยใน 6 ประเทศนี้ เดี๋ยวเขาจัดให้ เพื่อไม่ให้ดอลลาร์ซวนเซหรือทรุดลงมากกว่านี้

การประกาศมาตรการแบบนี้บ่งบอกให้เห็นถึงวิกฤตเกี่ยวกับการเงินในสถาบันการเงินตะวันตกทั้งระบบ ลามไปถึงความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ถูกสหรัฐฯ ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการ ควบคุม แบล็กเมล์ ทำสงครามทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

นายสนธิ กล่าวว่า ความเสื่อมถอยของเงินดอลลาร์ หรือที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า De-Dollarization ตนเคยเปรียบเทียบแบงก์ดอลลาร์ เป็นแบงก์กงเต๊ก คึอเป็นแบงก์กระดาษที่เขาใช้เผาเพื่อส่งไปให้บรรพบุรุษในช่วงเทศกาลเชงเม้ง ก็มีบางคนออกมาบอกว่า "เห็นพูดตั้งนานแล้วว่าดอลลาร์จะเป็นแบงก์กงเต๊ก วันนี้ยังเห็นดอลลาร์ที่ 34-35 บาท" อีกความเห็นหนึ่ง "เศรษฐกิจอเมริกาเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลก อยู่ๆ เงินดอลลาร์ไม่ล่มสลายไปหรอก"

ทั้งนี้ ถ้าเราย้อนประวัติศาสตร์ ดอลลาร์กลายเป็นเงินสกุลหลักของโลกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 2487 ประเทศพันธมิตรทางตะวันตก 44 ประเทศ ประชุมกันที่โรงแรมเมานท์วอชิงตัน ที่เมืองเบรตตันวูดส์ นิวแฮมป์เชียร์ ซึ่งตอนหลังกลายเป็นข้อตกลงของเบรตตันวูดส์


ชาติตะวันตกได้มีการสร้างองค์กรโลกบาล 2 แห่ง คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ (IMF) และ ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ (World Bank) ซึ่งถูกควบคุมโดยประเทศทางตะวันตก ทำให้อเมริกาได้ประโยชน์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เกือบ 80 ปี มาจนถึงปัจจุบัน

ระบบดังกล่าวกำหนดให้มีการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้กับเงินสกุลดอลลาร์ ส่งผลให้อเมริกากลายเป็นมหาอำนาจครอบงำเศรษฐกิจโลกไว้ โดยสกุลเงินอเมริกาจะเป็นเงินสกุลหลักส่วนใหญ่ของสิทธิพิเศษในการถอนเงิน (SDR) หรือ “เงินกระดาษ” ของไอเอ็มเอฟ คือถ้าจะถอนเงินจากไอเอ็มเอฟ ต้องถอนออไปเป็นเงินดอลลาร์


เป็นที่มาที่ไปว่าทำไมทุกวันนี้ข้อมูลไอเอ็มเอฟระบุว่า อิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีส่วนช่วยอุ้มชูเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้มีสถานภาพเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะ

1.การหมุนเวียนของธนบัตรดอลลาร์อเมริกาที่ใช้อยู่ปัจจุบันมีจำนวน 2 ล้านล้านดอลลาร์ มีอยู่ครึ่งหนึ่ง คือ 1 ล้านล้านดอลลาร์ หมุนเวียนอยู่ภายนอกประเทศอเมริกา โดยบางประเทศใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นสกุลเงินแลกเปลี่ยนจับจ่ายใช้สอยในท้องถิ่นได้เสียด้วยซ้ำ

2.สัดส่วนปริมาณหนี้ในโลกนี้ มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในเงินสกุลดอลลาร์

3.ทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ ในโลกนี้เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในเงินสกุลดอลลาร์ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

4.การค้าขายการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งหมดในโลกนี้ เกี่ยวข้องกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม กำลังมีกระบวนการหนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งกำลังกัดกร่อนทำลายการผูกขาดของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งในการค้าขาย แลกเปลี่ยน ในการให้กู้ยืม รวมถึงการเป็นเงินสกุลที่ใช้ในการเก็บเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศด้วย กระบวนการนี้เรียกว่า DE-DOLLARIZATION


DE-DOLLARIZATION หมายถึงกระบวนการที่ประเทศต่างๆ พยายามลดการพึ่งเงินดอลลาร์สหรัฐในการทำธุรกรรม และเงินสำรองระหว่างประเทศ โดยแสวงหาทางเลือกอื่นๆ แทนเงินดอลลาร์สหรัฐ ในการแลกเปลี่ยนและจัดเก็บให้พ้นจากความผันผวนของเงินดอลลาร์สหรัฐที่ด้อยค่าลงเรื่อยๆ ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนว่าเงินที่ก้าวมาท้าชิงกับเงินดอลลาร์สหรัฐ คือเงินหยวนของจีน

สาเหตุที่เงินหยวนของจีนกำลังกลายเป็นผู้ท้าชิงสำคัญของเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก และกำลังจะขึ้นอันดับหนึ่งของโลกในไม่กี่ปีนี้ เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้เดินหน้าทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ มากมาย


แผนภาพนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ในช่วงทศวรรษที่ 1980 อเมริกาเป็นศูนย์ค้าอันดับหนึ่งของเกือบทุกประเทศทั่วโลก เมื่อเวลาผ่านไปเกือบสี่สิบปี ในปี 2561 จีนได้เข้ามายึดครอง กลายเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้แทนอเมริกาไปเรียบร้อยแล้ว

จุดเปลี่ยนที่สำคัญในปี 2544 (ค.ศ. 2001) เป็นปีที่จีนเข้ามาเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศคู่ค้ากับประเทศต่างๆ ทั่วโลก จนทำให้ปัจจุบันมีประเทศมากกว่า 2 ใน 3 ของโลกนี้ หรือ 128 ประเทศ จาก 190 ประเทศ ค้าขายกับจีนมากกว่าสหรัฐฯ สังเกตแผนที่ประเทศที่มีสีแดง ส่วนประเทศที่ค้าขายกับอเมริกาจะเป็นสีฟ้า หรือสีน้ำเงิน


นอกจากนี้แล้ว กว่า 90 ประเทศ จาก 128 ประเทศที่ค้าขายกับจีนมากกว่าอเมริกา ยังค้าขายกับจีนมากกว่าค้าขายกับอเมริกาคิดเป็นมูลค่าถึง 1 เท่าตัว

ส่วนประเทศทางยุโรปที่ถูกทาด้วยสีส้ม แสดงให้เห็นว่าประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดคือมหาอำนาจ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านในยุโรปด้วยกัน คือประเทศเยอรมนี

ตอนนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าหลายประเทศกำลังพยายามหาช่องทางที่จะลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งในด้านการค้าและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยที่ชัดเจนคือ กลุ่ม BRICS ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และ แอฟริกาใต้

นอกจากนี้แล้ว ยังรวมถึงกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย และประเทศในตะวันออกกลางที่เริ่มถอยห่างจากเปโตรดอลลาร์

5 ตัวอย่างของปรากฏการณ์ DE-DOLLARIZATION

ตัวอย่างที่ 1 "จีน-ฝรั่งเศส ซื้อขายก๊าซ LNG ด้วยเงินหยวน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์"

ข่าวใหญ่ในแวดวงพลังงานเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ฝรั่งเศสเป็นชาติยุโรปชาติแรกที่ยอมใช้เงินหยวนซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นจำนวน 65,000 ตัน เป็นการซื้อขายระหว่างบริษัทน้ำมันแห่งชาติ CNOOC และบริษัท TotalEnergies ของฝรั่งเศส ทำข้อตกลงซื้อขายก๊าซ LNG ผ่านตลาดซื้อขายปิโตรเลียมและก๊าซ ที่นครเซี่ยงไฮ้ และเป็นครั้งแรกที่มีการซื้อขาย LNG จากฝรั่งเศส โดยใช้เงินหยวน


ตัวอย่างที่ 2 "จีน กับ บราซิล ลงนามข้อตกลงทำการค้า โดยการใช้เงินสกุลของตัวเอง"

วันศุกร์ที่แล้ว 31 มีนาคม จีน-บราซิล ได้ทำข้อตกลงร่วมกันที่จะใช้เงินสกุลหยวน และเงินเรอัล (Real) ของบราซิล ในการทำการค้าระหว่างกัน ไม่ต้องผ่านเงินดอลลาร์อเมริกาอีกต่อไป

เดิมทีบราซิล และจีน เวลาจะซื้อขายอะไรกันต้องทำการผ่านเงินดอลลาร์อเมริกา เนื่องจากภูมิรัฐศาสตร์ของบราซิลอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ใกล้ชิดกับอเมริกามาก เงินดอลลาร์อเมริกามีเสถียรภาพมากกว่าเงินเรอัลของบราซิล การค้าขายระหว่างจีน กับบราซิล จึงต้องแลกเปลี่ยนเงินเรอัลจากบราซิลเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นค่อยเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินหยวนของจีนอีกต่อหนึ่ง

การทำเช่นนี้ในระบบเดิมทำให้ต้นทุนของจีนและบราซิลต้องสูงมากขึ้นจากค่าธรรมเนียม และยังมีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน

ยิ่งเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และเกิดปัญหากับธนาคารหลายแห่งในอเมริกา ทำให้เสถียรภาพที่เคยเป็นจุดแข็งที่สุดของเงินสกุลดอลลาร์ สูญสิ้นไป การค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่นของทั้งสองชาติจะช่วยลดความเสี่ยงและลดต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งสองชาติ


อนึ่ง ในปัจจุบันบราซิล และจีน ถือว่าเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 ของโลก ตอนนี้จีนแซงหน้าอเมริกาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของบราซิลตั้งแต่ปี 2552 แล้ว และยังรั้งสถานภาพต่อเนื่องถึงปัจจุบัน นานกว่า 14 ปี

ทุกวันนี้มูลค่าการค้าระหว่างจีน กับบราซิล มีมูลค่าสูงกว่า 170,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 5.8 ล้านล้านบาท ทำให้สองประเทศนี้ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS มีแนวคิดจะใช้เงินสกุลตัวเองในการค้าขายระหว่างกันและกัน

ทุกวันนี้การค้าระหว่างประเทศบราซิลมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ชำระธุรกรรมด้วยเงินสกุลดอลลารสหรัฐ แต่ข้อตกลงล่าสุดกับจีนทำให้ผู้ประกอบการบราซิลมีทางเลือกมากขึ้น เช่น เกษตรกรของบราซิลสามารถเลือกที่จะรับเงินเข้าเป็นดอลลาร์ หรือเงินหยวน และจ่ายออกเป็นเงินบราซิล แบบไหนคุ้มค่าที่สุดก็ใช้แบบนั้น

นอกจากนี้แล้ว บราซิลยังมีโอกาสที่จะขยายตลาดไปจีน ซึ่งแน่นอน การใช้เงินหยวนนั้นจะสะดวกที่สุด

ผู้สื่อข่าวของจีนที่ประจำอยู่ประเทศบราซิลมานานหลายปี เล่าว่า เดิมทีชาวบราซิลพึ่งพาอเมริกาอย่างมาก ใช้สินค้าที่นำเข้าจากอเมริกาเป็นหลัก แต่ทุกวันนี้ชาวบราซิลใช้สินค้าจากจีนเข้ามามาก ผู้สื่อข่าวได้รับคำถามจากชาวบราซิลจำนวนมากเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน

นอกจากนี้ BYD ค่ายรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน กำลังเสนอซื้อโรงงานผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งในบราซิล โรงงานนี้เดิมทีเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ของอเมริกา คือ ฟอร์ด แต่ได้ถอนทุนไปแล้ว บราซิลบอกว่าธุรกิจอเมริกาถอนทุนจากบราซิล แต่ธุรกิจจีนเดินเข้ามาสู่บราซิล

ข้อตกลงระหว่างจีน-บราซิล มีขึ้นก่อนการเยือนประเทศจีนของประธานาธิบดีลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล


การกลับมาเป็นผู้นำบราซิลอีกครั้งหนึ่ง ลูลา ดา ซิลวา มีแนวคิดสังคมนิยม เป็นไม้เบื่อไม้เมากับอเมริกา ยิ่งจะทำให้บราซิล กับ จีน และกลุ่ม BRICS ใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าบราซิล ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกา มีแนวโน้มที่จะถอยห่างจากอเมริกาและเงินดอลลาร์สหรัฐ ไปเรื่อยๆ ทีละก้าวๆ

ไม่เพียงบราซิล หลายประเทศในลาตินอเมริกาก็รู้สึกว่าถูกสหรัฐฯ กดขี่ข่มเหงรังแกมานาน ต้องการยกเลิกใช้เงินดอลลาร์เช่นกัน แต่ยากที่จะทำได้ ขณะนี้ประเทศอื่นๆ อย่างเวเนซุเอลา ชิลี นิการากัว คิวบา อาร์เจนตินา รวมทั้งโคลัมเบีย ชักสนใจที่จะทำธุรกิจกับจีน โดยใช้เงินท้องถิ่นแลกซึ่งกันและกัน

ตัวอย่างที่ 3 รัสเซียบอกลาเงินดอลลาร์ หลังจากถูกตัดออกจากระบบสวิฟต์ (S.W.I.F.T.)

สงครามในยูเครนเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 อเมริกาใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นเครื่องมือเพื่อบีบรัสเซียในสงครามยูเครน โดยอายัดเงินทุนสำรองของรัสเซียในต่างประเทศ และตัดรัสเซียออกจากระบบชำระเงินของสวิฟต์ที่อเมริกาเป็นเจ้าของ และมีอิทธิพลอยู่ ทำให้รัสเซีย จีน กับอินเดีย ได้พัฒนาระบบชำระเงินของตัวเอง


ถึงแม้รัสเซียจะถูกคว่ำบาตรจากประเทศชาติตะวันตก แต่รัสเซียยังคงขายพลังงานให้กับประเทศต่างๆ ทำการซื้อขายด้วยเงินสกุลรูเบิลของรัสเซีย เงินหยวนของจีน เงินรูปีของอินเดีย และเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศต่างๆ

บรรดาชาติตะวันตกประโคมข่าวว่า เงินรูเบิลของรัสเซียจะล่มสลายตั้งแต่ช่วงแรกของสงครามยูเครน มาจนกระทั่งบัดนี้ เงินรูเบิลของรัสเซียยังไม่มีวี่แววจะล่มสลายแต่อย่างใด เนื่องจากรัสเซียมีทองคำสำรองจำนวนมาก แตกต่างจากดอลลาร์สหรัฐ ที่พิมพ์ออกมาเหมือนแบงก์กงเต๊ก จนก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อและวิกฤตทางการเงิน รวมถึงการคลัง ทั้งในประเทศอเมริกาและอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่อยู่ปัจจุบัน

คนที่บอกว่าเงินรูเบิลของรัสเซียจะกลายเป็นดิน เป็นกรวด เป็นใบไม้อยู่บนดิน ก็คือ นายโจ ไบเดน ทันทีที่สงครามในยูเครนเกิดขึ้น 1 ปีที่ผ่านมา เงินรูเบิลแข็งเอาๆ แข็งกว่าก่อนจะเกิดสงครามยูเครนเสียอีก ขณะเดียวกัน เงินรูเบิลไม่ได้กลายเป็นดิน เป็นหิน เป็นกรวด ตามที่นายโจ ไบเดน พูด


แต่เวรกรรมมีจริง เงินดอลลาร์ตอนนี้ไม่ได้กลายเป็นหิน เป็นดิน เป็นกรวดหรอก แต่กำลังกลายเป็นแบงก์กงเต๊กอยู่แล้ว

ณวันที่ 1 มีนาคม 2566 ตามรายงานของธนาคารกลางรัสเซีย ระบุปริมาณทองคำสำรองของประเทศรัสเซียเพิ่มเป็น 74.9 ล้านออนซ์ ปีที่แล้วทองคำสำรองของรัสเซียเพิ่มอีก 1 ล้านออนซ์จากปีก่อนหน้า

ณเดือนมีนาคม 2566 ประเมินกันว่าทองคำสำรองรัสเซียมีมูลค่าสูงถึง 135,600 ล้านดอลลาร์ โดยสัดส่วนของทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 23.6% ในขณะที่สัดส่วนของเงินตราต่างประเทศ ลดลงเหลือ 71.5%
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 นายฉิน กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เคยตอบคำถามผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวระหว่างการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน


ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว TASS ของรัสเซียถามว่า มีความเป็นไปได้ไหมที่ทั้งสองชาติจะเลิกใช้เงินดอลลาร์และเงินยูโรในการค้าระหว่างกัน?

รัฐมนตรีต่างประเทศจีนตอบว่า การค้าระหว่างจีนกับรัสเซียจะใช้เงินสกุลใดก็ได้ที่สะดวก ปลอดภัย และเชื่อถือได้ เงินตราไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือในการคว่ำบาตร เพื่อข่มเหงและบีบบังคับ

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องที่ชัดเสียยิ่งกว่าชัดว่า จีนกับรัสเซียนั้นจะลดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโรของยุโรปในการทำการค้า ซึ่งน่าจะมีการขยายขอบเขตไปยังประเทศในกลุ่ม BRICS รวมถึงประเทศในกลุ่มพันธมิตรทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นในตะวันออกกลาง, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, แอฟริกา และอเมริกาใต้ด้วย ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้

ตัวอย่างที่ 4 : อินเดียใช้รูปีซื้อพลังงานรัสเซีย แต่รัสเซียอยากได้เงินหยวน

อย่างที่หลายท่านคงทราบแล้วว่า ประเทศอินเดียเป็นประเทศใหญ่แห่งโลกประชาธิปไตย ที่ไม่ได้คว่ำบาตรรัสเซียจากกรณีสงครามยูเครน โดยอินเดียได้ประโยชน์อย่างมากจากการซื้อพลังงานในราคา “มิตรภาพ” จากรัสเซีย โดยตกลงกันที่จะใช้เงินรูปีของอินเดีย

อินเดียทำกำไรมหาศาลด้วยการซื้อพลังงานจากรัสเซีย จากนั้นก็เอาไปขายต่อในชาติยุโรป ที่อ้างว่าคว่ำบาตรรัสเซีย แต่ซื้อน้ำมันของรัสเซีย ที่แปะฉลากว่า “จายโดยอินเดีย”


แต่ปัญหาก็คือ รัสเซียได้รับเงินรูปีจากอินเดียจำนวนมากเป็นค่าซื้อน้ำมัน แต่ว่ารัสเซียแทบไม่ได้ซื้อสินค้าอะไรจากอินเดียเลย อินเดียซื้อน้ำมันจากรัสเซียหลายหมื่นล้านดอลลาร์แต่รัสเซียซื้อสินค้าจากอินเดียเพียงแค่ราว2,500 ล้านดอลลาร์
ด้วยเหตุนี้ รัสเซียจึงมีเงินรูปีอินเดียอยู่เต็มมือ แต่กลับหาที่ใช้ไม่ได้ แม้แต่จะนำเงินนี้ไปลงทุนในอินเดียก็ยากลำบาก เพราะอินเดียมีมาตรการจำกัดการลงทุนของต่างชาติที่เข้มงวดมาก
รัสเซียจึงเริ่มไม่อยากจะได้เงินรูปีอินเดีย เพราะไม่มีที่จะใช้ แต่ว่าการใช้“เงินหยวน” นั้นแตกต่างกัน เพราะว่าจีนเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ มีสินค้ามากมายที่จะขายให้รัสเซีย และการลงทุนในจีนก็ง่ายกว่าลงทุนในอินเดีย

รัสเซียจึงได้ปรับเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยให้เงินหยวนมีสัดส่วนมากถึง 60% ส่วนอินเดียก็คงต้องเดินตามกลุ่ม BRICS ซึ่งในกลุ่มนี้ เงินสกุลที่สะดวกใช้ที่สุดก็คือ เงินหยวนจีน
ตัวอย่างที่ 5 : ซาอุดีอาระเบีย และตะวันออกกลาง

เดือนธันวาคม 2565 ปีที่แล้ว จีนและซาอุดีอาระเบียทำข้อตกลงชำระเงินข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินหยวนเป็นครั้งแรก แต่การใช้เงินหยวนระหว่างจีนและซาอุดีอาระเบียยังไม่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากสหรัฐอเมริกาข่มขู่ซาอุดีอาระเบียว่า หากถอยห่างจาก“เปโตรดอลลาร์”สหรัฐฯ จะไม่ให้ความคุ้มครองด้านความมั่นคงกับซาอุดีอาระเบียอีกต่อไป
ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับจีน ใกล้ชิดยิ่งขึ้นเมื่อจีนเป็นตัวกลางในการเจรจาฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบีย-อิหร่าน และล่าสุดซาอุดีอาระเบียได้ตัดสินใจจะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซีเรีย
นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียกำลังจะได้รับการรับรองให้เข้าเป็นสมาชิกองค์กรความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (SCO) และจะขอเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มBRICS เพื่อสร้างหลักประกันทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ เพราะว่าSCO นั้น เป็นองค์กรด้านความมั่นคง ส่วน BRICS นั้น ด้านเศรษฐกิจแทนที่จะพึ่งพาสหรัฐเพียงอย่างเดียว


สักวันหนึ่ง และแม้กระทั่งวันนี้ ซาอุดีอาระเบียไม่มีความนจำเป็นต้องพึ่งพาอเมริกา ในเรื่องความมั่นคงอีกต่อไปเนื่องจากว่าจีนทำหน้าที่เอาศัตรูทุกคนของซาอุดิอาระเบียมานั่งคุยกัน แล้วจับมือกัน เป็นเพื่อนกันต่อไปในตะวันออกกลาง เพื่อยุติสงครามในตะวันออกกลาง ซึ่งถูกปลุกปั่นโดยอเมริกาที่อยู่เบื้องหลังในการสร้างความวุ่นวายในพื้นภูมิภาค

ไม่เพียงแต่ซาอุดีอาระเบีย แต่พื้นภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังหวนคืนสู่ความสงบ ทำให้สหรัฐฯ ที่แสวงหาผลประโยชน์จากสงคราม ความขัดแย้งมาตลอด ต้องสูญเสียสถานะประเทศในกลุ่มประเทศอาหรับและตะวันออกกลาง และกำลังจะปลดแอกจากเปโตรดอลลาร์ เพื่อแสวงหาเงินสกุลใหม่เพื่อเป็นทางเลือก ปัจจุบันเงินหยวนมีศักยภาพมากที่สุด ทั้งนี้ ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศอาหรับ

ในปี 2564 การลงทุนในจีน ในกลุ่มประเทศอาหรับ มีมูลค่าสูงถึง 23,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 787,000 ล้านบาท ส่วนยอดการค้าระหว่างประเทศระหว่างจีน กับ ประเทศอาหรับ สูงถึง 330,300 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 11.3 ล้านล้านบาท

นี่คือความเปลี่ยนแปลง 5 ประการ ถ้าท่านเอาความเปลี่ยนแปลง 5 ประการนี้มานั่งรวม แล้วมองไปในอนาคตอีก 5 ปี 10 ปี ท่านจะเห็นว่าเงินดอลลาร์มันจะกลายเป็นแบงก์กงเต๊กจริงๆ

เงินหยวนจ่อขึ้นทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

อเมริกา และชาติอียูนั้นเกลียดและกลัวคำว่า "สันติภาพ" เพราะถ้ามีสันติภาพเมื่อไร ประเทศทางตะวันตกไม่มีสิทธิ์ที่จะมาครอบงำ และไม่มีสิทธิ์ที่จะมาสร้างความวุ่นวายในแต่ละภูมิภาค แล้วก็ดำเนินนโยบายที่เอาประโยชน์เข้าตัวเอง


สิ่งที่จีนได้ทำคือ ให้แต่ละคนเข้าใจว่าสันติภาพนั้น มีนัย มีความหมายมากต่อเศรษฐกิจ การเมือง และความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนั้น เมื่อใดก็ตามที่มีสันติภาพเกิดขึ้น สงครามหายไปแล้ว การที่อเมริกาจะหลอกขายอาวุธให้กับซาอุดีอาระเบียเหมือนสมัยก่อน ก็ขายไม่ได้ เพราะทุกคนเป็นเพื่อนกันหมด

แล้วทำไมเงินหยวนถึงมีโอกาสขึ้นทดแทนเงินดอลลาร์ได้มากที่สุด ?

ภายหลังจากเกิดสงครามในยูเครน โลกได้เห็นกรณีตัวอย่างรัสเซียที่ถูกชาติตะวันตกอายัดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้หลายชาติเริ่มตระหนักว่าเงินดอลลาร์ไม่ใช่สวรรค์ที่ปลอดภัย ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Safe Heaven อีกต่อไป

ยิ่งเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย เพื่อเอาตัวเองรอด แต่ชาติทั่วโลกฉิบหายอย่างไรไม่สน นี่คือสันดานของอเมริกา

อเมริกาขึ้นดอกเบี้ยของตัวเอง ไม่สนใจประเทศอื่นๆ จะกระทบอย่างไร ทำให้ทุกประเทศเริ่มคิดแล้วว่า ถึงเวลาหรือยังที่ต้องกระจายความเสี่ยงออกจากเงินดอลลาร์อเมริกา

เมื่อเรามาพิจารณาเรื่องเงินสกุลสำคัญของโลก นอกจากดอลลาร์แล้ว เงินยูโรของยุโรปก็ได้รับผลกระทบอย่างแรงจากสงครามยูเครน เงินปอนด์อังกฤษสูญเสียสถานภาพมานานแล้ว แล้วยังทรุดหนักลงตั้งแต่อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป


ส่วนเงินเยนของญี่ปุ่นก็ชะงักงันเหมือนเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ติดชะงักมาหลายสิบปี และยิ่งถูกซ้ำเติมจากธนาคารกลางของญี่ปุ่นที่ใช้นโยบายผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าเป็นประวัติการณ์ ทุบสถิติในรอบ 20 ปี

เงินหยวน เป็นสกุลเงินของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก คือ จีน นี่คือเหตุผลว่าทำไมเงินหยวนถึงสำคัญ

เงินหยวน เป็นสกุลเงินของประเทศที่ค้าขายกับทั่วโลก เป็นห่วงโซ่ เป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานโลก

จีนมีมูลค่านำเข้า-ส่งออกในปีที่แล้วสูงถึง 6.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 212 ล้านล้านบาท ขณะที่อเมริกามีมูลค่าการส่งออกในปีที่แล้วเพียง 5.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพียง 178 ล้านล้านบาท


จีนเป็นโรงงานใหญ่ของโลก เป็นฐานการผลิตใหญ่ มีสินค้าขายไปทั่วโลกได้ แตกต่างจากอเมริกาที่มีฐานเศรษฐกิจจากภาคการเงิน การเก็งกำไร ซึ่งไม่ใช่เศรษฐกิจที่แท้จริง หรือที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Real Sector

สรุปว่า ปรากฏการณ์ DE-DOLLARIZATION ซึ่งก็คือความเสื่อมทรุด ความถดถอยของเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจใหม่ แต่สาเหตุที่สำคัญมาจากพฤติกรรมของอเมริกาที่ใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อบีบบังคับ ต่อรองกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ยิ่งเมื่อสหรัฐฯ พยายามทำให้โลกแบ่งแยก แตกขั้ว เหมือนกับสหรัฐฯ พยายามแจะแบ่งแยกแตกขั้วกับจีน ก็ยิ่งทำให้ประเทศต่างๆ ที่ไม่อยากจะถูกบีบ ให้เลือกอยู่ข้างมหาอำนาจเดียว จำเป็นต้องแสวงหาโอกาสที่หลากหลายกับโลกที่เริ่มมีหลายๆ ขั้ว

แนวโน้มระเบียบโลกใหม่ที่นำโดยสกุลเงินหยวนของจีนได้เริ่มแล้ว

กระบวนการเททิ้งเงินดอลลาร์ เป็นขั้นตอนสำคัญในการบรรลุระบบโลกที่เท่าเทียมกันมากขึ้น เนื่องจากการลดอำนาจและอิทธิพลที่เอาเปรียบฝ่ายเดียวของอเมริกา แม้ว่าการยุติใช้เงินดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลกอาจนำไปสู่ความไม่แน่นอนและความผันผวนในเศรษฐกิจโลก และตลาดการเงินระหว่างประเทศ

และการที่ดอลลาร์อเมริกากำลังจะถูกขับออกจากการเป็นสกุลเงินตราหลักของโลก เนื่องจากนโยบายสงครามที่ต่อเนื่อง และก่อหนี้สาธารณะมหาศาล ที่เป็นวิกฤตการเงินของการคลังสหรัฐฯ

นี่คือความหายนะของดอลลาร์อเมริกา ก่อนที่จะถึงวันพรุ่งนี้ของการจัดระเบียบโลกใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น