รัฐประศาสนศาสตร์ สาขาอาชีพที่แม้แต่โควิด-19 ยังขวิดไม่ล้ม เพราะความมั่นคงในตำแหน่งงานที่ส่งผลให้ผู้ที่เรียนรัฐประศาสนศาสตร์สามารถทำงานได้ทั้งภาครัฐ และเอกชน ไม่ว่าจะเป็น งานราชการ งานเทศบาล อบต. อบจ. ปลัดอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรืองานในภาคเอกชนโดยเฉพาะด้านทรัพยากรบุคคล (HR) ตำแหน่งงานด้านนี้มั่นคงและเปิดรับเสมอ เพราะมีในทุกองค์กร
“แต่คนส่วนใหญ่ได้ยินคำว่า รัฐประศาสนศาสตร์ ตอนแรกจะไม่เข้าใจ ส่วนใหญ่ผู้ปกครองหรือคนในครอบครัวที่ทำงานรับราชการ หรือทำงานอยู่องค์กรพวกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นคนแนะนำ แนะแนวลูกหลานให้มาเรียน เพราะเขารู้ว่าผู้ที่จบการศึกษาด้านรัฐประศาสนศาสตร์มานั้นจะมีงานดี มีทั้งรายได้ สวัสดิการ และความมั่นคง อีกทั้งสร้างคุณค่าแก่ทั้งตัวเองและสังคม คนที่ผ่านช่วงโควิดมาจะรู้ดีว่างานอื่นๆ มีลุ้นว่าจะโดนลดเงินเดือนหรือตกงาน แต่สายงานด้านนี้ไม่ต้องห่วงเรื่องนี้ แถมได้ช่วยสังคมอีกต่างหาก” อาจารย์พูลศักดิ์ ประณุทนรพาล คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)
เพราะเรียนทั้ง “บริหาร” และ “บริการ” ที่เป็นตัวขับเคลื่อนพัฒนาตนและสังคม
“การเรียนคณะรัฐประศาสนศาสตร์ หรือนิยมเรียกโดยย่อว่า รปศ. นั้นคือ การเรียนเรื่องการบริหารการจัดการภาครัฐ ทั้งในด้านการบริหารและบริการ ว่าทั้งหมดนั้นทำกันอย่างไร โดยยกเว้นในเรื่องของฝ่ายตุลาการ ซึ่งทำให้การเรียน รปศ.นั้นกว้างและครอบคลุมมากกว่าการเรียนแต่รัฐศาสตร์ล้วนๆ ที่มักจะเน้นหนักไปที่เรื่องของการเมืองการปกครอง ฉะนั้นผู้ที่เรียนด้าน รปศ.นี้จึงสามารถเลือกแตกแขนงสายการทำงานได้ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ อย่างภาคเอกชนก็คือฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือ HR ที่ทุกองค์กรต้องมีอยู่แล้ว ส่วนภาครัฐก็คือการเข้ารับราชการ ทำงานในองค์กรของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บริการและบริหาร ซึ่งทำได้ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนระดับประเทศ กล่าวโดยสรุป รปศ. คือศาสตร์ด้านการจัดการบริการให้ประชาชนพึงพอใจ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า การประปา เทศบาล ราชการ หรือแม้แต่องค์กรเอกชน ซึ่งศาสตร์ของเราเน้นคนขยัน สร้างสรรค์ ไม่ทำผิดกฎระเบียบ ถ้าทำได้ตามนี้ไม่มีตกงาน โดยเฉพาะถ้าเกิดมีโรคระบาดหรือวิกฤตอะไรรุนแรงอีก” อาจารย์พูลศักดิ์ ซึ่งท่านเคยเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัดกล่าว
“ในช่วงโควิดที่ผ่านมา องค์กรภาคเอกชนต้องเลิกกิจการ ต้องลดเงินเดือน แต่ในเวลานั้นฝ่ายทรัพยากรบุคคลในองค์กรต่างๆ ยังคงอยู่และบริหารควบคุมสถานการณ์รอโอกาสเอาไว้ ส่วนในองค์กรภาครัฐมีการเพิ่มตำแหน่งงานจำนวนมากเพื่อบริการประชาชนและให้มาช่วยแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ทำให้สองสามปีมานี้ งาน รปศ.ได้รับการยอมรับว่าเป็นสายงานที่ปลอดภัย มั่นคง สังเกตได้ว่ายอดนักศึกษาที่สนใจเรียนสาขานี้มีแต่จะเพิ่มขึ้น”
อาจารย์พูลศักดิ์ได้บอกความกว้างขวางของศาสตร์ด้านนี้ต่อว่า “มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เราสอนบริหารงานทรัพยากรบุคคลในคณะ รปศ.ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถเรียนธุรกิจการบริหารองค์กร การบริหารการตลาด การจัดการภาพลักษณ์ การบริหารแหล่งท่องเที่ยว การบริหาร Social Media ในองค์กร เป็นวิชาเสริมได้ หากต้องการเจาะลึกเฉพาะ” อาจารย์พูลศักดิ์ กล่าวพลางยิ้ม เพราะนักศึกษาที่จบ รปศ.จะไม่เพียงได้วิชาความรู้ความสามารถเฉพาะศาสตร์ด้านการจัดการภาครัฐ ซึ่งตรงนี้เป็นข้อได้เปรียบของนักศึกษาคณะนี้”
“ล่าสุดตอนนี้กำลังให้นักศึกษาของคณะ รปศ. สมัครใจเรียนภาษาจีน โดยตอนนี้มีทั้งหมด 14 คนที่สนใจ เขาจะได้มาเรียนฟรี 40 ชม. ซึ่งหลังเรียนจบจะสอบ HSK (วัดระดับความรู้ภาษาจีน) ได้ในระดับ 1-3 เพื่อเป็นแต้มต่อข้อได้เปรียบในการทำงาน เนื่องจากวันนี้รัฐวิสาหกิจจีน เอกชนจีนมาลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท ใน EEC ถือเป็น 1ใน 5 ของการลงทุนในเอเชีย ซึ่งองค์กรบริษัทต่างๆ เหล่านี้ยังขาดแคลนบุคลากรคนไทยที่พูดภาษาจีนได้เป็นจำนวนมาก โดยนักศึกษาของ DPU ที่เรียนภาษาจีนแม้ยังไม่ทันจบการศึกษา ก็มีคนมาจองตัวไปทำงานกันหมดทุกปี” อาจารย์พูลศักดิ์เปิดเผยและอ้างอิงคำกล่าวที่ว่า ‘ภาษา’ เป็นประตูบานแรกไปสู่วัฒนธรรม สังคม ธุรกิจ ได้อีกมากมาย อีกทั้งใน EEC เองหน่วยงานภาครัฐก็ต้องมีคนพูดภาษาจีนได้ เพื่อให้บริการนักธุรกิจที่มาติดต่อ เรียกได้ว่าคนมีแต้มต่อภาษาจีน สามารถต่อยอดและได้เปรียบในแทบทุกๆ ความสำเร็จในยุคนี้
เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงง่ายๆ เพราะสาขานี้เปิดสอนน้อย
อาจารย์พูลศักดิ์บอกว่าไม่เพียงรูปแบบการเรียนวิชาต่างๆ ในคณะ รปศ. ที่สามารถแตกแขนงให้ทำงานได้หลากหลาย แต่รวมไปถึงความต้องการของตลาดแรงงานที่เปิดรับคนจบด้านนี้อย่างสม่ำเสมอ เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ “รัฐประศาสนศาสตร์” เป็นทางเลือกที่ดี อีกทั้งสาขา รปศ.นั้นมีสถาบันเปิดสอนกันไม่มากในระดับปริญญาตรี ทำให้ยิ่งมีแต้มต่อ
“ยิ่งตอนนี้ประเทศไทยกำลังพัฒนาประเทศเป็น Smart City ยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสการทำงานที่สูงขึ้นของนักศึกษา รปศ. เพราะคณะ รปศ.ของเราทำงานวิจัยและให้บริการด้านวิชาการเกี่ยวกับ Smart City โดยตรง เช่นตอนนี้ทำกับทางเทศบาลนครนนทบุรี เมื่ออาจารย์มีความสามารถก็กลับมาสร้างนักศึกษาให้เก่ง มีความสามารถตามไปด้วย สำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะมีมิติที่สำคัญ 7 ด้าน คือ 1) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) 2) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) 3) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) 4) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) 5) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) 6) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) 7) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) ซึ่งทั้งหมดนี้นักศึกษา รปศ.จะเข้าใจภาพรวมและสามารถทำโปรเจกต์ให้องค์กรได้ทันที” อาจารย์พูลศักดิ์ระบุ พร้อมกับอธิบายเหตุผล
“ส่วนมาก รปศ.จะมีระดับปริญญาโทที่เปิดสอนกันทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน แต่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ของเราเปิดสอนตั้งแต่ปริญญาตรีและโท ซึ่งมีความต้องการบัณฑิตจบใหม่ระดับปริญญาตรีด้านนี้สูงมาก คนเรียนด้านนี้มึความมั่นคงสูง ครอบครัวก็สบาย มีสวัสดิการ อนาคตไกลและสดใส สำหรับคนที่สนใจทำงานด้านนี้อาจจะคิดว่ารับราชการจะสอบภาค ก. และภาค ข. ยากไหม ก็ต้องบอกว่าการคัดเลือกสมัครงานภาคเอกชนก็ไม่ง่าย มีคนแข่งขันไม่น้อยไปกว่ากัน แต่ทุกคน ทุกรุ่น ก็ผ่านกันมาได้ ได้งานทำกันมาได้ ถ้านักศึกษาขยัน เรียนรู้ต่อเนื่อง ชอบอ่านหนังสือ ก็สามารถสอบได้ไม่ยาก อย่างที่คณะ รปศ. DPU มีการฝึกฝนนักศึกษาตลอดทั้งปี มีการเชิญแขกผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรต่างๆ มาสอน มาให้ความรู้ เราจะคอยดูผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและนำมาประยุกต์ปรับเติมเพิ่มเสริมในรุ่นต่อไปเสมอๆ”
Soft Skills ก็สำคัญ
หลังไล่เรียงเหตุผลและเรื่องการเรียนการสอนที่สามารถแตกแขนงให้ผู้ที่เรียนสามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวที่มั่นคงและดีงามไปแล้วสำหรับการเรียน “คณะรัฐประศาสนศาสตร์” อาจารย์พูลศักดิ์เสริมต่อว่า “อีกสิ่งหนึ่งที่ ณ วันนี้ต้องพูดถึงคือ นอกเหนือไปจากเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลที่ต้องเป็น และ ต้องเรียนรู้ตลอดเวลาแล้ว คนที่เรียนด้าน รปศ.ก็ต้องอย่าพัฒนาแต่ Hard Skills แต่เราต้องมองทักษะประเภท Soft Skills ด้วย ซึ่ง อ.พูลศักดิ์บอกในเรื่อง Caring ห่วงใยผู้อื่นนั้นสำคัญ คน รปศ.ต้องเป็นคนเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มี Empathy คนมาติดต่อรับบริการก็ต้องมีมิตรจิตมิตรใจกับเขา นอกจากนี้ อีกทักษะที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ต้องเป็นคนกตัญญูและรู้คุณต่อผู้สนับสนุนช่วยเหลือเรา ผู้ที่รักและดูแลเราจนเราเติบโต ถ้าไม่มีเขาเหล่านั้นก็คงจะไม่มีเราในวันนี้ ใครมีบุญคุณกับเราเราต้องทดแทน โดยเฉพาะบิดา มารดา ครอบครัว สิ่งนี้จะทำให้เราทั้งเก่งและดีไปด้วยกัน”