xs
xsm
sm
md
lg

ซาอุดีอาระเบียจับมือรัสเซีย และจีนล้มเปโตรดอลลาร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทนง ขันทอง

ไม่เพียงแต่และจีนและรัสเซียเท่านั้นที่จับมือกันแน่นเพื่อล้มเปโตรดอลลาร์ แต่ซาอุดีอาระเบียก็กระโดดเข้ามาร่วมวงด้วยอย่างเต็มตัว

ในวันอาทิตย์ (2 เมษายน ) ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศโอเปกพลัส ซึ่งมีซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียเป็นแกนนำ ตกลงที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีก 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อที่จะก่อสงครามน้ำมันกับสหรัฐฯ และยุโรป เพราะว่าเมื่อซัปพลายน้ำมันลดลง ราคาจะสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้การจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อของตะวันตกยากมากยิ่งขึ้น

เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น ธนาคารกลางของสหรัฐฯ และยุโรปต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่ถ้าขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ระบบธนาคาร และระบบเศรษฐกิจจะพังเร็วขึ้น เข้าทำนองหนีเสือปะจระเข้

การลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวันของโอเปกพลัสในครั้งนี้กระทำต่อเนื่องกับการประกาศลดกำลังการผลิตในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะมีผลไปถึงสิ้นปี 2023 นี้ ทำให้การลดกำลังการผลิตโดยรวม 3 ล้านกว่าบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากโอเปกพลัสตั้งเป้าหมายที่จะเห็นราคาน้ำมันที่ $100 ต่อบาร์เรลเป็นอย่างต่ำ จากที่เคยตั้งเป้าหมาย $135 ก่อนหน้านี้ แต่ว่าราคาน้ำมันไปไม่ถึงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ดีมานด์ลดไปด้วย

แน่นอนเลยทีเดียวที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดนของสหรัฐฯ นั่งก้นร้อนที่ทำเนียบขาว เพราะว่าในปีที่แล้วเขาเดินทางไปยังซาอุดีอาระเบียเพื่อขอร้องแกมบังคับให้ซาอุฯ เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐฯ แต่เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารของราชวงศ์ซาอุฯ ไม่ยอมก้มหัวให้สหรัฐฯ เหมือนในอดีต เนื่องจากได้ต่อสายสร้างสัมพันธ์กับรัสเซียและจีนอย่างแนบแน่นเพื่อถ่วงดุลมหาอำนาจ และปลดแอกการเป็นบริวารประเทศของสหรัฐฯ

ไบเดนต้องกลับบ้านมือเปล่าอย่างหัวเสีย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้

ที่ผ่านมาซาอุดีอาระเบีย และประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางต้องคอยอุ้มเปโตรดอลลาร์ ด้วยการขายน้ำมันเป็นเงินสกุลดอลลาร์เท่านั้น ทำให้ดอลลาร์เป็นเงินรีเสิร์ฟของโลก เพราะว่าทุกประเทศต้องสำรองดอลลาร์เพื่อซื้อน้ำมัน ทำให้มีดีมานด์สำหรับดอลลาร์ ทำให้สหรัฐฯ สามารถพิมพ์ดอลลาร์ออกมาใช้จ่ายเกินตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟแนนซ์งบประมาณการทหารเกือบ $1ล้านล้านต่อปีเพื่อที่จะรักษาความเป็นอำนาจโลกขั้วเดียว

ซาอุฯ ได้เปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจ การต่างประเทศ และความมั่นคงโดยสิ้นเชิง โดยได้ตกลงที่จะขายน้ำมันเป็นเงินสกุลหยวนของจีน เพื่อออกจากกับดักของระบบดอลลาร์ เพราะซาอุฯ เกรงว่า สักวันหนึ่งอาจจะถูกแซงชั่นทรัพย์สินเงินทองเหมือนอย่างที่รัสเซียถูกสหรัฐฯ และยุโรปแซงชั่นทางการเงิน

นอกจากจะไม่เพิ่มกำลังการผลิตแล้วตามแรงกดดันของสหรัฐฯ ซาอุฯ ยังจับมือกับรัสเซียเพื่อลดกำลังการผลิตอีก เพื่อเดินเกมรุก โดยมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่าทำลายเปโตรดอลลาร์ และระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไปพร้อมๆ กัน

ซาอุฯ ภายใต้วิสัยทัศน์ของเจ้าชายซัลมานได้สมัครเป็นประเทศคู่เจรจาขององค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization) ซึ่งมีจีนและรัสเซียเป็นแกนนำในด้านความร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง จะบอกว่าองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้มีลักษณะคล้ายกับองค์กรความร่วมมือทางทหารของนาโตของยุโรปที่มีสหรัฐฯ เป็นหัวหอกก็ว่าได้ ซึ่งจะเป็นแนวทางต่อไปข้างหน้าขององค์กรแห่งนี้ที่ในปัจจุบันมีสมาชิกคือจีน อินเดีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ปากีสถาน รัสเซีย ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน

เท่านั้นยังไม่พอ ซาอุดิอาระเบีย และอีกหลายประเทศได้สมัครการเป็นสมาชิกของกลุ่มบริกส์ ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้เพื่อสร้างระเบียบเศรษฐกิจ และระเบียบการเงินโลกใหม่ที่ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของดอลลาร์อีกต่อไป

กลุ่มบริกส์จะประชุมซัมมิตในเดือนสิงหาคมนี้ โดยแอฟริกาใต้จะเป็นเจ้าภาพ วาระที่สำคัญมี 3 เรื่องคือการรับสมัครสมาชิกใหม่ โดยที่ตุรกี เม็กซิโก อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา ซาอุดีอาระเบีย ยูเออี อียิปต์แสดงความสนใจที่จะสมัครเป็นสมาชิกของบริกส์ ประเทศแอฟริกาอื่นๆ ก็ให้ความสนใจด้วย
 
เรื่องที่สองคือการตกลงกันที่จะค้าขาย หรือทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเงินสกุลของประเทศในกลุ่ม เพื่อที่จะออกจากระบบระบบดอลลาร์ หรือยูโร ในประเด็นนี้ เราได้เห็นจีนและรัสเซียค้าขายกันเองด้วยเงินหยวนและรูเบิล บราซิลและจีนเพิ่มประกาศว่าจะค้าขายด้วยกันด้วยเงินเรียลและเงินหยวน ซาอุฯ และกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางตกลงที่จะขายน้ำมันเป็นเงินหยวนเพิ่มมากขึ้น อินเดียและรัสเซียจะค้าขายกันด้วยเงินสกุลตัวเอง อินเดียและจีนก็มีข้อตกลงที่จะค้าขายด้วยเงินสกุลตัวเองแล้ว

เรื่องที่สาม คือกลุ่มบริกส์จะสร้างเงินสกุลร่วม (common currency) เพื่อค้าขายกันเอง โดยจะอิงกับตะกร้าเงินที่ประกอบด้วยเงินเรียล เงินรูเบิล เงินรูปี เงินหยวน และเงินแรนด์ ถ้าจะสร้างเงินสกุลร่วมจริง คงต้องใช้เวลา และต้องสร้างสถาบันการเงินที่จะทำหน้าที่คล้ายกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศเพื่อดูแลเงินสกุลร่วม ซึ่งอาจจะเป็นเงินรีเสิร์ฟแทนดอลลาร์ได้ในอนาคต

หลังจากที่ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียประกาศว่า รัสเซียจะใช้เงินหยวนเป็นหลักในการค้าขายกับเอเชีย แอฟริกาและละตินอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ทางการเงินร่วมกันกับจีนในการสร้างทั้งเปโตรหยวน และให้หยวนเป็นเงินสกุลที่สำคัญของโลก ข่าวนี้ได้สร้างความหวั่นวิตกให้สหรัฐฯ เป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าการจับมือกันระหว่างรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของโลก และจีน ซึ่งเป็นผู้ค้ารายใหญ่ที่สุดของโลกเพื่ออกจากระบบดอลลาร์ต้องส่งผลกระทบต่อฐานะการเป็นเงินรีเสิร์ฟของดอลลาร์ที่อยู่ได้ด้วยการสร้างหนี้ไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอน

ยิ่งมีซาอุฯ ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกเข้ามาร่วมขย่มเปโตรดอลลาร์อีก มีแนวโน้มสูงที่ความสำคัญของการเป็นเงินรีเสิร์ฟของดอลลาร์จะลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อดอลลาร์ไม่ได้เป็นรีเสิร์ฟ ไม่มีใครต้องการถือครองดอลลาร์เหมือนเดิม เพราะว่ามีทางเลือกอื่น สหรัฐฯ จะไม่สามารถก่อหนี้ได้เกินตัวอีกต่อไป เพราะว่าถ้าพิมพ์เงินเพิ่มเพื่อช่วยในการก่อหนี้เงินเฟ้อในระดับไฮเปอร์จะถามหา จนทำให้เศรษฐกิจพัง ไม่สามารถรักษาการเป็นมหาอำนาจโลกได้อีกต่อไป


สื่อกระแสหลักของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น CNN และ FOX News ต่างให้ความสำคัญกับความไม่แน่นอนอนาคตของดอลลาร์ในฐานะเงินสกุลหลักของโลก ซึ่งตามปกติแล้ว จะไม่ให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวร้ายในลักษณะนี้

สัปดาห์ที่ผ่านมา Fareed Zakaria พิธีกรของ CNN รายงานว่า ดอลลาร์สหรัฐกำลังเผชิญกับความท้าทาย หลังจากที่ประธานาธิบดีปูตินประกาศว่า รัสเซียจะใช้เงินหยวนในการค้าขายกับเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา

จีน และรัสเซีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่อันดับสองของโลก และผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลกตามลำดับ กำลังจับมือกันเพื่อที่จะโค่นล้มอิทธิพลของดอลลาร์ แต่จะทำสำเร็จหรือไม่

ที่ผ่านมา ดอลลาร์เป็นส่วนสำคัญของการเป็นมหาอำนาจโลกของสหรัฐฯ โดยที่สหรัฐฯ ไม่มีประเทศใดเทียบเคียงได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง และเศรษฐกิจ สหรัฐฯ สามารถใช้ดอลลาร์แซงชั่นประเทศใดก็ได้ บีบประเทศใดให้ออกจากระบบดอลลาร์ก็ได้ นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังใช้จ่ายได้อย่างเสรี โดยที่ประเทศต่างๆ พร้อมที่จะซื้อหนี้ หรือพันธบัตรสหรัฐฯ

แต่ปัญหายูเครน และนโยบายเผชิญหน้าจีนของสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับPerfect Storm ในเวลานี้ รัสเซียและจีนได้จับมือกันเพื่อที่จะทิ้งดอลลาร์ ประเทศอื่นๆ ก็กำลังเข้าร่วมวงเป็นพันธมิตรด้วย

ในเวลาไล่เลี่ยกัน Monica Crowley อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ในรายการ Fox News ว่า รัสเซียหันหลังให้ดอลลาร์ ไปใช้หยวนในการทำการค้า ซาอุดีอาระเบียจะใช้หยวนเหมือนกันในการขายน้ำมัน ถ้าหากซาอุฯ อิหร่าน รัสเซีย และจีนจับมือกันแน่น จะกลายเป็นพันธมิตรที่น่าเกรงขาม รวมทั้งกลุ่มบริกส์ที่กำลังขยับขยายเพิ่มบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก

ถ้าหากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่มีดอลลาร์เป็นเงินรีเสิร์ฟของโลกต่อไป โดยหันไปใช้หยวนมากยิ่งขึ้นจะเกิดหายนะทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก โดยผูกค่ากับทองคำ แต่ประธานาธิบดีนิกสันยกเลิกระบบมาตรฐานทองคำในปี 1971 ทำให้ดอลลาร์ไม่มีทรัพย์สินอะไรหนุนหลัง ตั้งแต่นั้นมา ถือกันว่าดอลลาร์หนุนโดยความเข้มแข็ง และพลังทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

แต่ที่สำคัญ การซื้อขายน้ำมันของโลกใช้เงินดอลลาร์เป็นหลักทั้งนั้น ทำให้ดอลลาร์ยังคงเป็นเงินสกุลหลักของโลกต่อไป

ดอลลาร์ถือว่าเป็นเงินสกุลที่มีสิทธิพิเศษ เพราะว่าสหรัฐฯ สามารถพิมพ์ออกมาใช้เองเพื่อซื้อสินค้าโดยตรงได้จากทั่วโลก แต่สหรัฐฯ กลับไปละเมิดสิทธิพิเศษนั้นเสียเอง ด้วยการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ไม่รับผิดชอบ มีการพิมพ์เงินออกมามากมาย และรัฐบาลก็ใช้จ่ายเกินตัวผ่านงบประมาณขาดดุลมหาศาล

ทำให้ตอนนี้สหรัฐฯ เจอกับ Perfect Storm ไล่ตั้งแต่โจ ไบเดนคัดค้านการขุดเจาะน้ำมัน เกิดสงครามยูเครน จีนกำลังสร้างแนวร่วมทางเศรษฐกิจใหม่ ซาอุดีอาระเบียเตรียมเข้าพันธมิตรใหม่นี้ และจะขายน้ำมันเป็นเงินหยวน

ถ้าหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ สหรัฐฯ จะเจอวิกฤตเศรษฐกิจ ดอลลาร์จะอ่อนค่า และจะเกิดเงินเฟ้อรุนแรง ระดับ Weimar Republic และจะทำให้สหรัฐฯ สูญเสียความเป็นมหาอำนาจโลก ต่างจากในอดีตที่การเป็นเงินสกุลหลักของโลก ทำให้สหรัฐฯ สามารถบริโภคซื้อสินค้าได้ราคาถูก และทำให้เศรษฐกิจมีเงินเฟ้อที่ต่ำ เพราะว่าดอลลาร์มีความแข็งแกร่ง

แต่ให้ระวังทางการอาจจะออก CBDC เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเงินก็ได้ แต่นั่นก็จะหมายถึงการสิ้นสุดเสรีภาพของประชาชน เพราะว่ารัฐบาลสามารถสอดส่องการทำธุรกรรมทุกอย่างของเราผ่าน CBDC


กำลังโหลดความคิดเห็น