ญี่ปุ่นกลับมานำเข้าน้ำมันรัสเซียอีกครั้ง หลังจากหยุดไปนาน 8 เดือน ตามข้อมูลของ S&P Global Platts ผู้ให้บริการข้อมูลด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ อ้างอิงข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น
จากข้อมูลเบื้องต้นในด้านการนำเข้าน้ำมันดิบที่เผยแพร่โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พบว่า ในเดือนมกราคม ญี่ปุ่นรับน้ำมันดิบจากโครงการน้ำมันและก๊าซ Sakhalin-2 ในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย 747,706 บาร์เรล การส่งมอบดำเนินการโดยไทโย ออยล์ ของญี่ปุ่น ซึ่งทางโฆษกบอกว่าสินค้าดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของปริมาณน้ำมันดิบที่เหลืออยู่ภายใต้สัญญา 2022
ความเคลื่อนไหวในเดือนมกราคม ถือเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีก่อน โดยตอนนี้ตัวเลขการนำเข้าอยู่ที่แค่ราวๆ 650,00 บาร์เรล
ปลายปีที่แล้ว ญี่ปุ่นเข้าร่วมกับตะวันตกในการกำหนดเพดานราคาน้ำมันนำเข้าจากรัสเซีย ส่วนหนึ่งในความร่วมมือพยายามกัดเซาะรายได้จากน้ำมันของรัสเซีย ที่มีสหรัฐฯ พันธมิตรยาวนานของญี่ปุ่นเป็นหัวหอกและได้รับการสนับสนุนจากจี7 อียู และออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม โตเกียวได้รับการยกเว้นไม่ต้องจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบที่นำเข้าผ่านโครงการ Sakhalin-2 เนื่องจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศตกอยู่ในความเสี่ยง
นอกเหนือจากน้ำมันแล้ว โครงการ Sakhalin-2 ยังป้อนก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แก่ญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนราว 9% ของตัวเลขการนำเข้าแอลเอ็นจีทั้งหมดของญี่ปุ่น และคิดเป็นสัดส่วน 3% ของอุปทานพลังงาน
เมื่อเดือนที่แล้ว ซูนิชิ ไคโตะ ประธานสมาคมปิโตรเลียมของญี่ปุ่น เผยว่าประเทศของเขาอาจต้องกลับมานำเข้าน้ำมันจากโครงการนี้อีกครั้ง หากว่าพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นเพื่อรับประกันอุปทานแอลเอ็นจีจะไม่หยุดชะงัก จากข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจ โครงการ Sakhalin-2 อาจทั้งหยุดผลิตและเปลี่ยนสถานะก๊าซเป็นของเหลว หากว่าคลังสำรองน้ำมันของโครงการล้นความจุ ซึ่งมันอาจเกิดขึ้นได้หากว่ามีการระงับการส่งออก อันนำมาซึ่งน้ำมันดิบไม่ได้ถูกส่งออกไป
อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่โตเกียวละเว้นจากการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบของโครงการ Sakhalin-2 อาจไม่ได้มีปัจจัยแห่งความกังวลทางเทคนิคเพียงอย่างเดียว เนื่องจากหลังมีการบังคับใช้มาตรการกำหนดเพดานราคา เจ้าหน้าที่รัสเซียส่งเสียงเตือนประเทศต่างๆ ที่บังคับใช้มาตรการนี้ว่า อาจพบตัวเองถูกตัดขาดจากน้ำมันรัสเซียด้วยเช่นกัน
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)