xs
xsm
sm
md
lg

หายนะการเงินอเมริกา อภิมหาแชร์ลูกโซ่ จุดจบโลกขั้วเดี่ยว จุดเริ่มต้นโลกหลายขั้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิ” ชี้ธนาคาร SVB-ครดิตสวิส ล้ม ไม่ใช่แค่วิกฤติชั่วคราว แต่สะท้อนปัญหารากลึกในระบบการเงินสหรัฐฯ และยุโรป เผยผลศึกษามีธนาคารในอเมริกาอีก 186 แห่งเสี่ยงล้มตาม ซ้ำเติมด้วยวิกฤติหนี้สาธารณะที่พุ่งถึง 31 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1 พันล้านล้านบาท จนรัฐบาลโจ ไบเดนต้องขอขยายเพดานหนี้ต่อสภา หากไม่ผ่านอาจต้องผิดนัดชำระหนี้ และขาดงบประมาณใช้จ่าย สภาพไม่ต่างจากแชร์ลูกโซ่ขนาดมหึมาที่ต้องหาเงินก้อนใหม่เข้ามาเพื่อจ่ายหนี้เก่า ส่งผลให้หนี้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เสื่อมมนต์ขลัง ชาติขนาดใหญ่แห่ลดถือครอง ท้ายที่สุดวิกฤติการเงินครั้งนี้ จะเป็นระเบิดเวลานำไปสู่ความล่มสลายของการครอบงำระบบเศรษฐกิจโลกของรัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านเงินดอลลาร์



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงวิกฤตการเงินการคลังในสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมก็คือการล่มสลายของธนาคารหลายแห่งในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น SVB หรือ Silicon Valley Bank, Signature Bank และ First Republic Bank รวมไปถึงวิกฤตธนาคารในยุโรป คือการล้มลงของเครดิตสวิส (Credit Suisse) ธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ และติดอันดับ Top30 ของโลก

ผู้เชี่ยวชาญการเงินการธนาคารและการคลังบ้านเราบางคนมองว่าวิกฤตนี้เป็นวิกฤตชั่วคราว เป็นเรื่องปกติของเศรษฐกิจทุนนิยม เป็นวงจรของระบบเศรษฐกิจ เดี๋ยวก็กลับไปเหมือนเดิม แต่ในความเป็นจริงวิกฤตธนาคารการล้มครั้งนี้ล้วนมีความเกี่ยวพันกับวิกฤตทางการเงินการคลัง ก่อให้เกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจการเงินไปทั่วโลก รวมทั้งตลาดการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย เชื่อมโยงถึงสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่เข้มข้นขึ้นทุกที


นายสนธิ กล่าวว่า ตนได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้ว เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีมิติลึกล้ำมากกว่าแค่เรื่องเศรษฐกิจ โยงไปถึงเรื่องโรคระบาด สถานการณ์สงครามในยูเครน การปะทะกันระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก อเมริกากับจีน ตะวันออกกลาง อินเดีย เกมการเมืองระหว่างประเทศ การเปลี่ยนดุลอำนาจของโลก อาจจะรวมไปถึงการรีเซ็ตระบบการเงินของโลกอีกต่างหาก

การล่มสลายของธนาคาร SVB

ธนาคาร SVB หรือ Silicon Valley Bank เป็นธนาคารพาณิชย์มีอายุ 39 ปี ตั้งเมื่อปี 2526 (1983) เน้นการลงทุนเพื่อปล่อยกู้ให้กับบรรดาบริษัทต่างๆ อันประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ


ชื่อก็บอกแล้ว ว่า ซิลิคอน วัลเลย์ ซึ่งหมายถึงพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย ทางฝั่งตะวันตกของอเมริกา แถบซานฟรานซิสโก ซานโฮเซ เบย์แอเรีย ซานตาคลาร่า และพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของบริษัทไฮเทค บริษัทซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีชั้นสูงต่างๆ ในสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่มาตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น Apple, Facebook, Google, Adobe, Netflix, Twitter, ซิสโก, Intel และอื่นๆ อีก รวมไปถึงบริษัทสตาร์ทอัพจำนวนมาก เพราะที่นี่เป็นศูนย์รวมทางการเงิน และแหล่งทุน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรบุคคล คอนเนกชัน โอกาสต่างๆ ที่เอื้ออำนวยให้กับบริษัทที่เกิดใหม่ไว้ในที่เดียว ด้วยสภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว

ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ จึงมีภารกิจมุ่งเป้าในการให้บริการทางการเงิน ในรูปแบบต่างๆ ให้กับบริษัทไฮเทค บริษัทเทคโนโลยี บริษัทสตาร์ทอัพทั้งหลายเป็นหลัก ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะขยายสาขาไปทั่วอเมริกา และอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่บริษัทไฮเทคเหล่านี้ขยายสาขาไปเปิด มีทั้งที่แคนาดา อังกฤษ ยุโรป อิสราเอล จีน ฮ่องกง อินเดีย เป็นต้น

เกิดอะไรขึ้นกับ ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ ในช่วงที่ผ่านมา

1.ช่วงวิกฤตโควิด-19 ผู้คนไม่สามารถเดินทางได้ ออฟฟิศให้ Work From Home ประชุมออนไลน์ โรงเรียนปิด เด็กๆ เรียนออนไลน์ ทุกคนอยู่บ้านก็เปิดคอมพิวเตอร์ ใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต บริการต่างๆ ด้านเทคโนโลยีกันอย่างหนักหน่วง ในช่วงนี้เอง บริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายต่างเติบโตกันอย่างก้าวกระโดดตามสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่น การประชุมออนไลน์ ชอปปิ้งออนไลน์ แอปฯ ส่งของ อาหารทั้งหลาย โปรแกรมการออกกำลังกาย บริการออนไลน์ในหลายรูปแบบ บริษัทที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ต่างต้องขยายกิจการเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว


2.ภายใต้สถานการณ์นี้ นักลงทุนที่มีเงิน คือพวก Venture Capital หรือ ธุรกิจร่วมลงทุนทั้งหลาย เมื่อเห็นว่าธุรกิจดั้งเดิม หรือธุรกิจปกติ ประสบปัญหาอย่างหนักจากการปิดล้อม ชัตดาวน์ต่างๆ ด้วยโรคระบาด ไม่สามารถดำเนินธุรกิจไปได้ตามปกติ ทุกคนก็เฮโลเทเงินทุนไปที่บริษัทไฮเทค บริษัทเทคโนโลยี และบริษัทสตาร์ทอัพกันใหญ่ เงินเหล่านี้จำนวนมากก็ไหลเข้ามาสู่สถาบันการเงิน อย่างเช่น ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯ ระดับภูมิภาค ขนาดใกล้เคียงกับอเมริกันเอ็กซ์เพรส (American Express) ที่ใหญ่อันดับ 16 ของอเมริกา ถ้าวัดจากมูลค่าทรัพย์สินที่มีอยู่ ก็ประมาณ 212,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7.23 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปีกว่า 3 ปี ที่มีวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด เงินฝากในธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว จากปี 2562 ก่อนที่จะมีโควิดมา ซิลิคอน วัลเลย์ มียอดเงินฝากอยู่ 65,000 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 2.2 ล้านล้านบาท

ต้นปี 2565 (2022) เงินฝากในเพิ่มขึ้นมาเกือบ 3 เท่า กลายเป็น 198,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 6.75 ล้านล้านบาท


ยิ่งไปกว่านั้น การอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลของรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มาถึงยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในวิกฤตโรคระบาด คิดเป็นเงินมากมายมหาศาล กว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 170 ล้านล้านบาท ยังทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างหนักในระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ การอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล นอกจากจะก่อปัญหาให้เกิดภาระเงินเฟ้อแล้ว ยังเป็นภาระทางการคลังอย่างมหาศาลด้วย

3.เมื่อมีเงินฝากไหลเข้ามามากขึ้นกว่าปกติ ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ จะเอาเงินกระจายไปลงทุนต่อที่ไหน เก็บเงินอยู่ในแบงก์เฉยๆ ไม่ได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่าย ค่าดอกเบี้ย โน่นนี่นั่น ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ก็เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่ทำหน้าที่รับฝากเงิน และให้กู้ยืมเงิน โดยเป็นตัวกลางที่รับเงินออมจากผู้มีเงินออมในภาคส่วนต่างๆ มาให้ผู้ที่ต้องการกู้ยืม เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค หรือเพื่อการลงทุน โดยธนาคาร SVB มีรายได้ส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้ และดอกเบี้ยเงินฝาก


ตามปกติแล้วเวลามีคนมาฝากเงิน ธนาคารก็จะเอาเงินดังกล่าวไปปล่อยกู้ ธนาคารจะได้ผลตอบแทนจากส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก อย่างไรก็ตาม หลังจากหักเงินสดสำรอง และเผื่อผู้ฝากขอถอนเงินออกไปแล้ว ธนาคารจะนำเงินส่วนที่เหลือไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกา เพื่อสร้างผลตอบแทน จะไม่ถือส่วนที่เป็นสภาพคล่องส่วนเกินไว้เป็นเงินสด พอมีเงินเหลือก็เอาไปซื้อพันธบัตรเลย

พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มี 2 แบบ ระยะสั้น และ ระยะยาว ที่เรียกว่า Long-term Government Bond รวมไปถึงตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง ก็คือ Mortgage-Backed Securities มีหลักฐานในการกู้ยืมเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัย แล้วก็ออกมาเป็นตราสารหนี้ โดยที่มีการกู้ยืมเงินเป็นตัวค้ำประกัน นี่เองที่ทำให้ธนาคาร ซิลิคอน วัลเลย์ เข้าไปซื้อเพื่อสร้างผลตอบแทน ที่ก่อให้เกิดปัญหาจนกระทั่งเข้ามาสู่ยุควิกฤต

ทำไม SVB ขาดสภาพคล่อง จนเจ๊งภายใน 48 ชั่วโมง

ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อแกัปัญหาเงินเฟ้อจากการอัดฉีดเงิน แจกเงินเข้าไปในระบบมากๆ ในช่วงหลายปีที่เกิดวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ก็จำเป็นต้องจัดการกับสถานการณ์เงินเฟ้อ เพราะว่าเงินเฟ้อมันสูงมาก โดยการเพิ่มดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว จาก 0.25 เปอร์เซ็นต์ ที่เคยเป็นดอกเบี้ย กลายเป็น 4.75 เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลาไม่ถึงปี ดอกเบี้ยจาก 0.25 กลายเป็น 4.75 เปอร์เซ็นต์ เป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปี ใครก็ตามที่กู้เงิน ผ่อนบ้าน เจอดอกแบบนี้ไป จุกอกหมด กระอักออกมาเป็นเลือดเป็นลิ่มๆ เลย


การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ถืออยู่นั้น ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ทั้งนั้น หาก ธ.ซิลิคอน วัลเลย์ ไม่ต้องการใช้เงิน ไม่ได้มีคนฝากเงินมาถอนเงินพร้อม ๆ กันจำนวนมาก ๆ การถือพันธบัตรที่ราคาปรับตัวลงไว้เฉยๆ ก็คงไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาอะไร

4.ภายหลังวิกฤตการแพร่ระบาดโควิดคลี่คลายลง โดยเฉพาะตั้งแต่ปีที่แล้ว (ปี 2565) เป็นต้นมา การขยายตัวอย่างรวดเร็วเกินไปของบริษัทเทคโนโลยี และสตาร์ทอัพต่างๆ ก็เกิดการชะลอตัวลงอย่างกะทันหัน ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้าง นี่คืออีกหนึ่งสาเหตุ บริษัทไฮเทคเลิกจ้างคนเป็นแสน น Facebook เลิกจ้างคนไป 10,000 กว่าคน Amazon เกือบ 10,000 คน Twitter 4,000 คน Google 12,000 คน และยังมีอีกเยอะแยะไปหมด

ปีที่แล้วอุตสาหกรรมไฮเทคมีการปลดพนักงานไปแล้วกว่า 100,000 คน เมื่อบริษัทเทคโนโลยี บริษัทสตาร์ทอัพ ต่างเริ่มขาดสภาพคล่อง ก็ต้องปลดคนงานเป็นแสนๆ คน ต้องจ่ายค่าชดเชย พนักงานที่มีเงินฝากในแบงก์ ออมทรัพย์เก็บเอาไว้ เมื่อตัวเองตกงานก็ต้องถอนเงินออก เพราะตกงาน

ประกอบกับเงินระดมทุนใหม่ก็หดหายไป เพราะว่าไม่มีใครสนใจจะเพิ่มทุนให้ ก็เลยต้องไปกู้เงินเพื่อมาโปะเป็นค่าใช้จ่าย พอลูกค้าเริ่มถอนเงินฝาก ซึ่งกลุ่มแรกที่ถอนเงินก่อนเพื่อนก็คือกลุ่มคนที่ตกงาน มีเงินฝากอยู่ในแบงก์ก็ถอนออกมา ทำให้ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ สภาพคล่องลดลง ต้องเอาพันธบัตรที่มีอายุเฉลี่ย 3 ปีกว่าๆ ที่มีอยู่ เอาออกมาขาย พันธบัตรซื้อมาถือเอาไว้ ได้ดอกเบี้ยไม่มาก แต่เงินขาดสภาพคล่อง ก็เลยต้องเอาพันธบัตรมาเทขาย ทำให้เกิดภาวะการรับรู้การขาดทุน

ภาวะการขาดทุนเกิดขึ้นถึง 1,800 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 61,000 ล้านบาท พอข่าวรั่วออกไปว่าธนาคารขาดทุน ก็เป็นผีซ้ำด้ำพลอย คนแห่ไปถอนเงินมากขึ้น แม้ธนาคาร SVB จะมีการประกาศเพิ่มทุนเพิ่มเติม ก็เอาไม่อยู่ ทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงอย่างรวดเร็ว คนตกใจ ขายหุ้น แห่ถอนเงิน จนเกิดการขาดสภาพคล่อง


เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก คือในระยะเวลา 2-3 วัน หรือ 48 ชั่วโมง คือวันพุธที่ 8 มีนาคม ถึงวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2566 ธนาคาร SVB ก็เลยอยู่ในภาวะล้มละลาย จนในที่สุด สถาบันเงินฝากอเมริกา (FDIC) จึงต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ จนทำให้ SVB ต้องปิดตัวลง

การประกาศปิดตัวลงของธนาคาร SVB และสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 2 แห่ง รวมเป็น 3 แห่ง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ เป็นข่าวใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการที่ FED หรือ ธนาคารกลางอเมริกา ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความล่มสลายของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพในอเมริกา

ที่สำคัญ ถือเป็นความล้มเหลวของธนาคารสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 ที่บริษัทอย่างมอร์แกนสแตนลีย์ (Morgan Stanley) เจ๊งที่นิวยอร์ก
·
“มูดี้ส์” ปรับลดความน่าเชื่อถือ ระบบธนาคารสหรัฐฯ เป็นลบ - 186 แบงก์เสี่ยงล้ม

วันที่ 14 มีนาคม 2566 จากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนาคารสหรัฐฯ มูดีส์ ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับทั่วโลก ออกมาปรับลดแนวโน้มสำหรับภาคการธนาคารของสหรัฐฯ ทั้งหมด และกำลังทบทวนการปรับลดอันดับเครดิตธนาคารสหรัฐฯ 6 แห่ง หลังจากการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์


สถาบันการจัดอันดับมูดีส์ ให้เหตุผลว่า ปัญหาการขาดสภาพคล่องของธนาคารหลายแห่ง ทั้ง 3 แห่ง ที่ได้ล่มลง กำลังนำไปสู่ความเสี่ยงบน "ระบบธนาคารสหรัฐฯ" ไม่ใช่เฉพาะ 4 แบงก์เท่านั้น แต่ระบบธนาคารสหรัฐฯ ทั้งหมด ไม่ใช่ธนาคารใดธนาคารหนึ่ง

มูดีส์ ระบุต่อว่า บริษัทได้ปรับความน่าเชื่อถือของระบบธนาคารสหรัฐฯ จาก "มั่นคง" (Stable) กลายเป็น "ลบ" (Negative) เพื่อให้สะท้อนมุมมองที่เห็นถึงการเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วของระบบเงินฝากในระบบธนาคารสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ด้วยว่าธนาคารจำนวนมากถูกกดดันหลังจากการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารที่มีเงินฝากที่ไม่มีหลักประกันจำนวนมาก และพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ที่ธนาคารต่างๆ พากันซื้อและมีมูลค่าลดลง เพราะเมื่อใดก็ตามที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย ผลตอบแทนกับพันธบัตรระยะยาวก็จะตกลงมาทันที ขาดทุนทันทีเลย โดยระบุว่า ปัจจัยสำคัญคือ แรงกดดันต่อภาคการธนาคารจากการที่เฟดยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ยังมีธนาคารอีกกี่แห่งที่อาจจะตกอยู่ในสภาวะเดียวกันกับ 3 ธนาคารสหรัฐฯ ที่ล้มไปแล้ว

คำตอบฟังแล้วขนลุก มีธนาคารที่อาจจะตกอยู่ในความเสี่ยงว่าจะขาดสภาพคล่องเช่นเดียวกับ 3 ธนาคารที่ล้มไปแล้ว ถึง 186 แห่ง ในอเมริกา

มีการศึกษาชิ้นหนึ่ง เรียกว่า Monetary Tightening and U.S. Bank Fragility ปี 2023 : Mark-to-Market Losses and Uninsured Depositor Runs? งานวิจัยนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในเครือข่ายการศึกษาและวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ เมื่อวันที่ 13 มีนาคมนี้ เอง

โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา อย่างเช่น Kellogg School of Management จาก Northwestern University ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนที่เก่งๆ ในประเทศไทย ก็จบมาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ มาจาก University of Southern California, Columbia University และมาจาก Stanford University


เนื้อหาการศึกษาชิ้นนี้มี 21 หน้า สรุปได้ว่า จากกรณีศึกษาของความล้มเหลวของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ยังพบว่ามีธนาคารอีก 186 แห่ง ที่อาจจะล้มลงได้ หากครึ่งหนึ่งของคนฝากเงินของธนาคารเหล่านั้นแห่กันไปถอนเงินอย่างกะทันหัน

นักวิจัยได้จำลองสถานการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากเกิดเหตุการณ์ BANK RUN หรือสถานการณ์ที่คนแห่ไปถอนเงิน สรุปได้ว่า สถาบันประกันเงินฝากจะไม่เหลือเงินไปคืนผู้ฝากอีกต่อไป

คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าสถาบันเงินฝากสหรัฐฯ จู่ๆ หมดเงิน ไม่มีเงินไปคืนผู้ฝาก ผู้ฝากจะทำอย่างไร ?

คำตอบคือ ระบบการเงินของสหรัฐฯ จะตกอยู่ในวิกฤตครั้งใหม่ ครั้งใหญ่ด้วย ใหญ่ที่สุด จะสูญเสียความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือ จนยากที่จะกอบกู้คืนมา

จากข้อมูลที่อัปเดตเมื่อปี 2565 ระบุว่า กองทุนประกันเงินฝากของ FDIC นั้น มีเงินอยู่แค่ 128,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 4.36 ล้านล้านบาท แต่ระบบธนาคารในอเมริกาที่มีเงินฝากรวมๆ อยู่มาก 17 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 580 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ จากการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญพบว่า ถ้าจะให้เพียงพอจริงๆ รัฐบาลอเมริกาต้องอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบธนาคารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นผ่าน Bank Term Funding Program เพื่อปกป้องสถาบันการเงินต่างๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของธนาคาร 3 แห่ง โดยต้องอัดเงินเข้าไปมากกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 68 ล้านล้านบาท

คำถามที่น่าสนใจว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะเอาเงินที่ไหน และสถานการณ์การคลังอเมริกาในปัจจุบันเป็นอย่างไร

วิกฤตหนี้ 1 พันล้านล้าน ฤาเศรษฐกิจสหรัฐฯ คืออภิมหาแชร์ลูกโซ่

เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา นอกจากประเด็นเรื่องวาระครบรอบ 1 ปี การบุกเข้าทำสงครามใหญ่ในยูเครนของรัสเซียแล้ว ในอเมริกามีข่าวใหญ่เกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามองอย่างมาก คือประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะ ภาษาอังกฤษเรียกว่า National Debt-Ceiling

ปัญหาดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจอเมริกากำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤต คือ ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว ตัวเลขหนี้สาธารณะของอเมริกานั้นพุ่งสูงขึ้นถึง 30 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินบาทก็เกือบ 1,000 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และเป็นระดับที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ถึง 1.3 เท่า GDP อเมริกาตอนนี้อยู่ที่ 23 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 760 ล้านล้านบาท

ทั้งหมดนี้ส่งให้อเมริกาเข้าไปอยู่ในระดับต้นๆ ของรายชื่อประเทศที่มีภาระหนี้สินหนักที่สุดแล้ว ตามรายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ

ในความเป็นจริงแล้วหนี้สาธารณะของอเมริกาปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะมาตรการการรับมือการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่รวมไปจนถึงการอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อเร่งอัตราการขยายตัวของประเทศ

ข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ชี้ว่า สิ้นปี 2562 หนี้สาธารณะของประเทศก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 อยู่ที่ 22.7 ล้านล้านดอลลาร์ 2563 ปีเดียว เพิ่มขึ้นมาเป็น 27.7 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มอีก 5 ล้านล้านดอลลาร์ ปี 2564 เพิ่มอีก 30 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็นราวๆ 1,000 ล้านล้านบาท


ต่อมาในวันที่ 3 ตุลาคม ปีที่แล้ว กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็ออกมายอมรับว่าหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นไปแตะที่ตัวเลข 31.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 1,075 ล้านล้านบาท อย่างรวดเร็ว

หนี้สาธารณะ 31.1 ล้านล้านดอลลาร์ เท่ากับ 1,075 ล้านล้านบาท สูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ซึ่งอยู่ที่ 25 ล้านล้านดอลลาร์ กลายเป็นมีสัดส่วน 123 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ทั้งปี ของอเมริกา

ยิ่งไปกว่านั้น หนี้สาธารณะ 31.1 ล้านล้านดอลลาร์ มีมูลค่ามากกว่าระบบเศรษฐกิจของชาติยักษ์ใหญ่ของโลก 4 ชาติ รองๆ ลงมา คือ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และ อังกฤษ รวมกันแล้วหนี้ของ 4 ประเทศนี้ยังไม่เท่ากับหนี้ของประเทศอเมริกา

ลองคำนวณจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของประเทศไทยในปี 2565 ทั้งปีเราอยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท จะพบว่าถ้าเอา GDP ของไทยไปชำระหนี้ดังกล่าวของอเมริกา ต้องใช้เวลายาวนานถึง 60 ปีทีเดียว

เรื่องหนี้สาธารณะอเมริกาที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุดลงนี้ ก่อปัญหาอย่างไร ? หนักหนาสาหัสแค่ไหนต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองสหรัฐฯ ?

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นายโจ ไบเดน ได้แถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภา ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นการแถลงนโยบายประจำปีครั้งแรกของสภาคองเกรสสมัยที่ 2 ที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ซึ่งการที่พรรครีพับลิกันเป็นฝ่ายค้าน มีเสียงมากกว่า เป็นการยากที่รัฐบาลพรรคเดโมแครตจะผลักดันกฎหมายต่างๆ หรือกล่าวได้ว่า จะต้องออกแรงและใช้ความพยายามมากขึ้นกว่าเก่าหลายเท่าตัว

ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่นายโจ ไบเดน พูดถึงและถูกจับตาอย่างมาก คือ นายโจ ไบเดน พยายามขยายเพดานหนี้สาธารณะให้ทะลุตัวเลข 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ ไปอีก ขู่ด้วยว่าถ้าไม่มีการขยายเพดานหนี้สาธารณะดังกล่าว เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะประสบความหายนะอย่างร้ายแรง

ร้ายแรงอย่างไร ?

อังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ (อดีตประธานเฟด) ออกมาเปิดเผยโดยยอมรับว่า รัฐบาลอเมริกาได้กู้เงินจนชนเพดานหนี้ที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ แล้ว เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงการคลังก็รู้ว่า ก็ขู่ออกมาเลยว่าถ้าสภาคองเกรสไม่อนุมัติการขยายเพดานหนี้สาธารณะเพื่อให้สามารถกู้ยืมเงินเพิ่มได้ รัฐบาลอาจจะไม่มีปัญญาหาเงินมาชำระหนี้เดิมได้ ซึ่งหมายความว่าจะมีการผิดนัดการชำระหนี้ ที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Default ซึ่งอเมริกาพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

ในระยะยาวการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ จะเพิ่มต้นทุนในการกู้ยืมต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต การลงทุน รวมไปจนถึงการลงทุนสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นในโครงสร้างพื้นฐาน หรืออื่นๆ จะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น


นางเจเน็ต เยลเลน ได้กล่าวมา และระบุต่อไปอีกว่า ในส่วนของผลกระทบทางการเงินต่อครัวเรือน ดอกเบี้ยกู้ยืม ไม่ว่าจะเป็นการกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ สินเชื่อส่วนบุคคล หรือบัตรเครดิต ก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน และนั่นจะเป็นการบ่อนเซาะตลาดสินเชื่อในภาพรวมของอเมริกา

ที่สำคัญที่สุดคือการไม่เพิ่มเพดานหนี้สาธารณะให้มากกว่า 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ ดังกล่าว จะทำให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ไม่มีเงินไปจ่ายค่าสวัสดิการต่างๆ ให้ชาวอเมริกันนับล้าน รวมทั้งครอบครัวทหาร และผู้สูงอายุ ที่ต้องพึ่งพาระบบประกันสังคม หรือที่เขาเรียกว่า Social Security

นางเยลเลน ยังระบุว่า จากเงื่อนไขด้านงบประมาณ Dead line การเพิ่มเพดานหนี้ดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรของอเมริกานั้น จะอยู่ในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้เอง คือในเดือนมิถุนายน 2566

ประเด็นเรื่องนี้อยู่ที่ไหน ?
นักวิเคราะห์ฝรั่งหลายคนเมื่อวิเคราะห์สถานการณ์และฟังคำพูดล่าสุดของนายโจ ไบเดน และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีฯ คลังสหรัฐฯ แล้ว เขาบอกว่า จริงๆ แล้วเศรษฐกิจสหรัฐฯ วันนี้ไม่ได้ต่างจากแชร์ลูกโซ่ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Ponzi scheme แต่อย่างใด


ทำไมถึงเหมือนแชร์ลูกโซ่ ? ประเด็นคือ โดยธรรมชาติของแชร์ลูกโซ่คือการที่ไม่ได้ทำธุรกิจ สร้างผลิตผล หรือผลิตภาพใดๆ เพื่อหารายได้มาโปะกับรายจ่ายจริงๆ แต่เป็นการเร่หาเงินลงทุนก้อนใหม่เข้ามาเพื่อจ่ายเงินลงทุนก้อนเก่า ก็เหมือนแชร์ลูกโซ่ที่หลอกมาก่อนหน้านี้ โดยหากไม่สามารถหาเงินลงทุนมาได้ เครือข่ายแชร์ลูกโซ่นั้นๆ ต้องประสบกับความล่มสลาย หรือหายนะ ในที่สุด

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานการณ์การเป็นเจ้าโลกทั้งทางเศรษฐกิจ ทางทหาร อเมริกาไม่เคยต้องกลัวที่จะต้องหาเงินลงทุนใหม่เข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือพิมพ์เงินดอลลาร์เพื่อจ่ายหนี้คืน เพราะพันธบัตรสหรัฐฯ และเงินดอลลาร์สหรัฐ ถูกหนุนหลังโดยระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่โตและทรงอิทธิพลที่สุดในโลก อเมริกาเปรียบตัวเองเหมือนเป็นเจ้าโลก ตำรวจโลก มีความน่าเชื่อถือที่สุด จะทำอะไรก็ได้ จะบีบบังคับให้การซื้อขายน้ำมัน ก๊าซ พลังงาน ของทุกๆ ประเทศบนโลกนี้ ก็ใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ก็ทำได้ แต่วันนี้ เมื่อเหตุการณ์ สถานการณ์ เวลาผ่านไป สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว วันนี้จะทำกันง่ายๆ เหมือนสมัยก่อนไม่ได้แล้ว

ก่อนหน้านี้ ปี 2554 วันที่ 5 สิงหาคม 11 ปีก่อน รัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา พยายามเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะให้ทะลุเพดาน 14.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้บริษัทจัดเรตติ้งเอสแอนด์พี ลดเกรดความน่าเชื่อถือของพันธบัตรของอเมริกาลงจาก AAA เหลือเพียงแค่ AA+ มาแล้วครั้งหนึ่ง


เมื่อมองทอดสายตาไปในอนาคตแล้ว จะเห็นว่าประเทศอเมริกา การเมืองสหรัฐฯ สังคมสหรัฐฯ เศรษฐกิจสหรัฐฯ และในอีกหลายมิติ จะไม่มีทางกลับไปครองโลกอย่างเบ็ดเสร็จเหมือนเดิมอีกต่อไป โดยที่น่ากลัวที่สุดคือ แนวโน้มเรื่องหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ จะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ตัวอย่าง จากงบประมาณรายรับ-รายจ่ายของอเมริกาในปีที่แล้ว (2565) พบว่าขาดดุลงบประมาณอยู่ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 49 ล้านล้านบาท ปี 2565 รัฐบาลอเมริกาเก็บภาษีได้ 4.9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 177 ล้านล้านบาท แต่มีรายจ่าย 6.3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือมีส่วนต่าง คือขาดทุนงบดุลไป 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 49 ล้านล้านบาท ซึ่งถ้าเปรียบประเทศอเมริกาเป็นครอบครัว ก็ใช้จ่ายเกินตัวไปอย่างมากมายมหาศาล

สำหรับการขาดดุลของงบประมาณในปี 2566 ของอเมริกา นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ผ่านมา 6 เดือน งบประมาณขาดดุลทะลุถึง 722,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 24.5 ล้านล้านบาท

จากการขาดดุลงบประมาณ หรือกล่าวง่ายๆ ว่าใช้จ่ายเกินตัว มีรายจ่ายมากกว่ารายได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้มีการคาดการณ์ว่า อีก 20-30 ปีข้างหน้า อเมริกาจะหนีไม่พ้น ต้องแบกหนี้สินที่มีสัดส่วนต่อผลผลิตมวลรวม หรือ GDP 200 เปอร์เซ็นต์ เศรษฐกิจของอเมริกาจะตกอันดับจากการเป็นเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลก โดยพ่ายแพ้ต่อจีน หรือแม้กระทั่งต่ออินเดีย

ในเมื่อ ณ วันนี้ อเมริกาใช้จ่ายเงินเกินตัว รายได้ไม่พอกับรายจ่ายแล้ว ก็หนีไม่พ้นต้องกู้หนี้กู้สิน ยืมมาโปะ นั่นคือการออกพันธบัตรของสหรัฐฯ นั่นเอง


พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เสื่อมมนต์ขลัง ชาติขนาดใหญ่แห่ลดถือครอง

พันธบัตรรัฐบาลอเมริกา หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า US Treasury Bond ซึ่งจริงๆ ก็คือกระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้นเอง เป็นสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ พิมพ์ขึ้นมาเพื่อหาเงินมาโปะเรื่องการขาดดุลงบประมาณ ใครอยากจะลงทุนเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยตามกำหนด ตามแต่ระยะเวลาของพันธบัตร ก็ซื้อไป เพราะว่าแต่ไหนแต่ไรมาก็เชื่อมั่นกันว่าพันธบัตรอเมริกานั้นไม่มีทางจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ (Default)

แต่เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ว่ายุคไหน สมัยไหน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคเดโมแครต หรือรีพับลิกัน ต่างใช้จ่ายเกินตัว ก่อหนี้ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้เกิดความเสี่ยงว่าจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นดังเช่นความเกรงกลัวที่สภาคองเกรสอาจจะไม่เห็นชอบให้ขยายเพดานหนี้สาธารณะขึ้นไปเกิน 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 1,085 ล้านล้านบาท อีกแล้ว

เหตุปัจจัยนี้เองที่ทำให้หลายประเทศหวั่นเกรงว่ากระดาษที่ตัวเองซื้อไว้จะไม่มีค่า หลายประเทศก็เลยลดยอดการถือครองลง ที่ถือไว้ครบกำหนดก็ขายออก ที่สำคัญ ขายออกแล้วไม่ซื้อเพิ่มอีกแล้ว ส่งผลให้วงจรแชร์ลูกโซ่ที่อเมริกาเป็นเจ้ามือ ไม่สามารถเอาเงินใหม่มาจ่ายเงินเก่าได้อีกต่อไป

คล้ายๆ แชร์แม่ชม้อยไหม คล้ายๆ แชร์แม่มณีไหม คล้ายๆ แชร์ลูกโซ่ต่างๆ ไหม ที่โดนจับข้อหาฉ้อโกงประชาชน คำถามคือ แล้วใครจะไปจับประเทศอเมริกาข้อหาฉ้อโกงประเทศที่ซื้อพันธบัตรอเมริกาได้

เมื่อปีที่แล้ว นายโทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษช่วงปี 2540-2550 ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาประจำปีของมูลนิธิแห่งหนึ่ง ชื่อ Ditchley Foundation ที่อ็อกซ์ฟอร์ดเชียร์ ประเทศอังกฤษ ยอมรับว่า โลกที่เคยถูกครอบงำทางการเมือง เศรษฐกิจ โดยฝ่ายตะวันตกนั้น อาจจะก้าวไปสู่จุดจบในเวลาไม่นานไม่ช้านับจากนี้


รัฐบาลชาติใหญ่ๆ ที่เคยซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากเห็นว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ตอนนี้ได้ทยอยขายพันธบัตรสหรัฐฯ ทิ้งมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติที่ถือพันธบัตรอันดับ 1 อันดับ 2 คือ ญี่ปุ่น อันดับ 1 จีน อันดับ 2 ขนาดญี่ปุ่นเป็นทาสในเรือนเบี้ยของอเมริกา ก็ยังไม่ไว้ใจพันธบัตรอเมริกา ยังขายทิ้งเลย ส่วนจีนต้องการขายทิ้งมานานแล้ว จีนลดจากยอดที่ถือพันธบัตร ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงมาเรื่อยๆ

นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 ที่จีนถือครองพันธบัตรอเมริกาอยู่เพียง 9 แสนกว่าล้านดอลลาร์ ผ่านมา 7 เดือน ยอด 9 แสนกว่าล้านดอลลาร์ เหลือ 8 แสนกว่าเท่านั้น เช่นเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่น นับจากปลายปี 2564-2565 ลดการถือครองพันธบัตรอเมริกาลง 2 แสนกว่าล้านดอลลาร์ จาก 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ เหลือเพียง 1.076 ล้านล้านดอลลาร์ แม้จะมีบางประเทศรองๆ ลงไปจะถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็เพียงเล็กน้อย ไม่สามารถจะชดเชยส่วนที่หายไปจากญี่ปุ่นและจีนได้




เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ถ้าเรามองไปในอนาคต มองต่อไปข้างหน้าอีก 10 ปี 20 ปี ยังมองไม่เห็นเลยว่า พันธบัตรสหรัฐฯ ยังจะซื้อง่ายขายคล่องเหมือนวันนี้ได้อย่างไร รวมทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐ จะมีสถานภาพอย่างไร ถ้าวันนั้นมาถึงจริงๆ ระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาพรวมก็คงไม่ได้แตกต่างไปกว่าแชร์ลูกโซ่ขนาดมหึมาในจักรวาลเท่าไรนัก

สหรัฐฯ การเงินพัง การคลังล้มเหลว จุดจบของโลกขั้วเดียว จุดเริ่มต้นของโลกหลายขั้ว

วิกฤตทางการเงิน วิกฤตทางการคลัง ที่รุมเร้าสหรัฐฯ อยู่นั้น ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่ใช่เรื่องชั่วคราว แต่เป็นประเด็นร้ายแรง เป็นประเด็นคอขาดบาดตายที่สามารถทำให้เราทำนายอนาคตของอเมริกาได้ล่วงหน้า

วิกฤตธนาคารล้ม วิกฤตความเชื่อมั่น ที่นำไปสู่วิกฤตการเงิน วิกฤตเศรษฐกิจ ที่กำลังรุมเร้าสหรัฐฯ อยู่นั้น มันร้ายแรงแค่ไหน ถึงขั้นที่ โจ ไบเดน ต้องออกมาเรียกร้องให้ชาวอเมริกันเชื่อมั่นในระบบธนาคารหลังออกมาตรการปกป้องเงินฝาก

ในเวลาใกล้เคียงกัน ไม่เพียงแต่ระบบธนาคารในอเมริกาเท่านั้น จะตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงและง่อนแง่น สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่ทั่วโลกมีความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน เอาเงินฝาก ทั้งเงินฝากถูกกฎหมาย ไม่ถูกกฎหมาย เงินทุนสีดำ สีเทา เงินคอร์รัปชัน เงินอภิมหาเศรษฐีของชาวตะวันออกกลางที่รวยจากน้ำมัน ก็เอามาฝากที่สวิตเซอร์แลนด์หมด เพราะอะไร ? เพราะความเชื่อมั่นและศรัทธา Trust และ Confidence แต่ในที่สุดสวิตเซอร์แลนด์ก็ตกอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงง่อนแง่น ธนาคารยักษ์ใหญ่อย่างเครดิต สวิส อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ อันดับ Top30 ของโลก ก็ยังพบจุดจบ

ประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์แถลงข่าวร่วมกับกรรมการผู้จัดการธนาคาร UBS และ เครดิต สวิส ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ว่าธนาคารชาติสวิตเซอร์แลนด์ บอกว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้คือหนทางที่ดีที่สุดในการฟื้นความมั่นใจที่สูญหายไปในตลาดเงิน และว่า หากเครดิต สวิส ล้มลง จะส่งผลกระทบที่ไม่สามารถคาดคำนวณได้ต่อประะเทศและเสถียรภาพการเงินของโลก


คงไม่มีใครคาดฝันว่าวันหนึ่งจะได้ข่าวว่าธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์ล้มละลาย นี่เป็นครั้งแรก วันนี้มันเกิดขึ้นจริง เกิดขึ้นแล้ว ล้มไปแล้ว

สาเหตุสำคัญคือ
1.ความผิดพลาดในการลงทุน ทำให้ขาดทุนในตราสารอนุพันธ์ต่างๆ อย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรของอเมริกา
2.เรื่องอื้อฉาว คือขาดธรรมาภิบาลในการบริหารการลงทุนในหลายโครงการ
3.อีกประเด็นที่สำคัญมาก เมื่อเกิดสงครามในยูเครน รัฐบาลตะวันตกสั่งให้สถาบันการเงินต่างๆ ในความควบคุมของตัวเอง ยึดเงินทุนสำรองของรัสเซียไปเป็นมูลค่า 3 แสนกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ ยึดทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรัสเซียไป 3 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์ ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุน อสังหาริมทรัพย์ บ้าน อพาร์ตเมนต์ เรือยอชต์ เครื่องบิน

การยึดครั้งนี้ ธนาคารเครดิต สวิส ซึ่งเคยมีสถานภาพเป็นกลางทางการเมือง หรือเป็นแหล่งพักทรัพย์สินที่ปลอดภัยที่สุด เป็นหัวโจกในการเข้ามาร่วมยึดกับเขาด้วย พอเครดิต สวิส เข้ามาร่วมวงกับชาติตะวันตก ไปยึดทรัพย์สินของรัสเซีย และชาวรัสเซีย ไปเป็นแสนๆ ล้านดอลลาร์ ก่อให้เกิดความสูญเสียความเชื่อมั่นในความเป็นกลางของสถาบันการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ อย่าง เครดิต สวิส


จากข้อมูลหลายแหล่งที่ทราบมา รัฐบาล องค์กร มหาเศรษฐี สถาบันต่างๆ จากประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง พอสวิตเซอร์แลนด์ยึดเงินของรัสเซียไป ก็รีบไปถอนเงินออกจากเครดิต สวิส ว่ากันว่าทำให้สภาพคล่องของเครดิต สวิส สูญหายไป 2 แสนล้านดอลลาร์ เกือบ 7 ล้านล้านบาท

วิกฤตการเงินในอเมริกา และยุโรป ที่เริ่มลุกลามเข้ามาสู่แอกชันล่าสุดของบรรดาธนาคารกลางของชาติตะวันตกทั้งหลาย คือการปรับธุรกรรมสวอปไลน์เงินสกุลดอลลาร์

วิกฤติลามระบบการเงินตะวันตก กระทบความเชื่อมั่นเงินดอลลาร์

วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2566 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศความร่วมมือกับธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบการเงินผ่านการปรับธุรกรรมสวอปเงินสกุลดอลลาร์

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากข้อตกลงที่ทางการสวิสเป็นนายหน้า ให้ธนาคาร UBS ซื้อธนาคารคู่แข่งของเครดิต สวิส เพื่อป้องกันการล่มสลายอย่างไม่เป็นระเบียบ และส่งสัญญาณไปถึงความกังวลที่ธนาคารกลางมีต่อความวุ่นวายในระบบการเงินเมื่อเร็วๆ นี้


การร่วมมือครั้งนี้มีขึ้นเพื่อเป็นการให้การสนับสนุนที่สำคัญเพื่อบรรเทาความตึงเครียดของตลาดการเงินทั่วโลก เพื่อลดผลกระทบต่อการจัดหาสินเชื่อให้กับภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ภายใต้ความร่วมมือนี้ ธนาคารที่ต้องการจะหาเงินกู้ จะสามารถไปที่ธนาคารชาติของตัวเอง เข้าร่วมโครงการนี้เพื่อขอเงินกู้โดยตรง ซึ่งลักษณะการให้กู้ยืมจะเป็นเช่นเดียวกับในประเทศทั้งหมด โดยธนาคารสามารถเข้าสู่แหล่งเงินกู้นี้ได้ทุกวัน

การประกาศมาตรการความร่วมมือเพื่อเสริมสภาพคล่องในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างธนาคารกลางที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ชี้่ให้เห็นว่า วิกฤตเกี่ยวกับการเงินในสถาบันการเงินตะวันตกทั้งระบบลามไปถึงความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ถูกสหรัฐฯ ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการควบคุม แบล็กเมล ทำสงครามเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ซึ่งสุดท้ายแล้ว ภาพใหญ่วิกฤตทางการเงินและความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถาบันการเงินในโลกตะวันตก และเงินดอลลาร์สหรัฐ ครั้งนี้ จะเป็นระเบิดเวลานำไปสู่ความล่มสลายของการครอบงำระบบเศรษฐกิจโลกของรัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านเงินดอลลาร์สหรัฐนั่นเอง

อีกประการหนึ่ง รัฐบาลที่เข้ามาร่วม 6 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา ยุโรป รบกับรัสเซีย ส่งอาวุธให้ยูเครน เศรษฐกิจยุโรปพังทลายพินาศฉิบหาย วินาศสันตะโร อเมริกาเกิดวิกฤตทางการเงิน ข้าวของที่แพง ประชาชนไม่มีเงินใช้ อสังหาริมทรัพย์ใกล้จะล่มสลายแล้วตอนนี้ เพราะว่าดอกเบี้ยนโยบายมันขึ้นสูงจนกระทั่งคนกู้เงินไปซื้อบ้าน ไม่มีปัญญาจะกู้

ทั้งหมดนี้เกิดจากสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ซึ่งตะวันตก นำโดยอเมริกา เป็นคนหนุนหลัง แล้วก็ทุ่มเงินให้ยูเครน ส่งอาวุธให้ยูเครน

คำถามมีอยู่ว่า เริ่มมีคนพูดกันมากขึ้นแล้วในอเมริกาว่า ยูเครนมันไม่ได้มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของอเมริกา ประชาชนชาวอเมริกามีความสำคัญมากกว่า เสียงเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ คนประท้วงในยุโรป ในกรีซ ในสเปน ในฝรั่งเศส ในหลายๆ ประเทศ ในเยอรมนี ออกมาประท้วงสงครามกัน เพราะว่าทุกคนยากลำบากกับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นจากสงครามของรัสเซียกับยูเครน คำถามมีอยู่ว่า นายเซเลนสกี ซึ่งเป็นตัวตลก และเป็นหุ่นเชิดทางตะวันตกและของอเมริกา จะยืนอยู่ได้นานแค่ไหน


นายเซเลนสกี เป็นวณิพกของโลก ขอทานเขาไปทั่ว ขอเงินเขา ขออาวุธเขา วันนี้อเมริกายังเอาตัวรอดไม่ได้ คำถามว่า นักการเมืองในอเมริกาจะไม่เริ่มคิดบ้างหรือว่า ทำไมต้องส่งเงินให้ยูเครน คนอเมริกาลำบากยากเย็นมากมาย ทำไมไม่เอามาสนับสนุนคนในอเมริกา ยุโรปก็เช่นกัน ทำไมจะต้องใช้พลังงานที่แพงกว่าสมัยที่ใช้ของรัสเซีย 4-5 เท่า ในที่สุดแล้วรัสเซียจะชนะสงครามในยูเครนอย่างแทบไม่ต้องทำอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะว่าทางตะวันตก นำโดยอเมริกา กำลังล่มสลายไปทีละนิดๆ และทีละนิด


กำลังโหลดความคิดเห็น