(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
China and Brazil reach RMB-based trade deal
By JEFF PAO
31/03/2023
หลังจากมีรัสเซียและอิหร่านทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ตอนนี้บราซิลจะอนุญาตให้ผู้ส่งออกของตนบอกเงินค่าสินค้าเป็นสกุลเงินตราเหรินหมินปี้ของจีน
ธนาคารจีนแห่งหนึ่งที่ตั้งฐานอยู่ในเมืองริโอเดจาเนโร จะทำหน้าที่เชื่อมต่อกับระบบชำระเงินระหว่างธนาคารข้ามพรมแดนของจีน (China’s cross-border interbank payment System หรือ CIPS ระบบทางเลือกที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้แทนระบบ SWIFT) ในการคอยสนับสนุนการชำระบัญชีทางการค้าระหว่างจีนกับบราซิล โดยคำนวณเป็นสกุลเงินเหรินหมินปี้ (เงินหยวน) ของจีน
ธนาคารแห่งนี้ที่มีชื่อว่า บังโก โบกอม บีบีเอ็ม (Banco BOCOM BBM) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของธนาคารสื่อสารคมนาคม (Bank of Communications) แบงก์ใหญ่อันดับ 5 ของประเทศจีน จะเชื่อมต่อกับระบบ CIPS เพื่อลดค่าใช้จ่ายของการทำธุรกรรมเชิงพาณิชย์จากการแลกเปลี่ยนโดยตรงระหว่างสกุลเงินเรอัล (real) ของบราซิล กับเงินหยวนของจีน ทั้งนี้ ตามคำแถลงที่เผยแพร่โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนของบราซิล (ApexBrasil)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://apexbrasil.com.br/br/pt/conteudo/noticias/brasil-assina-20-acordos-de-cooperacao-em-missao-empresarial-em-.html)
แบงก์แห่งนี้จะกลายเป็นผู้เข้าร่วมในระบบ CIPS รายแรกในอเมริกาใต้ ขณะที่สาขาในบราซิลของธนาคารอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งประเทศจีน (Industrial and Commercial Bank of China หรือ ICBC) จะกลายเป็นแบงก์เพื่อการชำระเงินสกุลเหรินหมินปี้ (renminbi clearing bank) ในบราซิล คำแถลงของ ApexBrasil ระบุ
คำแถลงฉบับนี้เผยแพร่ออกมา หลังจากมีรายงานว่าจีนกับราซิลสามารถทำความตกลงกันเพื่อเปิดทางให้บริษัทต่างๆ สามารถชำระบัญชีการทำธุรกรรมทางการค้าของพวกเขาโดยใช้สกุลเงินตราของประเทศทั้งสองเอง โยนทิ้งไม่ต้องพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐให้เป็นตัวกลางอีกต่อไป
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://english.scio.gov.cn/internationalexchanges/2023-03/31/content_85203377.htm)
ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People’s Bank of China หรือ PBoC) ซึ่งเป็นแบงก์ชาติของแดนมังกร และธนาคารกลางของบราซิล ได้ลงนามกันในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อสถาปนาระบบชำระบัญชีด้วยสกุลเงินเหรินหมินปี้ขึ้นมาในบราซิล
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.gov.cn/xinwen/2023-02/07/content_5740538.htm)
“ระบบที่จัดทำขึ้นมาเหล่านี้จะช่วยเหลือบรรดาวิสาหกิจและสถาบันทางการเงินในทั้งสองประเทศ ในการดำเนินธุรกรรมข้ามพรมแดนโดยใช้เงินเหรินหมินปี้” เหมา หนิง โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวในการแถลงตามปกติของกระทารวงเมื่อวันพฤหัสดี (30 มี.ค.) ที่ผ่านมา “ระบบเหล่านี้ยังจะช่วยอำนวยความสะดวกทำให้เกิดการค้าและการลงทุนระดับทวิภาคีเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/eng/xwfw_665399/s2510_665401/2511_665403/202303/t20230330_11051853.html)
ปีที่แล้วการค้าทวิภาคีจีน-บราซิล มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาจากปีก่อนหน้า 4.9% มาอยู่ที่ระดับ 171,490 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ตามตัวเลขของรัฐบาลจีน โดยที่การส่งออกของจีนไปบราซิล ซึ่งที่สำคัญคือพวกเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ เหล็กกล้า สิ่งทอ และรถยนต์ พุ่งขึ้น 15.7% มาอยู่ที่ 61,970 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าของจีนจากบราซิล ซึ่งรายการสำคัญๆ คือ สินแร่เหล็ก ถั่วเหลือง น้ำมันดิบ และเยื่อกระดาษ ลดลง 0.4% มาอยู่ที่ 109,520 ล้านดอลลาร์
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/web/gjhdq_676201/gj_676203/nmz_680924/1206_680974/sbgx_680978/)
เวทีประชุมด้านธุรกิจและข้อตกลงทางธุรกิจ
ในตอนแรก ประธานาธิบดีลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา วางแผนจะไปเยือนจีนระหว่างวันที่ 26 ถึง 31 มีนาคม ทว่าไม่สามารถทำได้เนื่องจากเหตุผลทางสุขภาพ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพุธ (29 มี.ค.) นักธุรกิจชาวบราซิลและชาวจีนมากกว่า 500 คน ยังคงเดินหน้าเข้าร่วมเวทีประชุมทางธุรกิจซึ่งจัดขึ้นมาที่กรุงปักกิ่งตามกำหนดการเดิม
รัฐมนตรีต่างประเทศของบราซิล กล่าวในคำแถลงว่า บริษัทจากทั้งสองประเทศได้บรรลุข้อตกลงต่างๆ มากกว่า 20 ฉบับแล้วในภาคส่วนต่างๆ กัน ทั้งทางด้านพลังงาน เหมืองแร่ การเกษตร และเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารโทรคมนาคม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gov.br/mre/en/contact-us/press-area/press-releases/brazil-china-economic-seminar)
ทางด้าน จู หมิน (Zhu Min) รองประธานของศูนย์จีนเพื่อการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (China Center for International Economic Exchanges) กล่าวกับไชน่าเดลี่ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของทางการจีน ระหว่างเข้าร่วมการประชุมประจำปีซึ่งทางการจีนจัดขึ้นที่มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) โดยใช้ชื่อว่า “เวทีประชุมโป๋อ่าวเพื่อเอเชีย” (Boao Forum for Asia) ว่า มีประเทศต่างๆ จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แสดงความปรารถนาที่จะใช้เหรินหมินปี้เพื่อการชำระบัญชีและการชำระเงิน ซึ่งนี่ถือเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการแห่งการทำให้เงินหยวนกลายเป็นสกุลเงินตราสากล
เขาบอกว่า การที่สหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการแซงก์ชันทางการเงินเอากับรัสเซียตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว กลายเป็นการสั่นคลอนความเชื่อมั่นของผู้คนในสกุลเงินดอลลาร์ และทำให้สกุลเงินตราอื่นๆ ถูกนำมาใช้ในระดับโลกกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงเหรินหมินปี้ด้วย
ทั้งนี้ตามข้อมูลที่เผยแพร่โดย SWIFT ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ การชำระเงินด้วยสกุลเหรินหมินปี้มีมูลค่าคิดเป็น 2.19% ของการชำระเงินทั่วโลกในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สูงขึ้นจากระดับ 1.91% ในเดือนมกราคม ติดอันดับที่ 5 ในบรรดาสกุลเงินตราสำคัญๆ มาเป็นเดือนที่ 13 ต่อเนื่องกัน
การแซงก์ชันเล่นงานรัสเซีย
ตั้งแต่ที่กองทหารรัสเซียเริ่มต้นการรุกรานยูเครนอย่างเต็มขั้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้บังคับใช้มาตรการแซงก์ชันรัสเซียมาแล้วหลายรอบ โดยมีทั้งการคว่ำบาตรพวกเจ้าหน้าที่ นายทุนทรงอิทธิพลทางการเมือง (oligarchs) ธนาคาร และแบงก์ชาติของแดนหมีขาว
ปักกิ่งนั้นปฏิเสธที่จะยินยอมตามสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า การแซงก์ชันตามอำเภอใจฝ่ายเดียวโดยปราศจากการมอบอำนาจให้กระทำจากสหประชาชาติ สื่อรัฐของจีนระบุในเดือนมีนาคมปีที่แล้วว่า การค้าทวิภาคีระหว่างจีนกับรัสเซียจะเติบโตขยายตัวต่อไปโดยมีการใช้ระบบ CIPS เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ต่อมาในวันที่ 21 มีนาคมปีนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้ลงนามในปฏิญญาร่วมที่ประกาศเพิ่มพูนความผูกพันกันทั้งทางการทูตและทางเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะส่งเสริมการชำระบัญชีด้านการเงินด้วยสกุลเงินตราของพวกเขาเอง
จาง เฉา (Zhang Chao) นักวิจัยผู้หนึ่งที่สถาบันไทเป (Taipei Institute) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองแห่งหนึ่งที่ตั้งฐานอยู่ในปักกิ่ง บอกกับสื่อเนชั่นแนล บิสซิเนส เดลี่ (National Business Daily) ว่า ข้อตกลงที่จีนทำกับบราซิลครั้งนี้ถือเป็นหลักหมายสำคัญสำหรับการทำให้เงินหยวนกลายเป็นเงินตราระดับสากล
“กระบวนการทำให้เงินหยวนกลายเป็นเงินตราสากล มีขั้นตอน 3 ขั้นตอนด้วยกัน ประการแรกคือ การที่เหรินหมินปี้ถูกนำไปใช้กันทั่วโลกในการค้าระหว่างประเทศขนาดเล็กๆ จากนั้นก็คือการถูกนำไปใช้ในการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ และสุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงเหรินหมินปี้ให้เข้าสู่การเป็นสกุลเงินเพื่อการเป็นทุนสำรอง” จางอธิบาย “ด้วยข้อตกลงที่ทำกับบราซิล เวลานี้เราก็บรรลุขั้นที่สองอย่างสมบูรณ์แล้ว”
เขาบอกว่า ประเทศจำนวนมากสูญเสียความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์ สืบเนื่องจากการที่สหรัฐฯ แซงก์ชันเล่นงานรัสเซีย ตลอดจนวิกฤตภาคการธนาคารของสหรัฐฯ และยุโรปซึ่งเกิดขึ้นมาเมื่อเร็วๆ นี้ เขาบอกด้วยว่า จีนกำลังซื้อน้ำมันดิบในอ่าวเปอร์เซียด้วยเงินเหรินหมินปี้ แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นประเทศใด
ด้าน เนชั่นแนล บิสซิเนส เดลี่ รายงานว่า จีนกำลังค้าขายกับอิรัก และปากีถสาน โดยใช้เงินเหรินหมินปี้ มีสื่อจีนระบุเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า จีนกำลังซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่าน ซึ่งตกเป็นเป้าหมายถูกสหรัฐฯ แซงก์ชันมาตั้งแต่ปี 2018 โดยที่มีรัฐมนตรีอิหร่านผู้หนึ่งกล่าวเอาไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ว่า “ส่วนที่แน่นอนส่วนหนึ่งในการค้าที่อิหร่านทำกับจีนนั้น กำลังกระทำการแลกเปลี่ยนกันด้วยเงินเหรินหมินปี้”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.silkroadbriefing.com/news/2023/02/21/iran-increasing-use-of-chinas-rmb-yuan-in-international-trade/)
ก่อนหน้านี้ จีนได้เสนอที่จะชำระค่าน้ำมันซาอุดีอาระเบียเป็นเงินเหรินหมินปี้ ทว่าการเจรจาหารือในเรื่องนี้ยังคงคืบหน้าไปด้วยความล่าช้า
มีโพสต์ทางออนไลน์เมื่อวันที่ 16 มีนาคมอ้างว่า ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านได้เห็นชอบที่จะชำระบัญชีการซื้อขายน้ำมันกับจีนในสกุลเหรินหมินปี้แล้ว แต่ต่อมาสื่อจีนรายงานว่าข่าวนี้เป็นข่าวปลอม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.163.com/dy/article/HVVLB2RP053518R1.html)
ความคล่องตัวในการแปลงเหรินหมินปี้เป็นเงินสกุลอื่นๆ
หนังสือพิมพ์จีนส่วนใหญ่รายงานในวันศุกร์ (31 มี.ค.) ว่า ข้อตกลงระหว่างจีน-บราซิล จะเป็นการตีกระหน่ำอย่างรุนแรงใส่ฐานะการเป็นเจ้าครอบงำตลาดของเงินดอลลาร์สหรัฐ กระนั้นก็มีสื่อบางรายชี้ว่า จะยังใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่พวกผู้ส่งออกชาวบราซิลจะมีความปรารถนามากยิ่งขึ้นที่จะรับค่าสินค้าเป็นเงินหยวน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://finance.caixin.com/2023-03-31/102014258.html)
พวกนักวิเคราะห์บอกว่า บรรดาผู้ขายทรัพยากรธรรมชาติส่วนใหญ่ยังคงปรารถนาที่จะได้รับเงินในสกุลดอลลาร์และยูโร แทนที่จะเป็นเหรินหมินปี้ ซึ่งยังคงมีปัญหาขาดแคลนเครื่องมือสำหรับการนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราสกุลอื่นๆ และสำหรับการนำไปลงทุน ถึงแม้พวกเขากล่าวว่ามีบางบริษัทเลือกที่จะรับเป็นเงินเหรินหมินปี้ เมื่อพวกเขาต้องการที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ของจีน อย่างเช่นพวกเครื่องจักรและรถยนต์
ทางด้านตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้แถลงตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วว่า เพื่อให้ผู้ถือเงินเหรินหมินปี้มีเครื่องมือสำหรับการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ทางตลาดจะจัดโมเดลเคาน์เตอร์คู่เงินดอลลาร์ฮ่องกง-เงินเหรินหมินปี้ ซึ่งจะเปิดทางให้ผู้ถือเงินเหรินหมินปี้สามารถซื้อหุ้นฮ่องกงได้โดยตรง จวบจนถึงเวลานี้มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดฮ่องกง 7 แห่งยื่นแสดงความจำนงที่จะให้ซื้อขายหุ้นของพวกตนเป็นเงินหยวนได้ ทว่าโปรแกรมนี้ก็ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการกันจริงๆ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.hkex.com.hk/News/News-Release/2022/221213news?sc_lang=en และ https://finance.sina.com.cn/jjxw/2023-03-29/doc-imynnfvw5244426.shtml)