xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการดังห่วง "สารซีเซียม-137" หากถูกหลอมอาจทำให้เกิดสารก่อมะเร็งในอากาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการสิ่งแวดล้อมหวั่น สารซีเซียม-137 ที่ถูกขโมยไปหากถูกนำไปยังโรงหลอมเหล็กรังสีเบตาและแกมมาซึ่งเป็นสารที่ก่อมะเร็งจะกระจายไปในอากาศในวงกว้าง ห่วงหากมีร้านรับซื้อผู้ครอบครองถือว่ากำลังตกอยู่ในอันตราย

จากกรณีท่อบรรจุสารซีเซียม-137 จากโรงไฟฟ้าพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี หายปริศนา ซึ่งอาจถูกนำไปขายเป็นของเก่าและอาจจะมีผลกระทบต่อสุขภาพปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อม ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ถ้าผ่าท่อรังสีทำให้เนื้อเน่าเปื่อยภายใน 3 วันที่มีระดับรังสีเข้มข้นจนเป็นที่หวาดกลัวต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีเป็นอย่างยิ่ง โดยมีการตั้งรางวัล 50,000 บาท สำหรับคนที่ให้ข้อมูลนำสารดังกล่าวกลับคืนมาได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชื่อดัง ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Sonthi Kotchawat" แสดงความเป็นห่วงต่อสถานดังกล่าว หวั่นท่อบรรจุสารซีเซียม-137 หากถูกนำไปยังโรงหลอมเหล็ก รังสีเบตาและแกมมาซึ่งเป็นสารที่ก่อมะเร็งจะกระจายไปในอากาศในวงกว้าง โดย ได้ระบุข้อความว่า

"1. สารซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าบริษัทเนชั่นแนลเพาเวอร์ แพลนท์ 5A จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี โดยสารกัมมันตภาพรังสีดังกล่าวจะถูกห่อหุ้มด้วยสารตะกั่วล้อมรอบและหุ้มด้วยท่อเหล็กกลมขนาด 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม อีกชั้นใช้เป็นเครื่องมือวัดระดับของขี้เถ้าในไซโลของโรงไฟฟ้า โดยติดตั้งใช้งานตั้งแต่ปี 2538 คาดถูกขโมย

2. ซีเซียม-137 เป็นโลหะอ่อนสีขาวเงินที่ตีขึ้นรูปได้ง่ายจะมีสภาพเป็นของเหลวที่อุณหภูมิประมาณ 28 องศา มีครึ่งชีวิตที่ 30 ปี เมื่อสลายตัวจะปล่อยรังสีเบตาและแกมมาซึ่งอันตรายมากและเปลี่ยนตัวมันจะเปลี่ยนเป็นสารแบเรียม-137 ที่สลายตัวปล่อยรังสีได้เร็ว

3. ในทางอุตสาหกรรมซีเซียม-137 จะใช้ในการวัดความชื้นและความหนาแน่นในการก่อสร้าง, ใช้ในเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อรักษามะเร็ง, ใช้ในมาตรวัดกระแสน้ำในท่อ, ใช้วัดความหนาของสิ่งต่างๆ เช่น กระดาษ แผ่นโลหะ เป็นต้น

4. หากแท่งซีเซียม-137 สูญหายหรือถูกขโมย บุคคลที่ครอบครองไปตัดหรือแกะออกจะได้รับอันตรายจากรังสีที่แผ่ออกมาได้เนื่องจากเป็นสารก่อมะเร็งเมื่อรับเข้าสู่ร่างกายเล็กน้อยโดยทางหายใจหรือผิวหนังรังสีจะถูดดูดซึมไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ ตับและไขกระดูก สามารถถูกขับได้ทางเหงื่อและปัสสาวะ แต่หากสูดดมหรือรับเข้าไปด้วยความเข้มข้นสูงหรือเป็นระยะเวลาพอสมควรจะก่อให้เกิดมะเร็งกับอวัยวะที่สัมผัส

5. หากท่อของสารซีเซียม-137 ดังกล่าวถูกนำไปขายยังโรงแปรรูปเหล็กและถูกหลอมในเตาเผาจะอันตรายมาก คือรังสีจะถูกปล่อยออกมาทางปล่องควันกระจายไปในสิ่งแวดล้อมและเกิดการเปรอะเปื้อนของรังสีเบตาและแกมมาซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอย่างรุนแรงในสภาพแวดล้อมในวงกว้าง

6. ผู้ครอบครองทั้งร้านรับซื้อของเก่า โรงงานรีไซเคิล โรงงานหลอมหล่อเหล็ก ที่รับท่อหุ้มดังกล่าว ผู้ครอบครองถือว่ากำลังตกอยู่ในอันตราย หากนำไปกองไว้ฝนตก น้ำชะจะไหลปนเปื้อนลงในน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน หากนำไปหลอมยิ่งกระจายไปทางอากาศนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งในอนาคตอันใกล้"
กำลังโหลดความคิดเห็น