xs
xsm
sm
md
lg

ต้อนรับ 'สี' เยือนมอสโก!.รัสเซียแซงหน้าซาอุฯ กลายเป็นผู้จัดหาน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัสเซียแซงหน้าซาอุดีอาระเบีย กลายเป็นผู้จัดหาน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2023 จากข้อมูลของรัฐบาลจีน ในขณะที่บรรดาผู้ซื้อของปักกิ่งฉวยโอกาสซื้อน้ำมันดิบที่ถูกคว่ำบาตรของรัสเซีย ในราคาปรับลดลงเป็นอย่างมาก

ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีน เมื่อวันจันทร์ (20 มี.ค.) พบว่าน้ำมันนำเข้าจากรัสเซียโดยรวมอยู่ที่ 15.68 ล้านตันในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ หรือ 1.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 23.8% จากระดับ 1.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน ของช่วงเวลาเดียวกันของปี 2022

เมื่อปีที่แล้ว รัสเซียเป็นชาติผู้จัดหาน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของจีน ส่งมอบน้ำมันแก่ปักกิ่งทั้งสิ้น 86.2 ล้านตัน

ตัวเลขนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบีย โดยรวมอยู่ที่ 13.92 ล้านตันในช่วง 2 เดือนแรก เทียบเท่ากับ 1.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากระดับ 1.81 ล้านบาร์เรลต่อวันของช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ซาอุดีอาระเบียเป็นชาติผู้จัดหาน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของจีน ในปี 2022 โดยตลอดทั้งปี ได้ขายน้ำมันดิบแก่ปักกิ่งทั้งสิ้น 87.49 ล้านบาร์เรล หรือเทียบเท่ากับ 1.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน

มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกและมาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียที่ส่งมอบทางทะเล ตามหลังมอสโกยกพลรุกรานยูเครน ได้จำกัดวงกลุ่มผู้ซื้อน้ำมันดิบรัสเซีย ทำให้มอสโกปรับลดราคาน้ำมันดิบของพวกเขาลงอย่างมาก

บรรดาโรงกลั่นอิสระของจีนจำนวนมากตั้งอยู่ในมณฑลซานตง เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ได้รับผลประโยชน์รายใหญ่จากการเปลี่ยนไปของอำนาจในการกำหนดราคาครั้งนี้

น้ำมันดิบ ESPO ของรัสเซียที่ถูกลำเลียงมาถึงท่าเรือต่างๆ ของมณฑลซานตงในเดือนกุมภาพันธ์ ถูกจัดซื้อในเดือนมกราคม ในราคาที่ปรับลดลงราว 8 ดอลลาร์ เมื่อเทียบเคียงกับระดับราคาของสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ แต่การฉวยโอกาสซื้อน้ำมันราคาถูก โดนกัดเซาะไปบางส่วนจากความเคลื่อนไหวของบรรดาโรงกลั่นเอกชนของอินเดียที่ไหลบ่าเข้าตลาดน้ำมันดิบ ESPO เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ด้วยที่อุปสงค์เชื้อเพลิงภายในประเทศดีดตัวสูงขึ้น ตามหลังจีนยกเลิกข้อจำกัดสกัดโควิด-19 ทางซีโนเปก รัฐวิสาหกิจพลังงาน และเปโตรไชนาได้กลับมาหวนซื้อน้ำมันดิบเกรดอูราล ของรัสเซียอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากระงับซื้อไปในช่วงปลายปี 2022 ไม่นานก่อนมาตรการคว่ำบาตรของอียูที่กำหนดกับน้ำมันรัสเซียเริ่มมีผลบังคับใช้

บรรดาโรงกลั่นของจีนใช้ผู้ค้าตัวกลางบริหารจัดการส่งขนส่งและรับประกันภัยน้ำมันดิบรัสเซีย เพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก

ข้อมูลศุลกากรจีน พบว่า ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบจากมาเลเซียอยู่ที่ 0.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเวลาดังกล่าว เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 144.2 % ทั้งนี้ที่ผ่านมา บ่อยครั้งที่มาเลเซียถูกใช้เป็นจุดกลางสำหรับการส่งต่อสินค้าที่ถูกคว่ำบาตรจากอิหร่าน และเวเนซุเอลา

(ที่มา : อัลจาซีราห์)


กำลังโหลดความคิดเห็น