xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมห่วงอาจเกิด 'หายนะซีเซียม-137' เชื่อระยะยาวมีคนป่วยมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเผยหายนะซีเซียม-137 ถูกหลอมในโรงงาน มีทั้งฝุ่นที่ปล่อยออกจากปล่องควัน ฝุ่นแดงในถุงกรองอากาศ สารก่อมะเร็งในอากาศ ในพืช ผัก ผลไม้ แหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน รัศมีอย่างน้อย 5 กม. ระยะยาวอาจมีคนป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ

จากกรณีกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรีได้รับแจ้งจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ว่ามีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำของบริษัทเนชั่นแนลเพาเวอร์แพลนท์ 5 เอ จำกัด ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดนั้นเจ้าหน้าที่ได้พบซีเซียม-137 แล้ว ที่โรงหลอมเหล็กบริษัทเชาว์สตีลอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) โดยมีสภาพถูกบีบอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม กองซ้อนกันเป็นชั้นสูง และอยู่ในระหว่างเตรียมนำหลอมตามรอบตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

วันนี้ (20 มี.ค.) เฟซบุ๊ก "Sonthi Kotchawat" หรือ ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์ข้อความระบุว่า "หายนะแท่งซีเซียมถูกหลอมในโรงงานหลอมเหล็ก มีทั้งฝุ่นที่ปล่อยออกจากปล่องควัน ฝุ่นแดงในถุงกรองอากาศ ขี้เถ้าหนัก รวมทั้งฝุ่นในโรงงานคืออนุภาคซีเซียมที่ปล่อยรังสีแกมมาและเบตาออกมาคือสารก่อมะเร็ง ในอากาศ ในพืช ผัก ผลไม้ แหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน รัศมีอย่างน้อย 5 กม. ระยะยาวอาจมีคนป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ

และยังมีโพสต์ก่อนหน้าที่ระบุไว้ว่า "ถ้าแท่งโลหะที่บรรจุ Cs137ถูกหลอมรวมกับเศษเหล็กในโรงงานหลอมเหล็กแล้ว ผลกระทบที่ตามมาคือ 1. ฝุ่นขนาดเล็กของ Cs137 ที่ปล่อยออกมาจากปลายปล่องจะกระจายสู่บรรยากาศและตกลงสู่แหล่งน้ำ ดินที่อยู่รอบๆ โรงงานและเกิดการปนเปื้อนเข้าสู่วงจรอาหาร ได้แก่ ผัก ผลไม้ อาหารจากแหล่งน้ำใกล้เคียงและอาหารแปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร เป็นต้น รวมทั้งอาจมีบางส่วนที่ประชาชนหายใจเข้าไปด้วย สารนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายบางส่วนจะถูกขับออกจากร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะและบางส่วนจะตกค้างและสะสมในกล้ามเนื้อ, ตับ, ไขกระดูก หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซมคือเป็นมะเร็งนั่นเอง

2. หากโรงงานหลอมเหล็กมีอุปกรณ์ควบคุมมลพิษทางอากาศ เช่น Baghouse Filter โดยจะทำการกรองฝุ่นเหล็กขนาดเล็กที่ปนเปื้อนสาร Cs137 หรือที่เรียกว่าฝุ่นแดงไว้ในถุงกรองในปริมาณมากซึ่งโรงงานหลอมเหล็กจะขายฝุ่นแดงดังกล่าวให้กับโรงงานประเภท 106 นำไป Recycle เพื่อสกัดเอาธาตุสังกะสีไปใช้ ซึ่งจะทำให้สาร Cs137 แพร่กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้นและเกิดอันตรายต่อประชาชนและระบบนิเวศ

3. เมื่อเข้าเตาหลอมแล้วส่วนหนึ่งจะกลายเป็นขี้เถ้าหนัก (Bottom ash) โดยจะมีอนุภาคของสาร Cs137 ปนเปื้อนในเถ้าหนักด้วย หากโรงงานนำไปฝังกลบใต้ดิน อาจปนเปื้อนน้ำใต้ดินและน้ำผิวดินซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารและน้ำต่อไป

4. เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องสวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย (PPE) เพื่อป้องกันการได้รับรังสี และทำการตรวจการปนเปื้อนของสาร Cs137 ภายในโรงงานทุกบริเวณ เช่น เถ้าหนัก ฝุ่นแดง กองเหล็ก เตาหลอม ดินและแหล่งน้ำและฝุ่นละอองในโรงงาน เป็นต้น รวมทั้งต้องตรวจหารังสีปนเปื้อนที่ตัวพนักงานทุกคนด้วย"






กำลังโหลดความคิดเห็น