xs
xsm
sm
md
lg

ไปรษณีย์ไทย-บขส.ผนึกเครือข่ายยานพาหนะ-เส้นทางเดินรถ บริการขนส่ง “ฮับทูฮับ” ช่วยกระจายสินค้า พร้อมเพิ่มทางเลือกการขนส่งให้สะดวกอีกขั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ผนึกความร่วมมือ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ให้บริการการฝากส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ผ่านความชำนาญด้านเส้นทาง ยานพาหนะ และจุดให้บริการ ในรูปแบบการส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์จากศูนย์กระจายสินค้าหนึ่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าอีกแห่งหนึ่ง หรือ Hub to Hub โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นการใช้ทรัพยากรของทั้งไปรษณีย์ไทยและ บขส.ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่จะมีทางเลือกและความมั่นใจ กับการฝากส่งสิ่งของที่มากกว่าเดิม และตอบโจทย์ปริมาณการฝากส่งสิ่งของและเทรนด์การส่งด่วนที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานด้านการรับฝาก -นำจ่ายไปรษณียภัณฑ์ และพัสดุ ไปรษณีย์ไทยถือว่ามีความครบครันในด้านโซลูชันการให้บริการที่ตอบโจทย์กับประเภทความต้องการขนส่ง ความสะดวก รวมทั้งเครือข่ายที่ครอบคลุมที่สุด และในปีนี้เพื่อให้ด้านเครือข่ายและทางเลือกในการขนส่งสิ่งของกับไปรษณีย์ไทยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น จึงได้ร่วมมือกับ บขส. หรือบริษัท ขนส่ง จำกัด ที่จะให้บริการแก่ประชาชนในการฝากส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและเครือข่ายของทั้งสองฝ่ายที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะในด้านความชำนาญเส้นทาง ยานพาหนะ เทคโนโลยี ด้านข้อมูล รวมทั้งจุดให้บริการที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งการจับมือกันในครั้งนี้จะช่วยตอบโจทย์ปริมาณการฝากส่งสิ่งของที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในด้านระยะเวลาการส่งด่วนที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
 


“ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการดำเนินงานตามแนวคิด Sharing Economy ซึ่งทั้งไปรษณีย์ไทย และ บขส. นับเป็นผู้ที่มีความชำนาญด้านเส้นทาง มีเครือข่ายและยานพาหนะที่สามารถรองรับการขนส่งได้ทั่วประเทศ ทั้งนี้ รูปแบบของการดำเนินงานจะเป็นการส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์จากศูนย์กระจายสินค้าหนึ่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าอีกแห่งหนึ่ง หรือ Hub to Hub และการส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์จากศูนย์กระจายสินค้าหนึ่งส่งมอบให้ผู้รับปลายทาง หรือ Hub to Door โดยในปี 2566 จะเริ่มต้นด้วยการดำเนินงานแบบแรกคือ Hub to Hub ซึ่งเป็นการนำพัสดุภัณฑ์ที่ฝากส่งกับ บขส. มาส่งผ่านรถยนต์ขนส่งของไปรษณีย์ไทยไปยังศูนย์กระจายสินค้าต่างๆ ในภาพรวมคาดว่าจะมีปริมาณงานขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 350 ชิ้น / เที่ยว (ไป-กลับ) หรือ 10,500 ชิ้น/เดือน สำหรับรถขนส่งของ บขส. 1 คัน และตอบโจทย์กับกลุ่มสินค้าประเภทเกษตรกรรม อาหาร สิ่งของขนาดพิเศษ อีคอมเมิร์ซ ฯลฯ ที่ต้องการกระจาย-จำหน่ายสินค้าในพื้นที่อื่นๆ”

ดร.ดนันท์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความร่วมมือระหว่างไปรษณีย์ไทยกับ บขส.จะเริ่มต้นในช่วงเดือนเมษายนนี้ โดยไปรษณีย์ไทยจะเป็นผู้นำยานพาหนะเข้าไปรับสิ่งของในสถานีขนส่งผู้โดยสารของ บขส. ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาพื้นที่บางส่วนให้เป็นศูนย์รับฝากพัสดุภัณฑ์ จากนั้นจะนำสิ่งของไปยังศูนย์กระจายสินค้าในภูมิภาคต่างๆ ทั้งนี้ มั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดให้ทั้งสองฝ่ายได้โดยเฉพาะจากกลุ่มเป้าหมายหลักอย่างผู้ประกอบการรายย่อยที่ค้าขายทั้งในช่องทางออนไลน์-ออฟไลน์ และแต่ละรายมีคู่ค้าที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ นอกจากนี้ ยังจะทำให้สินค้าถูกนำจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยลดความกังวลของสินค้าที่ค้างตามศูนย์ต่างๆ ได้อีกด้วย


ด้าน ดร.สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2502 เรื่องการเดินรถขนส่งต่างจังหวัด จากเดิมให้ บขส.รับภาระเฉพาะเดินรถโดยสาร เป็นให้มีภารกิจด้านการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ บขส. พิจารณาแนวทางการดำเนินธุรกิจร่วมกับ ปณท เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสำหรับเป็นทางเลือกในการให้บริการประชาชน ดังนั้น บขส.และ ปณท จึงได้หารือและตกลงร่วมกันที่จะร่วมมือพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน และบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและเครือข่ายของทั้งสองหน่วยงานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บขส.ได้พัฒนาบริการรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ ปัจจุบัน บขส.มีศูนย์รับส่งพัสดุภัณฑ์หลักอยู่ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) และมีสาขารับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ รวมถึงตัวแทนรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวม 175 แห่ง สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทางไปรษณีย์ไทยจะเข้ามาช่วยสนับสนุน บขส. ในการขนส่งสินค้าจากสถานีต้นทาง และสถานีปลายทาง เพื่อส่งต่อไปยังผู้รับสินค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ในการรับ-ส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์ รวมทั้งเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น