เนื่องในวาระครบรอบ 55 ปี แห่งปรัชญา "นักธุรกิจเป็นผู้สร้างชาติ" มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้ลงนามความเข้าใจเพื่อส่งเสริมสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (CWIE) กับสถานประกอบการธุรกิจโรงแรมชั้นนำ ประกอบด้วย โรงแรมในเครือ Marriott International 23 แห่ง, โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ, โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์, โรงแรมคาเพลลา แบงค็อก, โรงแรมไมด้า ดอนเมืองแอร์พอร์ต, โรงแรมรามาการ์เด้นส์, CHAP Hospitality Management, และ Dusit Hospitality Services เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
DPU CWIE มุ่งยกระดับการฝึกงานและสหกิจศึกษาเดิม ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Experiential-based Learning เพื่อให้นักศึกษาหลากหลายสาขาได้เข้าไปประยุกต์ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับสถานประกอบการ โดยสถานประกอบการร่วมกับมหาวิทยาลัยในการออกแบบหลักสูตรเพื่อให้ตรงความต้องการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ กล่าวถึงแนวทางดำเนินงาน DPU CWIE กับสถานประกอบการว่า ธุรกิจโรงแรมกำลังเป็นฟันเฟืองหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย มหาวิทยาลัยจึงร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจโรงแรม ร่วมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อพัฒนาบัณฑิตให้เป็นกำลังคนคุณภาพของประเทศตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
DPU CWIE มุ่งยกระดับการฝึกงานและสหกิจศึกษาเดิม ด้วย 3 แนวทาง ดังนี้
1. เพิ่มโอกาสและเวลาเรียนรู้ แบบ Experiential-based Learning แก่นักศึกษา ด้วยหลักสูตร Fast Track: DPU มีแนวคิดออกแบบให้ทุกหลักสูตรมี track พิเศษ สำหรับนักศึกษาที่มีความพร้อมในการทำงานในสถานประกอบการที่สนใจ เรียกว่า Fast-Track โดยจะกระชับเวลาเรียนในห้องเรียน เพื่อขยายเวลาสำหรับฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการ CWIE จาก 6 เดือนเป็น 2 ปี นักศึกษา Fast-Track จะได้พัฒนาทักษะที่ได้ใช้งานจริงอย่างรวดเร็ว รอบด้าน และยาวนานพอ ทำให้มีประสบการณ์เหนือกว่าบัณฑิตทั่วไป และรองรับการเติบโตของธุรกิจโรงแรมปัจจุบันอย่างทันท่วงที
2. ส่งเสริมให้นักศึกษาหลากหลายสาขาได้เข้าไปประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหา: หลายฝ่ายยังเข้าใจว่าสถานประกอบการโรงแรมต้องการแต่นักศึกษาสาขาการโรงแรมเท่านั้น ทว่าในโลกจริง ทุกธุรกิจต่างต้องอาศัยความรู้ความชำนาญที่หลากหลายประกอบสร้างและส่งเสริมกัน นักศึกษา DPU ชั้นปีที่ 1-3 จึงได้รับการฝึกฝนให้รู้จักทำงานร่วมกับผู้ที่อยู่ต่างบทบาทหน้าที่ และเปิดใจเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆ ทักษะใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตัวเองและพัฒนางาน ด้วยหลักสูตร DPU Core เพื่อให้นักศึกษาทุกสาขาวิชากล้าคิดสร้างสรรค์ และรู้วิธีนำทักษะและความรู้ไปประยุกต์เป็นโครงงานที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหรือคุณภาพงาน เป็นประโยชน์โดยตรงแก่สถานประกอบการ โดยในการฝึกปฏิบัติงาน นักศึกษาทุกคนจะต้องทำโครงงานโดยจะได้รับโจทย์จากสถานประกอบการเพื่อฝึกคิดแก้ไขปัญหา และนำเสนอแนวทางการแก้ไชปัญหา
3. เพิ่มการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการในการออกแบบหลักสูตร (Co-design Curriculum): สถานประกอบการเป็นกลไกสำคัญในการสะท้อนผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษา โครงงานของนักศึกษาใช้ประโยชน์จริงได้หรือไม่อย่างไร รายวิชาและกิจกรรมเตรียมความพร้อมที่หลักสูตรจัดให้นักศึกษาตอบโจทย์ความต้องการของตลาดงานอย่างทันยุคสมัยและทันต่อความต้องการหรือไม่ ควรเพิ่ม ลด หรือปรับปรุงอย่างไรเพื่อให้มีสมรรถนะเพียงพอที่จะรับเข้าเป็นพนักงาน ทุกความคิด ความเห็น ข้อเสนอ และการมีส่วนร่วมตลอดระยะเวลา CWIE ของสถานประกอบการ คือส่วนหนึ่งของ Co-design Curriculum
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัทธนันท์กล่าวทิ้งท้ายว่า การลงนามความเข้าใจระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจในครั้งนี้จะเอื้ออำนวยให้นักศึกษาที่มีศักยภาพของ DPU มีโอกาสได้ประสบการณ์การทำงานและการเรียนรู้ที่ล้ำค่าในโรงแรมที่มีชื่อเสียง เป็นแรงงานคุณภาพที่มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของโรงแรมทุกแห่ง เอื้อประโยชน์ต่อกระบวนการสรรหาและฝึกอบรมบุคลากรใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยได้กำลังคนที่พร้อมเกื้อหนุนธุรกิจโรงแรมและธุรกิจไทยไปพร้อมกัน