ราคาน้ำมันฟื้นคืนในวันพฤหัสบดี (23 ก.พ.) หลังคาดหมายรัสเซียลดการส่งออกอย่างมากในเดือนหน้า แม้มีความกังวลทางอุปทานจากคลังปิโตรเลียมสำรองสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกินคาด ส่วนทองคำขยับลงจากดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่วอลล์สตรีทปิดบวก ได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของอเมริกา
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 1.44 ดอลลาร์ ปิดที่ 75.39 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 1.61 ดอลลาร์ ปิดที่ 82.21 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
หลังจากขยับลงมากกว่า 2 ดอลลาร์ 1 วันก่อนหน้านี้ เบื้องต้นตลาดน้ำมันตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเพิ่มเติม หลังข้อมูลรัฐบาลสหรัฐฯ พบว่าคลังน้ำมันดิบสำรองของประเทศเพิ่มขึ้น 7.6 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นับป็นการเพิ่มขึ้น 9 สัปดาห์ติด ก่อความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วตลาดก็แกว่งตัวขึ้น ได้ปัจจัยหนุนจากความกังวลทางอุปทาน จากกรณีที่รัสเซียมีแผนลดการส่งออกน้ำมันจากท่าเรือต่างๆ ทางภาคตะวันตกของประเทศ สูงสุด 25% ในเดือนมีนาคม เกินกว่าที่เคยประกาศว่าจะลดกำลังผลิต 500,000 บาร์เรลต่อวัน
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน หลังรายงานการประชุม (minutes) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เผยว่าบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าด้วยความเสี่ยงเงินเฟ้อระดับสูง จึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป
การแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้ราคาน้ำมันมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ซื้อถือครองสกุลเงินอื่นๆ และปัจจัยนี้เองที่ฉุดให้ราคาทองคำในวันพฤหัสบดี (23 ก.พ.) ปรับลดแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 เดือน โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 14.70 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,826.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซื้อขายผันผวน ก่อนปิดบวกในวันพฤหัสบดี (23 ก.พ.) สืบเนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของอเมริกาเมื่อเร็วๆ นี้ แม้นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 108.82 จุด (0.33 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 33,153.91 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 21.27 จุด (0.53 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,012.32 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 83.33 จุด (0.72 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 11,590.40 จุด
วอลล์สตรีทซื้อขายผันผวน ท่ามกลางข้อมูลบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและความเห็นแข็งกร้าวของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ในตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของรัฐบาล คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหรัฐฯ (จีดีพี) เติบโต 2.7% ในไตรมาส 4 ใกล้เคียงกับที่พวกนักวิเคราะห์คาดหมายว่าจะขยายตัวราวๆ 2.9%
(ที่มา : รอยเตอร์/มาร์เก็ตวอตช์)